INTERVIEW • YOUNG MILLIONAIRES

Young Millionaire : กร เธียรนุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด

กร เธียรนุกุล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด

 


ปั้นแบรนด์ MyWaWa

เป็นอาลีบาบาแห่งอาเซียน

 

จุดแข็งของ MyWaWa คือการเป็น First Mover ที่เข้ามาในตลาด B2B E-Marketplace ทำให้มีเวลาสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังมีบริการ end to end รองรับทุกความต้องการของธุรกิจ ด้วยระบบอัตโนมัติที่ลดขั้นตอนยุ่งยากในอดีต ทำให้การซื้อ-ขายแบบ B2B ทั้งหมด เกิดขึ้นได้บนช่องทางออนไลน์”

 คลื่น Digital Disruption ได้ปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจดั้งเดิมอย่างมาก การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งให้ผู้เล่นเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมมายาวนาน ต้องเผชิญกับธุรกิจสตาร์ตอัพที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีล้ำสมัย มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า ขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนสู่ออนไลน์เต็มตัว แนวโน้มนี้ทำให้องค์กรธุรกิจต้องเร่งทำ Digital Transformation เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวที่เปิดดำเนินกิจการมากว่า 65 ปี อย่าง “โรงพิมพ์นิวไวเต็ก” การมาของ Digital Disruption ได้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งไปอย่างสิ้นเชิง เพราะในยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ของนิวไวเต็ก เลือกที่จะเดินบนถนนสายสตาร์ตอัพ เส้นทางที่ปราบคนรุ่นใหม่ไฟแรงมากมาย ที่มาพร้อมกับเป้าหมายสู่การเป็นยูนิคอร์น แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ กลับไม่มีคำว่า “ยูนิคอร์น” มีเพียงความตั้งใจที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวยังเดินหน้าต่อไปได้ในยุคดิจิทัล

ผมไม่ได้มาจากโรงรถ แต่ผมมาจากโรงพิมพ์ อุตสาหกรรมที่โดนคลื่น Digital Disruption ถาโถมเข้าเต็มๆ ตอนนั้นถือเป็นภาคบังคับที่เราต้องทำและจะต้องรอดด้วย ยอมรับว่ากดดันมาก แต่ก็ต้องสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ได้”

กร เธียรนุกุล ลูกชายของ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด เปิดใจถึงความรู้สึกในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่เขาต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ครอบครัวยอมรับ ประกอบกับสถานการณ์ที่ค่อนข้างบีบรัด นั่นทำให้เขาไม่เคยลืมช่วงเวลานั้นเลย

 

ทายาทโรงพิมพ์ “นิวไวเต็ก”

กับเส้นทางธุรกิจที่ไร้หมึกพิมพ์

กร ในวัย 32 ปี ย้อนอดีตให้ การเงินธนาคาร ฟังว่า ช่วงที่เรียนจบใหม่ สิ่งแรกที่เขาคิดอยากทำคือ “ร้านกาแฟ” ธุรกิจยอดฮิตที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ฝันอยากเป็นเจ้าของสักครั้ง แต่ขณะนั้นครอบครัวมีธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว จึงเริ่มต้นกับที่บ้านเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนเตรียมตัวไปเรียนต่อ แต่แผนที่วางไว้ก็ต้องหยุดพัก เมื่อน้าที่ดูแลลูกค้ารายใหญ่ของโรงพิมพ์นิวไวเต็กเสียชีวิต และเขาจะต้องเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านก่อน

โรงพิมพ์ นิวไวเต็ก เปิดมาตั้งแต่ปี 2500 ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 65 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ การเข้ามาครั้งนั้นทำให้มีประสบการณ์ในการดูแลลูกค้ารายใหญ่หลายราย โดย นิวไวเต็ก เป็น โรงพิมพ์แบบ Commercial Printing ที่เน้นทำคู่มือการใช้งาน นามบัตร สมุด โบรชัวร์ แพ็กเกจ Sampling สินค้าตัวอย่าง มีลูกค้ารายใหญ่เช่น ธุรกิจ FMCG ธุรกิจโรงงาน และธุรกิจโทรคมนาคม ช่วงพีคๆ เคยทำ Sampling ตัวอย่างสินค้าแจกมากถึงปีละ 2-3 ล้านชิ้น

จำได้ว่าต้องไปเจอลูกค้ารายใหญ่ เป็นชาวอินเดีย ตอนนั้นเป็นยุคที่ออนไลน์มาพอดี พอบอกว่าเรามาแทนน้าที่เสียไป เขาก็บอกเราว่า นโยบายบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง งบการตลาดเท่าเดิม แต่สัดส่วนเปลี่ยน กลายเป็น Offline 20% Online 80% เพราะคนเข้ามาในโลกออนไลน์เยอะ และเราไม่ได้เจอแค่รายเดียว แต่ลูกค้าทุกรายเป็นแบบนี้ ตอนนั้นรู้เลยว่าเรากำลังเผชิญกับ Digital Disruption และธุรกิจโรงพิมพ์ได้ sunset ไปแล้ว”

กรบอกว่า โซลูชั่นในขณะนั้นมี 3 ทางเลือกคือ 1. ปรับจากธุรกิจโรงพิมพ์ไปทำโรงงานบรรจุภัณฑ์ (Packaging) 2. ปรับจาก Commercial Printing ไปเน้นการพิมพ์ป้องกันการปลอมแปลง (Security Printing) และ 3. ออกจากธุรกิจโรงพิมพ์ไปทำธุรกิจใหม่ โดยหลังจากที่ได้ปรึกษากับครอบครัวแล้ว เขาเลือก ข้อ 3 เพื่อก้าวออกจากธุรกิจโรงพิมพ์ไปเลย สาเหตุเพราะมองว่าท้ายที่สุดทั้งหมดจะขึ้นสู่ออนไลน์

บอกตรงๆ ว่าผมไม่ได้ชอบธุรกิจการพิมพ์เลย ตอนจบมาก็เลือกไปทำร้านอาหาร ผมอินกับร้านอาหารมากกว่า ผมไม่ใช่คนที่ชอบมาเดินโรงงาน แต่มาเพราะต้องช่วยเหลือที่บ้าน พอเราเจอ Digital Disruption ผมเลยตัดสินใจเลือกออกจากธุรกิจเดิมไปเลย เพราะ Packaging อนาคตคู่แข่งเยอะแน่ ส่วน Security Printing นั้นมองว่าไม่ต่างกับ Commercial Printing เพราะที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะขึ้นสู่ออนไลน์”

 

ก้าวสู่เส้นทางสตาร์ตอัพ

กับโปรเจ็กต์ MVP “WaWaPack”

กรเล่าว่า เมื่อตัดสินใจออกจากธุรกิจโรงพิมพ์ ก็เริ่มกระบวนการ Soft Landing โรงพิมพ์นิวไวเต็ก ปัจจุบันได้ทยอยขายเครื่องพิมพ์ออกไปแล้วกว่า 80% ส่วนตัวเขาในขณะนั้นก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ตอัพ จนวันหนึ่งมีเพื่อนโทรมาสอบถามเรื่องการผลิต Packaging ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมไม่หาซื้อในออนไลน์ และเมื่อลองเสิร์ชใน Google ก็พบว่า ไม่มีบริษัท Packaging ทำตลาดบนโลกออนไลน์ ทำให้เกิดไอเดียในการสร้างศูนย์รวม Packaging ที่ทุกคนเข้าถึงได้ผ่านออนไลน์

ผมไปขอที่บ้านตรงๆ เลยว่า ขอทำได้ไหม ขอลองดู ลงทุนน้อยๆ ก่อนก็ได้ จนในที่สุดก็ไปซื้อเว็บไซต์สำเร็จรูปมาเริ่มต้นกระบวนการ Minimum Viable Product (MVP) โดยตั้งโจทย์แรกง่ายๆ ว่า ถ้าทำ Packaging บนออนไลน์จะมีคนซื้อหรือไม่ พร้อมตั้งชื่อบริษัทว่า WaWaPack”

ทายาทรุ่น 3 ของนิวไวเต็ก บอกว่า เขาเริ่มต้นธุรกิจนี้ด้วยทีมงาน 1 คน ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการเข้าหาโรงงาน Packaging เพื่อขอสินค้ามาถ่ายรูปและอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ โดยเขาเป็นคนวิ่งหาโรงงาน ส่วนทีมงาน 1 คนทำหน้าที่อัปโหลดรูปขึ้นเว็บ ซึ่งบนเว็บไซต์ไม่มีฟีเจอร์ล้ำสมัยอะไร ไม่มีระบบ E-Commerce มีแค่รูปสินค้า หากลูกค้าต้องการซื้อจะต้องโทรเข้ามา และทำการโอนเงิน ซึ่งเขาก็จะนำเงินนั้นไปซื้อของที่โรงงานและจัดส่งให้ลูกค้า วิธีการเป็นไปแบบง่ายๆ เพราะลงทุนน้อยมาก

 เมื่อทำได้ระยะหนึ่ง กรเริ่มสนุกกับการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ และมีความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจ แต่ติดปัญหาตรงที่ทางบ้านยังไม่ยอมรับ เขาจึงพยายามหาตัวช่วย เพื่อยืนยันว่าไอเดียของเขา สามารถเป็นธุรกิจขึ้นมาได้จริงๆ

กรเผยว่า เขาตัดสินใจไปงาน Pitching Day ที่จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม การไปครั้งนี้เขาต้องแอบไป โดยบอกที่บ้านว่าจะไปหาลูกค้านิวไวเต็ก ตลอด 3 วันที่อยู่ในงาน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องของ Business Model Canvas และการ Pitching นำไปสู่การทำ Pitch Desk และขึ้นเวที Pitching ครั้งแรกในชีวิต

ผมไปคนเดียวเลย และขึ้นเวที Pitching จำได้ว่า ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นงานแรก จนสุดท้ายคว้าอันดับที่ 2 กลับบ้านแบบใจฟู แม้เงินรางวัลจะแค่หลักหมื่น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ผมได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่ผมทำอยู่นั้นมีคนยอมรับ และมีคนเชื่อว่าสามารถสร้างเป็นธุรกิจได้จริง”

หลังจากคว้าอันดับ 2 จากเวที Pitching Day ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทางบ้านก็เริ่มยอมรับและเปิดโอกาสมากขึ้น โดยให้ทีมงานเข้ามาช่วยเพราะเห็นว่าธุรกิจเริ่มเดินไปได้ จากนั้นเขาก็ใช้รางวัลนี้เป็นใบเบิกทางในการเข้าหาซัพพลายเออร์ต่างๆ ทำให้การเจรจาธุรกิจง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็เดินสายประกวดไอเดียนวัตกรรมอีกหลายเวที โดยนำเสนอไอเดียต่อยอดจากโปรเจ็กต์ MVP ให้กลายเป็น E-Marketplace จริงๆ มีระบบชำระเงิน มีระบบสั่งซื้อ เพราะการซื้อมาขายไป ไม่สามารถทำให้ธุรกิจโตได้ และในตลาดก็ยังไม่มีใครเป็นคู่แข่ง นั่นจึงทำให้เขากวาดรางวัลจากเวที Pitching ได้มากมาย

 “ตอนนั้นมีสินค้ามากถึง 3,000 SKU มี Packaging เกือบทุกแบบ และในที่สุดเราก็ได้ยอดซื้อครั้งแรก เป็นกระป๋องเหล็กใส่ใบชา ราคา 54 บาท ผมดีใจมากจนเอากระป๋องนี้มาตั้งในห้องประชุมเลย จากนั้นเริ่มเห็นพฤติกรรมที่ชัดเจนของลูกค้ามากขึ้น จนตัดสินใจเริ่มทำการตลาดจากที่ไม่เคยทำมาก่อน”

เขายอมรับว่า ระหว่างทางก็มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ความท้าทายใหญ่ที่สุดคือเรื่องครอบครัว ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะทรานฟอร์มองค์กรให้ได้ เพราะธุรกิจเดิมก็มีคนเก่าแก่ ทัศนคติที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องหารือกับที่บ้าน ทำการประนีประนอมกับคนเก่าที่อยู่มานาน รวมถึงเรื่องของการที่มีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง จากเดิมที่เป็นธุรกิจกงสี ก็ต้องเปลี่ยนเป็น Professional Company

 

เปิดยุคใหม่ MyWaWa

มุ่งเป็น Alibaba แห่งอาเซียน

กรเล่าว่า จุดเปลี่ยนสำคัญคือการระบาดของ Covid-19 ที่ทุกคนล้วนต้องการบริการออนไลน์ สถานการณ์นี้ทำให้รู้ว่า ความต้องการของลูกค้าไม่ได้มีแค่เรื่อง Packaging เพราะมีโรงงานอื่นๆ แสดงความต้องการที่จะนำสินค้ามาขายบนแพลตฟอร์ม WaWaPack โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ นั่นจึงทำให้เขาเกิด “คิดใหญ่” เพราะตลาด Packaging ในวันนี้เล็กเกินไปเสียแล้ว เป้าหมายใหม่ของเขาคือการเป็นแพลตฟอร์ม B2B E-Marketplae

ตอนนั้นอยากเปลี่ยนเลย อยากคิดใหญ่ ไม่ได้อยากมีแค่บรรจุภัณฑ์แล้ว แต่อยากให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย ใช้ต้นแบบจากอาลีบาบา เพราะใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากจะเป็นมากที่สุด พร้อมตั้งเป้ากับทีมว่า เราจะเป็นอาลีบาบาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงขั้นที่เอารูปแจ็ค หม่า ติดในลิฟท์บริษัท พร้อม Quote ของ Forest Gump ที่ว่า Life was like a box of chocolates. You never know what you're gonna get. เพราะบางครั้งชีวิตคนก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต ที่เราไม่มีทางรู้ว่าเราจะได้อะไร”

กรเริ่มยุคใหม่ด้วยการ Rebrand จาก WaWaPack เป็น MyWaWa เพื่อให้รู้สึกเข้าถึงง่าย ตั้งทีมนักพัฒนาพร้อมอัปเกรดแพลตฟอร์มใหม่ ทำโครงสร้างของบริษัทใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับเรื่องของการระดมทุน มีการเพิ่ม Co-Founder ที่เป็นคนนอกเข้ามา เปลี่ยนจากการเป็นแค่ Business Unit หนึ่งในนิวไวเต็ก ออกมาตั้งบริษัทใหม่ชื่อ WaWa Innovation Group ทำหน้าที่เป็นบริษัท Holding และเช่าพื้นที่ของอาคารนิวไวเต็กเพื่อใช้เป็นสำนักงาน นอกจากนี้ ยังตั้งบริษัท WaWa Service & Marketing Group เพื่อพัฒนาระบบ e-Commerce และทำการโอนย้ายลูกค้ามาสู่แพลตฟอร์มใหม่

กรบอกว่า การระบาดของ Covid-19 ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ MyWaWa เติบโตรวดเร็วระดับ 1,000% เพราะพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไปใช้ออนไลน์มากขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามาถูกทาง เพราะเกิดการซื้อ-ขาย บนแพลตฟอร์มจริง และยังบ่งบอกว่า โปรเจ็กต์ MVP ที่สร้างขึ้นตอนแรก และสมมุติฐานที่คิดขึ้นมานั้นถูกต้อง โดยตั้งแต่เปิดให้บริการมาครบ 1 ปี ปัจจุบัน MyWaWa มียอดซื้อ-ขายสะสมถึง 1,700 ล้านบาทแล้ว ส่วนรายได้บริษัทจะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานเฉลี่ย 3-5% ต่อธุรกรรมการซื้อขาย

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา WaWaPay ซึ่งเป็นระบบ B2B Payment Gateway ของตัวเอง พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม โดยได้จับมือกับบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และธนาคารออมสิน รวมถึงพัฒนาระบบซื้อ-ขายบนแพลตฟอร์มให้มีความปลอดภัยสูง ส่งให้ยอดขายบนแพลตฟอร์มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถรองรับธุรกรรมใหญ่ๆ ระดับล้านบาทได้ โดยมูลค่าธุรกรรมสูงสุดที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มสูงถึงหลักสิบล้านบาท

ปัจจุบัน GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 17-18 ล้านล้านบาท แบ่ง 60% เป็นเรื่องของการส่งออก ซึ่ง 70% ของการส่งออกนี้มาจากภาคการผลิต จึงประเมินว่าตลาดที่ MyWaWa จับอยู่ตอนนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่และยังมีโอกาสให้โตได้อีกมาก

จุดแข็งของ MyWaWa คือการเป็น First Mover ที่เข้ามาในตลาด B2B E-Marketplace ทำให้มีเวลาสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังมีบริการ end to end รองรับทุกความต้องการของธุรกิจ ด้วยระบบอัตโนมัติที่ลดขั้นตอนยุ่งยากในอดีต ทำให้การซื้อ-ขายแบบ B2B ทั้งหมด เกิดขึ้นได้บนช่องทางออนไลน์”

ปัจจุบัน แพลต MyWaWa มีประเภทสินค้าให้ธุรกิจเลือกมากถึง 8 หมวดอุตสาหกรรม เริ่มจาก

      1. การพิมพ์ บรรจุภัณฑ์และเครื่องใช้สำนักงาน เป็นหมวดที่โยกมาจาก WaWaPack ปัจจุบันมีซัพพลายเออร์รายใหญ่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว

      2. สุขภาพและความงาม มีโรงงานรับผลิตเครื่องสำอางเข้ามาร่วมแล้ว อยู่ระหว่างการหาซัพพลายเออร์รายใหม่เข้ามาเพิ่มเติม

      3. ชิ้นส่วนอะไหล่ ยานยนต์ มีซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์เข้ามาร่วมแล้ว อยู่ระหว่างการหาซัพพลายเออร์รายใหม่เข้ามาเพิ่มเติม

      4. อาหารและเครื่องดื่ม เป็นหมวดอุตสาหกรรมที่เพิ่มเปิด โดยตั้งเป้าไปที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ปลากระป๋อง ปูอัด เนื้อสัตว์ เส้นบะหมี่ รวมถึงผู้ผลิต Raw Material ต่างๆ

      5. แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษา มีซัพพลายเออร์รายใหญ่เข้าร่วมแล้ว อยู่ระหว่างการขยาย โดยมองไปที่เครื่องแบบนักเรียน นิสิตนักศึกษา อุปกรณ์การเรียนต่างๆ

      6. บ้านและวัสดุก่อสร้าง อยู่ระหว่างการเพิ่มซัพพลายเออร์ให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้หมวดนี้เป็นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

      7. แฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม เป็นหมวดที่เตรียมเปิดตัวในอนาคต อยู่ระหว่างการเจรจา มีตั้งแต่เสื้อผ้าแบรนด์แฟชั่น จนถึงเครื่องแบบ รวมถึงชุดป้องกันไวรัส Covid-19

       8. เคมี, ยางและพลาสติก มีสินค้าประเภทน้ำยา น้ำมัน สีย้อม สารเคมีเกษตร สารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอ กาวซิลิโคน อยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนซัพพลายเออร์ให้มากขึ้น

 

เตรียมเปิดฟังก์ชั่น Factoring

ตั้งเป้า 5 ปี ลุยต่างประเทศ

กรเผยว่า เป้าหมายระยะสั้นของ MyWaWa คือการพัฒนาระบบชำระเงิน WaWaPay ให้มีความแข็งแกร่ง และในปีหน้าจะเปิดฟังก์ชั่นสินเชื่อ Invoice Factoring โดยจะมีการปรับใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อแก้ปัญหา Double Invoice หรือการใช้ 1 Invoice ยื่นกู้หลายธนาคาร ขณะนี้มีการพัฒนาโครงสร้าง Smart Contract เตรียมไว้แล้ว นอกจากนี้จะมีบริการสินเชื่อสำหรับผู้ซื้อด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและดำเนินการขอใบอนุญาต

ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถขอสินเชื่อได้บนแพลตฟอร์ม MyWaWa ได้เลย โดยเราจะเป็นสะพานที่ส่งความต้องการนี้ไปยังธนาคารเพื่อดำเนินการพิจารณาให้สินเชื่ออีกที โดยขณะนี้อยูในขั้นตอนการพัฒนาก่อนจะเปิดให้ทดลองใช้เพื่อดูผลตอบรับในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566”

อีกหนึ่งเป้าหมายคือ การทำให้แพลตฟอร์มเป็นโซลูชั่นแบบ end to end โดย MyWaWa จะจับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มบริการด้านขนส่งเข้ามาบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีตัวเลือกได้ว่าต้องการการขนส่งแบบใด คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2565

สำหรับเป้าหมายระยะ 3-5 ปีของ MyWaWa คือการเป็นแพลตฟอร์ม B2B International Trade โดยปัจจุบันมองเห็นความต้องการการใช้งานแล้ว หลังจากที่ประเทศกลุ่ม CLMV เริ่มติดต่อเข้ามาขอซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน ซัพพลายเออร์ในไทยก็มีความต้องการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ โดยภายใน 3-5 ปีนี้ MyWaWa จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่ง พร้อมกับเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการรุกตลาดต่างประเทศ

เราเห็นโอกาสในต่างประเทศแล้ว แต่ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานของเรายังไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่อง International Banking หรือการขนส่งข้ามประเทศ ตลาดนี้เป็นเกมใหญ่ที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย แต่ถ้ามองถึงทางไปต่อ เราอยากทำให้ซัพพลายเออร์ชาวไทย สามารถค้าขายกับต่างชาติ โดยใช้ MyWaWa เป็น Gateway ได้ ใน 3-5 ปีนี้เราจึงเน้นทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน จากนั้นถึงจะเริ่มบุกตลาดต่างประเทศ โดยจะเน้นไปที่กลุ่มประเทศ CLMV”

ทายาท นิวไวเต็ก รุ่น 3 เปิดใจกับ การเงินธนาคาร หลังจากอยู่บนเส้นทางสตาร์ตอัพพร้อมกับแบกรับความกดดันจากที่บ้านว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เขารู้ว่า ไม่มีอะไรที่ทำมาแล้วจะสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้น สิ่งสำคัญคือ ต้อง Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward ล้มได้แต่ต้องรีบลุกต่อ นี่คือสิ่งที่เขามักจะพูดกับทีมงานเสมอ

และ “ตัวเขาในวันนี้” ก็ผ่านความท้าทายมาหลายด้านจากสนามธุรกิจจริง จนวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจที่เคยตั้งต้นจากความต้องการแก้ปัญหาธุรกิจครอบครัว ต้องการพิสูจน์ตัวเอง พัฒนาเป็นความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ไทยเติบโตขึ้นได้จากการใช้แพลตฟอร์ม MyWaWa

 

ติดตามอ่านคอลัมน์ Young Millionaire ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนตุลาคม  2565 ฉบับที่ 486 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt