มาตรฐานใหม่ ISO/SAE 21434 หยุดภัยไซเบอร์บน Connected Car
รถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หรือ Connected Car กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทั่วโลกในช่วงปี 2018 ถึง 2022 ไว้ที่ 270% หรือประมาณ
125 ล้านคัน
ซึ่งยานพาหนะประเภทนี้เปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์พกพาประสิทธิภาพสูงที่มีล้อขับเคลื่อนไปมาได้
มากกว่ารถยนต์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความสามารถพิเศษเพิ่มเติมอย่างการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
การตรวจสอบและจัดการรถจากระยะไกลผ่านแอพ ระบบผู้ช่วยผู้ขับขี่ขั้นสูง
ไปจนถึงความสามารถในการขับรถให้เองแบบอัตโนมัติ
แต่ฟีเจอร์เหล่านี้ย่อมเปิดช่องให้ง่ายต่อการถูกจารกรรมข้อมูลความลับ
หรือแม้แต่การถูกควบคุมจากระยะไกล ที่อาจส่งผลถึงปัญหาด้านความปลอดภัยอย่างร้ายแรง
นี่จึงเป็นที่มาของมาตรฐานใหม่อย่าง
ISO/SAE 21434
ที่กำหนดแนวทางอย่างละเอียดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์เพื่อป้องกันแก้ปัญหาเหล่านี้
ลดความเสี่ยงทั้งด้านไซเบอร์และผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท
ซึ่งในรายงานฉบับใหม่จากเทรนด์ไมโครก็ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตจำเป็นต้องทำ
รวมทั้งคำแนะนำในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดทางไซเบอร์เอาไว้ด้วย
ยานยนต์สมัยใหม่นั้นให้มากกว่าการขนส่งผู้คนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
โดยรถยนต์ล้ำสมัยนี้เต็มไปด้วยกำลังการประมวลผล เซ็นเซอร์
ระบบให้ข้อมูลและความบันเทิง (Infotainment)
และความสามารถในการเชื่อมต่อที่ยกระดับประสบการณ์ขับขี่
ไปจนถึงการสนับสนุนด้านความปลอดภัยด้านจราจร การบำรุงรักษารถ และอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความซับซ้อนมากขึ้นจนนำไปสู่ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ใหม่ๆ
มากมาย
ยกตัวอย่างเช่น
ตอนนี้รถยนต์ยุคใหม่หลายรุ่นมีหน่วยควบคุมเครื่องยนต์หรือ ECU มากกว่า 100 หน่วย
ที่คอยควบคุมทุกอย่างตั้งแต่เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ไปจนถึงระบบห้ามล้อ
นั่นหมายความว่า ถ้า ECU เหล่านี้โดนแฮ็ก
ผู้โจมตีก็สามารถเข้าแทรกแซงการทำงานได้ทุกองค์ประกอบของรถ
ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้
ซึ่งในรายงานของเทรนด์ไมโครได้อธิบายถึงอุปสรรคพื้นฐาน
3 ประการที่สร้างความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์เชื่อมต่อไว้ดังนี้:
ช่องโหว่: ช่องโหว่ในระบบรถยนต์นั้นแพ็ตช์ค่อนข้างยากเนื่องจากมีแต่ละชิ้นส่วนมีผู้ผลิตแตกต่างกันมาก
รวมทั้งเรื่องของการทำงานร่วมกันกับเฟิร์มแวร์
และช่วงเวลายาวนานในการอัพเดทแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าการอัพเดทล้มเหลว
(ซึ่งมีโอกาสอยู่แล้ว) ก็อาจทำให้ยานพาหนะดังกล่าวถึงกับใช้งานไม่ได้
โปรโตคอล: ใช้ในการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่าง ECU ซึ่งมักไม่ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
เปิดช่องให้ผู้โจมตีเข้าบุกรุกได้ง่าย
การใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการจากเจ้าอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตรถ: ทำให้เกิดความเสี่ยงได้เหมือนกับการมีอุปกรณ์ IoT ที่ไม่ปลอดภัยอยู่ในระบบสมาร์ทโฮมเดียวกัน
ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ผู้โจมตีเจาะเข้าระบบของยานยนต์ผ่านชิ้นส่วนที่อ่อนไหวเหล่านี้
จุดอ่อนทั้งหลายนี้ได้รับการเน้นย้ำในงานวิจัยที่ออกมาก่อนหน้านี้มานานหลายปี
แต่จากปริมาณรถยนต์เชื่อมต่อได้ที่เติบโตขึ้นเร็วมาก
ทำให้การโจมตีที่พบได้จริงเริ่มขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งรูปแบบการโจมตีที่พบนั้นเล็งเป้าหมายทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นของผู้ใช้ไปจนถึงโปรโตคอลบนเครือข่าย, บัส CAN, ซอฟต์แวร์บนเมนบอร์ด
เป็นต้น เรียกได้ว่ามีช่องโหว่เต็มไปหมดให้ผู้ไม่หวังดีหาผลประโยชน์
เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องแบกรับ
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของมาตรฐานใหม่อย่าง
ISO/SAE 21434 ที่เป็นเรื่องของ
“วิศวกรรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของยานพาหนะบนท้องถนน”
อยู่ในรูปเอกสารที่ระบุหลักเกณฑ์อย่างละเอียด
พัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์
และลดความเสี่ยงตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่การออกแบบยานยนต์ ด้านวิศวกรรม
ไปจนถึงการชำแหละชิ้นส่วนอะไหล่ทิ้งเมื่อไม่ใช้แล้ว
สำหรับการทำตามมาตรฐาน ISO/SAE 21434
และปกป้องรถยนต์แบบเชื่อมต่อได้นั้น
องค์กรทั้งหลายจำเป็นต้องมีความสามารถในการมองเห็นและควบคุมการผลิตรถยนต์ดังกล่าวทั้งหมดอย่างครอบคลุม
ไม่ว่าจะเป็นตัวยานพาหนะเอง เครือข่าย และระบบเบื้องหลัง
โดยพิจารณาสร้างศูนย์ดำเนินการด้านความปลอดภัยของยานยนต์หรือที่เรียกว่า VSOC
เพื่อจัดการการแจ้งเตือนที่มาจากทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว
และสร้างมุมมองโดยรวมที่เห็นทั่วทั้งระบบทั้งหมด
ลองพิจารณาสิ่งที่เราทำได้ในแต่ละส่วนของการผลิตยานยนต์ที่สำคัญดังต่อไปนี้
ด้านตัวยานพาหนะ: ตรวจจับช่องโหว่และความเสี่ยงที่จะโดนโจมตีภายในรถยนต์
รวมไปถึงอุปกรณ์สำคัญที่เชื่อมต่อเครือข่ายภายในรถกับเครือข่ายภายนอกด้วย
ตัวอย่างเช่น ระบบอินโฟเทนเมนต์ภายในรถ (IVI) และหน่วยควบคุมจากระยะไกล
(TCU)
ด้านเครือข่าย: บังคับใช้โพลิซีด้านความปลอดภัยบนเครือข่าย
ตรวจสอบทราฟิกเพื่อตรวจจับและป้องกันอันตราย
ที่ครอบคลุมการเชื่อมต่อระหว่างยานพาหนะและคลาวด์หรือดาต้าเซ็นเตอร์ที่คอยทำงานสนับสนุน
ระบบเบื้องหลัง: ปกป้องดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์
และคอนเทนเนอร์จากอันตรายและบั๊กต่างๆ ทั้งที่รู้และไม่รู้จัก โดยไม่กระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน
ศูนย์
SOC ของยานยนต์: ลงมือจัดการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยการโยงความสัมพันธ์ของอันตรายที่ตรวจจับได้จากเอนด์พอยต์
เครือข่าย และระบบเบื้องหลังจากการแจ้งเตือนที่มาจากทั้ง 3 ส่วนนี้
ทำเป็นภาพรวมการมองเห็นที่ครอบคลุมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของตลาดนี้
การก้าวล้ำหน้าคู่แข่งย่อมได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
อีกทั้งเราก็คาดการณ์ว่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO/SAE ใหม่ในเร็วๆ นี้ด้วย