WEALTH • STOCK - DERIVATIVES

โบรกฯชี้ ปรับเกณฑ์ Turnover Ratio เปิดทางหุ้นใหญ่ หุ้นดีเข้า SET50

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์คัดเลือกดัชนี SET50/SET100 พบดัชนีในต่างประเทศส่วนใหญ่กำหนดเกณฑ์สภาพคล่องขั้นต่ำ 1-2% เสนอปรับลดระดับ Turnover Ratio เริ่มต้นจากเดิมที่ 5% เป็น 2% โบรกเกอร์คาดเป็นบวกกับหุ้นขนาดกลาง และหุ้นใหญ่บางตัว ลุ้นอาจกลับมาอยู่ใน SET50 ทั้งยังช่วยลดความผันผวนของดัชนีหุ้นไทย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือเฮียริ่ง การปรับปรุงปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) สำหรับการคัดเลือกดัชนี SET50/SET100 โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 6-27 กันยายน 2565 หลังจากที่ผ่านมาพบว่า สภาวะการซื้อขายของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยพบว่า ผู้ลงทุนมีพฤติกรรมการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เน้นการลงทุนจากในกลุ่มหุ้นในดัชนี SET50 ก็เปลี่ยนแปลงเป็นกระจายการลงทุนในหุ้นที่มีขนาดเล็กในกลุ่ม Non-SET100 เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย (Turnover Ratio) ของหุ้นขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในดัชนี SET50 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม SET51-100 และหุ้นขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในดัชนี SET50 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่สำคัญในการ Represent ตลาดหุ้นไทยมีระดับ Turnover Ratio ลดลงจากที่ 4-5% มาอยู่ที่ 2-4%

 

ดัชนีใน ตปท. ส่วนใหญ่

ใช้เกณฑ์สภาพคล่องขั้นต่ำ 1-2%

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเกณฑ์ Liquidity Criteria ของดัชนี SET50/SET100 เทียบกับดัชนีในต่างประเทศ พบว่า ดัชนีในต่างประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดเกณฑ์ด้านสภาพคล่อง (Liquidity) โดยใช้ Turnover Ratio เช่นเดียวกับดัชนี SET50/SET100 แต่จะกำหนดระดับขั้นต่ำที่ประมาณ 1-2%

ดังนั้น เพื่อให้ดัชนีสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ และสอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นควรเสนอแนวทางการปรับปรุง Turnover Ratio ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกดัชนี SET50 และ SET100 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ปรับระดับ Turnover Ratio ที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้นในดัชนี SET50 และดัชนี SET100 ให้สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก

        1. เกณฑ์ Liquidity ที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้นของดัชนี SET50/SET100 ในปัจจุบันจะพิจารณาทั้งมูลค่า (Trading Value) และปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) ของหุ้น เพื่อที่ให้หุ้นที่ผ่านการคัดเลือกเป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสม ทั้งในส่วนของขนาดและสภาพคล่อง และสามารถ Represent ตลาดหุ้นไทยได้ อีกทั้งยังช่วยคัดกรองหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการซื้อขายน้อย ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันไม่สามารถลงทุนในหุ้นดังกล่าวได้ ไม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบของดัชนี

        2. ในปัจจุบัน ระดับ Turnover Ratio ที่กำหนดในเกณฑ์สภาพคล่อง อาจไม่สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายหุ้น เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากไม่ปรับปรุงเกณฑ์ให้เหมาะสมอาจส่งผลให้ดัชนี SET50/SET100 ไม่สามารถสะท้อนสภาพตลาดได้อย่างเหมาะสมในอนาคต

       3. เพื่อให้ดัชนีเป็น Benchmark (อ้างอิง) ที่เหมาะสมลงทุนได้ สะท้อนภาพของตลาดโดยรวม ตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นว่าควรมีการปรับปรุงระดับ Turnover Ratio ที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้นสำหรับดัชนี SET50/SET100 ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดปัจจุบัน เพื่อให้หุ้น Blue Chip ที่ยังมีสภาพคล่องสม่ำเสมอ ทั้งในแง่มูลค่าการซื้อขายและปริมาณการซื้อขาย เข้ารวมคำนวณในดัชนี SET50/SET100

       4. เสนอแนวทางการปรับปรุง Liquidity Criteria สำหรับดัชนี SET50/SET100 ตามหลักการ ดังนี้ ใช้หลักเกณฑ์และแนวทางในปัจจุบัน โดยปรับลดระดับ Turnover Ratio เริ่มต้นจากเดิมที่ 5% เป็น 2% และพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี และจะเริ่มใช้ในรอบคัดเลือก ธันวาคม 2565

 

โบรกเกอร์คาด หุ้น DELTA มีโอกาสเข้า SET50

มุมมองของโบรกเกอร์ต่อการปรับเกณฑ์ด้านสภาพคล่องของหุ้นที่จะใช้คำนวณในดัชนี SET50/SET100 โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ประเด็นหลักอยู่ที่การลดเกณฑ์ Turnover Ratio ลงมาจากเดิมเริ่มต้นที่ 5% เป็น 2% หากนำมาใช้จริง คาดว่าเป็นบวกแก่หุ้นขนาดกลาง และหุ้นขนาดใหญ่บางตัวที่อาจกลับมาอยู่ใน SET50

เนื่องจากเกณฑ์ Turnover Ratio อิงขนาดมูลค่าตลาดล่าสุด ได้แก่ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) และ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ให้มีโอกาสติด SET50 ง่ายขึ้น ส่วนหุ้นที่เสี่ยงหลุด SET50 ตามเกณฑ์ใหม่ คือ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)

เช่นเดียวกับมุมมองของ บล.เอเอสแอล คาดว่า การปรับเกณฑ์ Turnover Ratio ลงมาจากเดิมเริ่มต้นที่ 5% เป็น 2% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดปัจจุบันที่หุ้นขนาดใหญ่มีแนวโน้ม Turnover ลดลง ส่งผลให้หุ้นขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องน้อย เช่น DELTA และ BJC กลับเข้ามาใน SET50 ได้

 

เกณฑ์เปลี่ยน เพิ่มโอกาสหุ้นใหญ่

ลดความผันผวนของดัชนี

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า เกณฑ์เชิงปริมาณสำหรับการคำนวณ SET50/SET100 รอบถัดไป กรณีผ่านความเห็นชอบด้าน Turnover Ratio ใหม่จะเป็นดังนี้ 1.มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เฉลี่ย 3 เดือน 2.มีสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนรายย่อย (ฟรีโฟลต) มากกว่าหรือเท่ากับ 20% 3.มูลค่าการซื้อขาย (Trading Value) มากกว่าหรือเท่ากับ 50% ของค่าเฉลี่ยต่อหุ้นทั้งตลาดอย่างน้อย 9 ใน 12 เดือน 4.มี Turnover Ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 2% อย่างน้อย 9 ใน 12 เดือน

โดยประเมินว่า เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของ SET50/SET100 เนื่องจาก 1.ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่มี Turnover Ratio ต่ำ สามารถเข้ามาอยู่ใน SET50/SET100 ได้ ซึ่งจะสะท้อนการเคลื่อนไหวของดัชนีในเชิงของขนาดได้ดีขึ้น และ 2.หุ้นขนาดใหญ่ที่ Turnover Ratio ต่ำ มักมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นที่มี Turnover Ratio สูง ทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับหุ้นที่มีโอกาสเข้าคำนวณใน SET50 ด้วยเกณฑ์ใหม่ บล.หยวนต้าฯ คาดว่ามี 3 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย DELTA, RATCH และ BJC จากการประเมินเบื้องต้น โดยอิงข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบัน (ณ 7 ก.ย.2565) แล้วพิจารณาเฉพาะผลจากการปรับเกณฑ์ Turnover Ratio ลงจาก 5% เหลือ 2% พบว่าหุ้นขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกที่อยู่นอก SET50 และผ่านเกณฑ์เชิงปริมาณทั้งหมดคือ RATCH และ DELTA ทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะกลับเข้า SET50 รอบหน้าที่จะประกาศกลางเดือนธันวาคม 2565

ส่วน BJC เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่มี Turnover Ratio มากกว่า 2% มาแล้ว 6 เดือน หากยังสามารถรักษาสถานะได้ต่อเนื่องระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 จะมีโอกาสกลับเข้า SET50 ในรอบหน้าเช่นกัน ซึ่ง BJC และ DELTA เป็นหุ้นที่ยังไม่ได้อยู่ทั้งใน SET50 และ SET100

หาก 3 หลักทรัพย์ที่กล่าวข้างต้นกลับเข้า SET50 หุ้นที่มีโอกาสหลุดตามลำดับของมาร์เก็ตแคป ณ ปัจจุบัน คือ SAWAD, KCE และ BLA ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน เพราะมาร์เก็คแคป มีโอกาสเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใน 3 เดือนข้างหน้าก่อนประกาศดัชนีรอบใหม่

ทั้งนี้ ในเอกสารเปิดรับฟังความคิดเห็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยถึงที่มาและวัตถุประสงค์ในการปรับเกณฑ์การปรับปรุง Turnover Ratio สำหรับการคัดเลือกดัชนี SET50/SET100 ดังนี้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทบทวนและพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาโดยตลอด เพื่อให้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในตลาดทุน สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ดัชนี รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ที่ผ่านมา ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถสะท้อนการลงทุนของหลักทรัพย์ และสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ได้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกณฑ์การคัดเลือกดัชนีในปัจจุบันอาจมีข้อจำกัดในการสะท้อนสภาพตลาดได้อย่างเหมาะสม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นควรเสนอแนวทางปรับปรุง และขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงเกณฑ์การคัดเลือกดัชนี SET50/SET100 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในด้าน Liquidity