การ Deleverage ครั้งใหญ่ของ Ethereum สู่วิกฤต DeFi
นอกเหนือจากการเข้าสู่ตลาดหมีอย่างเต็มตัวของ Bitcoin โดยมีสาเหตุหลักมาจากความวิตกกังวลของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายการเงินของ FED ที่เริ่มมีการดึงสภาพคล่องส่วนเกินกลับคืนสู่ระบบ Ethereum ซึ่งเป็น Altcoins อันดับหนึ่งที่มีมาร์เกตแคปรองจาก Bitcoin ก็ถูกเทขายอย่างหนักด้วยเช่นกันโดยราคาลงมาต่ำกว่าระดับ 1,000 ดอลลาร์ และลดลงกว่า 80% จากจุดสูงสุด
ช่วงปี 2018-2019 ราคาเหรียญ Ethereum เคยร่วงจากจุดสูงสุดลงมาถึง 95% จากฟองสบู่ ICO ที่แตกหลังจากที่บูมสุดขีดในปี 2017 มาถึงปี 2022 สาเหตุที่ทำให้ Ethereum เข้าสู่ภาวะหมีน่าจะมาจากฟองสบู่แตกในตลาดการเงินแบบกระจายศูนย์หรือ DeFi
ช่วงปี 2020 โลกการเงินได้รู้จักกับนวัตรกรรมที่มีชื่อว่า Decentralized Finance และเกิดแพลตฟอร์มอย่าง Decentralized Exchange หรือ DEX ที่ตามมาด้วยนวัตรกรรมการลงทุนอย่าง Yield Farming หรือแพลตฟอร์มประเภท Lending ที่ถึงขั้นถูกมองว่าจะมาแทนที่ระบบธนาคารดั้งเดิม
เม็ดเงินในตลาด DeFi เคยขึ้นไปแตะจุดสูงสุด 250,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะลดลงมาเหลือเพียง 75,000 ล้านดอลลาร์ โดยการลดลงที่เร็วที่สุดเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤตเหรียญ LUNA และ UST ซึ่งมูลค่าตลาด DeFi ลดลงกว่า 94,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 46% ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่ Ethereum และ LUNA แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงด้วยซ้ำ
และนับตั้งแต่เข้าสู่เดือนมิถุนายน มูลค่าตลาด DeFi ได้ลดลงมาอีก 30,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสภาะตลาดคริปโตในภาพรวมที่เป็นขาลง แต่อีกหนึ่งปัจจัยน่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในตลาด DeFi ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ตั้งแต่ปัญหาของแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Celsius Network ไปจนถึงกองทุนรายใหญ่ในโลกคริปโตอย่าง Three Arrows Capital
ถ้าจะสรุปคร่าวๆถึงปัญหาของ DeFi ในตอนนี้ก็คือสภาพคล่องที่หดหายจากภาวะตลาดคริปโตที่เป็นขาลง รวมถึงปัญหาดั้งเดิมที่แก้ไม่ตกของ DeFi นั่นคือ Toxic Liquidity หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ทำได้อย่างเสรีจนทำให้แพลตฟอร์ม DeFi Protocol ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องได้อย่างฉับพลัน
แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ใช้งานรวมถึงผู้พัฒนา DeFi อาจจะมองข้ามไปนั่นคือเม็ดเงินที่ไหลเวียนในอุตสาหกรรม DeFi แทบจะไม่ได้มาจากระบบเศรษฐกิจจริงเลย แม้ว่า DeFi Protocol จะสามารถสร้างรายได้ในตัวเองได้ เช่น DEX ที่มีการเก็บส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเทรดมาแจกเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ที่สร้างสภาพคล่องใน Yield Farming Pool หรือการคิดส่วนต่างดอกเบี้ยของแพลตฟอร์ม Lending
อย่างไรก็ตามรายได้ที่เกิดขึ้นนั้นแทบทั้งหมดมาจากผลตอบแทนทางการเงิน แม้แต่แพลตฟอร์ม Lending ที่ธุรกรรมการกู้ยืมเงินทั้งหมดล้วนแต่เกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ลงทุนต่อให้เกิดดอกผลและนำมาแจกจ่ายให้ผู้ลงทุน โดยแต่ละแพลตฟอร์มแข่งกันที่จะสร้างผลตอบแทนระดับสูงเพื่อดึงดูดผู้ใช้งานอย่างเช่นสร้างโทเคนขึ้นมาแจกเพื่อให้เกิด Yield สูงๆ
ทว่าเงินที่ทำการกู้มาไม่ได้นำไปใช้ในประโยชน์ทางเศรษฐกิจจริงเช่นเดียวกับธนาคาร อีกทั้งต้นทุนการกู้ยืมยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากต้องวางสินทรัพย์ค้ำประกัน (Colleterial) ระดับเดียวกับมูลค่าสินทรัพย์ที่จะกู้ยืม
นอกจากนี้ DeFi Protocol แต่ละรายยังมีความเชื่อมโยงกันเนื่องจากมีการนำเงินจากนักลงทุนไปกระจายลงทุนกันต่อ เวลาที่แพลตฟอร์มหนึ่งล้มลงก็มีโอกาสที่อีกแพลตฟอร์มหนึ่งจะได้รับผลกระทบไปด้วย
ปรากฎการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับวิกฤติ Sub Prime ในปี 2008 ที่แต่ละสถาบันการเงินมีการขายตราสาร CDS ที่มาจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ขาลง ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตราสาร CDS ค้ำประกันไว้ก็เกิด Default จนทำให้สถาบันการเงินที่ไปลงทุนไว้ต้องล้มละลาย
วิกฤติที่เกิดขึ้นกับ DeFi ก็เป็นลักษณะเดียวกันคือราคาคริปโตในตลาดลดลงจนเกิดภาวะ Deleverage อย่างมากโดยเฉพาะ Ethereum ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดจนทำให้สภาพคล่องในตลาด DeFi หดหายและอาจจะเกิดการล้มกันเป็นโดมิโนขึ้นได้ในที่สุด
นี่คือคำถามสำคัญต่อ DeFi ว่าการที่ระบบการเงินที่ไม่มีเศรษฐกิจจริงหนุนจะทำให้ DeFi เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรหรือจะเป็นเพียงแค่ตลาดการเก็งกำไรที่เงินหมุนกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาเท่านั้น
ทำให้เกิดแนวคิดใหม่นั่นคือการผสมผสานระบบการเงินดั้งเดิมเข้ากับระบบการเงินไร้ตัวกลางหรือ CeDeFi (Centralized+Decentralized Finance) อาจจะเป็นแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับขาขึ้นครั้งใหม่ของตลาดคริปโตก็เป็นได้