บลจ.ยูโอบี แนะนำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตัวช่วยเกษียณสุข ลูกจ้างมีแล้วดี นายจ้างมีแล้วโดนใจ
มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างมั้ยว่า พอวันเงินเดือนออกแล้ว ทำไมโดนหักโน่นนี่นั่นยุบยิบเลย ไหนจะภาษี ไหนจะประกันสังคม แล้วบางคนยังจะต้องถูกหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก จะหักไปทำไม?
จริงๆ แล้ว จะเรียกว่าเงินที่ถูกหักออกไปเหล่านี้ ไม่ได้สูญเปล่า เพราะภาษีที่ถูกหัก เมื่อถึงเวลายื่นภาษี หากมีลดหย่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สามารถขอคืนได้ ส่วนประกันสังคม หักไปเพื่อสะสมเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ รวมถึงประโยชน์ด้านรักษาพยาบาล และด้านอื่นๆ ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าใครมีอยู่ จงรู้ไว้ว่า คุณคือผู้โชคดี เพราะนี่คือเครื่องมือที่ทรงพลังมากที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินเพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณอายุแล้ว
คุณกุสุมาพร หิรัณยัษฐิติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจลูกค้าสถาบันและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด และ กรรมการกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) อธิบายว่า ทุกวันนี้มนุษย์เรามีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เพราะการแพทย์ทันสมัยขึ้น แล้วเมื่อชีวิตเรายืนยาว การออมเงินให้เพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณยิ่งมีความสำคัญ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออายุมากขึ้น โรคภัยก็มีมาให้ต้องรักษาและดูแลตัวเองมากขึ้น
ถ้าดูรอบตัวว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยให้เรามีเงินเพียงพอ อย่างแรกคือระบบการออมเงินภาคบังคับ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นตัวช่วยได้เพียงเล็กน้อย เพราะจำนวนเงินส่วนที่สะสมไว้เพื่อชราภาพไม่ได้มากพอทำให้เกษียณสุขได้
ส่วนอีกตัวช่วยที่น่าสนใจคือ การออมเงินภาคสมัครใจ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่ปี 2530 แต่สมัยแรกๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับความสนใจจากนายจ้างกับลูกจ้างเท่าที่ควร จากการที่คนยังขาดความเข้าใจความรู้ทางการเงินและการลงทุน แต่หลังจากหน่วยงานรัฐสนับสนุน ทำให้นายจ้างและลูกจ้างเห็นความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามีคนเข้ามาใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือเพื่อไปถึงเป้าหมายมีเงินใช้เพียงพอหลังเกษียณ เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ หรือใช้อย่างเต็มที่กว่านี้
- ทำไมลูกจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วดีต่อใจ
สาเหตุที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นตัวช่วยที่ดี เพราะเงินที่ถูกส่งเข้ากองทุนมาจาก 2 ทาง ลูกจ้างสะสมส่วนหนึ่ง ซึ่งเปิดกว้างให้สะสมได้ 2-15% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างมีสมทบอีกส่วนในอัตรา 2-15% ของเงินเดือน หมายความว่า มนุษย์เงินเดือนที่ถูกหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้เหนื่อยสะสมเงินโดยลำพัง แต่มีนายจ้างมาช่วยสมทบเงินทุ่นแรงด้วย แล้วถ้าในแต่ละเดือนลูกจ้างเลือกสะสมเงินเข้ากองทุนสูงเท่าไร จะยิ่งส่งผลดีต่ออนาคตหลังเกษียณมากขึ้นเท่านั้น
เพราะตามหลักการลงทุนแล้ว ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเพียงพอ และมีวินัยลงทุนไปเรื่อยๆ ต่อให้จำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก เงินก้อนนั้นจะมีโอกาสไปหาผลตอบแทนพอกพูนขึ้นได้เรื่อยๆ และถ้ายิ่งเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้นอีก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทำให้เราได้ลงทุนตามหลักการนี้อย่างครบถ้วน เพราะการถูกหักเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ก็หมายความว่า ลูกจ้างได้ฝึกวินัยในการออมไปด้วย เป็นการบังคับตัวเองให้เก็บออมเงินก่อนที่จะใช้จ่าย เพราะได้เงินเดือนมาปุ๊บ เงินส่วนนี้ก็ถูกหักออกไปแล้ว และด้วยเงื่อนไขของกองทุนนี้ที่จะนำเงินออกมาใช้ได้ โดยที่ผลประโยชน์ที่สะสมไว้ไม่ต้องเสียภาษี ต่อเมื่ออายุ 55 ปีไปแล้วและต้องเป็นสมาชิกกองทุนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งคือช่วงหลังเกษียณอายุ แปลว่า ลูกจ้างจะมีระยะเวลายาวนานเพียงพอที่จะปล่อยให้เงินที่สะสมนี้ไปหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนข้อสำคัญอีกประการ ที่บางคนอาจจะยังใช้งานไม่เต็มที่คือ ปัจจุบันลูกจ้างสามารถสะสมเงินเข้ากองทุนได้เต็มที่สูงสุด 15% ของเงินเดือน ไม่จำเป็นต้องสะสมเท่ากับสัดส่วนที่นายจ้างให้ก็ได้ ซึ่งเงินก้อนที่สะสมนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย และยิ่งสะสมมากเท่าไร แปลว่าเรามีเงินตั้งต้นเพื่อการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น หากเงินตั้งต้นเหล่านี้นำไปเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายเงินที่ต้องการมีเพียงพอใช้ในวัยเกษียณจะยิ่งมากขึ้น
- นายจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วดึงดูดใจ
เมื่อกลับไปดูที่นายจ้างบ้าง เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเกิดขึ้น และทำให้ลูกจ้างมีตัวช่วยมีเงินเพียงพอใช้วัยเกษียณได้ จะพบว่า การจัดตั้งกองทุนนี้ให้ประโยชน์กับนายจ้างเองด้วย เพราะถึงแม้นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เงินเหล่านี้ นำไปหักค่าใช้จ่ายตามจริง เพื่อลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ ที่สำคัญกองทุนนี้จะเป็นสวัสดิการระดับแม่เหล็กชั้นดีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้นายจ้างสามารถดึงดูงคนเก่งๆ ให้เข้ามาอยู่ในองค์กร และรักษาคนที่มีความสามารถให้อยากอยู่กับองค์กรไปนานๆ ได้
ทั้งนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีทั้งหมด 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ กองทุนที่มีบริษัทนายจ้างรายเดียวจัดตั้งขึ้น หรือกองทุนเดี่ยว (Single Fund) เหมาะกับบริษัทใหญ่หรือเครือบริษัทที่มีขนาดกองทุนควรไม่น้อยกว่า 100 ถึง 500 ล้านบาท กองทุนลักษณะนี้ จะมีอิสระในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนหรือกำหนดเงื่อนไขในการลงทุนได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเงินกองทุนไม่เยอะ อาจจะทำให้ติดข้อจำกัดการลงทุนในหลายนโยบายการลงทุน
รูปแบบที่ 2 คือ กองทุนที่บริษัทนายจ้างหลายรายร่วมกันจัดตั้ง หรือ กองทุนร่วม (Pooled Fund) เหมาะกับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกองทุนลักษณะนี้มีนายจ้างหลายๆ รายร่วมกันจัดตั้ง ดังนั้นเวลาจะตัดสินใจอะไร ความคล่องตัวหรือเงื่อนไขในการลงทุนอาจไม่คล่องตัวเท่ากองทุนเดี่ยว บลจ.ยูโอบี กับบริการดีๆ ด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีให้
ในส่วนของ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหนึ่งที่พร้อมมีส่วนร่วมสนับสนุนให้คนไทยมีเงินเพียงพอใช้ในวัยเกษียณ โดยเรามีบริการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะกองทุนร่วมที่เราจัดทำนโยบายการลงทุนเอาไว้หลากหลายเพื่อให้นายจ้างเลือกให้เหมาะสมกับสมาชิก ช่วยลดความกังวลเรื่องข้อจำกัดในการลงทุน เพราะนโยบายที่สมาชิก สามารถเลือกได้นั้นมีทั้ง ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อดูที่แนวทางในการบริหารจัดการเงินกองทุน ต้องบอกว่า บลจ.ยูโอบี เป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแรกๆ ในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนแบบยั่งยืน หรือ Sustainability Investment ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) ในกระบวนการลงทุน ซึ่งสิ่งนี้จะสะท้อนกลับมาในรูปแบบของผลตอบแทนในระยะยาว และยังช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจเข้ามากระทบกับหลักทรัพย์ของบริษัทที่อยู่ในพอร์ตลงทุนแบบคาดไม่ถึงด้วย เช่น การถูกฟ้องร้องจากการไม่ได้ดูแลสู่สิ่งแวดล้อมทำให้ผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นของบริษัทนั้นได้
นอกจากนี้ บลจ.ยูโอบี ยังให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานสำคัญอย่างการให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเงิน รวมถึงทักษะการบริหารจัดการเงิน (Financial Literacy) เพราะเรามองว่าเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การออม การลงทุน เพื่อมีเงินเพียงพอใช้ในวัยเกษียณ ภายใต้แนวคิด “ตามให้ทัน วางแผนให้ดี ชีวิตมีสุข” เพราะนอกจากการออมในรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ยังสนับสนุนให้มีการลงทุนในรูปแบบอื่น ที่เป็น Regular Saving
โดยในปี 2565 บลจ.ยูโอบี มีการจัดสัมมนาให้สมาชิกที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของยูโอบี ไตรมาสละ 1 ครั้ง ในหัวข้อ การวางแผนการเงินก่อนเกษียณอายุ (Pre – Retirement Planning) และการวางแผนการเงินหลังเกษียณอายุ (Post – Retirement Planning)
ส่วนอีกด้านที่ บลจ.ยูโอบี ให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การให้ข้อมูลการลงทุนที่เพียงพอ และคำแนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้สมาชิกใช้ในการปรับพอร์ตลงทุนของตัวเอง
- ลงทุนช่วงนี้มี 3 ปัจจัยต้องติดตามกับ 3 ธีมน่าลงทุน
ถ้ามองถึงการลงทุนในช่วงนี้ ดร. จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการลงทุนในช่วงนี้มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความกังวลว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ที่อาจทำให้การลงทุนไม่คึกคักมากนัก 2.เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ และ 3. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก
สำหรับธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปี 2565 มี 3 ธีม คือ 1.ธีมปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะมีการใช้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมาก 2.ธีมฟินเทค เพราะเทคโนโลยีการเงินช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ขณะที่ธุรกิจการเงินดั้งเดิมต่างก็เร่งใช้เทคโนโลยี เช่น บล็อคเชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ 3.ธีม Turnaround หรือธุรกิจที่มีการหมุนเวียนสูง เช่น อี-คอมเมิร์ซ ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตทำธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าปีนี้จะถูกควบคุมมากขึ้น แต่ธุรกิจก็น่าจะกลับมาได้ โดยในส่วนของจีน คาดว่าปี 2566 จะเห็นความชัดเจนด้านนโยบายอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น
ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ประเด็น และธีมการลงทุนที่น่าสนใจทั้ง 3 ธีม ทำให้ บลจ.ยูโอบี ประเมินกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้คือ ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในธีมปฏิวัติอุตสาหกรรม การเงินไร้ตัวตน การป้องกันไซเบอร์ รวมทั้งแนะนำให้ลงทุนในกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ เงิน อะลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มการเกษตร ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ
เมื่อดูการจัดสัดส่วนลงทุนรายประเทศ มองว่า ช่วงนี้เหมาะกับการสะสมการลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วในเอเชีย เน้นไปที่หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นคุณค่า และให้น้ำหนักการลงทุนที่ระดับเท่ากับตลาด ในหุ้นสหรัฐฯ โดยเน้นไปที่หุ้นขนาดเล็กและกลุ่มธนาคาร ส่วนกลุ่มที่แนะนำให้ลดการลงทุนคือ หุ้นยุโรป หุ้นเติบโต และหุ้นเทคโนโลยี
ดร.จิติพล ให้คำแนะนำปิดท้าย สำหรับการจัดพอร์ตเพื่อเป้าหมายการเกษียณว่า อย่างแรก อยากให้สมาชิกคำนวณว่า มีเวลาเท่าไรก่อนเกษียณ และหลังจากเกษียณไปแล้วมีเวลาอีกนานเท่าไร ต้องการเงินใช้แค่ไหนในช่วงเวลานั้น เมื่อดูครบถ้วนแล้ว พบว่า มีเวลามาก ก็สามารถทยอยสะสมเงินจำนวนไม่สูงมาก แล้วเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงได้ในระยะยาว เช่น หุ้น
แต่ถ้าเหลือเวลาจนถึงวันเกษียณไม่มากแล้ว เมื่อดูสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่มีความผันผวน หรืออาจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมได้ ก็แนะนำว่า ให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ป้องกันเงินเฟ้อได้ หรืออาจลดการลงทุนในหุ้นลงมาบ้าง เพราะในระยะสั้น การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอาจทำให้เงินลงทุนที่เก็บสะสมไว้ปรับตัวลง ขณะที่โดยรวมแล้วหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้นักลงทุนถึงเป้าหมายมีเงินใช้เพียงพอในวัยเกษียณอย่างสบายใจมากขึ้น ก็คือ ระหว่างทางให้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายหน่อย อย่ากระจุกตัวอยู่แค่สินทรัพย์อย่างเดียว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่องานบริการนักลงทุน โทร 02-786-2222
หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.uobam.co.th