Young Millionaires : ม.ล.กมลพฤทธิ์ ชุมพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด
ม.ล.กมลพฤทธิ์ ชุมพล
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด
แมสเซ็นเจอร์ออนไลน์สัญชาติไทย
สร้าง Solution ตอบโจทย์ธุรกิจ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของตัวช่วยแก้ปัญหาต่างๆ
ในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดธุรกิจเดลิเวอรี่อย่างมากมาย
และเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด หนึ่งในนั้นคือ SKOOTAR แมสเซ็นเจอร์ออนไลน์สัญชาติไทย
ที่เข้ามาช่วยให้การรับ-ส่งเอกสารของธุรกิจ SMEs สะดวกสบายยิ่งขึ้น
การเงินธนาคาร สัมภาษณ์พิเศษ ม.ล.กมลพฤทธิ์
ชุมพล ประธานกรรมการบริหารบริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด หรือ SKOOTAR สตาร์ตอัพผู้ให้บริการเรียกแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์รับ-ส่งเอกสารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลกับบทบาทใหม่ที่พร้อมลุยให้บริการที่ครอบคลุม
แตกไลน์ธุรกิจไปสู่ฟู้ดเดลิเวอรี่และอีคอมเมิร์ซ
สร้างความเชื่อใจ
คือหัวใจ SKOOTAR
ม.ล.กมลพฤทธิ์ เริ่มให้สัมภาษณ์กับ
การเงินธนาคาร ด้วยการย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ SKOOTAR โดยภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทที่สหรัฐฯ
ได้กลับมาทำงานในแวดวงธุรกิจที่ปรึกษาในประเทศไทย 2
ปีและมีความคิดริเริ่มที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
จึงได้เข้าเรียนคอร์สสตาร์ตอัพใน Disrupt University ของเรืองโรจน์
พูนผล (กระทิง แห่ง KBTG) ทำให้ได้พบกับผู้ร่วมก่อตั้ง SKOOTAR ทั้ง
2 คน คือสุวัฒน์ ปฐมภครันต์ และธีภพ กิจจะวัฒนะ (ปัจจุบันคือ CTO ของ
SKOOTAR) จากนั้นเริ่มคุยไอเดียกันจนมาจบที่แมสเซ็นเจอร์
(แมสฯ) ผู้ให้บริการรับส่งเอกสารต่างๆ ของลูกค้าธุรกิจ SMEs
SKOOTAR เกิดจากความต้องการที่จะแก้ปัญหาของการฝากส่งเอกสารของธุรกิจ
SMEs ที่เดิมทีจะมีการฝากส่งเอกสารผ่านวินมอเตอร์ไซค์ที่บางครั้งก็มีปัญหาว่าวินฯอาจจะไม่ว่างไปส่งเอกสารให้
นอกจากนี้ ก็มีเรื่องของการชำระค่าบริการเป็นเงินสด ไม่มีระบบวางบิล
ทำให้เกิดปัญหาการเบิกจ่ายกับบริษัท และหากฝากส่งเอกสารผ่านวินมอเตอร์ไซค์หน้าใหม่
ก็ต้องลุ้นว่าเอกสารจะถึงที่หมายไหม
จึงมีไอเดียที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
เกิดเป็นแพลทฟอร์ม “SKOOTAR” ที่ให้บริการเรียกแมสฯ ออนไลน์
เพื่อส่งเอกสารสำหรับธุรกิจ SMEs เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งาน มีแมสฯ
ให้เรียกใช้บริการตลอดเวลา และมีประวัติคนขับในระบบอย่างชัดเจน
ลูกค้าสามารถติดตามสถานะเอกสารผ่านระบบได้ และสามารถจ่ายค่าบริการพร้อมออกใบเสร็จให้ได้อีกด้วย
เมื่อได้ไอเดียแล้ว SKOOTAR ได้เริ่มระดมทุนจากโครงการ Dtac Accelerate Batch #3 ในปี 2558 ทำให้ได้ทุนก้อนแรกมา หลังจากนั้นก็มีการระดมทุนจากกองทุน 500 Startups และกองทุน Galaxy Ventures รวมไปถึงได้รับเงินทุนจากนักลงทุนอิสระ (Angle Investors) อีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบัน SKOOTAR สามารถสร้างรายได้และเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จึงยังไม่มีแผนที่จะระดมทุนเพิ่มเติม SKOOTAR มี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจเรียกแมสฯ เพื่อส่งเอกสารทั้งเดินเอกสาร รับเช็ค วางบิล คัดเอกสารราชการ รวมทั้งทำวีซ่าให้ผู้บริหารซึ่งยังคงมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด
2. ธุรกิจเรียกแมสฯ เพื่อส่งอาหาร เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสจากร้านอาหารที่มีแพลตฟอร์มการสั่งอาหารและต้องการส่งอาหารด้วยตนเอง แต่ในวันที่มีออร์เดอร์ล้นหลามจนพนักงานส่งอาหารไม่เพียงพอ จึงได้เพิ่มบริการเรียก SKOOTAR เพื่อส่งอาหารให้กับลูกค้า ซึ่งจะให้บริการเป็นรายครั้ง ตามระยะทางการขนส่ง โดยไม่เรียกเก็บค่าจีพี ล่าสุด SKOOTAR จับมือกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ “Robinhood” ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) เพื่อให้บริการเรียกแมสฯ ส่งอาหาร คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ และ
3. ธุรกิจเรียกแมสฯ
เพื่อส่งสินค้าขนาดเล็กที่สามารถขนส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ได้ เช่น การส่งอุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับการจัดอีเวนต์ขนาดเล็ก หรือส่งสินค้าที่แชร์กันระหว่างศูนย์ซ่อมสินค้า
รวมถึงการส่งสินค้าที่ต้องการส่งด่วน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไอที
“เมื่อเริ่มธุรกิจผู้ให้บริการเรียกแมสฯ
เพื่อส่งเอกสารมาได้ระยะหนึ่ง เริ่มเห็นช่องทางการเติบโตทางธุรกิจเดลิเวอรี่อื่นๆ
จึงขยายธุรกิจสู่การให้บริการเรียกแมสฯ เพื่อส่งอาหาร พร้อมทั้งมีการขยายธุรกิจสู่การให้บริการเรียกแมสฯ
เพื่อส่งสินค้าขนาดเล็กโดยด่วนปัจจุบัน รายได้จากทั้ง 3
ธุรกิจ ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นี้
ถึงแม้ออฟฟิศจะมีการ Work From Home ส่งผลให้งานส่งเอกสารลดน้อยลง
แต่เรามีงานส่งอาหารและส่งสินค้าเพิ่มขึ้น”
ปัจจุบัน SKOOTAR มีคนขับที่ลงทะเบียนในระบบกว่า
10,000 คน ให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
เน้นการใช้ระบบควบคุมคุณภาพคนขับ จึงกำหนดระบบคนขับรับงานแบบฟรีแลนซ์
ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับคนขับเองอีกด้วย
“ธุรกิจเรียกแมสฯ เพื่อส่งเอกสาร เป็นธุรกิจที่ต้องมีความเชื่อใจสูง เราจึงมีกฎเกณฑ์ค่อนข้างเข้ม และค่อนข้างโฟกัสที่คุณภาพคนส่งงานเป็นหลัก มีการเทรนด์คนขับก่อนเริ่มงาน ทั้งในเรื่องการให้บริการ การดูแลลูกค้าและการพูดคุยกับลูกค้า รวมไปถึงการสอนใช้แอปพลิเคชั่น”
นอกจากนี้
ยังมีบริการให้ลูกค้าประเมินคนขับทุกครั้งภายหลังการใช้บริการ
โดยระบบจะนำการประเมินดังกล่าวไปคำนวณเป็นคะแนนอัตโนมัติ
ซึ่งจะมีผลต่อการให้งานคนขับครั้งต่อไป
คนขับที่ได้คะแนนสูงกว่าจะมีโอกาสได้รับงานมากกว่า ทั้งนี้
หากลูกค้ามีเรื่องร้องเรียนมายัง SKOOTAR ถ้าคนขับผิดจริง
เราก็มีกฎงดจ่ายงานชั่วคราว ไปจนถึงงดจ่ายงานถาวร
“SKOOTAR ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก
และเราใช้ระบบควบคุมทั้งบริการและการติดตามเอกสาร
ถึงแม้คนขับของเราจะเป็นคนขับฟรีแลนซ์
แต่เราก็มีระบบควบคุมที่เข้มข้นเพราะการส่งเอกสารเป็นเรื่องสำคัญ
ความเชื่อใจจึงต้องมาก่อนอันดับแรก”
สำหรับโมเดลค่าบริการของ SKOOTAR มีการคิดค่าบริการรายครั้งตามระยะทางที่สั้นที่สุดของ
Google Map โดยค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่ 55 บาท
และเพิ่มขึ้น 9.5 บาท/กิโลเมตร ทั้งนี้
หากเป็นลูกค้าธุรกิจจะเป็นแพ็กเกจที่มีราคาถูกลง
นอกจากนี้ ลูกค้าที่ใช้บริการ SKOOTAR สามารถเลือกชำระค่าบริการได้อย่างหลากหลายและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทลูกค้ามากที่สุด ปัจจุบัน มีระบบชำระค่าบริการ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ระบบวางบิลตอนสิ้นเดือน 2. ระบบ Pre-Paid Credit โดยลูกค้าสามารถเติมเงินเข้า SKOOTAR Wallet และตัดค่าบริการเมื่อลูกค้าใช้บริการ 3. ระบบตัดบัตรเครดิตรายครั้งผ่านแอปพลิเคชั่น และ 4. เก็บเงินปลายทาง โดยลูกค้าสามารถเลือกจ่ายเป็นเงินสดให้คนขับเมื่อเอกสารหรือสินค้ามาถึงมือแล้วในเรื่องของการขายก็มีทีมเซลส์และทีมซัพพอร์ตลูกค้า เพื่อให้คำแนะนำการใช้งานและสามารถ Customize ระบบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้
สำหรับเทคโนโลยีของบริษัทม.ล.กมลพฤทธิ์กล่าวว่า
จะเน้นใช้ทีมข้างในพัฒนาเอง และมีการพัฒนาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน SKOOTAR
มีทั้งแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ นอกจากนี้
ยังมีบริการที่สามารถเชื่อมต่อระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ลูกค้าเข้ากับระบบของ SKOOTAR
ได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลต่างๆ จะส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ทันที
ลดความผิดพลาดจากการคีย์ข้อมูลหลายรอบ ทั้งนี้ หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น
ก็จะมีทีมคอลล์เซ็นเตอร์ที่คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา
ลุยเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
โฟกัสตลาดให้ชัดเจน
ม.ล.กมลพฤทธิ์ เล่าต่อว่า
ยังเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอีกค่อนข้างมาก
เรามั่นใจว่าธุรกิจส่งเอกสารของเราทำได้ดีแล้ว
แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
จึงมีแผนที่จะทำการตลาดเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้รู้จักเรามากขึ้น ขณะเดียวกัน
ในส่วนของธุรกิจส่งอาหาร ยังคงมีร้านอาหารหลายเจ้าที่ต้องการแค่คนขับแต่ไม่ต้องการแพลทฟอร์ม
จึงมีแผนที่จะเพิ่มแพคเกจราคาที่เน้นให้บริการเรื่องการส่งอาหารโดยเฉพาะ
คาดว่าจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ยังเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วย ปัจจุบัน ลูกค้าที่ใช้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ยังรับบริการขนส่งสินค้าในวันถัดไป(บริการ Next Day Delivery) ซึ่งเหมาะสมกับสินค้าส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าบางอย่างที่ลูกค้ามีความต้องการใช้ทันทียิ่งได้รับเร็วยิ่งดี ซึ่งเริ่มเห็นลักษณะนี้ในกลุ่มสินค้าไอที จึงมีแผนที่จะผลักดันการให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ Same Day ด้วย และมีแผนที่จะให้บริการขนส่งเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีเพียงการขนส่งขนาดเล็กที่สามารถส่งผ่านมอเตอร์ไซค์ได้เท่านั้น ปัจจุบันกำลังพิจารณาร่วมมือกับสหกรณ์แท็กซี่ เพื่อให้ได้โมเดลการขนส่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
ส่วนเรื่องการขยายการให้บริการไปที่ต่างจังหวัด
มองว่าขึ้นกับดีมานด์ ปัจจุบันเริ่มเห็นเทรนด์ส่งอาหารในต่างจังหวัดแล้ว
แต่ในกลุ่มส่งเอกสารยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร คาดว่าต้องใช้อีกสักระยะเวลาหนึ่ง
“ถึงแม้ว่า SKOOTAR จะมีแผนขยายธุรกิจที่หลากหลาย แต่เราก็ยังโฟกัสที่คุณภาพของคนขับเป็นหลัก มั่นใจได้ว่า 99% ของคนขับทั้งหมด นิสัยดีและไว้ใจได้ พร้อมทั้งเน้นเรื่องความเร็ว สามารถสั่งงานได้ง่ายและสะดวก สามารถติดตามเอกสารและสินค้าได้เสมอ”
ม.ล.กมลพฤทธิ์ เล่าต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ SKOOTAR มาถึงจุดนี้ได้
อย่างแรกคือการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มต้น
และมีการประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกทำให้ลูกค้ารู้จักจำนวนมาก นอกจากนี้
ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือทีมงานของ SKOOTAR โดยเฉพาะ CTO
ที่ดูแลทีมงานอย่างดีและน้องๆ ในทีมที่พร้อมสู้ไปด้วยกัน
คอยปรับปรุงระบบตามความต้องการของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และสุดท้ายคือเราโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ SMEs
มาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ค่อนข้างดี
“ปัจจัยที่ช่วยให้ SKOOTAR มาถึงจุดนี้คือ การสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลายๆองค์กรตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น รวมไปถึงทีมงานที่ยังมีไฟพัฒนาบริษัทให้ไปต่อ และสุดท้ายคือเราโฟกัสกลุ่มลูกค้าของเราอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีโจทย์ตรงนี้แล้ว เราก็พร้อมที่จะสร้าง Solution ตอบโจทย์ให้ธุรกิจของเรา”
ติดตามคอลัมน์ Young Millionaires ได้ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ฉบับที่ 459 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi