การรับมือกับการเมืองในที่ทำงาน
หากหลีกเลี่ยงการเมืองในที่ทำงานได้น่าจะดีกว่า
ซึ่งต้องอาศัยการบ่มเพาะค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม เช่น
หลีกเลี่ยงการนินทา ไม่โต้แย้งในเรื่องเล็กน้อยที่ไม่คุ้มค่า
ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง มองประเด็นรอบด้านจากมุมมองของฝ่ายต่างๆ
อย่าปกป้องเฉพาะพื้นที่ของตนเอง ถ้าต้องเสียสละก็ควรทำ และรักษาคำพูด ซึ่งผู้นำควรจะแสดงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาด้านความสัมพันธ์บางอย่างในที่ทำงานอาจก่อให้เกิดบรรยากาศที่บั่นทอนความสุข หรือส่งผลกระทบต่อผลสำเร็จของงาน ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เราต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น ไม่เพียงแต่หัวหน้าหรือลูกน้องเท่านั้น เพื่อนร่วมงานก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
การทำงานในองค์กรที่มีการแบ่งฝ่ายงานต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำงานร่วมกับแผนกอื่นที่เราไม่มีอำนาจควบคุมหรือเลือกไม่ได้
นอกจากนั้น เพื่อนร่วมงานบางคนอาจจะมีบุคลิกหรือทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์กับเราเป็นพิเศษ
สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดกระทบต่อจิตใจ
และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในการทำงาน เราจึงควรจะเรียนรู้และฝึกฝนแนวทางในการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการกับความขัดแย้งระหว่างแผนก
สมมุติว่า อีกแผนกหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือกับคุณ
และสมมุติว่าคุณไม่มีทางที่จะทำงานให้สำเร็จโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากแผนกนั้น ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังขุดเซาะคุณอย่างเงียบๆ
และทำงานไปในวาระที่แตกต่างกัน พฤติกรรมของเขาไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง คุณก็มีเส้นตายของงานที่จะต้องทำให้สำเร็จ
ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณสามารถทำอะไรได้บ้าง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า องค์กรทั้งหลายถูกตั้งขึ้นมาเพื่อความขัดแย้งทั้งนั้น
ทุกๆ แผนกมีภารกิจและลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน ทุกคนกำลังแข่งขันกันในเรื่องงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
แข่งกันในเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง แข่งกันที่จะได้รับความสนใจจากฝ่ายบริหาร
แผนกอื่นจะร่วมมือกับคุณก็เพราะว่าเขาได้ผลประโยชน์จากการทำเช่นนั้นเท่านั้น
ไม่ใช่เพราะว่าเขาใจดี
เป้าหมายของคุณไม่ใช่การพยายามพิสูจน์ว่า พวกเขาไม่มีเหตุผล แต่เป้าหมายของคุณคือ
การทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ฉะนั้น
คุณจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ชุดหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือให้ได้
กลยุทธ์อันแรกคือ การทำงานร่วมมือกัน : ค้นหาว่าอะไรที่เป็นตัวกีดขวางไม่ให้เขาช่วยเหลือคุณ
และหาทางแก้ปัญหานั้นร่วมกัน โดยการหาโอกาสพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับหัวหน้าของหน่วยงานที่มีปัญหานั้น
และถามว่า “เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับลำดับความสำคัญของคุณอย่างไร” และ “อะไรที่ปิดกั้นทำให้เรื่องนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคุณ”แล้วก็ตั้งใจฟัง รับรู้ว่าเขามีจุดยืนที่มีเหตุผลอย่างไร และถามต่อว่า มีอะไรอีกไหมที่กีดขวางอยู่
เมื่อมีรายการของปัญหาครบแล้ว ก็ถามสรุปว่า “ถ้าเช่นนั้น
หากเราสามารถทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้ใช่หรือไม่”
ถ้าการพูดคุยเป็นไปฉันมิตร
ความร่วมมือก็เกิดขึ้นได้ด้วยท่าทีที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน
ถ้าแนวทางการร่วมมือไม่สำเร็จ ก็ต้องขอให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการในที่สาธารณะ ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้คือ
ฝ่ายเขาจะหาทางที่จะทำงานในปริมาณที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยที่คุณจะไม่ได้รับการสนับสนุนที่แท้จริง
วิธีสุดท้ายที่ควรจะทำเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้นคือ การขอให้เจ้านายของคุณเข้ามาช่วย คุณอาจจะได้รับคำแนะนำ
หรือการทำให้ปัญหาหมดไป แต่ให้ระวังว่าเหตุผลของการขอความช่วยเหลือนั้นเหมาะสม
เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าคุณแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะความอ่อนด้อยในภาวะผู้นำ
การรับมือกับคนที่ชอบข่มขู่รังแกคนอื่น
แม้จะพบไม่บ่อยนัก
แต่ก็มีคนบางคนที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจระดับหนึ่ง มักใช้พฤติกรรมที่ไม่ค่อยมีมารยาทกับผู้อื่น
และไม่ยินดีให้ความร่วมมือในการทำงาน มีทัศนคติที่หยิ่งผยอง ปกป้องพื้นที่ของตนเอง
และชอบดูถูกคนอื่น ซึ่งการโจมตีมักจะเห็นได้ในสามรูปแบบคือ ใช้คำพูดหรือภาษากายที่ทำให้ผู้อื่นตกต่ำเสียเกียรติ
กล่าวหา หรือข่มขู่
พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้ที่ถูกกระทำ รู้สึกเป็นเรื่องส่วนตัวได้ง่ายมาก
จึงต้องระมัดระวังในวิธีรับมือเป็นพิเศษ ถ้าตอบโต้ด้วยวิธีก้าวร้าวไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น
เหมือนการดับไฟด้วยน้ำมัน ถ้าใช้วิธียอมนิ่งไม่ตอบโต้ ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน คุณจะกลายเป็นเหยื่อให้เขามีความสุขมากขึ้น
ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ฉะนั้น ให้ใช้วิธีแสดงออกอย่างเหมาะสมจะดีที่สุด กล่าวคือ
1.ให้มุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์
แทนที่จะติดกับอยู่ในกระบวนการ
อย่ามองกลับไปหรือยึดติดอยู่กับเกมการกล่าวโทษว่ามีอะไรผิด
ให้ใส่ใจว่าคุณจำเป็นต้องไปที่ไหน
2.หลีกเลี่ยงการตัดสินด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือมองเป็นเรื่องส่วนตัว
3. รักษาความเยือกเย็นไว้
มองแง่บวกและมีเหตุผล แสดงออกในแบบที่คุณอยากให้คนอื่นจดจำ
ยึดมั่นในประเด็นที่พูดคุยและเป้าหมายที่ต้องการ
เมื่อไรจึงควรจะลุกขึ้นสู้
มีช่วงเวลาที่คุณควรจะยืนหยัดในจุดยืนตัวเอง หากคุณพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
เช่น ใช้พฤติกรรมแสดงออกที่เหมาะสม พยายามเป็นคนน่ารักและทำการบ้านของตนเอง แต่คุณก็ยังคงประสบกับการถูกโจมตีอยู่ดี
ถึงจุดไหนที่คุณจะตัดสินใจลุกขึ้นสู้ นี่เป็นคำถามที่ยากสำหรับทุกคน
โดยเฉพาะในกรณีที่เดิมพันสูง
คุณอาจจะพิจารณาคำแนะนำจากคัมภีร์การรบของนักปราชญ์จีนโบราณ
ซึ่งมีกฎ 3
ข้อคือ
1.จะรบก็ต่อเมื่อมีรางวัลที่คุ้มค่าต่อการรบนั้น
2.จะรบก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่าจะชนะ
3.จะรบก็ต่อเมื่อไม่มีวิธีอื่นที่จะนำสถานะกลับคืนมาได้
สรุปคือ อย่ารบเว้นแต่จำเป็นจริงๆ อย่ากังวลกับการแข่งขันที่หยุมหยิม การละเมิดเล็กๆ
น้อยๆ ก็มองข้ามไป อย่าเสียพลังงานไปกับประเด็นจุกจิก ถ้าคุณสามารถยินยอมอย่างสง่างามได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก
ก็จงทำเถิด เป็นการสร้างชื่อเสียงและประสบการณ์ให้กับตนเองและทีมงาน
แต่ถ้าการต่อสู้บางอย่างไม่ใช่เรื่องหยุมหยิม มีรางวัลคุ้มค่าที่จะสู้ ก็ให้มั่นใจว่าคุณมีสิ่งสนับสนุนที่เหมาะสมทั้งหมดรองรับอยู่ เตรียมการทุกสิ่งไว้ให้พร้อม ถ้าคุณไม่รู้ว่าใครจะแพ้ คุณนั่นเองจะเป็นผู้แพ้ ฉะนั้น ถ้าคุณตัดสินใจสู้ ต้องสู้อย่างหนักและมั่นใจว่าจะชนะเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากหลีกเลี่ยงการเมืองในที่ทำงานได้น่าจะดีกว่า
ซึ่งต้องอาศัยการบ่มเพาะค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการนินทา
ไม่โต้แย้งในเรื่องเล็กน้อยที่ไม่คุ้มค่า ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
มองประเด็นรอบด้านจากมุมมองของฝ่ายต่างๆ อย่าปกป้องเฉพาะพื้นที่ของตนเอง ถ้าต้องเสียสละก็ควรทำ
และรักษาคำพูด ซึ่งผู้นำควรจะแสดงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างสม่ำเสมอ