THE GURU • EXECUTIVE COACHING

การท้าทายและการสนับสนุนที่สมดุล นำคนไปสู่ความสำเร็จ

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

เป้าหมายของการโค้ชก็คือ การสนับสนุนให้ทีมงานสามารถพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการคิดและการกระทำ อีกทั้งยังท้าทายเขาให้มองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาทีมงานให้เติบโต และสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร

            ในสถานการณ์ที่ทีมงานต้องเผชิญกับภารกิจที่ไม่คุ้นเคยหรือยากลำบาก ในฐานะผู้นำ คงต้องสวมบทบาทเป็นโค้ชอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป้าหมายของการโค้ชก็คือ การสนับสนุนให้ทีมงานสามารถพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการคิดและการกระทำ อีกทั้งยังท้าทายเขาให้มองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาทีมงานให้เติบโตและสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร 

    ถึงแม้ว่าโดยปกติ บทบาทของโค้ชไม่ใช่การให้คำแนะนำหรือหาทางออกให้กับผู้รับการโค้ช (โค้ชชี่) แต่เป็นการสำรวจไปด้วยกันกับเขา และช่วยเขาให้ค้นพบทางออกด้วยตนเอง แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้เป็นการทดแทนคือ การให้การสนับสนุนและให้กำลังใจ พร้อมทั้งท้าทายเกี่ยวกับความคิดและข้อสมมติฐานของเขา ซึ่งเป็นการยากมากที่จะทำทั้งสองอย่างให้เกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากแต่ละคนก็มีวิธีที่ตนเองถนัดเป็นพิเศษ ฉะนั้น ทักษะในการสร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนและการท้าทาย จึงสำคัญยิ่งสำหรับบทบาทในการเป็นโค้ช 

วิธีท้าทายและสนับสนุน ให้ผลลัพธ์อย่างไร

    เมื่อโค้ชใช้ทักษะการท้าทายที่เหมาะสม ด้วยการท้าทายความคิดและข้อสมมติฐานต่างๆ ของโค้ชชี่ จะเป็นการบังคับให้เขาก้าวข้ามข้อจำกัดใดๆ ที่ตนเองมีอยู่ กล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่คุ้นเคย ถ้าหากไม่ได้รับการท้าทายเลย โค้ชชี่ก็จะยังคงรู้สึกพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะปฏิเสธเกี่ยวกับบางประเด็นของปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ แต่ว่าการท้าทายนี้จะต้องทำด้วยความละมุนละม่อมและเป็นไปในเชิงบวก การท้าทายที่หยาบๆ ดิบๆ หรือไม่ชำนาญ มีแต่จะนำโค้ชชี่ไปสู่การปกป้องตนเอง และไม่เกิดประโยชน์อันใด

    ขณะเดียวกัน การสนับสนุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าสิ่งที่โค้ชทำทั้งหมดคือการท้าทาย ในไม่ช้าโค้ชชี่จะรู้สึกไม่สบายใจ ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นคือ การผสมผสานอย่างชำนาญระหว่างการท้าทายและการสนับสนุน โค้ชชี่มักจะวิตกกังวลหรือเครียด ซึ่งเป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะต้องสังเกตว่า อะไรที่ดำเนินไปได้ดีแล้ว และควรจะสนับสนุนความพยายามที่โค้ชชี่กำลังทำอยู่ ซึ่งจะช่วยเขาให้ก้าวไปข้างหน้า การใช้ระดับการสนับสนุนที่เหมาะสมจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้โค้ชชี่ มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามประเด็นที่ยากลำบาก และกล้าลองใช้ความคิดใหม่ๆ

ทักษะการท้าทายที่มีประสิทธิภาพ

    การท้าทายต้องพิจารณาถึงกาลเทศะและความสมดุล กาลเทศะคือความรู้สึกว่าได้แผ้วถางทางไว้แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าโค้ชชี่มีภาวะจิตใจและอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น ไม่ควรท้าทายในช่วงเวลาที่โค้ชชี่กำลังรู้สึกอ่อนไหวหรือต้องการเวลาในการระบายอารมณ์ความรู้สึก ส่วนความสมดุลเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ทำการท้าทายมากเกินไป หรือน้อยเกินไป

    บางคนอาจจะติดกับดักด้วยการท้าทายมากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะที่โค้ชชี่ปิดการรับฟังและไม่อยากพูดอะไรเลย หรืออยู่ในภาวะต่อต้านปกป้องตนเอง ตัวอย่างคำพูด เช่น “นี่เป็นความคิดที่ขยะมาก” ซึ่งเป็นการตัดสินจากมุมมองของโค้ชเอง หรือการพูดว่า “คุณคิดว่านั่นเป็นความคิดที่ดีหรือ” ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นการท้าทายที่สมเหตุสมผล แต่ก็มีคำตอบที่เป็นไปได้สองอย่างเท่านั้น คือ ไม่ใช่ หรือ ใช่ 

    ฉะนั้น โค้ชต้องคิดว่าจะทำให้การท้าทายมีชั้นเชิงมากขึ้นได้อย่างไร เช่น ทำให้เปิดเผยมากขึ้น โดยการถามว่า “คุณช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมว่าคุณจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้อย่างไร” ซึ่งการท้าทายนี้ไม่ได้จำกัดให้โค้ชชี่ตอบว่าใช่ หรือไม่ใช่ แต่บังคับให้เขาทบทวนความคิดของเขาให้ลึกขึ้นอย่างอิสระ 

    อีกวิธีหนึ่งคือ เพียงแต่ส่งสัญญาณแสดงความตั้งใจที่จะท้าทายโดยการพูดบางอย่างเช่น “ขอฉันท้าทายความคิดของคุณตรงนี้หน่อยได้ไหม” แล้วก็ตามด้วยคำถามที่ท้าทาย เช่น “คุณมั่นใจแค่ไหนเกี่ยวกับเรื่องนี้” หรือ “คุณกำลังตั้งข้อสมมติฐานว่าอะไร” การส่งสัญญาณจะมีผลเหมือนเป็นการเตือนล่วงหน้าให้โค้ชชี่รู้ว่า การท้าทายกำลังจะเกิดขึ้น จึงทำให้ผลกระทบอ่อนลง

    นอกจากนี้ ให้พยายามสังเกตคำพูดที่เป็นการจำกัดตนเองของโค้ชชี่ เช่น “ฉันไม่สามารถ” “ฉันไม่มีวันที่จะทำได้” โค้ชต้องสำรวจร่วมกับเขาว่า ทำไมเขาจึงคิดว่าเขาไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ และช่วยให้เขาเข้าใจว่าความเชื่อเกี่ยวกับความกลัวหรือการจำกัดตนเองมาจากไหน เพื่อให้โค้ชชี่เริ่มต้นจดจ่อกับสิ่งที่เขาสามารถทำได้จริงๆ

ทักษะการสนับสนุนที่สร้างพลัง

    ความต้องการพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์คือ การได้รับการยอมรับ ฉะนั้น โค้ชต้องสามารถแสดงการรับรู้อย่างเหมาะสม ในสิ่งที่โค้ชชี่พูด และสิ่งที่เขารู้สึก ซึ่งหมายความว่า โค้ชต้องให้ความใส่ใจอย่างเต็มที่ และให้ความสำคัญกับประเด็นของโค้ชชี่อย่างจริงจัง 

    เนื่องจากการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลมาจากจุดแข็งไม่ใช่จุดอ่อน ฉะนั้น โค้ชต้องพยายามมองหาจุดแข็งและทรัพยากรที่โค้ชชี่มีอยู่ และให้การสะท้อนกลับให้เขาทราบ เป็นการให้ความเชื่อมั่นกับโค้ชชี่เกี่ยวกับจุดแข็งเหล่านั้น 

    ปิดท้ายด้วยการสรุปด้วยมุมมองในเชิงบวกและให้การชมเชย โดยต้องตั้งอยู่บนหลักฐานของความเป็นจริง ซึ่งโค้ชต้องค้นหาว่า ที่ผ่านมา โค้ชชี่ได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่ดีในทางบวก หรือกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างไรบ้าง แล้วก็สะท้อนกลับสิ่งเหล่านั้นให้เขาตระหนักรู้ และให้คำชมเชยที่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่การชมด้วยคำพูดทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความชื่นชม และให้ความสำคัญกับจุดแข็งของโค้ชชี่รวมทั้งความก้าวหน้าใดๆ ที่เขาได้ทำสำเร็จให้ประจักษ์แล้ว สิ่งที่ต้องระวังคือ การวิจารณ์หรือการติเตียนในเชิงลบด้วยมุมมองส่วนตัว ซึ่งอาจจะทำให้โค้ชชี่เกิดความรู้สึกท้อถอยหรือต่อต้าน 

            เมื่อผู้นำต้องสวมบทบาทเป็นโค้ช การสร้างความสมดุลระหว่างการท้าทายและการสนับสนุนเป็นทักษะที่สำคัญ โดยมุ่งเน้นให้ผู้รับการโค้ชมีกำลังใจ มีความกล้าหาญและกระตือรือร้นที่จะออกจากกรอบเดิมๆ ที่สบายๆ สามารถพัฒนาความคิดใหม่ๆ

            อีกทั้งมีความภาคภูมิใจในจุดแข็งของตนเอง มีพลังใจที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากความพยายามที่ได้ทุ่มเทลงไป ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นและเกิดแรงจูงใจที่จะทำสิ่งที่ท้าทายให้ประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป


เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน