ส่องพฤติกรรมแฮกเกอร์กับความเปลี่ยนแปลงในตลาดมืด
ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์นั้นถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในศตวรรษที่
21 นี้
โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมีการประมาณตัวเลขไว้ว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 1
พันล้านดอลลาร์ต่อปี มากกว่า GDP ของหลายประเทศเสียอีก
สาเหตุหนึ่งของความสำเร็จมาจากความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
รายงานฉบับล่าสุดของเทรนด์ไมโครที่ชื่อว่า
Shifts in the Cybercriminal
Underground Markets ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่ชวนตื่นตาตื่นใจในวงการอาชญากรรมไซเบอร์ในช่วง
5 ปีที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์เชิงลึกทั้งในเว็บบอร์ดต่างๆ,
ตลาดซื้อขาย, และเว็บมืดทั่วโลก ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องนั้นมีราคาร่วงลงมาจนสามารถหาซื้อได้ทั่วไปแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2015 นั้น คุณจะต้องจ่ายเงินสูงถึง 1,000
ดอลลาร์ ต่อเดือนเพื่อใช้บริการเข้ารหัส
ขณะที่ปัจจุบันราคาถูกมากเพียงแค่ 20 ดอลลาร์เท่านั้น
ส่วนธุรกิจมืดบางกลุ่มอย่างบอทเน็ต
IoT, การโฆษณาชวนเชื่อทางไซเบอร์,
และการจารกรรมรหัสผ่านบัญชีของเกมออนไลน์นั้น
กลับมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไอดีล็อกอินเกม Fortnite
อาจนำมาขายได้ราคาสูงถึงประมาณ 1,000 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย
เป็นต้น
ยังมีข่าวดีที่มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเข้ามามีบทบาทชัดเจน
โดยเทรนด์ไมโครได้จับมือกับหน่วยงานอื่นมายาวนานไม่ว่าจะเป็นตำรวจสากล, ตำรวจยุโรป, หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมประจำชาติ รวมไปถึงตำรวจท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือในการสืบสวน
เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นความพยายามเหล่านี้มีผลกระทบในเชิงบวก
ไม่ว่าจะเป็นการแอบสืบข้อมูลและบุกทลายเว็บบอร์ดใต้ดินและตลาดมืดจำนวนมากในช่วง 5
ปีนี้ รวมทั้งข้อมูลที่นักวิจัยของเราพบว่าลูกค้าปัจจุบันต่างเผชิญกับปัญหาการโจมตีแบบ
DDoS และการจารกรรมไอดีล็อกอิน
นอกจากนี้เหล่าอาชญากรไซเบอร์ยังโดนบีบให้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นกว่าเดิมมาก
เพราะสูญเสียความเชื่อมั่นในกลุ่มชุมชนเว็บมืดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
การขึ้นมาใช้บริการสื่อสารด้านเกมอย่าง Discord มาเป็นเครื่องมือซื้อขาย หรือแม้แต่การใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง
Shoppy.gg ในการขายสินค้า อีกทั้งยังมีการเปิดเว็บใหม่อย่าง DarkNet
Trust เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาด้วยการบริการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์บริการที่เป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์
ด้วยวิธีวิเคราะห์ชื่อผู้ใช้และร่องรอย PGP
แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าในโลกของอาชญากรรมไซเบอร์ใต้ดินนั้นคงไม่ได้หยุดอยู่กับที่
กลับกัน
เราน่าจะได้เห็นความก้าวหน้าอย่างเครื่องมือและเทคนิคใหม่จำนวนมากเต็มไปหมดทั้งบนร้านค้าของเว็บมืด
และเว็บบอร์ดใต้ดิน รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาเป็นกลไกหลักของการพัฒนาเหล่านี้
เหมือนกับที่ทางเทรนด์ไมโครและบริษัทอื่นใช้ในการค้นหาการโจมตีแบบปลอมข้อมูล,
มัลแวร์, และฟิชชิ่งที่ซับซ้อนนั้น AI เองก็สามารถถูกนำมาใช้กับบอทที่ออกแบบมาเพื่อทำนายรูปแบบการเลือกเว็บไซต์เพื่อโจมตีได้ด้วย
ไปจนถึงการนำมาใช้กับบริการปลอมข้อมูลตัวตนอย่างแนบเนียนเพื่อให้ผู้ใช้บริการเจาะผ่านระบบยืนยันไอดีด้วยรูปถ่าย
หรือใช้กับขบวนการรีดไถด้วยข้อมูลทางเพศที่ใช้เล่นงานรายบุคคลได้
มีกระแสของการโจมตีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ที่แม้จะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงแต่ก็สร้างความเสียหายได้ไม่น้อย
อย่างการจารกรรมข้อมูลล็อกอินของอุปกรณ์แบบสวมใส่ (Wearable) เพื่อใช้ร้องขอการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ภายใต้การรับประกัน
ที่นอกจากจะปลอมข้อมูลลูกค้าให้เสียหายแล้ว
ยังทำให้ผู้ผลิตมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เราต่างพบการโจมตีเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์,
ระบบ, และบัญชีผู้ใช้อย่างแพร่หลาย
จนมีให้บริการอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วไปให้เห็นในรูปของ “as-a-Service” ซึ่งราคาของไอดีเข้าถึงบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 นั้นอาจทำราคาได้สูงถึง
10,000 ดอลลาร์เลยทีเดียว
อันตรายที่จะเกิดหลังภาวะโรคระบาด
ขณะที่มีการระบาดหลักของ
COVID-19 เราก็ได้เห็นถึงกลุ่มผู้ฉ้อโกงที่จ้องหาประโยชน์จากเงินช่วยเหลือของภาครัฐโดยใช้แอพพลิเคชั่นปลอม
หรือบางครั้งก็ใช้ข้อมูลฟิชชิ่งว่ามาจากธุรกิจที่ถูกกฎหมาย
หรือแม้แต่องค์กรทางการแพทย์ที่ตกเป็นเป้าของแรนซั่มแวร์เนื่องจากอยู่ภายใต้ความกดดันที่ต้องช่วยเหลือชีวิตคนไข้
แม้แต่เวลาหลังจากการระบาดผ่านพ้นไปแล้ว รูปแบบการทำงานจากระยะไกลก็น่าจะยังมีอยู่ในหลายองค์กร ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ทำให้เหล่าอาชญากรไซเบอร์หันมาเพ่งเล็งช่องโหว่ของวีพีเอ็นเพื่อโจมตีด้วยมัลแวร์หรือ DDoS มากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสมากกว่าเดิมในการเจาะเข้าเครือข่ายของบริษัททั้งหลายผ่านอุปกรณ์ภายในบ้านที่เชื่อมต่ออยู่ด้วย เหมือนกับสถานการณ์ในการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวทำงานหรือ BYOD แบบสวนทาง โดยแทนที่จะนำอุปกรณ์ตัวเองมาเชื่อมต่อในที่ทำงาน กลับเป็นการนำเครือข่ายบริษัทมาเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายในบ้านพนักงานแทน
จากความท้าทายข้างต้น ทำให้ต้องใช้ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยแบบหลายชั้นที่ครอบคลุมปัจจัยทั้ง 3 ประการ ได้แก่ ผู้คน, กระบวนการ, และเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมมากขึ้น, พนักงานที่ทำงานจากบ้านก็ต้องใช้ระบบความปลอดภัยที่แข็งแกร่งมากขึ้น, มีระบบจัดการแพทช์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงความปลอดภัยของการใช้รหัสผ่าน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญมากที่สุดก็คือ เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกของอาชญากรไซเบอร์ทั่วโลก และแพลตฟอร์มที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีนี้รวมตัวอยู่ เพื่อทำนายได้ว่า อันตรายครั้งต่อไปจะมาในรูปแบบไหนในอนาคต