วิเคราะห์การโจมตีในอดีต อ่านกลยุทธ์ในอนาคตของแฮ็กเกอร์
จากวลีติดหูที่ว่า
“ประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำ
ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน” ที่หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ
จะมีการวนกลับมาเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งแบบแผนลักษณะนี้ค่อนข้างสะท้อนความเป็นจริงพอสมควร
ปัจจุบัน
ทางเทรนด์ไมโครได้ใช้แนวคิดดังกล่าวในการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
โดยมองผ่านประวัติพฤติกรรมของแฮ็กเกอร์จนเห็นถึงเทรนด์มากมายที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวิธีการเจาะระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น
ไปจนถึงการคิดค้นเทคนิคที่มีเป้าหมายในการโจมตีเหยื่อทางธุรกิจมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี
สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นจริงอยู่เสมอคือ อาชญากรไซเบอร์มีวิวัฒนการอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ที่ใช้ก็ก้าวหน้ามากขึ้นด้วย การป้องกันขององค์กรต่างๆ
จึงจำเป็นต้องก้าวหน้าให้ทันเช่นกัน
นักวิจัยจากเทรนด์ไมโครได้ร่วมมือกับสมาชิกของหน่วยงานพิเศษอย่าง
U.S. Secret Service
เพื่อศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอาชญากรรมทางไซเบอร์
ซึ่งรายงานที่ได้นั้นมีการลงลึกถึงกิจกรรมอันตรายและการแฮ็กต่างๆ ย้อนไปกว่า 2
ทศวรรษ ไม่เพียงแค่เป็นการบรรยายลักษณะพฤติกรรมของอาชญากรไซเบอร์ที่เคยเป็นเท่านั้น
แต่ยังสามารถช่วยชี้แนะแนวทางให้แอดมินด้านไอที
และผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจสามารถวางยุทธศาสตร์รับมือด้านความปลอดภัยในอนาคตได้ด้วย
CarderPlanet
ยุคแห่งการจารกรรมข้อมูลบัตรเครดิต
งานวิจัยนี้เริ่มต้นจาก
“ยุคของการใช้บัตรเครดิต” ที่ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2000 ไปจนถึงปี 2010 ซึ่งในช่วงทศวรรษนี้ แฮกเกอร์จะเน้นเรื่องการขโมย
และขายข้อมูลบัตรเครดิตแบบใต้ดิน
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอาชญากรไซเบอร์สัญชาติรัสเซียและเว็บบอร์ดด้านการจารกรรมบัตรเครดิต
ในกรณีนี้เป็นการขโมยข้อมูลบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของผู้ใช้รายย่อยเอามาขายต่อบนเว็บไซต์ของคนรัสเซีย
ซึ่งอาชญากรไซเบอร์สามารถซื้อข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีแบบหลอกลวงที่สร้างความเสียหายมากขึ้นต่อไป
ซึ่งในรายงานได้กล่าวย้ำถึงการโจมตีเชิงวัฏจักร
ที่จากข้อมูลบัตรเครดิตที่ได้มานั้นสามารถทวีความเสียหายขึ้นเป็นการโจมตีแบบหลอกลวง
ที่เปิดให้อาชญากรไซเบอร์ได้ข้อมูลส่วนตัวเชิงลึกมากขึ้นไปอีก
จนสามารถนำมาใช้สร้างบัตรเครดิตปลอมสำหรับทำกิจกรรมอันตรายหรือหลอกลวงอื่นๆ
ได้ทั้งหมด
ซึ่งเว็บไซต์รายใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีแบบใช้บัตรเครดิตหลอกลวงนี้มีชื่อว่า
CarderPlanet ก่อตั้งขึ้นในปี
2001
การโจมตีนี้ระบาดอย่างหนักทำให้ต้องมีระบบปกป้องข้อมูลทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ซึ่งในปี 2006 ก็มีการก่อตั้งสภามาตรฐานความปลอดภัยของกลุ่มอุตสาหกรรมบัตรเครดิตโดยเป็นการรวมตัวกันของผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง
American Express, MasterCard, และ Visa Inc.สภาแห่งนี้ทำให้เกิดมาตรฐาน Payment Card Industry Data Security
Standard (PCI DSS) ขึ้น เป็นการกำหนดถึงกฎระเบียบในการปกป้องการจัดเก็บ
เรียกใช้ และส่งต่อข้อมูลทางการเงิน
ปีแห่งข้อมูลรั่วไหล
และมูลค่าของข้อมูลองค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น
ย้อนกลับไปดูประวัติกิจกรรมของแฮ็กเกอร์ในช่วงปี
2011 ซึ่งถูกเรียกว่า
“ปีทองของเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล” ซึ่งทำให้มองได้ว่าปัจจุบัน การโจมตีทางไซเบอร์ที่เจาะระบบและจารกรรมข้อมูลได้สำเร็จไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด
แบรนด์ดังในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างมีข่าวโดนแฮ็กหรือข้อมูลรั่วไหลทั้งสิ้น แต่
10 ปีที่แล้วข่าวสารไม่ได้ไวหรือแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้
ปี
2011
ถือเป็นปีที่มีการเจาะระบบจนข้อมูลรั่วไหลแบบเจาะจงเป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก
ทำให้เกิดการจารกรรมทรัพย์สินทางดิจิตอลรูปแบบใหม่ได้แก่ การขโมยข้อมูล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวข้องกับการดูดข้อมูลลูกค้า
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่กระทบกับชื่อเสียงของแบรนด์ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างรุนแรงแทบทั้งสิ้น
กรณีข้อมูลรั่วไหลนั้นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
แต่จากประวัติในช่วง “ปีแห่งข้อมูลรั่วไหล”
ก็ได้ทำให้องค์กรทั้งหลายต่างตระหนักถึงมูลค่าของข้อมูลที่พวกเขาจัดเก็บและใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการตระหนักว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของผู้ไม่ประสงค์ดีภายนอกมากขนาดไหน
ยุคหลังจากพีซี: โมบายล์, โซเชียล,
และเทคโนโลยีอื่นที่กำลังตกเป็นเป้าโจมตี
ถัดจากช่วง
“ปีแห่งข้อมูลรั่วไหล” ก็จะเข้าสู่ “ยุคหลังจากพีซี” ซึ่งเป็นช่วงที่เหล่าอาชญากรไซเบอร์ต่างหาช่องทางการโจมตีให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลานี้เองที่ทั่วโลกต่างเรียนรู้ว่า
แม้ระบบคอมพิวเตอร์พีซีจะเคยเป็นเป้าหมายหลักของแฮ็กเกอร์ในอดีต แต่เหตุการณ์ในปีถัดมาก็ทำให้รู้ได้ว่าไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเดียวเท่านั้นที่อาชญากรไซเบอร์หมายตาอยู่
ในช่วงยุคหลังพีซีนี้
แฮ็กเกอร์จะให้ความสนใจที่จะโจมตีแพลตฟอร์มบนอุปกรณ์พกพา โดยเฉพาะอุปกรณ์แอนดรอยด์
ไปจนถึงเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ Mac OSX ซึ่งตลอดปี 2012 นั้น
มีผู้ใช้มากมายต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยคิดว่ามีความปลอดภัยมากกว่านี้
สำหรับภัยคุกคามบนอุปกรณ์แอนดรอยด์แล้ว
ถือว่าเติบโตรวดเร็วจนน่าตกใจ เพียงแค่ 3 ปี
ภัยคุกคามบนระบบแอนดรอยด์ก็มากพอๆกับภัยคุกคามบนพีซีที่สะสมมานานกว่า 14 ปี (โดยเฉพาะการแอบสมัครบริการคิดเงินอย่างไม่ถูกต้อง
และการจารกรรมข้อมูล)
ระบบธนาคารออนไลน์ตกเป็นเป้าหมายสำคัญ
ปี
2013
ระบบธนาคารดิจิตอลได้กลายเป็นเหยื่อยอดนิยมของเหล่าแฮ็กเกอร์
เมื่อเทียบกับยุคแห่งบัตรเครดิตที่สนใจจารกรรมแต่ข้อมูลบัตรแล้ว สำหรับปีนี้
อันตรายสำหรับธนาคารออนไลน์จะพุ่งเป้าไปที่กิจกรรม ธุรกรรมทางการเงิน
และกระเป๋าเงินดิจิตอลทั้งผ่านหน้าเว็บและบนอุปกรณ์พกพา
ระบบการเงินดิจิตอลได้กลับมามีบทบาทสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ
อีกครั้งสำหรับโลกอาชญากรรมไซเบอร์ในปี 2016 ซึ่งเป็น “ปีของการรีดไถเงินทางดิจิตอล”
การโจมตีได้สร้างผลกระทบกับระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับองค์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ถือเป็นปีแห่งการรีดเอาเงินของผู้อื่นบนโลกออนไลน์อย่างแท้จริง โดยมีแรนซั่มแวร์เป็นตัวบุกเบิกสำคัญ
จากประวัติที่ผ่านมาเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า
กลุ่มสถาบันการเงินจะเป็นเป้าหมายที่ชื่นชอบในกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ โดยปัจจุบันเราเห็นแนวโน้มการโจมตีแบบคริปโตแจ๊กกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการขโมยเงินสกุลดิจิตอลที่มีการเข้ารหัสไว้อย่างดีแล้วเท่านั้น
แต่ยังเป็นการใช้ทรัพยากรระบบและเครือข่ายของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการขุดเหมืองเงินคริปโตอย่างไม่ถูกต้องด้วย
สงครามกับบอทเน็ต
และชัยชนะของฝั่งที่ถูกต้อง
ก่อนที่จะมองอนาคตไปไกลกว่านี้
เราจำเป็นต้องดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2015 ที่เรียกว่า “ปีแห่งสงครามครั้งยิ่งใหญ่กับบอทเน็ต”
ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาแสดงผลงานของกลุ่มองค์กรแฮ็กเกอร์หมวกขาวและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
ซึ่งปี 2015 มีขบวนการบอทเน็ตรายใหญ่ที่มีประวัติการโจมตีมายาวนานหลายรายที่โดนปราบปราม
อันได้แก่ Beebone/AAEH, SIMDA, Bugat/Cridex/Dridex
หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยังสามารถเข้าจับกุมองค์กรอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้หลายแห่ง
ไม่ว่าจะเป็น Esthost/Rove Digital และ reFUD.me แต่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยชัยชนะเหล่านี้
องค์กรทั้งหลายก็ยังจำเป็นต้องยกระดับระบบความปลอดภัยอยู่
แม้กลยุทธ์การสุ่มลองโจมตี
(เช่น การอาศัยช่องโหว่แบบ Zero-day
หรือใช้ทูลฝังโฆษณาอย่าง Superfish) จะยังคอยโจมตีจุดอ่อนที่คนมองข้าม
สร้างความเสียหายทั้งกับตัวบุคคลและองค์กรที่ละเลยได้อยู่
แต่ก็มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงหน่วยงานระดับชาติที่ดูด้านความปลอดภัยโดยตรง
ที่คอยไล่ตามขบวนการเหล่านี้เพื่อทำให้โลกไซเบอร์ของเรานั้นปลอดภัยมากที่สุด
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปัจจุบันและหลังจากนี้
เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์จะหมุนเวียนขึ้นมาเกิดซ้ำใหม่เรื่อยๆ
โดยมีการอัพเดทหรือพัฒนาเทคนิควิธีใหม่ที่สำคัญเพิ่มเข้ามา
แน่นอนว่าเหล่าแฮ็กเกอร์จะยังคงไล่ตามเป้าหมายระดับองค์กรที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าและข้อมูลทางการเงินที่เป็นความลับ
และในขณะเดียวกันนั้น
แอดมินด้านระบบความปลอดภัยไอทีและเหล่าผู้จำหน่ายโซลูชั่นปกป้องข้อมูลก็ต่างอัพเดทตัวเอง
สร้างนวัตกรรมและวางกลยุทธ์ให้ไล่ตามทันอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น
หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ที่รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอย่างนักวิจัยจากเทรนด์ไมโครก็จะยังคอยต่อสู่กับแฮ็กเกอร์ และปราบปรามกิจกรรมของอาชญกรไซเบอร์ให้อยู่ในวงจำกัดอยู่เสมอ