THE GURU • EXECUTIVE COACHING

การอ่านใจคนจากการสนทนา

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์และอ่านใจคนประเภทต่างๆ ได้จากคำพูดและพฤติกรรมที่เขาแสดงออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกทีมงานให้เหมาะสมกับภารกิจที่มอบหมาย อีกทั้งยังสามารถจัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ทีมงานที่มีบทบาทสำคัญตระหนักถึงทัศนคติ และค่านิยมที่สนับสนุนความเจริญก้าวหน้าขององค์กร 

            คนบางคนมีบุคลิกภายนอกดูดีมาก แต่เมื่อได้มีการพูดคุยด้วยแล้วกลับพบว่า เป็นคนน่าเบื่อหน่าย ในขณะที่คนบางคนแม้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกไม่น่าประทับใจนัก แต่เมื่อได้สนทนาด้วยแล้วกลับพบว่า เป็นคนน่าสนใจ จิตใจตัวตนภายในของคนเราจึงสำคัญยิ่งนัก การอ่านใจคนอื่นได้ย่อมเป็นประโยชน์

            การสื่อสารในองค์กรยุคปัจจุบัน ผู้บริหารจำเป็นต้องสนทนาพูดคุยกับทีมงานมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันต่อสถานการณ์ หรือการสร้างความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการเพิ่มความผูกพันกับทีมงานให้มากขึ้น เป็นต้น

            ความท้าทายที่ตามมาก็คือ ผู้บริหารจะใช้ประโยชน์จากการสนทนาทั้งในระดับกลุ่มและระดับบุคคลเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร แน่นอนว่า ก่อนจะมอบความไว้วางใจให้แก่ใคร สิ่งที่ผู้บริหารต้องพยายามอ่านให้ออกก็คือ ทัศนคติ หรืออุปนิสัย ของทีมงานที่เกี่ยวข้อง เพราะทัศนคติบางอย่างของคนบางคนอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นทีม หรืออาจสร้างปัญหาในการทำงานเพื่อส่วนรวม การรู้ใจทีมงานเป็นอย่างดี จึงช่วยป้องกันความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจในการบรรลุเป้าหมายยิ่งขึ้น 

            เราสามารถอ่านใจหรือทัศนคติของคนๆ หนึ่งได้ โดยสังเกตจากสิ่งที่เขาพูด หรือแสดงออกในระหว่างการสนทนาหรือประชุมอภิปราย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เรามักจะพบรูปแบบต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

            1. คนที่ต้องการแสดงว่าเป็นคนฉลาด ไม่ว่าทำอะไรก็ต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอ ชอบโต้เถียงและตั้งใจที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเขาฉลาดเพียงใด เลือกที่จะโจมตีจุดที่เล็กที่สุดที่ตนไม่เห็นด้วย แทนที่จะให้ความใส่ใจกับประเด็นหลัก จะวิจารณ์ข้อมูลที่จัดเตรียมโดยฝ่ายอื่นเสมอ และเพิ่มเติมด้วยข้อมูลของตนเอง ไม่ค่อยนำเสนอความคิดใหม่ๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี ถ้าความคิดใดได้รับการยอมรับให้เดินต่อ เขาก็จะพูดว่า “ใช่ แต่...” เพื่อแสดงว่าความคิดนั้นไม่ได้ยอดเยี่ยมเลย เขาลังเลที่จะเห็นด้วยกับใครๆ เพราะรู้สึกว่าการเห็นด้วยจะทำให้ตนลดโอกาสการเป็นผู้เหนือกว่าลง 

            2. คนที่ต้องการเอาชนะ เขามีทัศนคติแบบนักรบ มองการสนทนาเหมือนเป็นการรบระหว่างสองพวกที่ต่างก็มีมุมมองของตนเอง โดยมุ่งที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ให้ความสำคัญกับการสำรวจเนื้อหาหรือการพัฒนาความคิดใหม่ๆ ข้อมูลบางอย่างอาจจะถูกเก็บงำไว้เพื่อไม่ให้ถูกนำไปสนับสนุนความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้บางครั้งจะดูเหมือนยอมตามบ้าง ก็เป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมที่จะชักนำให้อีกฝ่ายหนึ่งมาติดกับของตนเท่านั้นเอง 

            3. คนที่อ้างว่าเคยเห็นและได้ยินมาหมดแล้ว การอภิปรายโต้แย้งใดๆ จะถูกมองเป็นหมวกใบเก่า ความคิดใหม่ๆ ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นความคิดเดิมๆ เขาทำลายความกระตือรือร้นของคนอื่น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แบ่งปันประสบการณ์ใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคต จึงทำให้บรรยากาศน่าเบื่อหน่าย

            4. คนที่ขอเล่นบทโง่หรือเงียบ ด้วยบทบาทนี้เขาสามารถหลีกหนีจากสิ่งต่างๆ ได้มากเลยทีเดียว เขาไม่แสดงสถานะใดๆ จึงไม่มีอะไรให้ใครจ้องโจมตี เป็นนักฟังที่ยอดเยี่ยมและไม่มีอะไรที่จะแบ่งปันมากนัก แต่มีความกระตือรือร้นที่จะยอมรับและเห็นด้วยในสิ่งที่คนอื่นพูด จึงมักได้รับความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือจากคนอื่น

            5. คนที่ช่างประจบ เขาจะรีบเร่งที่จะเห็นด้วยกับคนที่มีอำนาจที่สุด หรือคนที่สำคัญที่สุด หรือคนที่ฉลาดที่สุดในการอภิปรายนั้น ด้วยวิธีนี้คนที่ช่างประจบก็จะหาทางที่จะสร้างพันธมิตรกับคนที่มีอิทธิพลที่สุด อาจจะไม่มีอะไรชัดเจนนักที่แสดงว่าเขาประจบ คนจะสงสัยก็ต่อเมื่อเขาเปลี่ยนความเห็นจากกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่ง เขาไม่ชอบตอบคำถามเพราะว่ามีความเสี่ยงที่คำตอบอาจจะไม่ได้รับการเห็นชอบจากพันธมิตรของตน เขาจึงมักโยนคำถามต่อให้คนอื่นว่า “คุณจะตอบคำถามนั้นว่าอย่างไร?” คนช่างประจบให้ความสำคัญกับเกมอำนาจเหนือกว่าเนื้อหาสาระ 

            6. คนที่ชอบข่มเหงระรานผู้อื่น เขามองการสนทนาเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับของสังคมที่เขาจะถือโอกาสระรานผู้อื่นได้ เขาแสดงความรู้สึกทางสีหน้าเก่งมาก การระรานจึงมักจะเกิดขึ้นในขณะที่เขากำลังฟัง โดยสีหน้าจะแสดงถึงความท้าทาย ความสงสัย ไม่เชื่อและดูถูกในสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดถึง นี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะรับมือ เพราะไม่มีอะไรที่เขาพูดออกมาจริงๆ เขามีความสนใจในเนื้อหาของการสนทนาน้อยมาก แต่กิริยาที่แสดงสร้างความไม่สบายใจต่อคนอื่น

            7. คนที่เป็นนักเรียนรู้ เขาจะเข้าสู่วงการสนทนาด้วยความตั้งใจที่ชัดเจนว่า เพื่อเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง ไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวเองว่าถูกต้อง หรือการทำให้ผู้อื่นเชื่อในความเห็นของเขา ขอเพียงได้เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ การทบทวนความเข้าใจที่ลึกซึ้งใหม่ๆ ก็พอใจแล้ว 

            8. คนที่เป็นนักสำรวจ เขาไม่ยอมรับความเห็นใดจนกว่าจะได้สำรวจข้อมูลและความคิดของผู้อื่น แต่ในการทำเช่นนั้น นักสำรวจจะสนใจความจริง ไม่ใช่การหาคะแนนจากการอภิปรายประเด็นเหล่านั้น ทุกๆ คนจะถูกมองเป็นพันธมิตรในการทำงานร่วมกัน เขาเพียงแต่ต้องการตรวจสอบเนื้อหาและแผ่ออกมาให้ชัดเจนก่อน

            9. คนที่เป็นนักคิดเชิงสร้างสรรค์ สำหรับเขา ไม่เป็นการเพียงพอที่แค่ “รู้” บางสิ่งบางอย่าง แต่มีความจำเป็นจะต้อง “ทำ”บางสิ่งบางอย่างด้วย การลงมือสร้างสรรค์และออกแบบแนวทางที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตคือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ

            10. คนที่เป็นนักนวัตกรรม เขาจะเบื่อความเห็นที่อนุรักษนิยมและการโต้เถียงกัน นักคิดจะรอโอกาสที่จะนำมาซึ่งความคิดที่ใหม่ สร้างสรรค์ และไม่ธรรมดา อาจจะเป็นมุมมองหรือวิธีการใหม่ที่มองปัญหา ความคิดใหม่อาจจะเป็นทางออกที่นอกเหนือจากสิ่งที่เคยเสนอแนะมาก่อน นักนวัตกรรมจะมีความตระหนักว่า ถึงแม้ว่าความคิดของเขาจะไม่ได้รับการยอมรับโดยตรง แต่ก็สามารถยั่วยุให้เปิดทางใหม่ๆในอนาคตได้ เขาไม่ค่อยใส่ใจต่อการทำตามสิ่งที่โต้เถียง แต่จะรอโอกาสที่จะกระโจนใส่เมื่อมีจังหวะที่เหมาะสม


            จากตัวอย่างข้างต้น ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์และอ่านใจคนประเภทต่างๆ ได้จากคำพูดและพฤติกรรมที่เขาแสดงออกในระหว่างการสนทนาหรือการอภิปราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกทีมงานให้เหมาะสมกับภารกิจที่มอบหมาย อีกทั้งยังสามารถจัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ทีมงานที่มีบทบาทสำคัญตระหนักถึงทัศนคติ และค่านิยมที่สนับสนุนความเจริญก้าวหน้าขององค์กร 


เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน