Web3 อนาคตใหม่ของโลกสินทรัพย์ดิจิทัล
แม้ว่าโลกสินทรัพย์ดิจิทัลเวลานี้จะปั่นป่วนจากการล่มสลายของ FTX ซึ่งเป็นอดีต Exchange ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก
ทำให้คนทั่วโลกกำลังตั้งคำถามว่าอุตสาหกรรมนี้จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรและเป็นเพียงแค่การเก็งกำไรโดยไม่มีพื้นฐานรองรับหรือไม่
จากประสบการณ์ที่ผมได้พูดคุยกับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในไทยและต่างประเทศตลอดจนการไปดูงาน Singapore Fintech Festival ที่เพิ่งจบไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พอได้เห็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด
มีโอกาสสูงที่เทคโนโลยี Web3 จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหลังจากนี้เป็นต้นไปรวมถึงระบบบการเงินดั้งเดิมจะเริ่มขยับเข้าหาโลกการเงินดิจิทัล
ก่อนอื่นขออธิบายความหมายของ Web3 ก่อน ในอดีตและปัจจุบันการใช้งานอินเทอร์เนตจะอยู่ภายใต้การจัดการของเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นต่างๆ หรือสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้คอนเซปท์ของ Platform Base หรือ Web2
แต่ Web3 จะเปลี่ยนคอนเซปท์มาเป็น Ownership Base หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้มีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆในรูปแบบดิจิทัลโดยไม่อยู่ภายใต้การจัดการของแพลตฟอร์มต่างๆซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ตัวกลางแต่ไม่ได้มาจัดการควบคุมผู้ใช้งานทั้งหมด 100% อีกต่อไป
กล่าวคือ Web3 จะทำงานภายใต้การกระจายอำนาจหรือ Decentalized ซึ่งเป็นคอนเซปท์เดียวกับบล็อกเชนและคริปโตนั่นเอง โดย Web3 จะครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีอย่างเช่นระบบการเงินไร้ตัวกลางอย่าง Bitcoin และ DeFi, โทเคนดิจิทัล, GameFi, Metaverse รวมถึง NFT และยังมีอินเทอร์เนตแบบกระจายศูนย์อย่างเช่น Crypto Domain Names, Decentralized Cloud System ฯลฯ
ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่นำคอนเซบท์ของ Web3 ไปใช้จะสามารถแก้ไข Pain Point ที่ผู้ใช้งานถูกปลอม Account ได้ง่ายแต่ถ้ามีการแปลง Account ของเราเป็น NFT ซึ่งสามารถพิสูจน์ที่มาได้และมีเพียงหนึ่งเดียวก็จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หรือการที่คอนเทนท์ของเราในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นแมสเสจ รูปภาพ คลิปวีดีโอ ถูกแปลงเป็น NFT และสามารถโอนให้กันหรือซื้อขายกันได้จากเดิมที่สิ่งเหล่านี้ถูกควบคุมโดยแพลตฟอร์ม
เราจึงเริ่มเห็นโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Instagram ที่เริ่มเปิดให้สามารถแสดงผลงานหรือซื้อขาย NFT ได้หรือ Twitter ซึ่ง Elon Musk พยายามที่จะทำให้มีความเป็นแพลตฟอร์มแบบไร้ตัวกลาง
แม้ว่า Web3 จะทำงานภายใต้คอนเซปท์ Decentralized แต่มีแนวโน้มที่จะถูกระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจจริงนำมาใช้งานเช่นกัน โดยภายในงาน Singapore Fintech Festival ที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพและองค์กรขนาดใหญ่ที่ชูคอนเซบท์ของ Web3 กันทั่วหน้า
ตัวอย่างของการเงินดั้งเดิมที่มีการนำ Web3 มาใช้อย่างเช่นโปรเจกต์ Orchid ที่เกิดจากการรวมตัวของหน่วยงานกำกับดูแลการเงินของสิงคโปร์หรือ MAS และฟินเทคอย่างเช่น Grab พัฒนาระบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติสำหรับรายย่อยหรือ Retail CBDC โดยสร้าง Digital Singapore Dollar ขึ้นเพื่อใช้ในการชำระเงินโดยสามารถแนบ NFT ในรูปแบบของ Digital Voucher ให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างและส่งให้กับลูกค้าได้โดยทำงานภายใต้เชน Polygon
แม้ตอนนี้ยังมองไม่เห็นภาพว่า Web3 จะเป็นอย่างไรและจะนำมาใช้กับโลกการเงินและเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างไรแต่เชื่อว่าปี 2566 เราจะคุ้นเคยกับคำนี้มากขึ้นรวมถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะเข้าสู่โลกของ Web3 ให้ได้ตื่นเต้นกัน