NEWS UPDATE • RESEARCH

ttb analytics คาด Medical Tourism ไทยฟื้นเร็ว โต 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566

ttb analytics คาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยฟื้นเร็วโตเฉียด 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ด้วยปัจจัยหนุนจากกระแส การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ การพัฒนาใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะ เทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงการป้องกั

ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเร็วเกินคาด หลังจากเปิดประเทศไปในช่วงกลางปี 2565 ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ไทยได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวทั่วไป โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยลดลงมาก สาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในปี 2563 รายได้ลดลงกว่า 90% แต่เริ่มทยอยปรับดีขึ้นในปี 2564 โดย ในปี 2565 คาดว่ารายได้จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 แตะ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19

ระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ  โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี หรือมีความมั่นคงทางสุขภาพสะท้อนจาก Global Health  Security (GHS) Index 2021 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โดยไทยอยู่ในอันดับ 5  ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ด้วยความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดรวมทั้งระบบสาธารณสุขและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในภาพรวมอยู่ในระดับดี  นอกจากนี้ในมุมของค่ารักษาพยาบาล พบว่า ไทยยังมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ โดยเฉลี่ยรายละ  296 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 9 ด้วยค่าใช้จ่าย 3,406 ดอลลาร์สหรัฐ  อีกทั้งด้านที่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้ภาพสอดคล้องกัน คือ ไทยติดอันดับประเทศในเอเชียที่มีรายได้สูงโดยอยู่ที่ 589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำหน้าเกาหลีใต้ที่อยู่ที่ 415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ttb analytics คาดแนวโน้มรายได้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เติบโตเทียบเท่าก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ในปี 2566  โดยในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ซึ่งรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยเพื่อรักษาโรคควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ ในการประมาณการรายได้ในภาพรวมได้พิจารณาจากรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการคนไข้ต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนราว 15% ของรายได้รวม ทำให้รายได้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ในปี 2562 อยู่ที่ราว 2.47 หมื่นล้านบาท และรายได้ลดลงมากกว่า 100% ในช่วงวิกฤตโควิด-19

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นกอปรกับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 100% ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารักษาตัวมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนประมาณการรวมทั้งปี 2565 อยู่ที่ 10.5 ล้านคน และประมาณการรายได้ในส่วนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นเม็ดเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของรายได้เชิงการแพทย์ของปี 2562 และในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน นำโดยนักท่องเที่ยวจากอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งพบว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้ามาเพื่อเข้ารับการรักษาหรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มตลาดหลักของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์  ดังนั้น มีแนวโน้มที่รายได้จะเติบโตต่อเนื่อง คาดอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบได้กับระดับรายได้ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมจะอยู่แค่ 50% ของปี 2562 ก็ตาม

เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการพัฒนาใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่เป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ในอนาคต  หลังวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกได้รับบทเรียนถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่เกิดทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่โรคอุบัติใหม่มีแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แนวคิดการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง หรือกล่าวคือการทำให้มีสุขภาพแข็งแรง  เป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับจากประชากรทั่วโลกในการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ และการแสวงหาจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์ในด้านนี้จึงเป็นที่มาของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  โดยจะมาแทนที่การท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมจากนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูง  สำหรับในปี 2566 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นที่มาของผู้ที่ใส่ใจสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปรักษาในประเทศทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 

ดังนั้น จึงมองเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพรองรับในหลายด้านทั้งความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์  โรงพยาบาลที่ได้การรับรองตามมาตรฐานสากล และการมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เปรียบเทียบแล้วยังอยู่ในระดับต่ำ  ตลอดจน การปรับหลักเกณฑ์วีซ่าใหม่เพื่อหนุนให้คนไข้ต่างชาติเลือกเดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย อาทิ การให้วีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงหรือต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณในไทยและการขยายฟรีวีซ่า 30 วันให้กับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ เพิ่มเติมล่าสุด คือ ซาอุดิอาราเบีย 

การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Care) เป็นธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยมและมีอัตราเติบโตสูง เนื่องจากปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น แม้ว่ายังไม่มีอาการป่วย การตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นที่นิยม เพราะหากตรวจพบโรคต่าง ๆ ในระยะแรกก็จะลดโอกาสที่โรคจะพัฒนาไปเป็นระยะรุนแรง หรือสามารถทำการรักษาได้รวดเร็ว ปัจจุบันมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้บริการเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่ง Global Wellness Institute คาดว่า ธุรกิจกลุ่มนี้จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 8.1% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่อื่น ๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีตรวจรหัสพันธุกรรม (Genes) เพื่อหาความเสี่ยงโรคพันธุกรรมเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่แต่มีศักยภาพเติบโตสูง การตรวจรหัสพันธุกรรมเป็นการตรวจหาข้อมูลสุขภาพเชิงลึกเพื่อที่ผู้ตรวจจะได้รับรู้ข้อมูลสุขภาพของตนและทำการรักษาได้ทันท่วงที  การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) ช่วยทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสามารถทำการผ่าตัดในจุดที่เข้าถึงได้ยาก และลดเวลาใช้ในการผ่าตัด ปัจจุบันเราเริ่มเห็นว่าการใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทยหลายโรงพยาบาลเริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้  ทั้งนี้ จากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งหากมีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษา คาดว่าจะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ต้องการ้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ และผู้ที่มีความพร้อมด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยได้ในอนาคต