THE GURU • FINTECH&STARTUP

Crowdfunding คราวด์ฟันดิง #13 ทิศทางธุรกิจที่ระดมทุนผ่าน Crowdfunding จะเป็นอย่างไรหลังโควิด

บทความโดย: ทศรรห์ บุรีชนะ

สภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น - โควิดที่กำลังจะเป็นเรื่องที่คนคุ้นชิน เป็นสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนโลกใบนี้ไปเป็นรูปแบบใหม่ แล้วกลยุทธ์ของธุรกิจ ที่ต้องการระดมทุนด้วย Crowdfunding ซึ่งเป็นกลไกการระดมทุนแบบ Decentralization จะมีทิศทาง และลักษณะอย่างไร หรือต้องดำเนินธุรกิจอย่างไรให้ตรงกับกระแสโลก หลังโควิด (ยุคที่เราคุ้นชินกับโควิด)

            ธุรกิจที่ต้องการระดมทุนด้วยวิธีการ Crowdfunding ได้สำเร็จ (หรือธุรกิจที่ยังไม่ต้องการระดมทุนก็สามารถนำไปใช้ได้นะครับ) จากนี้ไปควรต้องมีลักษณะพื้นฐาน 3 ข้อดังนี้

            1. ตอบโจทย์ความยั่งยืน

            2. ปรับตัวได้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

            3. มีผลิตภัณฑ์ บริการ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน (และตอบ Pain Point ของผู้บริโภค)

            นำหลักการพื้นฐานนี้ มาปรับปรุงสินค้าและบริการ และสร้างธุรกิจใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต อย่าลืมนะครับว่า เราคิดสรรค์สร้างสินค้าและบริการเพื่อแก้ Pain Point ของผู้บริโภค ไม่ใช่การผลิตสินค้าและบริการที่เจ้าของธุรกิจอยากทำเพียงอย่างเดียว ผมมีตัวอย่างนวัตกรรมของสินค้าและบริการที่เป็นไปตามลักษณะพื้นฐาน 3 ข้อด้านบน ซึ่งทาง McKinsey ได้ศึกษาไว้ดังนี้ครับ

            1. Public Electric Transport นำโดยประเทศจีนที่มีรถขนส่งสาธารณะกว่า 3 แสนคัน

            2. Electric Trucks ที่เรากำลังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีสถานีบริการชาร์ต หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ ระยะทาง 100 กม

            3. Energy Storage ราคาถูก เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในหลากหลาย ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงรถยนต์ แต่กำลังมีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการกักเก็บพลังงานไว้ใช้มากขึ้น

            4. Long-Term Energy Storage เพราะจะมีความต้องการในการกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในระยะยาว เช่นในช่วงหน้าฝนที่ไม่ค่อยมีแดด หรือฤดูที่ลมสงบ เช่น Google X ที่สร้างบริษัทที่กักเก็บพลังงานด้วยเกลือหลอมเหลว

            5. Plastic Recycling ที่เป็นการ Recycle พลาสติกกลับไปเป็นน้ำมัน ด้วยกรรมวิธี Pyrolysis

            6.  LED light efficiency ด้วยหลอด LED ที่ลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 40% กำลังเข้ามาแทนหลอดไส้ ซึ่งคาดการณ์กันว่าในปี 2573 ในประเทศสหรัฐ จะมีการใช้หลอด LED ถึง 84% ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการประหยัดพลังงานได้ คิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านดอลล่าสหรัฐต่อปี

            7. Solar Power ที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ ทำให้มีผู้ใช้มากขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยปัจจุบันยังมีคนเกือบ 1 พันล้านคนบนโลก ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้

            8. Carbon Capture and Storage การคิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถจับคาร์บอนในอากาศ และนำมาทำเป็นน้ำมันสังเคราะห์

            9. Hydrogen in energy transition เป็นแหล่งพลังงานอีกแหล่งที่มีน้ำหนักเบา เหมาะกับการใช้ในรถบรรทุกขนของ ประมาณการกันว่าภายในปี 2593 จะมีรถยนต์ที่ใช้พลังไฮโดรเจน มากกว่า 400 ล้านคัน รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนนี้ เริ่มมีใช้งานจริง แล้วในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และเยอรมัน

ตัวอย่างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียั่งยืน Technologies Innovation, McKinsey

ในการคิดที่จะเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เช่นตัวอย่างด้านบน ซึ่งให้กิจการมีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น ควรมีวิธีการคิดดังนี้

            1.ต่อยอดจากวัตถุประสงค์ขององค์กรที่มีอยู่ เช่นบริษัททำกระดุมพลาสติก แล้วปรับมาทำเป็นกระเบื้องพลาสติกแบบคุณภาพสูง

            2.พิจารณาใช้ทรัพยากรของบริษัท ให้คุ้มค่ามากขึ้นในทุกจุด หรือนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง

            3.มีดีไซน์ โดยเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง ฟังเสียงความต้องการของลูกค้าผ่านขั้นตอนการทดสอบตลาด และปรับปรุงให้เร็ว

            4.วิเคราะห์นำสมรรถนะขององค์กรในด้านต่างๆ มาผนวกรวมกัน ทำให้เกิด โมเดลธุรกิจใหม่ หรือหากยังมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วน ก็อาจหา Strategic Partner มาร่วมกันได้

            การวางแผนความคิด เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ตามขั้นตอนแบบนี้ จะทำให้เกิด Revenue Stream ใหม่ๆ ที่ทำให้กิจการมีกำไรสูงขึ้น โดยไม่ต้องการเงินลงทุนสูงมากนัก หรือหากในกรณีที่การสร้างธุรกิจใหม่ต้องการใช้การระดมทุน ก็สามารถนำหลักการข้างต้น มาเล่าเป็นเรื่องราวให้กับนักลงทุน ได้ฟัง ได้ซักถามกัน ในช่วงการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ซึ่งจะทำให้มีโอกาสสำเร็จในการระดมสูงขึ้น

            ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การคิดหาแหล่งรายได้ (Revenue Stream) ใหม่ๆ นั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในทุกยุค บางทีไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แต่หากลองทำตามหลักการด้านบน ก็น่าจะทำได้ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ ขอบคุณและพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ

 

เกี่ยวกับนักเขียน

ทศรรห์ บุรีชนะ Chief Value Officer บริษัท สินวัฒนา คราวด์ฟันดิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักการเงิน นักลงทุน ผู้เข้าใจกลไกการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจมากขึ้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน