INTERVIEW • YOUNG MILLIONAIRES

Young Millionaire : ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอแท็กซ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง

บริษัท ไอแท็กซ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

สร้าง Tax Automation Economy

บริหารจัดการภาษีแบบอัตโนมัติ

 

 “Tax Automation Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่ระบบภาษีทำงานด้วยตัวเองอย่างอัตโนมัติ ลองจินตนาการว่าสิ้นปี สรรพากรส่งบิลมาให้องค์กรหรือพนักงานแต่ละคนว่าต้องจ่ายภาษีเท่าใด แล้วทุกคนมีหน้าที่แค่จ่ายเงินในส่วนนั้น จะเห็นว่า แทบไม่มีต้นทุนเพิ่มและไปกระทบกับการทำธุรกิจขององค์กรเลยแม้แต่น้อย ธุรกิจก็สามารถเติบโตได้อย่างอิสระมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลามายุ่งเรื่องภาษี”

ในปี 2012 ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจสตาร์ตอัพเบ่งบานเต็มที่ บรรดาหัวกะทิรุ่นใหม่นำไอเดียในการแก้ Pain Point ของผู้ใช้มาผสมผสานกับเทคโนโลยี สร้างเป็นธุรกิจและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ การเงินธนาคาร ได้รู้จักกับสตาร์ตอัพน้ำดีอย่าง “iTAX” แอปพลิเคชั่นบริหารจัดการภาษี ที่เกิดจากงานวิจัยปริญญาเอก พวกเขามาพร้อมความเชื่อที่ว่า “ผู้เสียภาษี คือฮีโร่ตัวจริงของประเทศ” ภาษีจึงควรเป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับทุกคน เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้เสียภาษีควรได้รับ

แนวทางการทำธุรกิจของ iTAX ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้นไม่เคยเปลี่ยนไป พวกเราเชื่อเสมอว่าผู้เสียภาษีคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศชาติ ดังนั้น สิ่งผู้เสียภาษีควรได้รับเป็นรางวัลคือการทำหน้าที่นี้อย่างสะดวกสบาย ง่าย ครบถ้วน สมบูรณ์ โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย”

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอแทกซ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังคงย้ำเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ตลอด 10 ปี ที่ดำเนินธุรกิจมา เขายังเต็มเปี่ยมไปด้วย Passion แรงกล้า อีกทั้ง Pain Point เรื่องภาษีกับคนไทยก็ไม่เคยหายไป ภาษียังคงเป็นเรื่องเข้าใจยากขนาดนักฟิสิกส์อัจฉริยะอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังเคยกล่าวไว้ว่า “ภาษีเงินได้ คือสิ่งที่เข้าใจยากที่สุดในโลก”

 

iTAX เรื่องภาษีต้อง Easy

ใช้ฟรี ไม่รู้กฎหมายก็ทำได้

ผศ.ดร.ยุทธนา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจของ iTAX ว่า ไอเดียนี้เกิดขึ้นตอนเรียนปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัย Southern Methodist University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาต้องการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง แนวทางการป้องกันการเลี่ยงภาษี จึงศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดจนทราบถึงปัญหาหลักด้านภาษี ซึ่งเกิดจากคน 2 กลุ่มคือ

        1. กลุ่มคนที่ตั้งใจหนีภาษี เป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจจะทำผิดกฎหมายตั้งแต่แรก วิธีจัดการคือการใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษ

        2. กลุ่มคนที่ยื่นภาษีไม่เป็น เป็นกลุ่มที่มี Pain Point จากขั้นตอนการเสียภาษีที่ซับซ้อน ยากต่อการทำความเข้าใจ และเมื่อเข้าใจยาก จึงเลือกที่จะไม่สนใจ ซึ่งนี่คือกลุ่มที่ iTAX ต้องการจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา

จากไอเดียนี้เขาคิดต่อไปว่า วิธีการที่จะทำให้คนที่ยื่นภาษีไม่เป็น ไม่รู้เรื่องภาษี ต้องใช้วิธีสอนในลักษณะที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ แม้ว่าจะไม่รู้ข้อกฎหมายด้านภาษีก็ตาม

เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องที่ถูกเล่าสู่กันฟังและถ่ายทอดผ่านโครงสร้างทางสังคมไทยมาตั้งแต่ในอดีต ที่ผ่านมาหลายคนรู้ว่าเมื่ออายุครบ 15 ปี ต้องทำบัตรประชาชนเพราะมีทั้งสถาบันการศึกษาและครอบครัวคอยบอกอยู่เสมอ แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า รายได้เท่าไหร่ถึงต้องยื่นภาษี ต้องใช้เอกสารใดประกอบบ้าง ภายในวันไหน เดือนไหน อย่างไร ไม่มีใครสอนเรื่องนี้ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะไม่รู้”

ผศ.ดร.ยุทธนา เผยว่า iTAX นั้นมาจากคำว่า Intuitive TAX หมายถึง การรับรู้ทางภาษีได้โดยสัญชาตญาณ ผู้คนสามารถรู้ได้ทันทีว่าตนต้องชำระภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใดโดยไม่ต้องเปิดคู่มือภาษีประกอบ เพราะ iTAX จะทำให้ทุกเรื่องภาษีเป็นเรื่องง่าย ใครก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมายก็ยื่นภาษีได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง พร้อมรักษาผลประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ใช้

 

ส่ง iTAX Paystation / iTAX BNK

หนุนวิชั่น Tax Automation Economy

ผศ.ดร.ยุทธนาเผยว่า วิสัยทัศน์ของ iTAX คือ ต้องการยกระดับสังคมให้อยู่ในลักษณะ Tax Automation Economy ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ระบบภาษีทำงานด้วยตัวเองอย่างอัตโนมัติ เช่นเดียวกับการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ มีเพียงยอดสุทธิมาแสดงแก่ผู้ที่เสียภาษีเท่านั้นว่าต้องจ่ายจำนวนเท่าใด โดยเบื้องหลังจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการคำนวณภาษี มีการเขียนโปรแกรมเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ

“Tax Automation Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่ระบบภาษีทำงานด้วยตัวเองอย่างอัตโนมัติ ลองจินตนาการว่าสิ้นปี สรรพากรส่งบิลมาให้องค์กรหรือพนักงานแต่ละคนว่าต้องจ่ายภาษีเท่าใด แล้วทุกคนมีหน้าที่แค่จ่ายเงินในส่วนนั้น จะเห็นว่า แทบไม่มีต้นทุนเพิ่มและไปกระทบกับการทำธุรกิจขององค์กรเลยแม้แต่น้อย ธุรกิจก็สามารถเติบโตได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลามายุ่งเรื่องภาษี”

ผศ.ดร.ยุทธนา อธิบายว่า iTAX Paystation เป็นโปรแกรมเงินเดือนออนไลน์ ที่นำเทคโนโลยีจัดการงานบุคคลอัตโนมัติมาไว้ในตัว ช่วยคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายรายเดือน ประกันสังคม และเตรียมไฟล์เพื่อใช้ยื่นภาษีและประกันสังคมได้ทั้งรายเดือนและรายปี รวมถึงสร้างสลิปเงินเดือนพนักงาน และไฟล์ Payroll สำหรับโอนเงินให้พนักงานผ่านธนาคารได้อัตโนมัติ ลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน และขั้นตอนคำนวณที่ยุ่งยาก

ภาพของ Tax Automation Economy จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมี 2 สิ่งร่วมกันคือ บริษัทใช้โปรแกรม iTAX Paystation และพนักงานใช้แพลตฟอร์ม iTAX ในการบริหารจัดการภาษี เพราะ iTAX Paystation จะรวมข้อมูลรายได้ต่างๆ ของพนักงานทั้งหมด ส่งไปที่ iTAX อัตโนมัติ เมื่อถึงรอบจ่ายภาษีพนักงานจะสามารถเห็นยอดข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต่อการคำนวนภาษีได้ครบถ้วนทุกข้อมูล ไม่ต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมเลย เมื่อถึงวันที่ 1 ม.ค. พนักงานสามารถกดยื่นภาษีผ่าน iTAX ได้เลย

“iTAX Paystation จะช่วยให้ผู้เสียภาษีรวมถึงนายจ้างเข้าใกล้ Tax Automation Economy มากขึ้นเพราะทุกข้อมูลที่พนักงานหรือนายจ้างต้องใช้เพื่อคุยกับสรรพากร ตัวโปรแกรมจะเป็นเครื่องมือในการจัดการให้ทั้งหมด อีกทั้งยังลดการใช้กระดาษสำหรับเอกสารต่างๆ เพราะทุกข้อมูลถูกรวบรวมไว้แบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม iTAX”

ปัจจุบัน มีองค์กรจำนวน 30 แห่ง ใช้โปรแกรม iTAX Paystation ผลตอบรับที่ได้นั้นดีมาก โดยเฉพาะฝั่งพนักงาน เนื่องจากทำให้การยื่นภาษีในแต่ละปีมีความสะดวกอย่างมาก ขณะที่องค์กรธุรกิจก็ชื่นชอบ เพราะใช้งานง่าย

ผศ.ดร.ยุทธนา เผยอีกว่า iTAX ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการที่ชื่อว่า “iTAX BNK” (iTAX Bank) ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับกรมสรรพากรและธนาคารกรุงไทย โดยมีแผนจะเปิดตัวภายในเดือน ธ.ค. 2565 โครงการนี้ถูกต่อยอดจากการประกวดนวัตกรรมด้านภาษีของกรมสรรพากร (Hackatax) ที่ iTAX ได้รางวัลชนะเลิศ โดยโจทย์ที่ได้รับคือการช่วยเหลือพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ในการยื่นภาษี

ตลาดออนไลน์นั้นมีความน่าสนใจเพราะการแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างสูง มีพ่อค้า-แม่ค้าเก่งหลายราย และเป็นตัวผลักดันให้ GDP ไทยเติบโตและมีความแข็งแกร่งจากฐานล่าง แต่ปัญหาของตลาดนี้คือผู้ประกอบการมักมองข้ามเรื่องภาษี ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมีผู้ประกอบการหลายคนต้องการจะจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง แต่ติดปัญหาเรื่องกระบวนการที่ซับซ้อนและภาษากฎหมายที่เข้าใจยาก

สิ่งที่ iTAX ทำคือ การบริหารจัดการเรื่องภาษีให้ทั้งหมดแบบอัตโนมัติ โดยมีกติกาว่าผู้ประกอบการจะต้องเปิดบัญชีผ่านธนาคารกรุงไทยเพื่อเข้าโครงการนี้โดยเฉพาะ และทุกครั้งที่เกิดรายรับ-รายจ่ายให้ดำเนินการผ่านบัญชีนี้ทุกครั้ง ธนาคารกรุงไทยจะเก็บจำนวนยอดธุรกรรมและส่งข้อมูลกลับมาให้ iTAX เพื่อนำไปคำนวณภาษี โดยขณะนี้ iTAX BNK ยังพัฒนาอยู่ใน Sandbox ของกรมสรรพากร คาดว่าจะมีค่าบริการประมาณ 300 บาทต่อเดือน

พ่อค้าแม่ค้าหลายคนไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองต้องจ่ายภาษีเท่าใด บางคนยอดขายเป็นล้านบาทก็กลัวว่าหากเสียภาษีจะต้องมีมูลค่าสูง แต่ในความเป็นจริงจ่ายแค่หลักพัน นอกจากเรื่องภาษีแล้วเรายังทำบัญชีรายรับรายจ่าย รายงานยอดขาย กำไร ต้นทุน แสดงให้เห็นครบจบภายในที่เดียวโดยพ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องทำเองอีกด้วย”

ผศ.ดร.ยุทธนา เผยต่อว่า ในอนาคต iTAX ยังมีแผนต่อยอดโครงการ iTAX BNK ไปสู่กลุ่มหาบเร่-แผงลอย โดยตั้งเป้าหมายพาผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด โดย iTAX จะเก็บข้อมูลผู้ใช้และประมวลผลออกมาเป็นเรตติ้ง ทำให้ผู้ใช้ที่ปฏิบัติตามระเบียบครบถ้วน เช่น ขึ้นทะเบียนหาบเร่-แผงลอย ไม่มีปัญหากับเทศกิจ และยื่นภาษีอย่างถูกต้อง จะได้รับการพิจารณาการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรกับ iTAX ได้ง่ายขึ้น

 

ตั้งเป้า 5 ปี มีผู้ใช้ 5 ล้านราย

มุ่งสร้างอิมแพคเชิงบวกให้สังคม

ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าวว่า สำหรับการระดมทุนเพื่อเร่งการเติบโตนั้น iTAX จะเน้นมองหาการระดมทุนผ่าน Impact Fund หรือกองทุนที่ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมเป็นหลัก โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ในการดำเนินธุรกิจ iTAX ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรที่มีมุมมองเหมือนกันอย่างต่อเนื่อง เพราะ iTAX สามารถแก้ปัญหาในเรื่องภาษีหลายอย่างได้ตรงจุด ทำให้ธุรกิจของ iTAX เติบโตขึ้น แม้จะไม่ได้ทะยานติดจรวด แต่ก็เป็นการเติบโตในลักษณะที่มีฐานแข็งแรง

ปัจจุบัน iTAX ได้รับทุนสนับสนุนหลักในการทำธุรกิจจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งเป็นทุนสำหรับธุรกิจที่มีความมั่นคง แต่ต้องการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ โดย iTAX ใช้เงินทุนก้อนนี้ในการพัฒนาบริการ iTAX Paystation นอกจากนี้ยังได้รับเงินลงทุนจาก ECG ซึ่งเป็นนักลงทุนที่อยู่ในสมาคม Thai Venture Capital Association (TVCA) โดยนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่ม ต่างเข้าใจแนวคิดและจุดยืนของการทำธุรกิจของ iTAX เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.ยุทธนา เปิดใจว่า เป้าหมายของ iTAX ไม่ใช่การขึ้นไปอยู่ในจุดที่เป็นยูนิคอร์นสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นการเติบโตในด้านมูลค่าบริษัท แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี และตัวเขารู้สึกดีใจที่เห็นยูนิคอร์นสตาร์ตอัพเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่สำหรับ iTAX สิ่งที่วัดความสำเร็จไม่ใช่มูลค่าบริษัทที่พุ่งทะยานสูง แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านภาษีที่เกิดขึ้นในสังคม ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงบริการที่ iTAX ปล่อยออกสู่ตลาดจะช่วยสร้างระบบภาษีแบบ Automation ได้มากน้อยแค่ไหน

 “ความสำเร็จของ iTAX ไม่ได้มาจากเงินลงทุนก้อนใหญ่หรือรายได้ที่มหาศาล แต่มาจากคำติชม การประเมินของผู้ใช้ และการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ของผู้ใช้งานว่า iTAX สามารถแก้ไขปัญหาด้านภาษีอย่างแท้จริง อันนี้คือความสำเร็จในมุมของเรา”

ปัจจุบัน iTAX มีผู้ใช้ทั้งหมด 900,000 แสนราย มี Active User ในรอบการเสียภาษีประมาณ 4-5 แสนราย ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากตอนให้บริการแพลตฟอร์มในช่วง 2-3 ปีแรกที่มีผู้ใช้เพียงหลักหมื่นคนเท่านั้น โดยใน 5 ปีจากนี้ iTAX ตั้งเป้าขยายกลุ่มผู้ใช้ไว้ที่ 5 ล้านราย และจะยังคงเดินหน้าสร้าง Tax Automation Economy ให้แข็งแกร่งและยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป

 

 ติดตามอ่านคอลัมน์ Young Millionaire ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ฉบับที่ 487 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt