เคล็ดไม่ลับ 10 ประการ สู่การเป็นเจ้านายสไตล์โค้ช
การเป็นเจ้านายสไตล์โค้ช จะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าได้รับการให้เกียรติในการทำงานอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้านาย และรู้สึกอบอุ่นมั่นใจว่าเจ้านายจะพาพวกเขาไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จได้เสมอ จึงมีความสนุกในการทำงาน อีกทั้งยังรัก เคารพ และศรัทธาเจ้านาย จากใจอย่างแท้จริง
ความหนักใจอย่างหนึ่งของคนเป็นเจ้านายคือ
ทำอย่างไรลูกน้องที่หลากหลายจึงจะทำงานเก่งและมีความสุข ส่วนความกังวลใจของลูกน้องก็คือ
ถ้าเข้ากับเจ้านายไม่ได้ หรือเจ้านายไม่สนับสนุน อนาคตการทำงานก็คงริบหรี่ อะไรคือทางออกที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย?
เคยไหมที่...เมื่อเราได้คุยกับใครสักคนแล้วรู้สึกว่าเกิดความฉลาดขึ้นมาทันที
พบทางออกของปัญหาด้วยวิธีของเราเอง สบายใจขึ้น มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ที่ควรทำ
มีแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง มีความหวัง มีเป้าหมาย เลิกวิตกกังวล
เลิกนิสัยในทางลบ เลิกโทษคนอื่น สามารถรับผิดชอบตนเองด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม ฯลฯ
นี่คือผลลัพธ์ที่ได้จากการพูดคุยในสไตล์โค้ชนั่นเอง
การสนทนาแบบโค้ชจะเน้นการฟังและการถาม เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งค้นหาทางออกได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อเขามีความตระหนักรู้และเข้าใจที่มาที่ไปดีแล้ว ก็จะเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง และสามารถหาวิธีเรียนรู้ด้วยศักยภาพของเขาเองอย่างเต็มใจ จะต่างกับการสอน ที่เน้นการบอกเล่าเพื่อให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ และต่างกับการให้การปรึกษาซึ่งจะเน้นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง ฉะนั้น แนวทางแบบโค้ชจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างทุกวันนี้ เพื่อให้ทีมงานมีอิสระและคล่องตัวในการทำงาน
ทัศนคติและอุปนิสัย 10 อย่างต่อไปนี้ จะช่วยให้ผู้บริหารพัฒนาตนไปสู่การเป็นเจ้านายสไตล์โค้ชที่ยอดเยี่ยมได้
1. ฟังอย่างตั้งใจ ให้มั่นใจว่าเราได้ยินและเข้าใจในสิ่งที่โค้ชชี่
(ผู้รับการโค้ช) พูดอย่างเต็มที่ ทั้งสิ่งที่พูดออกมา และไม่ได้พูดออกมา
สังเกตการแสดงออกทางน้ำเสียงและภาษากาย ข้อสำคัญที่สุดคือ อย่าขัดจังหวะ
เพราะผู้คนมีความต้องการพื้นฐานที่จะได้รับการรับฟัง
บางครั้งการขัดจังหวะอาจจะมาจากความพยายามจะช่วยเหลือของเรา หรือเพราะเราไม่อดทนพอ
2. ดำรงตนอยู่กับปัจจุบันและใส่ใจจดจ่อ
ให้ความสนใจทั้งหมดกับการพูดคุยตรงหน้ากับโค้ชชี่ตลอดเวลา
เพื่อเราจะได้มีสมาธิที่จะตั้งใจฟังและทำความเข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้โค้ชชี่รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
เกิดความไว้วางใจที่จะเล่าเรื่องราวและใช้ความคิดกับตนเองในระหว่างที่พูดคุย
ต้องระวังไม่ให้ใจวอกแวก ถ้าเราไม่ได้ให้ใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน
ไม่ได้ตั้งใจฟังอย่างเพียงพอในสิ่งที่โค้ชชี่พูด
และไม่ได้ให้ความใส่ใจกับความแตกต่างของของน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป
ไม่ได้จับประเด็นที่กำลังพูดคุยกันอยู่
โค้ชชี่ก็จะสังเกตได้ว่าเราไม่ได้ให้ความใส่ใจ และอาจสรุปเอาเองว่า
เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเขา หรือประเด็นปัญหาที่เขาประสบอยู่ หรือทั้งอย่าง
3. ค้นหาเพื่อที่จะเข้าใจ
ไม่ใช่เพื่อที่จะตัดสิน บทบาทของเราคือการเปิดใจกว้าง เป็นกลาง
และให้กำลังใจโค้ชชี่ได้แสดงความรู้สึก ความกังวล และบอกเล่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นประเด็นอยู่
ถ้าเราวิจารณ์ตัวโค้ชชี่หรือการกระทำของเขา และเขารู้สึกว่าเรากำลังตำหนิเขาอยู่
ก็จะทำให้เขารู้สึกต่อต้านและไม่อยากพูดอีกต่อไป
4. ถามคำถามแบบเปิดและสร้างสรรค์ ทักษะการถามคำถามเป็นหัวใจสำคัญของการโค้ชที่มีประสิทธิภาพ
คำถามปลายเปิดที่ต้องตอบด้วยคำอธิบาย จะช่วยส่งเสริมโค้ชชี่ในการสำรวจประเด็นของเขาจากทุกมุมมอง เราสามารถคิดคำถามที่ดีและเหมาะสมได้
หากฟังได้ดี
ต้องหลีกเลี่ยงการถามที่ดูเหมือน “การซักไซ้สอบสวน” ถ้าเราถามคำถามปลายปิดมากเกินไปด้วยลักษณะที่รีบร้อนและไม่อดทน
โค้ชชี่จะรู้สึกว่าไม่ได้รับการรับฟัง และรู้สึกว่าโค้ชไม่ได้พยายามที่จะสำรวจประเด็นด้วยกัน ไม่ควรใช้ “การถามคำถามนำ” นั่นคือ
คำถามที่นำให้โค้ชชี่ตอบในทางใดทางหนึ่ง เป็นการจำกัดทางเลือกของโค้ชชี่
และทำให้เขาไม่ได้ใช้ความคิดมากเท่าที่ควร หรือเขาอาจจะตอบรับทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วย
5. มีมุมมองในทางบวก เราต้องมองหาทางออกร่วมกับโค้ชชี่
แทนที่จะพยายามแก้ปัญหาให้เขา นั่นคือ เป็นเพื่อนคู่คิด ไม่รับเข้ามาเป็นปัญหาของเราเอง
และไม่เสนอทางออกให้เขา ขอให้มั่นใจว่า
ด้วยทักษะการถามคำถามที่ดีประกอบกับการฟังที่มีประสิทธิภาพ
โค้ชชี่จะได้คำตอบที่เหมาะสมกับตัวเขาเองในที่สุด เกิดการตระหนักรู้ เข้าใจตนเองและเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่
เพื่อบรรลุเป้าหมายด้วยตนเองต่อไป ถ้าเขาขาดทรัพยากรอะไร ก็จะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และไขว่คว้ามาให้ได้
แทนที่เราจะไปยัดเยียดให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ
6. แสดงความสนใจและเข้าอกเข้าใจในตัวโค้ชชี่ การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีและมีคุณภาพ
เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของผลลัพธ์ที่เราคาดหวัง ฉะนั้น ควรแสดงความสนใจในตัวโค้ชชี่และทำสิ่งที่โค้ชชี่เกิดความสบายใจ
เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นกันเองและไว้วางใจ โค้ชชี่จะสังเกตพฤติกรรมของเราพอๆ
กับที่เราสังเกตเขา ฉะนั้น เราจะต้องให้ความใส่ใจกับพฤติกรรมโดยรวมของเราด้วย ระวังการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
หลีกเลี่ยงที่จะแสดงออกถึงความไม่อดทนใดๆ
อย่าแสดงความหงุดหงิดกระสับกระส่ายและดูนาฬิกาในระหว่างการโค้ช
มันจะเป็นการทำให้โค้ชชี่รู้สึกว่าเขาต้องรีบ หรือเกิดความอึดอัดจนไม่เป็นตัวของตัวเอง
7. ช่วยโค้ชชี่สร้างเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง
เพื่อที่เขาจะได้บรรลุผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงดังที่เขาต้องการ ปัญหาของคนที่มีประสบการณ์มากกว่าคือมักจะกระโดดให้การแนะนำทันที เช่น ประโยคที่ว่า “ทำไมคุณไม่...” หรือ “ถ้าฉันเป็นคุณนะ ฉันจะ...” มันเป็นการยากที่จะยับยั้งการให้คำแนะนำ
และแน่นอนว่า บางครั้ง การแนะนำก็จำเป็น แต่ว่ามันไม่ใช่การโค้ช ดังนั้น
แทนที่จะให้คำแนะนำ วางมันไว้ข้างๆ และบอกตัวเองว่า
เราอยู่ที่นี่เพื่อช่วยโค้ชชี่ค้นหาคำตอบของเขาเอง ช่วยให้โค้ชชี่ได้ทบทวนและคิดทางเลือกต่างๆ
ออกมาให้ได้
8. มองหาจุดแข็งและความสำเร็จของโค้ชชี่ โดยการสะท้อนให้เขาได้เห็นจากการฟังในเชิงลึกของเรา
นี่เป็นการช่วยเขาให้มีสภาวะจิตใจที่เป็นบวก มีความมั่นใจในตนเอง
เกิดความกระตือรือร้นพร้อมที่จะรับมือกับประเด็นปัญหาและเรื่องที่ห่วงกังวลทุกเรื่องที่ต้องเผชิญ
9. แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติที่มีจริยธรรม ให้มั่นใจว่าเนื้อหาการพูดคุยจะได้รับการรักษาเป็นความลับเสมอ
10. เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จผ่านการโค้ชดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ควรฝึกฝนบ่อยๆ จึงจะทำให้เกิดความชำนาญจนหลอมอยู่ในบุคลิกประจำวัน และควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านจิตวิทยาเพื่อให้เข้าใจคนยิ่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
การเป็นเจ้านายสไตล์โค้ช จะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าได้รับการให้เกียรติในการทำงานอย่างเคียงบ่อเคียงไหล่กับเจ้านาย และรู้สึกอบอุ่นมั่นใจว่าเจ้านายจะพาพวกเขาไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จได้เสมอ จึงมีความสนุกในการทำงาน อีกทั้งยังรัก เคารพและศรัทธาเจ้านายจากใจอย่างแท้จริง