THE GURU • FUND FOCUS

แก้ความเข้าใจผิดเรื่องกองทุนรวม

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

            โลกการลงทุนมีความยากอยู่ที่ว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตนั้นอาจไม่แน่นอน การคาดการณ์จากข้อมูลในวันนี้อาจเกิดผลจริงที่แม่นยำหรืออาจคลาดเคลื่อนไปมากก็ได้ และหากจะตีกรอบให้เป็นเรื่องของการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งก็มีความไม่แน่นอนในด้านผลตอบแทนด้วยเช่นกัน แต่โครงสร้างของวงการจัดการกองทุนและตัวกองทุนรวมเอง ยังมีหลายแง่มุมที่อาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิด แม้โดยเนื้อหาแล้วจะเป็นข้อเท็จจริงที่มีความแน่นอนชัดเจนอยู่ จึงเห็นว่า แม้เรื่องผลตอบแทนในอนาคตอาจจะไม่แน่นอน แต่หากได้เข้าใจข้อเท็จจริงที่มีความแน่นอนให้ถูกต้องไปก่อน ก็จะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง


ความเข้าใจผิด #1 : เงินที่ซื้อกองทุนรวมจะรวมอยู่ในงบดุลของบริษัทจัดการ หากบริษัทจัดการมีปัญหา เงินลงทุนของเราก็จะมีปัญหาด้วย

            ผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า เงินที่ซื้อกองทุนรวม จะรวมอยู่ในงบดุลของบริษัทจัดการ ไม่ต่างจากการฝากเงินที่จะบันทึกเป็นหนี้สินของธนาคาร และหากฝั่งสินทรัพย์ของธนาคาร (ส่วนใหญ่คือ เงินให้สินเชื่อ) เกิดปัญหา ก็จะทำให้เงินฝากมีความเสี่ยงตามไปด้วย ซึ่งในกรณีธนาคารนั้น หากสินทรัพย์มีปัญหา ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินฝากได้จริง เพราะรวมอยู่ในงบดุลเดียวกัน

            แต่ในกรณีกองทุนรวม กองทุนรวมแต่ละกองจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกเทศแยกต่างหากจากบริษัทจัดการ บริษัทจัดการมีหน้าที่เพียงบริหารสินทรัพย์ภายในกองทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหน่วยลงทุน ดังนั้นแล้ว หากบริษัทจัดการประสบปัญหาทางการเงิน ก็จะไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อกองทุนรวมแต่อย่างใด แต่ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมได้บ้าง เช่น บริษัทจัดการอาจต้องลดขนาดทีมผู้บริหารกองทุนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจทำให้กองทุนขาดการบริหารจัดการที่เต็มประสิทธิภาพได้

ความเข้าใจผิด #2 : ราคาหน่วยลงทุนสูงคือแพง ราคาหน่วยลงทุนต่ำถือถูก

            ในมุมมองของการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ (Valuation) การจะระบุได้ว่า หลักทรัพย์ใดแพง (Overvalued) หรือถูก (Undervalued) จะต้องเทียบราคาตลาดกับมูลค่าพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้น หากมูลค่าพื้นฐานต่ำกว่าราคาตลาด ก็พอจะกล่าวได้ว่า แพง และในทางกลับกัน หากมูลค่าพื้นฐานสูงกว่าราคาตลาด ก็พอจะเรียกได้ว่า ถูก

            ซึ่งหน้าที่ในการประเมินว่า หลักทรัพย์ใดที่อยู่ภายใต้กองทุนรวมนั้น แพง ควรขายออก หรือหลักทรัพย์ใดในขอบข่ายที่กองทุนจะซื้อลงทุนได้นั้น ถูก น่าซื้อเข้า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการลงทุนและผู้จัดการกองทุนของบริษัทจัดการ ในการพิจารณาตัดสินใจ ส่วนราคาหน่วยลงทุนนั้น ณ จุดตั้งต้นจะกำหนดขึ้นมาให้ง่ายต่อความเข้าใจ เช่น 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ได้มีความหมายแสดงถึงความถูกแพง เพียงเป็นการนำมูลค่าสินทรัพย์ในกองทุนมาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไป ราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น จาก 10 บาท เป็น 100 บาท ก็ไม่ได้หมายความว่า แพง เพราะมูลค่าถูกแพงที่แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบราคาตลาดของสินทรัพย์ที่อยู่ภายในกองทุนกับมูลค่าพื้นฐานในมุมมองของผู้บริหารกองทุน

            หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น กองทุน A ก่อตั้งที่ราคา 10 บาท/หน่วย มีการลงทุนในหุ้น 100 บริษัท ซึ่งทีมบริหารกองทุนประเมินว่าทั้ง 100 บริษัทนี้ Undervalued อยู่มาก มีโอกาสที่ราคาตลาดจะขยับขึ้นได้ ต่อมาราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท/หน่วย และในขณะนั้นเอง ทีมผู้บริหารกองทุนได้ทำการขายหุ้นทั้ง 100 บริษัทนั้นออกไปหมดจากกองทุน ด้วยเชื่อว่าราคาได้เพิ่มขึ้นมาเต็มมูลค่าแล้ว และพร้อมกันนั้น ก็ได้ซื้อหุ้นชุดใหม่อีก 100 บริษัทเข้ามาแทน โดยเชื่อมั่นว่าเป็น 100 บริษัทที่ Undervalued เช่นนี้แล้ว แม้ราคาหน่วยลงทุนจะเพิ่มจาก 10 เป็น 100 บาท แต่หลักทรัพย์ภายในกองทุนนั้นล้วนแล้วแต่ยัง Undervalued ในมุมมองของผู้บริการกองทุน เช่นนี้ก็ไม่อาจพูดได้ว่ากองทุนราคา 100 บาท เป็นกองทุนที่แพง

ความเข้าใจผิด #3 : กองทุนขนาดใหญ่กว่าผลงานย่อมดีกว่า

            กองทุนรวมไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก จะแสดงราคาเป็น “ต่อหน่วย” และผู้ลงทุนสามารถเลือกซื้อตามจำนวนเงินที่ต้องการ โดยจะได้รับจำนวนหน่วยกลับมาตามจำนวนเงินที่ซื้อไป ในระดับผู้ลงทุน (Investor Level) ขนาดกองทุนจึงไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลงาน

            อย่างไรก็ดี กองทุนรวมที่มีขนาดเล็กมาก เช่น หลักล้านบาท ก็อาจมีปัญหาด้านสภาพคล่องหากต้องขายหลักทรัพย์ในกองทุนกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการไถ่ถอนเงินลงทุนจำนวนมาก แต่กระนั้น หากหลักทรัพย์ในกองทุนมีสภาพคล่องสูง เช่น เป็นหุ้นใน SET50 Index ทั้งหมด แม้กองทุนจะมีขนาดเล็ก ก็ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับต่ำ

            ในทางกลับกัน กองทุนที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น หลักแสนล้านบาท หากทีมผู้บริหารกองทุนพิจารณาเห็นถึงแนวโน้มใหม่ในการลงทุน และจำเป็นต้องซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากเพื่อปรับตัวไปสู่แนวโน้มนั้น ก็จะต้องใช้เวลานาน กว่าจะดำเนินการได้ครบถ้วน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากแนวโน้มที่เปลี่ยนไป

            จะเห็นได้ว่า กองทุนที่มีขนาดพอสมควรกับสภาพคล่องของหลักทรัพย์ในกองทุน เช่นกองทุนหุ้น SET50 Index ที่หลักทรัพย์มีสภาพคล่องสูงมาก แม้กองทุนจะไม่ได้มีขนาดมหึมา ก็ยังสามารถตอบโจทย์การลงทุนได้ดี

            อย่างไรก็ดี กองทุนที่มีผลงานดีต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง อาจเป็นที่กล่าวถึงกันมากขึ้นในวงการ ผู้ลงทุนจึงให้ความสนใจซื้อมากขึ้น จนทำให้ขนาดกองทุนใหญ่ขึ้นก็เป็นได้ แต่กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานต่อจากนั้นจะดีไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ และผลงานของกองทุน จะวัดจากราคาต่อหน่วยที่เปลี่ยนแปลงไป (Capital Gain/Loss) รวมถึงเงินปันผลที่อาจจ่ายออกมาระหว่างทาง การที่กองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงไม่ได้ชี้ถึงประโยชน์ทางตรงที่ชัดเจนต่อผู้ลงทุนแต่อย่างใด

ความเข้าใจผิด #4 : กองทุนประเภทเดียวกัน กองไหนๆ ก็เหมือนกัน

            แม้จะเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในภาพรวมที่เหมือนกัน แต่หากทีมบริหารกองทุนใช้กลยุทธ์ต่างกัน มีมุมมองต่อมูลค่าและสภาวะเศรษฐกิจต่างกัน ลงทุนในหลักทรัพย์ไม่เหมือนกันทั้งหมด และเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการต่างกัน ก็อาจทำให้ผลงานต่างกันได้มาก ตัวอย่างเช่น

            หุ้นเวียดนาม กองทุนที่ทำผลงานแย่น้อยสุดในช่วงปีนี้ ให้ผลตอบแทนติดลบ 31.5% ส่วนกองที่ทุนทำผลงานแย่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 47.0%

            หุ้นยุโรป กองทุนที่ทำผลงานแย่น้อยสุดในช่วงปีนี้ ให้ผลตอบแทนติดลบ 5.5% แต่กองที่ทุนทำผลงานแย่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 48.5%

            หุ้นญี่ปุ่น กองทุนที่ทำผลงานดีสุดในช่วงปีนี้ ให้ผลตอบแทนบวก 6.8% แต่กองที่ทุนทำผลงานแย่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 17.7%

            สินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนที่ทำผลงานดีสุดในช่วงปีนี้ ให้ผลตอบแทนบวกถึง 23.9% แต่กองที่ทุนทำผลงานแย่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน กลับให้ผลตอบแทนติดลบ 6.8% (ข้อมูลจาก treasurist.com ณ 27 พ.ย. 65)

            และจะเห็นได้ว่า หากผู้ลงทุนมีข้อมูลและเครื่องมือที่เปรียบเทียบรายละเอียดและผลงานกองทุนได้ง่าย ชัดเจน และครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม ก็จะมีแต้มต่ออย่างมากในการตัดสินใจลงทุน

ความเข้าใจผิด #5 : กองทุนในตระกูลเดียวกัน แบบจ่ายปันผล แบบไม่จ่ายปันผล แบบทยอยคืนทุน มีผลงานไม่ต่างกัน

            ในช่วงหลายปีมานี้ บริษัทจัดการหลายแห่งนิยมนำเสนอตระกูลกองทุนที่มีการแบ่งประเภทย่อย (คลาส) เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนมากขึ้น ทั้งแบบสะสมมูลค่า แบบจ่ายปันผล และแบบทยอยคืนทุนอัตโนมัติ โดยกองทุนในตระกูลเดียวกันที่มีการแบ่งคลาสลักษณะนี้ จะสังเกตได้จากชื่อกองทุนที่มีชื่อส่วนต้นเหมือนกัน แต่มีตัวอักษรห้อยท้ายต่างกันไป เช่น “-A” สะสมมูลค่า “-D” จ่ายปันผล และ “-R” ทยอยคืนทุน

            และเนื่องจากเป็นกองทุนในตระกูลเดียวกัน จึงอาจเข้าใจผิดได้ว่า ผลงานรวม (Total Return) ของแต่ละกองทุนก็ย่อมเท่ากัน แต่เนื่องจากการจ่ายเงินสดออกจากกองทุน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายปันผลหรือคืนทุน ย่อมเป็นการตัดกำลัง ไม่ให้กองทุนมีสินทรัพย์ไว้ลงทุนได้เต็มที่อย่างต่อเนื่อง เมื่อนำเงินปันผลหรือเงินคืนทุนมาบวกกลับเข้าไปแล้ว มักพบว่าให้ผลตอบแทนรวมไม่เท่ากองทุนในตระกูลเดียวกันแบบสะสมมูลค่า

            นอกจากนั้น กองทุนที่จ่ายปันผล นักลงทุนประเภทบุคคลทั่วไปจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% อีกด้วย และมักไม่คุ้มที่จะขอคืนภาษี เท่ากับว่า กองทุนที่จ่ายปันผล นอกจากตัวกองทุนเองจะเสียพลังในการลงทุนออกไปเรื่อยๆ แล้ว พลัง (เงินปันผล) นั้นยังถูกตัดทอนออกไปอีกขั้นหนึ่งด้วยก่อนจะมาถึงกระเป๋าผู้ลงทุน

            ตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นปันผลของ บลจ. แห่งหนึ่ง มีการแบ่งคลาสเป็นแบบ -A และ -D ซึ่งมีราคาหน่วยลงทุน ประวัติการจ่ายปันผลในช่วง 3 ปีล่าสุด ดังนี้

            กองทุน -A ราคาหน่วยลงทุน ณ 25 พ.ย. 62 เท่ากับ 18.1772 บาท/หน่วย และ 25 พ.ย. 65 เท่ากับ 19.4921 บาท/หน่วย โดยไม่มีการจ่ายปันผล จึงมีผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว 7.23%

            กองทุน -D ราคาหน่วยลงทุน ณ 25 พ.ย. 62 เท่ากับ 10.2241บาท/หน่วย และ 25 พ.ย. 65 เท่ากับ 9.985 บาท/หน่วย และในช่วงเวลาดังกล่าวมีการจ่ายปันผลรวมกัน 0.62 บาท/หน่วย จึงมีผลตอบแทนรวมในช่วงเวลาดังกล่าว 3.73% และเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยแล้ว จะเหลือเงินปันผลสุทธิ 0.558 บาท/หน่วย เหลือเป็นผลตอบแทนรวมสุทธิ 3.12% (ข้อมูลจาก ThaiQuest ณ 27 พ.ย. 65) จะได้เห็นว่า กองทุน-A และ กองทุน-D ในช่วงเวลาเดียวกัน ให้ผลตอบแทนรวมต่างกันถึง 4.11% แม้จะบวกกลับเงินปันผลสุทธิเข้ามาแล้ว

            จึงสรุปจากตัวอย่างนี้ได้ว่า กองทุนในตระกูลเดียวกัน หากเลือกประเภทสะสมมูลค่า ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนรวมสูงสุด และหากต้องการสภาพคล่องออกมาจากกองทุน ก็สามารถสั่งขายได้เองทุกเมื่อในปริมาณที่ต้องการ ขณะที่การรับเงินปันผลหรือเงินคืนทุนนั้น จะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของทีมผู้บริหารกองทุนเป็นหลักว่าจะจ่ายหรือไม่และเมื่อไร

ความเข้าใจผิด #6 : กองทุนลดหย่อนภาษี SSF RMF ซื้อกองไหนแล้วต้องถือกองนั้นยาว เปลี่ยนใจกลางทางไม่ได้

            กองทุนลดหย่อนภาษีทั้งสองประเภท แม้เงินลงทุนก้อนนั้นยังต้องถือยาวหลายปีตามเกณฑ์สรรพากร แต่ระหว่างทางสามารถสลับกองทุนได้อิสระ ขอเพียงแค่สลับภายในกองทุนประเภทเดียวกัน (SSF ภายใน SSF และ RMF ภายใน RMF) แต่จะสลับข้าม Asset Class (เช่น กองทุนหุ้นไปกองทุนตราสารหนี้) หรือข้ามบริษัทจัดการ ก็สามารถทำได้ทั้งหมด

            อย่างไรก็ดี การสลับภายในบัญชีลงทุนเดียวกันและภายในกลุ่มกองทุนของบริษัทจัดการเดียวกัน จะทำได้ง่ายสุด ส่วนการสลับข้ามบัญชีและข้ามบริษัทจัดการ จะมีขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ผู้ลงทุนท่านใดต้องการสลับกองทุนลดหย่อนภาษี เพื่อให้สอดรับกับสภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนไป สามารถสอบถามได้ที่ผู้ให้บริการที่ท่านมีเงินลงทุนอยู่

เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน