ท็อป 10 กองทุน RMF Equity ผลตอบแทนสูงสุดทำได้ 6.53 - 9.36% ต่อปี
มอร์นิ่งสตาร์เปิดเผย 10 อันดับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ให้ผลตอบแทนสูงสุด 6.53 - 9.36% ต่อปี
สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด
อันดับที่ 1 คือ กองทุนเปิดทหารไทย US500 เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBUS500RMF) ให้ผลตอบแทน 9.36% ต่อปี โดยมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน iShares Core S&P 500 ETF (กองทุนหลัก)ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NewYork Stock Exchange, NYSE Arca) และลงทุนในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ เป็นสกุลเงินหลัก ส่วนที่เหลือ กองทุนอาจลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่ระบุไว้ในโครงการ
อันดับที่ 2 กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TUSRMF-A) ให้ผลตอบแทน 8.94% ต่อปี โดยเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR S&P 500 ETF (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุน อีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange, “NYSE Arca”) มีนโยบายลงทุนในตราสารแห่งทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุน (ก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย) ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 โดยกองทุนดังกล่าวจัดตั้งและจัดการโดย State Street Global Advisors ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR S&P 500 ETF โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
อันดับที่ 3 กองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KGHRMF) ให้ผลตอบแทน 8.68% ต่อปี มีนโยบายลงทุนในกองทุน JPMorgan Funds – Global Healthcare Fund, Class A (acc) - USD ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินกองทุน นโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน -ในสภาวการณ์ปกติ กองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน จะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ นโยบายการลงทุนของกองทุนต่างประเทศ -กองทุน JPMorgan Funds – Global Healthcare Fund, Class A (acc) จะลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่ประกอบธุรกิจดูแลสุขภาพทั่วโลกไม่น้อยกว่า 67% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน (ไม่รวมเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด) กองทุนหลักอาจลงทุนในสัญญาซื้อ ขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (Efficient Portfolio Management)
อันดับที่ 4 กองทุนเปิด ทิสโก้โกลบอล เฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TGHRMF-A) ให้ผลตอบแทน 7.37% ต่อปี โดยกองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟตราสารทุนต่างประเทศ ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Healthcare หรือบริษัทที่มีรายได้หลักจากการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Healthcare ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศแต่ละกองทุน จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ ตามสภาวะการลงทุนหรือการคาดการณ์สภาวะ การลงทุนในแต่ละขณะ สำหรับเงินลงทุนในต่างประเทศส่วนที่เหลือกองทุนอาจลงทุน ในหลักทรัพย์ ตราสารทางการเงินอื่นๆ ตลอดจนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในต่างประเทศ ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ
อันดับที่ 5 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นญี่ปุ่น เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMJP) ให้ผลตอบแทน 7.03% ต่อปี มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund ( ETF) ที่บริหารงานภายใต้ความดูแลของ Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225 Index หรือ Nikkei Stock Average)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ไปในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกับดัชนีนิคเคอิ 225 ดังกล่าว โดยกองทุนมี net exposure ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศดังกล่าวโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และมีการลงทุนที่ส่งผลให้มี net exposure ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยในสภาวการณ์ปกติกองทุนจะลงทุนหรือมีไว้ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่เทียบกับสกุลเงินบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงอาจลงทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน แต่จะไม่ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง