THE GURU • EXECUTIVE COACHING

การวัดผลเชิงกลยุทธ์ เพื่อความสำเร็จที่ต่อเนื่อง

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

องค์กรส่วนใหญ่ยังขาดระบบการวัดผลที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างแท้จริง การวัดผลแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา อาจจะไม่เพียงพอเมื่อการประกอบธุรกิจมีความซับซ้อนและไม่แน่นอนมากขึ้น การพัฒนากลยุทธ์ในการวัดผล จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ 

            ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องวางแผน และมีการวัดผลเพื่อให้มีข้อมูลสะท้อนกลับให้รู้ว่า สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามแผนหรือไม่ มีความแตกต่างเกิดขึ้นที่ไหนและด้วยสาเหตุอะไร เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ทันต่อสถานการณ์ และเป็นการเรียนรู้ปัจจัยแห่งความสำเร็จและล้มเหลวเพื่อปรับปรุงวิธีการดำเนินงานในอนาคต

            องค์กรส่วนใหญ่ยังขาดระบบการวัดผลที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างแท้จริง การวัดผลแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา อาจจะไม่เพียงพอเมื่อการประกอบธุรกิจมีความซับซ้อนและไม่แน่นอนมากขึ้น การพัฒนากลยุทธ์ในการวัดผล จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ 

            ทุกวันนี้ มีรูปแบบและวิธีการของการวัดผลมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงการบันทึกทางสถิติที่จบไปแล้ว เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของคนทำงานเป็นหลัก บางครั้งผู้ถูกประเมินรู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจ เพราะไม่เห็นหนทางที่จะบรรลุความคาดหวังที่สูงเกินเอื้อม หรือไม่เข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างผลงานของตนกับมาตรการวัดผลขององค์กร 

            ฉะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การวัดผลกลายเป็นสิ่งรบกวนในการปรับปรุงผลปฏิบัติงาน แต่มุ่งเน้นให้การวัดผลช่วยให้บุคคล ทีม และองค์กร สามารถประสบความสำเร็จด้วยการใช้ศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ การประยุกต์ใช้ “การวัดผลเชิงกลยุทธ์” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคนี้

            การวัดผลเชิงกลยุทธ์ มีเป้าหมายให้การวัดผลเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนการทำงาน ทั้งในส่วนของผู้ถูกวัดและองค์กร โดยเป็นวิธีการที่ช่วยให้เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วบรรลุความสำเร็จ หากเรารู้ว่าจะเริ่มต้นจากอะไร และจะไปต่ออย่างไร เราก็สามารถพัฒนากลยุทธ์ในการวัดผลที่สอดคล้องกับการบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้ 

            ฉะนั้น การวัดผลเชิงกลยุทธ์จึงกำหนดมาตรวัดเป็น 4 ระดับ แสดงให้เห็นความสำคัญแต่ละระดับ และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

การวัดผลเชิงกลยุทธ์


มาตรวัดระดับที่หนึ่งคือ ปริมาณ (Quantity) เป็นระดับของกิจกรรมแรกที่จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จในระดับที่ใช้งานได้ เช่น องค์กรที่ต้องการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะใหม่ๆ ในการผลิตสินค้า ก็ต้องลงทุนทั้งเวลาและงบประมาณเพื่อฝึกฝนให้พวกเขามีความสามารถมากพอที่จะไปถึงระดับที่จะเป็นมืออาชีพได้ จากนั้นก็รักษาไว้ด้วยการกำหนดความรับผิดชอบให้พวกเขาได้ลงมือทำเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน

มาตรวัดระดับที่สองคือ คุณภาพ (Quality) เมื่อบรรลุเป้าหมายในระดับปริมาณได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว มาตรวัดระดับถัดไปที่จะถูกเพิ่มเข้ามาก็คือ คุณภาพ ซึ่งเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐานของสิ่งที่กำลังทำเพื่อให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น เช่น การบริหารการผลิต นอกจากผลิตสินค้าได้แล้ว ยังต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดและมีของเสียน้อยที่สุด การวัดผลในระดับนี้ ก็จะติดตามรายละเอียดในการพัฒนาคุณภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุมาตรฐานที่กำหนดไว้

มาตรวัดระดับที่สามคือ คุณค่า (Value) เมื่อสิ่งที่ถูกต้องได้มีการดำเนินไปในระดับของมาตรฐานที่จำเป็นต่อความสำเร็จแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะตระหนักและรับรู้ถึงคุณค่า ซึ่งก็คือ ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการปฏิบัติงานในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมนั้น เช่น การส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพและตรงตามความคาดหวังของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ย่อมได้รับความเชื่อถือและพึงพอใจจากลูกค้า ทำให้สินค้าและบริการได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง 

มาตรวัดระดับที่สี่คือ ผลกระทบ (Impact) เมื่อมาถึงระดับที่กำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง บ่อยเท่าที่จำเป็น และรู้สึกว่าได้สร้างคุณค่าเต็มที่จากความพยายามที่ได้ทุ่มเทลงไปแล้ว ก็ควรจะขยับไปต่อในมาตรวัดด้านผลกระทบ ซึ่งก็คือผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการทำสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดนั้น เช่น สินค้ามีชื่อเสียง สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจสร้างรายได้และผลตอบแทนที่ดี ทีมงานมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำงานด้วยแนวทางใหม่ๆ องค์กรมีความแข็งแกร่งและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง เป็นพื้นฐานในการนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน

            โดยสรุปแล้ว ความสำเร็จที่ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจาก ส่วนประกอบของปริมาณของกิจกรรมที่เพียงพอ ในระดับของคุณภาพและคุณค่าที่ออกแบบไว้อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกมากที่สุด ความมีวินัยในการรักษามาตรวัดทั้ง 4 ระดับ เป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดกลยุทธ์สำหรับความสำเร็จที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง 

            การปรับแนวคิดในการวัดผล เพื่อสนับสนุนความสำเร็จในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปมาก ผู้บริหารต้องระลึกไว้เสมอว่า การทำสิ่งเดิมๆ มากขึ้น และทำให้เร็วขึ้น ไม่สามารถทำให้สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้ 

            แต่โอกาสที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนทำงานสามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ สร้างคุณค่า และความสัมพันธ์ใหม่ๆ เพื่อขยายผลกระทบที่ส่งมอบให้ลูกค้า คนทำงาน และชุมชน การวัดผลเชิงกลยุทธ์ จะท้าทายกลุ่มคนทำงานให้ใส่ใจในการค้นพบปัญหาที่ซ่อนเร้น และค้นหาโอกาสที่ยังไม่เคยเห็น ให้ความใส่ใจกับผลงานที่ทำได้และผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่การทำกิจกรรมตามขั้นตอนเท่านั้น

            ผู้นำที่มีอุปนิสัยของความละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง ทำงานเป็นระบบ และปรารถนาที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ออกมาดีอย่างสม่ำเสมอ จะให้ความสำคัญกับการวัดผลหลายๆมิติ เพื่อติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายอย่างจริงจัง 

            การตระหนักรู้และยอมรับว่า สิ่งที่เคยดีพอในอดีตอาจจะไม่ดีพออีกต่อไป จะเปิดโอกาสให้กำหนดความหมายของการทำงานเสียใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง


เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน