ราคาทองคำร่วงแตะระดับต่ำสุดที่ 1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ในช่วงปลายเดือน ก.ย.
ค่าเงินปอนด์ที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.0327 ดอลลาร์
เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของรัฐบาลอังกฤษ
หลังจากรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ นอกจากนี้
ดัชนีดอลลาร์ได้พุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีครั้งใหม่
โดยได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ส่งผลให้ราคาทองคำร่วงลงไปทดสอบระดับต่ำสุดของปีนี้และเป็นระดับในรอบ 2
ปีครึ่งบริเวณ 1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในวันที่ 28 ก.ย.
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือน ต.ค.
ราคาทองคำได้เริ่มทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อเก็งกำไรในตลาดทองคำเนื่องจากราคาทองคำเข้าสู่ภาวะขายมากเกินไป
(Oversold) นอกจากนี้
ความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินทั่วโลกหลังจากรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่
ได้กระตุ้นให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
ออกมาตรการรับซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอังกฤษ
“จำนวนมากเท่าที่มีความจำเป็น” เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน
ในท้ายที่สุด รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศ “ยกเลิก”
การปรับลดภาษีในนโยบายการคลังฉบับใหม่
ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนทั่วโลกกลับมาร่วงลงอย่างรุนแรง
ส่วนเงินปอนด์ทะยานขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จนส่งผลเชิงบวกต่อตลาดทองคำ
ประกอบกับทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก
หลังจากรัสเซีย ประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์
เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ
ปัจจัยที่กล่าวมาหลักดันให้ราคาทองคำทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,729.14
ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในระหว่างการซื้อขายของวันที่ 4 ต.ค.
แต่การปรับตัวขึ้นของทองคำถูกกดดันอีกครั้ง
จากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน
ก.ย. ที่เพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ
250,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.7% ในเดือน ส.ค.
ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3.7% สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค
เพิ่มขึ้น 8.2% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี
โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น
0.4% ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ดัชนี CPI พื้นฐาน
ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.6% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี
โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น
0.6% ในเดือน ก.ย.
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับสูง
นั่นทำให้นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของเฟดถึง
3 เท่า สะท้อนจาก Fed
Funds Futures ที่ปรับตัวรับโอกาสเกือบ 100%
ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75
bps ในเดือน พ.ย.
บวกรวมกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ระบุชัดว่า
เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลง
อีกทั้งยังไม่รีบร้อนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่านโยบายการเงินของสหรัฐฯยังคงตึงตัวต่อไปอีกสักระยะ
ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10
ปีเคลื่อนไหวเหนือ 4% ต่อเนื่อง จนกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย
ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลงราว
-6.97 ในเดือน ต.ค.
แม้ต้นเดือนจะมีการถือครองทองคำเพิ่มอยู่บ้างแต่ภาพรวมยังคงเป็นกระแสเงินทุนไหลออก
ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทองคำเพิ่มเติม
สำหรับเดือนพฤศจิกายน แนะนำติดตาม
- การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด
(FOMC) ในวันที่
1-2 พ.ย.2022 แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ 12 เขต
หรือ Beige Book ในวันที่
19 ต.ค.2022
ที่ผ่านมาสะท้อนภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯขยายตัวเล็กน้อยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้กิจกรรมในบางเขตทรงตัว และบางเขตชะลอตัวลง
นอกจากนี้ รายงานยังสะท้อนให้เห็นว่า
ภาคเอกชนของสหรัฐมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ
โดยบริษัทเอกชนมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้น
ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่อ่อนแรงลง แต่เจ้าหน้าที่ของเฟดได้ส่งสัญญาณในช่วงเดือน
ก.ย.ว่า พวกเขาจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงระดับ 4.50% หรือ 4.75% ภายในปี 2023
สอดคล้องกับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นายนีล คัชคารี่ ประธานเฟด
สาขามินนิอาโปลิส กล่าวว่า เฟดไม่สามารถหยุดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดชั่วคราวได้
เขาสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงระดับ 4.50% - 4.75%
หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งเพิ่มขึ้น
มุมมองดังกล่าว กระตุ้นนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือน พ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือน มิ.ย., ก.ค. และ ก.ย. และ มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือน ธ.ค. เป็นจำนวน 6 ครั้งติดต่อกัน
-
การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. 2022 นักลงทุนจับตา
ว่าพรรคเดโมแครต ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ
จะสามารถครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไว้ตามเดิมได้หรือไม่
ซึ่งปัจจุบัน พรรคเดโมแครตของเขาครองเสียงข้างมากทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
โดยมีที่นั่งวุฒิสภาคะแนนเสียงปริ่มน้ำที่ 50 เสียงพอดีในวุฒิสภา
และมีเสียงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร เหนือกว่ารีพับลิกันแค่ 9 ที่นั่ง ขณะที่
ปธน.ไบเดน ดำรงตำแหน่งมาครึ่งเทอม (2 จาก 4 ปี) เพราะหากพรรคเดโมแครต
อาจสูญเสียงที่นั่งในวุฒิสภาส่วนมากในศึกเลือกตั้งครั้งนี้
เศรษฐกิจสหรัฐฯภาวะถดถอยที่ชัดเจนมากขึ้น
หลังจากช่วงที่ผ่านเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง เนืองจาก
ค่าครองชีพ-อัตราเงินเฟ้อปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายมิตช์
แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า
พรรคมีโอกาสเพียง 50-50 ที่จะกลับมาควบคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ประกอบกับ
ในอดีตที่ผ่านมาพรรคของประธานาธิบดีมักจะเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งกลางเทอม
เพราะโดยธรรมชาติแล้วชาวอเมริกันชอบที่จะเลือกพรรคตรงข้ามไปคานอำนาจ
ดังนั้น ผลการเลือกตั้งกลางเทอม
จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางสกุลเงินดอลลาร์ เพราะหาก
พรรครีพับลิกันกลับมาได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งกลางเทอมจนพรรครีพับลิกัน
ครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาอาจนำไปสู่การยับยั้งร่างกฎหมายต่างๆ
ที่เสนอโดยพรรคเดโมแครต ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่เปราะบางอยู่แล้ว
แนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ
-
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ารัสเซียมีแนวโน้มที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามกับยูเครน
หลังจากที่กองทัพรัสเซียไม่ประสบความคืบหน้าในการสู้รบซึ่งใช้เวลานานเกือบ 8 เดือน
นับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 2022
ซึ่ง ทำเนียบเครมลิน ยืนยันว่า แคว้นทั้ง 4 ได้แก่ แคว้นโดเนตสก์, ลูฮันสก์, เคอร์ซอน
และซาปอริซเซีย ซึ่งได้ผนวกเข้ากับรัสเซียจะได้รับการปกป้อง ในระดับเดียวกับดินแดนอื่นๆ
ในรัสเซีย โดย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระบุว่า
รัสเซียพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็นเพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซีย
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน
โพสต์รายงานโดยอ้างอิงจากข้อมูลรัฐบาลอิหร่านว่า รัฐบาลอิหร่านได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังรัสเซียเพื่อสรุปเงื่อนไขสำหรับการจัดส่งอาวุธเพิ่มเติม
รวมถึงขีปนาวุธแบบพื้นสู่พื้น
ซึ่งหากข้อตกลงการจัดส่งขีปนาวุธครั้งนี้มีผลบังคับใช้
ก็จะเป็นการส่งมอบขีปนาวุธให้กับรัสเซียเป็นครั้งแรก
นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากการทำสงครามในยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ
ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้จัดการประชุมแบบปิดซึ่งสหรัฐฯ, อังกฤษ
และฝรั่งเศส ได้หยิบยกประเด็นที่ว่า อิหร่านส่งอาวุธให้กับรัสเซีย มาหารือกัน
ทั้งนี้ การแสดงท่าทีคุกคามทางนิวเคลียร์ อยากเปิดเผย บ่งชี้ว่า รัสเซีย
กำลังยกระดับความรุนแรงในการทำสงครามเพิ่มขึ้น
และอาจกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ในที่สุด หากความตึงเครียดระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
จะกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทาง
คาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำ ในเดือนตุลาคม
ในส่วนของมุมมองด้านปัจจัยทางเทคนิค
แนวโน้มราคาทองคำ ในเดือนกันยายน สร้างระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรายเดือน และ รายปี
ซึ่งลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี บริเวณ บริเวณ 1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมที่ผ่าน ราคาทองคำไม่มีการทำระดับต่ำสุดใหม่
และระดับสูงสุดใหม่จากเดือนก่อนหน้า แต่การเคลื่อนไหวของราคาทองคำส่วนใหญ่ทรงตัวอยู่ใกล้กรอบด่านล่าง
สะท้อนให้เห็นถึงแรงซื้อในระดับจำกัด ขณะที่แรงขายยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้
ระยะสั้นราคาแกว่งตัวออกด้านข้างแบบพยายามทรงตัวรักษาระดับไว้
หากราคาสามารถเคลื่อนไหวเหนือแนวรับโซน 1,614 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของปี
2022) อาจเห็นการฟื้นตัวขึ้นของราคาอีกครั้ง
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากอาจเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมาไม่หลุดแนวรับดังกล่าว
สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย
หรือมีการถือครองทองคำอยู่แล้วแนะนำให้รอดูบริเวณแนวรับ 1,566 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดเดือน
เม.ย. 2020)
หากไม่หลุดนักลงทุนระยะกลาง
ระยะยาวสามารถเข้าสะสมทองคำเพิ่มเติม และเมื่อราคาปรับตัวขึ้น
แนะนำแบ่งทองคำออกขายทำกำไร เมื่อราคาปรับตัวขึ้นเข้าใกล้แนวต้านบริเวณ
1,729-1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อลดความเสี่ยง โดยหากราคาผ่านได้สามารถชะลอการขายไปที่แนวต้านถัดไป
โซน 1,807 ดอลลาร์ต่อออนซ์