THE GURU • EXECUTIVE COACHING

โน้มน้าวให้ชนะใจหรือชนะความคิด

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

การแสวงหาความร่วมมือจากผู้อื่น ไม่ว่าด้วยการชนะใจหรือชนะความคิด ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่แตกต่างของผู้คน และมีความเต็มใจที่จะเอื้อมออกไปถึงเขา โดยใส่ใจว่าการกระทำของเราจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไร และประเมินว่า ปัญหาอะไรที่เราสามารถช่วยแก้ไขให้เขาได้ แนวทางแบบนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืน

 

            ผู้บริหารที่ต้องการสร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อองค์กร จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากผู้อื่น ซึ่งไม่สามารถพึ่งพาอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความสามารถในการโน้มน้าวผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

            ในการนำเสนอแนวคิดและกลยุทธ์ใหม่ๆ โดยคาดหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบและการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น เราจำเป็นต้องชักจูงให้ผู้อื่นยินดีรับฟังความคิดเห็นของเรา โดยประเมินล่วงหน้าก่อนการพูดคุยว่า เราจะประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วยกลยุทธ์แบบไหนในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งโดยทั่วไปมีสองแนวทางคือ การให้ความสำคัญด้านอารมณ์ หรือ การให้ความสำคัญด้านเหตุผล

 

สถานการณ์ที่ควรให้ความสำคัญด้านอารมณ์


            -  เรากำลังแนะนำความคิดใหม่อย่างหนึ่ง และพยายามที่จะทำให้ผู้คนสนใจ

            -  เราต้องการยกระดับผลการปฏิบัติงานให้สูงขึ้น

            -  เรากำลังนำทีมที่ต่อสู้กับความขัดแย้งและไม่ลงรอยกัน

            -  เรากำลังนำเสนอบางสิ่งบางอย่างที่กระทบกับความรู้สึกส่วนตัวของผู้ฟัง

            -  เรากำลังคุยกับคนซึ่งอยู่ในภาวะที่คุกรุ่นไปด้วยอารมณ์

            -  เราจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ได้ทำไปแล้ว

 

สถานการณ์ที่ควรให้ความสำคัญด้านเหตุผล

            - เรากำลังคุยกับผู้คนซึ่งไม่รู้สึกว่ามีความเกี่ยวข้องส่วนตัวกับเรื่องทีเราจำเป็นต้องพูด

            เรากำลังนำเสนอการแก้ไขข้อเท็จจริงที่เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ

            - เราจำต้องชี้แจงปัญหาที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคอย่างมาก

            - เราต้องการช่วยทีมให้ยุติการวิเคราะห์ที่มากเกินไป และมองเห็นสถานการณ์อย่างชัดเจน

            - เรากำลังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของบางสิ่งบางอย่าง ที่ได้ตัดสินใจไปก่อนแล้ว

            เมื่อประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำแล้ว ก็เลือกใช้วิธีการนำเสนอที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีสองแนวทางคือ มุ่งเน้นให้ชนะใจ หรือมุ่งเน้นให้ชนะความคิด




วิธีการนำเสนอเพื่อให้ชนะใจ

            1.ทำให้การพูดคุยเป็นลักษณะส่วนตัว

            การเปิดความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้ง จำเป็นต้องเจาะตรงเข้าไปในใจของผู้ฟังในสิ่งที่เขาใส่ใจ เช่น มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับพวกเขา ปัญหาอะไรจะถูกขจัดออกไป กระตุ้นความตื่นเต้นอะไรได้บ้าง พูดคุยกับพวกเขาโดยตรง และเมื่อกล่าวถึงประโยชน์โดยรวมที่องค์กรจะได้รับ ให้มุ่งเน้นไปในเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดต่อพวกเขา ตัวอย่างเช่น ผมรู้ว่าพวกเราต่างก็กังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในงาน เพราะว่าบริษัทของเรากำลังมองหาผู้ที่จะมาซื้อกิจการ ความริเริ่มที่ผมกำลังจะนำเสนอ จะทำให้หน่วยงานทั้งหมดของเรามีคุณค่ามากขึ้น ทั้งต่อองค์กรและต่อผู้ซื้อ

            2. รับรู้อารมณ์ของผู้ฟัง และพูดอย่างเปิดเผย

            ความกลัว ความโกรธ ความภูมิใจ ความทะเยอทะยาน ความร่าเริง - ความรู้สึกเหล่านี้มาจากสภาวะส่วนตัวที่เข้มข้น ถ้าผู้ฟังต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเพราะพวกเขากลัวที่จะลองสิ่งใหม่ๆ รับรู้อารมณ์เหล่านั้น แล้วช่วยทำให้ระงับลง เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เราเคยทำอาจจะน่ากลัว เพราะว่าเราต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และเสี่ยงต่อการล้มเหลว แต่เราต่างก็อยู่ในเรือลำเดียวกันที่นี่ เราสามารถเรียนรู้ด้วยกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

            3. ใช้วิธีเล่าเรื่องเพื่อสร้างความประทับใจ

            การเล่าเรื่อง ทำให้การนำเสนอความคิดเห็นของเรามีชีวิตชีวา จับความสนใจของผู้ฟังด้วยเนื้อเรื่องและลักษณะนิสัยของตัวละคร หรือบุคคลที่ผู้ฟังสามารถเชื่อมโยงได้ เป็นการปลุกอารมณ์ที่ทรงพลัง และยังช่วยทำให้ความคิดเห็นที่ซับซ้อนเข้าใจง่ายขึ้น เรื่องราวที่ดีจะคงอยู่ในใจผู้ฟังมากกว่าข้อมูลทั่วไป การเล่าเรื่องราวที่เหมาะสมจึงมีประโยชน์มาก

            4.ใช้วิธีอุปมาอุปไมยและการเปรียบเทียบสิ่งที่คล้ายคลึงกัน

            การอุปมาอุปไมย เป็นการเข้าถึงภาพใหญ่ของโลกที่หลอมความคิดและการกระทำของผู้คนในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจคือการทำสงครามหรือใช้การเปรียบเทียบที่มีคำว่า คล้าย หรือ เหมือน เช่น การทำโครงการนี้ให้เสร็จก็เหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา เราสามารถใช้รูปแบบทั้งสองอย่างนี้เป็นเครื่องมือในการพูดเชิงสำนวนโวหาร คำอุปมาหรือคำเปรียบเทียบที่ดี จะจุดประกายและให้ความกระจ่างแก่ความคิดเห็นของเราโดยไม่ต้องอธิบายมากจนเกินไป

 

วิธีการนำเสนอเพื่อให้ชนะความคิด

            1.นำเสนอหลักฐานที่หนักแน่น

            ให้พิจารณาว่า การพิสูจน์ความน่าเชื่อถือแบบไหน ที่ผู้ฟังมีความชอบใจมากที่สุด เช่น ผู้ฟังที่เอาใจใส่กับการรับรองของผู้เชี่ยวชาญ จะมองหาคำนิยมจากบุคคลที่มีชื่อเสียง ในขณะที่สถิติจะใช้ได้สำหรับคนที่ชอบตัวเลข และอยากเห็นความสัมพันธ์กับภาพใหญ่ สำหรับผู้ฟังหมู่มาก การได้เห็นข้อมูลจะช่วยเพิ่มความสนใจ เช่น สไลด์ คลิปวิดีโอ ตารางตัวเลข หรือตัวอย่างสินค้า

            2.ถามคำถามที่หลักแหลม

            การถามคำถามที่ดี จะกระตุ้นความสนใจของผู้ฟังต่อประเด็นที่เรากำลังพูดถึง และเชิญชวนให้เขาแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ถามคำถามที่แสดงถึงผลกระทบ จะทำให้เขาใส่ใจต่อปัญหาที่มีความกดดันมากที่สุด : “เราเสียยอดขายไปเท่าไรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สืบเนื่องจากระบบซอฟต์แวร์บกพร่อง คุณไม่คิดหรือว่าคู่แข่งของเราจะตอบโต้อย่างดุเดือด ถ้าเขาได้รับโอกาส ฯลฯ

            โดยสรุปแล้ว การแสวงหาความร่วมมือจากผู้อื่นไม่ว่าด้วยการชนะใจหรือชนะความคิด ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่แตกต่างของผู้คน และมีความเต็มใจที่จะเอื้อมออกไปถึงเขา โดยใส่ใจว่าการกระทำของเราจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไร และประเมินว่า ปัญหาอะไรที่เราสามารถช่วยแก้ไขให้เขาได้ แนวทางแบบนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืน

เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน