WEALTH • STOCK - DERIVATIVES

ตลท.เปิดข้อมูลหุ้นยั่งยืน ทุกเจนเนอเรชั่นมีติดพอร์ต

เปิดพอร์ตนักลงทุน 9 แสนคน พบ 80% ซื้อขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อย 1 บริษัท เช่นเดียวกับวอลุ่มเทรดเฉลี่ยสูงถึงวันละ 14,245 ล้านบาท ทุกเจเนอเรชั่นมีหุ้นยั่งยืน ยิ่งอายุมากมีแนวโน้มสนใจมากขึ้น นักลงทุนที่มีประสบการณ์เริ่มซื้อขายมาก่อนปี 2564 สนใจและกระจายการซื้อขายในหุ้น ESG มากกว่านักลงทุนใหม่

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ถือเป็นหุ้นยั่งยืนตามกรอบดัชนี DJSI ดัชนี MSCI-ESG และรายชื่อหุ้น THSI รวม 155 บริษัท โดยเป็นบริษัทในกลุ่ม SET100 และ Non-SET100 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และมีการกระจายตัวในเชิงกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายหุ้นกลุ่มนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสอดคล้องตามทิศทางของตลาดการลงทุนโลกที่นักลงทุนใส่ใจในด้าน ESG มากขึ้น

นักลงทุนบุคคลที่ซื้อขายหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวน 9 แสนคน พบว่า ประมาณ 80% ซื้อขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อย 1 บริษัท และมีมูลค่าซื้อขายหุ้นยั่งยืนเฉลี่ยสูงถึงวันละ 14,245 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าซื้อขายหุ้นของนักลงทุนบุคคลทั้งหมด

หุ้นยั่งยืนเป็นที่นิยมของบุคคลในทุกเจเนอเรชั่น โดยยิ่งสูงอายุขึ้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจและกระจายมูลค่าซื้อขายให้หุ้นยั่งยืนมากขึ้น อีกทั้ง พบว่านักลงทุนที่มีประสบการณ์เริ่มซื้อขายหุ้นมาก่อนปี 2564 สนใจหุ้นยั่งยืนมากกว่านักลงทุนใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดมาในช่วง 2 ปีหลังอยู่บ้าง

ความสนใจหุ้นยั่งยืนแตกต่างกันอย่างชัดเจนในมุม Retail Segment โดยบุคคลกลุ่ม Fundamental Group พบว่า มากกว่า 85% จากทุก Segment ในกลุ่มนี้ซื้อขายหุ้นยั่งยืน และกระจายมูลค่าซื้อขายให้สูงถึง 60-80% ขณะที่บุคคลในกลุ่ม Risk Group กระจายมูลค่าซื้อขายให้หุ้นยั่งยืนเพียง 15-25%

 

นักลงทุนบุคคลไทยใครสนใจหุ้นยั่งยืน

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียนไทย 155 บริษัท ที่ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นองค์ประกอบในดัชนีความยั่งยืนสากลของ DJSI (DowJones Sustainability Indices) MSCI-ESG หรือได้รับคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) โดยแบ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม SET100 และ Non-SET100 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และมีการกระจายตัวในเชิงกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ซึ่งหุ้นยั่งยืนดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน สอดคล้องตามทิศทางของตลาดการลงทุนโลกที่นักลงทุนต่างใส่ใจในเรื่องของ ESG (Environmental-Social-Governance) มากขึ้น

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ตลาดหุ้นไทยมีนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นรวม 5.54 ล้านบัญชี หรือ 2.27 ล้านคน (นักลงทุนบุคคลที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นรวม 5.67 ล้านบัญชี หรือ 2.30 ล้านคน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 )โดยนักลงทุนบุคคลทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นในช่วง 6 เดือนแรกรวม 0.89 ล้านคน มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 35,487 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของมูลค่าซื้อขายหุ้นทั้งตลาด

ทั้งนี้ พบว่า 79% ของนักลงทุนบุคคลดังกล่าวซื้อขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อย 1 บริษัท และมีมูลค่าซื้อขายหุ้นยั่งยืนเฉลี่ยสูงถึงวันละ 14,245 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าซื้อขายหุ้นของนักลงทุนบุคคลทั้งหมด (รูปที่ 2) คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ นักลงทุนบุคคลสนใจหุ้นยั่งยืนเหมือนกันทุกกลุ่มหรือไม่ ใครสนใจมากหรือน้อยแตกต่างกันอย่างไร

ในมุมเจเนอเรชั่นพบว่า หุ้นยั่งยืนเป็นที่นิยมของบุคคลในทุกเจเนอเรชั่นโดยมากกว่า 70% ของคนในแต่ละเจเนอเรชั่นต่างซื้อขายหุ้นยั่งยืนในพอร์ต และยิ่งสูงอายุขึ้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจและกระจายมูลค่าซื้อขายให้หุ้นยั่งยืนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบในเชิงประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นของแต่ละบุคคลแล้ว พบว่านักลงทุนที่มีประสบการณ์เริ่มซื้อขายมาก่อนปี 2564 สนใจและกระจายการซื้อขายให้หุ้นยั่งยืนมากกว่านักลงทุนใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดมาเริ่มซื้อขายในช่วง 2 ปีหลังอยู่บ้าง

ในมุม Retail Segment มีความสนใจหุ้นยั่งยืนที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยบุคคลกลุ่มFundamental Group ซึ่งนิยมหุ้นพื้นฐานขนาดใหญ่หรือหุ้นที่ให้ปันผลสูง พบว่ามากกว่า 85% ของบุคคลทุก Segment ในกลุ่มนี้ซื้อขายหุ้นยั่งยืน และกระจายมูลค่าซื้อขายให้สูงถึง 60-80% เลยทีเดียว ขณะที่บุคคลในกลุ่ม Risk Group กระจายมูลค่าซื้อขายให้หุ้นยั่งยืนเพียง 15-25%

 

หุ้นยั่งยืนใน THSI เพิ่มต่อเนื่อง

กลุ่มบริการติดโผมากสุด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าร่วมและผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2565 มีบริษัทได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ถึง 170 บริษัท สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ บจ.

ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมตลาดทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนที่มีความตื่นตัวและลงทุนอย่างยั่งยืน โดยนำข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ควบคู่ไปกับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้นำรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ไปใช้ในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุนยังนำปัจจัย ESG รวมถึงรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ไปใช้ในการวิเคราะห์และให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนผ่านบทวิเคราะห์หลักทรัพย์อีกด้วย

สำหรับ 170 บริษัทในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ปีนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญในการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น นโยบายและเป้าหมายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ผลการดำเนินงานและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรไฟฟ้า พลังงาน น้ำ รวมถึงของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต และผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ชุมชนและสังคมผ่านกระบวนการทางธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ บจ.ประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยกำหนดนโยบายและมาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี บจ.ยังสามารถพัฒนาเพิ่มเติมให้มีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

หุ้นยั่งยืน THSI 170 บริษัทเป็น บจ. ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)จำนวน 157 บริษัทและ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 13 บริษัท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวน บจ. ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ 33 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 28 บริษัท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 บริษัท โดย บจ. ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (ณ 3 ตุลาคม 2565)

รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI คัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดทั่วไปสำหรับทุกบริษัทรวม 19 หมวด และตัวชี้วัดตามลักษณะการประกอบธุรกิจตาม 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีตัวชี้วัดเพิ่มเติมในการประเมินเรื่องการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบและความเสี่ยงจากการใช้น้ำ กลุ่มธุรกิจการเงินมีตัวชี้วัดเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ การทำธุรกิจทางการเงินหรือประกันภัยอย่างรับผิดชอบ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินหรือการประกันภัย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของบริษัท