เตรียมตัวอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จในงานใหม่
การเตรียมตัวที่ดี จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ สามารถทำงานในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับ และยืนหยัดได้อย่างมั่นคง
ในเส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงาน
ย่อมต้องมีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนบทบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอ
หลายคนมีความเครียด หรือเกิดความกลัวในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แต่ถ้ามีการเตรียมตัวที่ดี
ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายและราบรื่นขึ้น หัวข้อที่สำคัญในการเตรียมตัว
เพื่อรับงานใหม่หรือตำแหน่งใหม่ ได้แก่
บริหารตนเอง
การเตรียมใจตัวเองให้พร้อมสำคัญที่สุด
เพราะจะช่วยสร้างกำลังใจและความมั่นใจ ที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ด้วยดุลยพินิจที่ดี
พยายามใช้ชีวิตให้มีความสมดุล ด้วยการบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญ ทั้งเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัว
นอกจากนั้น ก็ต้องทบทวนตัวเองด้วยความจริงใจว่า มีอะไรที่ทำให้รู้สึกกังวล
มีอะไรที่เป็นจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง และมีทักษะอะไรที่จำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น
สร้างความน่าเชื่อถือ
ในบทบาทผู้บริหารหรือผู้นำ ต้องทำงานผ่านคนอื่น
ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ฉะนั้น ความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้าง
ให้ผู้คนรู้จักว่าคุณเป็นใคร เคยบรรลุความสำเร็จอะไรมาบ้าง และทำไมคุณจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ปรับใช้รูปแบบภาวะผู้นำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อม
เพื่อย้ำความเชื่อมั่นว่า คุณจะนำทีมงานและธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
เข้าใจความท้าทาย เร่งการเรียนรู้
คุณจำเป็นต้องทำความรู้จักกับองค์กรใหม่อย่างรวดเร็ว
ซึ่งรวมถึงด้านการตลาด ลูกค้า สินค้า ระบบและโครงสร้าง รวมทั้งผู้คน วัฒนธรรม และการเมืองภายใน
สร้างความเชี่ยวชาญในความรู้เกี่ยวกับงาน จดจ่อกับข้อมูลที่คุณจำเป็นต้องรู้ พูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงลูกค้าและคู่ค้า ทำความเข้าใจมุมมองและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ
เตรียมกลยุทธ์ต่อการรับมือกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยวิเคราะห์ว่า ธุรกิจกำลังดำเนินการอยู่ในสถานการณ์แบบไหน
เช่น ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ธุรกิจที่กำลังฟื้นฟูจากภาวะตกต่ำ ธุรกิจที่ต้องสร้างความสดใหม่เพื่อการแข่งขัน
ธุรกิจที่ต้องการรักษาความยั่งยืน ซึ่งทั้งสี่ประเภทนี้
ต้องใช้กลยุทธ์การบริหารที่แตกต่างกัน
ตกลงเรื่องความสำเร็จ
และต่อรองทรัพยากรที่ต้องการ
คุยเรื่องความคาดหวังให้ชัดเจนตั้งแต่เนิ่นๆ ทำความตกลงกับเจ้านายและลูกน้องสายตรงว่า
อะไรคือองค์ประกอบของความสำเร็จที่ต้องการ รับรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีต คำนึงถึงความสมดุลระหว่างปัญหาและโอกาส
ขอความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาในการดำเนินการ ว่าสิ่งใดจะต้องบรรลุความสำเร็จเมื่อไร
สิ่งที่มีความสำคัญในลำดับสูงอีกอย่างหนึ่งคือ
การต่อรองเพื่อขอการสนับสนุนเกี่ยวกับทรัพยากรที่จำเป็นต้องมี เพื่อส่งมอบความคาดหวังเหล่านั้น
เช่น กำลังคน งบประมาณ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเน้นถึงผลลัพธ์ที่จะได้รับ และประโยชน์ที่ทรัพยากรเหล่านั้นจะนำมาให้
สร้างทีมของคุณ
การสร้างทีม เป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับผู้บริหารใหม่ ถ้าปราศจากทีมงานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิผล
ความสำเร็จก็จะมีข้อจำกัดอย่างมาก อย่าปล่อยให้ทีมปัจจุบันอยู่แบบเดิมๆ นานเกินไป เพราะผู้คนมักจะต้องการรู้ว่าเขากำลังจะไปไหน
ลำดับความสำคัญของเขาคืออะไร และอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คุณจำเป็นต้องจัดให้มีวิสัยทัศน์ที่สมเหตุสมผล
มุ่งมั่น มีพลัง ง่ายที่จะสื่อสาร และปรับใช้ได้ง่าย
สิ่งที่ควรทำคือ ประเมินทีมปัจจุบัน พิจารณาว่า อะไรที่สำคัญต่อตัวคุณและต่อธุรกิจ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในทีม และให้คะแนนสมาชิกแต่ละคนต่อเกณฑ์เหล่านี้
อาจจะจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทีมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมของธุรกิจ
โดยการมอบหมายงานให้กับกลุ่มงานที่เฉพาะเจาะจง มีการปรับเปลี่ยน
หรือโยกย้ายหน้าที่เพื่อความเหมาะสม
นอกจากนั้น ควรกำหนดเป้าหมาย ผลตอบแทน และมาตรการในการวัดผลให้สอดคล้องกัน
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้คน และให้จดจ่อในสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูง สุดท้ายคือ การตัดสินใจว่า
คุณต้องการให้ทีมทำงานอย่างไร เช่น กำหนดความถี่ และวาระของการประชุมทีม รวมทั้งวิธีการตัดสินใจ
แสวงหาชัยชนะแต่เนิ่นๆ
ค้นหาภารกิจที่สำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จตั้งแต่เนิ่นๆ การแสดงผลงานให้ปรากฏมีความสำคัญ ให้พลังกับผู้คนที่จะก้าวต่อไป สร้างความน่าเชื่อถือ และแสดงให้เห็นว่า ยังมีช่องว่างต่อการปรับปรุง หรือแสดงให้เด่นชัดว่าสิ่งต่างๆ สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งชัยชนะในช่วงแรกๆ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่จำเป็นต้องมีความสำคัญและรวดเร็ว
หวังว่าแนวทางการเตรียมตัวทั้ง 7 ข้อดังกล่าว
จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่
สามารถทำงานในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับ
และยืนหยัดได้อย่างมั่นคง