ผู้หญิงอย่าหยุดสวย ดันตลาดความงามไทยโต 3 เท่า มูลค่า 2.48 แสนลบ. หลังโควิดหาย-ท่องเที่ยวบูม
สุจิตรา อันโน Krungthai COMPASS เปิดเผยรายงานเรื่องตลาดความงามกับอานิสงค์การเปิดประเทศว่า การแพร่ระบาดโควิด ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทบตลาดความงาม ทว่าหลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลาย ตลาดความงามมีแนวโน้มเติบโตและขยายตัวเร็ว สะท้แนจากข้อมูล Grand View Research ประเมินมูลค่าตลาดความโลกภายในปี 2570 อยู่ที่ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.9% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.5 เท่า
โดยมูลค่าตลาดเสริมความงามในกลุ่มที่ไม่ใช่การศัลยกรรม (Noninvasive Procedures) อาทิ การฉีดโบท็อกซ์ มีสัดส่วนมากกว่าการเสริมความงามโดยการศัลยกรรม (Invasive Procedures) เช่น การเสริมหน้าอก เป็นต้น ที่ระดับ 56% ของมูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลก
ขณะที่ตลาดเสริมความงามของไทยคาดว่าจะมีมูลค่า แตะระดับ 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.6% (CAGR ปี 2563-2570) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า
ทั้งนี้ ตลาดเสริมความงามของไทยขยายตัวจากแรงหนุนสำคัญ ทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่ม Medical Tourism ที่ฟื้นตัว อ้างอิงรายงานของ ISAPS ระบุว่า ไทย เป็นประเทศที่มีการเสริมความงามมากที่สุดเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ขณะที่มีรายงานอีกฉบับระบุว่า ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2562) ไทย เป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเสริมความงามมากที่สุดในโลก
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่เชื่อได้ว่าหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ไทยจะยังสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเสริมความงามเดินทางเข้ามาใช้บริการมากที่สุดในโลก เนื่องจาก ไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
อีกจุดเด่น คือ ค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าประเทศในภูมิภาคและประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา ตามข้อมูลของ Medical Tourism Association พบว่า ค่าบริการเสริมความงามของไทยถูกกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 50-120% (โดยเฉลี่ยประมาณ 80%) และยังถูกกว่าประเทศในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยประมาณ 24% และ 7% ตามลำดับ
นอกจากนี้ การมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ด้านความงามที่ทันสมัยทัดเทียมนานาชาติ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการเสริมความงามได้ไม่ยากนัก
โดยเรามองว่า การเติบโตของตลาดเสริมความงามจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางด้านการศัลยกรรมตกแต่งและการเสริมความงาม ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ด้านความงาม และผลิตภัณฑ์/สาร/ยาเสริมความงาม ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดคลินิกเสริมความงาม และธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน
และสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงาม ซึ่งจากข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาด Allied Market Research พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อเสริมความงาม (Cosmetic treatment) สร้างรายได้ให้ไทยมากที่สุด โดยคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดกว่า 5.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาด Allied Market Research พบว่า ในปี 2562 กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลกนิยมใช้บริการ “ด้านเสริมความงาม (Cosmetic treatment)” มากเป็นอันดับ 2 รองจากการใช้บริการด้านทันตกรรม (Dental treatment) คิดเป็นสัดส่วน 22.8% ของจำนวนท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก และมีแนวโน้มที่สัดส่วนจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 23.4% ในปี 2570
โดยคาดว่าในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวเพื่อเสริมความงามจะมีมูลค่าตลาดแตะระดับ 3.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อเสริมความงาม ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีน และสิงคโปร์
นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของตลาดเสริมความงามไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ธุรกิจคลินิกศัลยกรรมตกแต่ง และธุรกิจคลินิกเสริมความงาม เท่านั้น
แต่ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม อย่างธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ด้านความงาม อาทิ เครื่องดูดไขมัน เครื่องสลายไขมันและกำจัดเซลลูไลท์ เครื่องยกกระชับสัดส่วน เครื่องเลเซอร์และ IPL ธุรกิจนำเข้าและ/หรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์/สาร/ยาเสริมความงาม อาทิ Botulinum toxin A (Botox) ฟิลเลอร์ และสารเสริมความงามชนิดต่างๆ ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดคลินิกเสริมความงาม ตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน