เปิดเหตุผลคาใจนักลงทุน ทำไมเอาชนะตลาด ช่างยากนัก
สถานการณ์การลงทุนปีนี้น่าจะทำให้คุณรู้สึกได้ถึงความยากของตลาด ในจังหวะที่หุ้นลง คุณอาจจะรู้สึกว่าการลงทุนให้ชนะตลาดเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเหลือเกิน แม้กระทั่งจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับ เพิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว แต่โอกาสในการหาหุ้นลงทุนเองให้ชนะตลาดก็ยังยากอยู่ดี
แต่คุณอาจจะยังไม่รู้ว่า มีงานวิจัยมากมายที่บอกเราว่าขนาดผู้จัดการกองทุนที่มีข้อมูลครบครัน มีนักวิเคราะห์คอยเฝ้าหน้าจอ อัปเดตข่าวให้ตลอด ยังทำผลตอบแทนแพ้ตลาด
ถึงขนาดที่ Warren Buffett กล้าเดิมพันกับผู้จัดการกองทุนหลายคนมาแล้วว่ากองทุนอิงดัชนีที่ปู่ เลือกจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าผู้จัดการกองทุนทุกคน
วันนี้เราจะสรุปแบบง่ายๆ ให้คุณเข้าใจว่าทำไมการลงทุนหุ้นให้ชนะดัชนีตลาด มันถึงยากนัก
หุ้น ‘ตัวแบก’ ดัชนี ระยะยาว มีไม่ถึง 1%
สาเหตุแรกที่นักลงทุนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสมัครเล่นหรือแม้แต่มืออาชีพระดับผู้จัดการกองทุน ทำผลตอบแทนแพ้ตลาด ก็เพราะความเป็นจริงที่ว่า ว่าหุ้นที่ทำผลตอบแทนชนะตลาดในแต่ละปี มันมีแค่ หยิบมือเดียว
ในงานวิจัยอันโด่งดังเรื่อง Do Stocks Outperform Treasury Bills? ของ Hendrik Bessembinder เขาได้ให้ข้อสรุปที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกตาสว่างว่า
“ในช่วงปี 2469 - 2559 มีหุ้นแค่ 4% หรือราว 1,092 ตัวจากทั้งหมด 25,332 ตัวเท่านั้นที่ดันให้ดัชนี S&P 500 ทำผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 เดือนทบไปเรื่อยๆ”
“หุ้นอีก 38% ทำผลตอบแทนรวมเป็นบวก ขณะที่หุ้นอีก 58% ให้ผลตอบแทนรวมเป็นลบ และเมื่อนำ ผลตอบแทนของหุ้นสองกลุ่มนี้มารวมกัน ก็จะเท่ากับผลตอบแทนที่ ได้จากการลงทุน ในพันธบัตรอายุ 1 เดือนทบต้นไปเรื่อยๆ เท่านั้น”
นั่นแปลว่า ถ้าคุณลงทุนระยะยาวแล้วหุ้นที่คุณเลือกอยู่ในกลุ่มตัวท็อป 4% แรก พอร์ตของคุณก็จะโต ชนะดัชนีตลาดได้สบายๆ แต่ถ้าดันเลือกหุ้นผิดตัว โอกาสที่คุณจะทำผลตอบแทนชนะตลาดได้ ในระยะยาวก็จะยากขึ้น
คำถามคือคุณมั่นใจแค่ไหนว่าหุ้นที่คุณเลือกคือหุ้นตัวท็อป 4% ของตลาด?
ในงานวิจัยยังให้ข้อมูลอีกว่า ตลอดช่วงปี 2469 - 2559 มูลค่าตลาดของดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นมาราว 32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ เกิดจากหุ้นแค่เพียง 90 ตัว
ใช่ครับ แค่ ‘90’ ตัวเท่านั้นจาก 25,332 ตัวหรือ 0.36% ของหุ้นทั้งหมด
ในอีกงานวิจัยนึงที่ใกล้เคียงกันคือ Do Global Stocks Outperform US Treasury Bills? ที่ทำกับหุ้นทั่วโลก ก็พบข้อสรุปคล้ายๆ กับงานวิจัยในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ครับ
นั่นคือในช่วงปี 2533 - 2561 มีแค่ 1% ของหุ้นทั้งหมดนอกตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทำผลตอบแทนรวม ชนะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 เดือน
และมีหุ้นตัวอื่นๆ นอกตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากถึง 61% ที่ทำผลตอบแทนรวมได้ต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล สหรัฐฯ อายุ 1 เดือนเสียอีกครับ
เราไม่แปลกใจเลย ที่นักลงทุนระดับท็อปของโลกจะมีนิสัยรักการอ่าน เพื่อจะได้ ‘พลิกหินทุกก้อน’ วิเคราะห์หุ้นให้มากตัวที่สุดเท่าที่ทำได้ และไม่พลาดการซื้อหุ้นตัวท็อปของตลาดหุ้นนั่นเอง
‘อคติ’ ของคุณเองนั่นแหละ!
ประเด็นที่สองที่ทำให้การลงทุนชนะตลาดมีความยากขึ้นเป็นทวีคูณจากประเด็นแรก คือ ‘ความอคติในการตัดสินใจ’ หรือ Cognitive Bias ที่ฝังอยู่ในตัวเราตามธรรมชาตินี่แหละครับ
อคติแรกที่นักลงทุนอย่างเราเจอบ่อยก็คือการ ‘แห่ตามกระแส’ หรือเรียกว่า ‘Bandwagon Effect’ ครับ สมัยนี้อาจจะมีคำเรียกที่ดูเท่มากขึ้นว่าเป็นความรู้สึก ‘Fear of Missing Out’ หรือ FOMO นั่นเองครับ
เจ้า Bandwagon Effect ตัวนี้จะโน้มน้าวให้นักลงทุนที่วิชายังไม่แก่กล้าอย่างเรามีพฤติกรรม ‘ขึ้นซื้อ ลงขาย’ และติดดอยอยู่ร่ำไป เพียงเพราะความอยากซื้อหุ้นที่กำลังเป็นกระแส กำลังถูกไล่ราคาขึ้นอย่างเมามัน
อีกอคตินึงที่ร้ายพอๆ กันก็คือ ‘ความกลัวการสูญเสีย’ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Loss Aversion’ ที่อธิบายว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เรากลัวการสูญเสียเงิน 1,000 บาทมากกว่าการได้เงิน 1,000 บาทซะอีก
ความรู้สึก ‘กลัว’ ตัวนี้แหละที่ทำให้คุณทนถือหุ้นดีๆ ต่อไม่ได้เวลาเห็นหุ้นตกแรง และคุณก็มักจะคิดเอง เออเองต่อไปได้ว่าเดี๋ยวบริษัทจะต้องเจอวิกฤติ หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่แน่นอน ขายหุ้นตอนนี้ น่ะดีแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่
ที่เราเห็นภาพบ่อยๆ อย่างหุ้นเทคฯ สุดฮ็อตฮิตหลายตัวล้วนเจอช่วงที่ราคาตกแรงมาแล้ว อย่าง Apple Amazon หรือ Google (ชื่อใหม่คือ Alphabet) ก็เคยเจอช่วงที่ราคาร่วงเกิน 50% กันมาทุกตัว
ถ้าคุณเผลอใจ ไปกดขายหุ้นตอนที่ราคาตกแรงแล้วราคาดันฟื้นกลับมา ก็จะกลายเป็นโมเมนต์ที่ ‘รู้งี้’ อีกครั้งของคุณครับ
ดังนั้นการหาหุ้นตัวแบกที่ทำกำไรชนะตลาดระยะยาวว่ายากแล้ว แต่การเอาชนะอคติตามธรรมชาติ ทนถือหุ้นตัวนั้นไว้ให้ผ่านทั้งตลาดขาขึ้นและขาลงนั้น ถือว่ายากเย็นกว่าอีกนะครับ
เพราะตอนวิเคราะห์หุ้น คุณใช้แค่ทักษะการคำนวณ การวิเคราะห์ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุผล แต่เมื่อถึง เวลาที่ต้องถือหุ้นไว้นานๆ ให้ผ่านทั้งช่วงที่ดีและร้ายก็มักมีเรื่องอารมณ์เข้ามา เกี่ยวข้องด้วยเสมอ จริงไหมครับ?
‘อคติในการตัดสินใจ’ ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการการเงิน หากคุณสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติม ได้ที่นี่ครับ
jitta.co/3tnk0QT