INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive Interview : ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร

ลวรณ แสงสนิท

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ขับคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล

ยึดหลัก Taxpayer Centric


การรับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร เป็นการทำงานที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยวันนี้กรมสรรพากรต้องใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล รวมถึงข้อมูลที่กรมมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากทำได้ เชื่อว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้บริการผู้เสียภาษีได้ดียิ่งขึ้น”

วันนี้การทำงานของกรมสรรพากรต้องไม่ใช่แค่เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี แต่ต้องทำควบคู่กับการให้บริการที่ดีขึ้น โดยเราใช้หลักการ Taxpayer Centric ต้องไม่เอาตัวเองเป็นหลักแต่ต้องยึดผู้เสียภาษีเป็นหลัก ต้องเป็นมิตรกับผู้เสียภาษี และต้องให้แรงจูงใจที่มากพอที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเขาเป็นผู้เสียภาษีที่ดีแล้วเขาได้รับประโยชน์ ซึ่งหากทำได้จะทำให้การเข้าสู่ระบบภาษียั่งยืนมากขึ้น”        

หลังจากเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง โดยให้ ลวรณ แสงสนิท ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน. 2565

ลวรณ ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า การที่ได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร เป็นงานที่มีความท้าทายมากขึ้น เพราะเป็นกรมที่ใหญ่ขึ้น ทั้งจำนวนคนและปริมาณงาน โดยหลังจากนี้ กรมสรรพากรจะต้องใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น และใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง

การรับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร เป็นการทำงานงานที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยวันนี้กรมสรรพากรต้องใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล รวมถึงข้อมูลที่กรมมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้บริการผู้เสียภาษีได้ดียิ่งขึ้น”

 

4 แนวทางขับเคลื่อนองค์กร

เน้น Taxpayer Centric

ลวรณกล่าวว่า กรมสรรพากรมีการวางรากฐานการทำ Digital Transformation ไว้แล้ว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ดังนั้น ในระยะต่อไป จึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อต่อยอดจากรากฐานการทำ Digital Transformation ที่วางไว้

กรมสรรพากรจะขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งโชคดีที่ได้มีการวางรากฐานและลงทุนเรื่องดิจิทัลไว้แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก คือเราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ดังนั้น การดึงข้อมูลมาใช้ก็ไม่ยาก แต่ส่วนที่ยังต้องมีการอยู่บ้างคือข้อมูลที่มีอยู่เยอะ แต่ยังไม่ได้จัดการให้เป็นระเบียบ”

โดยกรมสรรพากรมุ่งเน้น Speed and Scale คือ ความรวดเร็ว และ ผลลัพธ์ที่สร้าง Impact ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ผู้เสียภาษีได้รับความสะดวกมากขึ้น งานของเจ้าหน้าที่ลดลง โดยได้วางทิศทางของกรมสรรพากรในปี 2566 ไว้ 4 ประเด็นสำคัญด้วยกัน คือ

       1. ขับเคลื่อนการจัดเก็บภาษีด้วยข้อมูล เป้าหมายคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี โดยกรมสรรพากรมีข้อมูลภายในกรมจำนวนมาก และในขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เพื่อมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีด้วยการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจใน Sector ต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

       ขณะที่ในอีกมิติที่ให้ความสำคัญอย่างมากคือ การกำกับดูแลการนำข้อมูลมาใช้ (Data Governance) ซึ่งได้มอบนโยบายไปกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรว่าจะต้องมีการกำกับ ติดตาม และประเมินผล การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่กรมสรรพากรมีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้กรมสรรพากรเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง

       2. การทำงานรูปแบบใหม่ เป้าหมายคือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการทำงาน เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานโดยภารกิจสำคัญลำดับแรกคือ กระบวนการคืนภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งในระยะที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ผลักดันให้ผู้เสียภาษี โดยเฉพาะผู้เสียภาษีรายใหญ่ใช้ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่กรมได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ e-withholding tax, e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Stamp Duty รวมถึงการยื่นแบบผ่านระบบ e-Filing

       “วันนี้สิ่งที่คนพูดกันมากคือ การคืนภาษีช้า ดังนั้น หากในอนาคตผู้ประกอบการใช้บริการดิจิทัลของกรมสรรพากรได้อย่างเต็มระบบ การตรวจภาษีก็จะใช้ดิจิทัลในการตรวจได้ ส่วนคนก็จะตรวจเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ทำให้คืนภาษีได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เราขอให้ผู้ประกอบการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น สรรพากรเองก็มีการบ้านในการพัฒนาระบบที่ยังเป็นอุปสรรคให้ดีขึ้นด้วย เพื่อทำให้สามารถใช้บริการเสียภาษีผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าจะได้เห็นโครงการนี้ในต้นปี 2566”

       3. ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย เป้าหมายคือ การพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้เสียภาษี โดยยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer Centric) ผู้เสียภาษีในปัจจุบันมีความต้องการบริการที่หลากหลายมากขึ้น โดยโจทย์สำคัญสำหรับกรมสรรพากรคือ ต้องทำให้การการเสียภาษีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจของทุกคน ดังนั้นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ได้กำหนดเป็นนโยบายของกรมสรรพากรคือ

            (1) การเชื่อมโยงข้อมูลให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ครบถ้วน โดยจัดการฐานข้อมูลผู้เสียภาษีให้อยู่ในฐานเดียวกันทั้งหมด

            (2) การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ Application ที่มีมาตรฐาน โดยร่วมมือกับผู้พัฒนาระบบบัญชีภาคเอกชนรวมถึง Startup ซึ่งนอกจากผู้เสียภาษีจะได้รับความสะดวกแล้ว กรมสรรพากรก็จะได้รับข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานง่ายด้วย

            (3) การให้คำแนะนำและส่งเสริมผู้เสียภาษีให้ปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีให้ถูกต้องด้วยความสมัครใจ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเอง (Reskill และ Upskill) ให้มีความรู้ ความเข้าใจในรูปแบบธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เข้าใจผู้เสียภาษีและสามารถแนะนำการเสียภาษีให้ผู้เสียภาษีสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ซึ่งจะส่งเสริมความสมัครใจในการเสียภาษีของประชาชนด้วย

       “วันนี้การทำงานของกรมสรรพากรต้องไม่ใช่แค่เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี แต่ต้องทำควบคู่กับการให้บริการที่ดีขึ้น โดยเราใช้หลักการ Taxpayer Centric ต้องไม่เอาตัวเองเป็นหลัก แต่ต้องยึดผู้เสียภาษีเป็นหลัก ต้องเป็นมิตรกับผู้เสียภาษี และต้องให้แรงจูงใจที่มากพอที่ทำให้เห็นว่าเมื่อเขาเป็นผู้เสียภาษีที่ดีแล้วเขาได้รับประโยชน์ ซึ่งหากทำได้จะทำให้การเข้าสู่ระบบภาษียั่งยืนมากขึ้น”

       4. องค์กรมีขีดสมรรถนะสูงและทันการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายคือ การพัฒนาให้บุคลากรมี Mindset พร้อมรับมือบริบทโลกยุคใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คือการมี Proactive Mindset และ Growth Mindset และมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีความสุขในการปฏิบัติงาน ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมและเครื่องมือในการทำงานให้พร้อมปฏิบัติงาน และการจัดสวัสดิการให้เหมาะสม


ทักษะด้านดิจิทัล

DNA ใหม่ของคนสรรพากร

สวรณกล่าวว่า นโยบายที่จะขับเคลื่อนกรมสรรพากรเป็นไปตาม 4 ทิศทางหลักที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยมีแนวทางในการพัฒนาระบบดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากร ดังนี้

แนวทางในการพัฒนาระบบดิจิทัล โดยการพัฒนาระบบดิจิทัลในระยะต่อไปจะมุ่งเน้นใน 3 ด้านคือ

        1. การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการติดตามและจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาใช้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

            ต้นน้ำ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะต้องรู้ว่าข้อมูลที่มีอยู่มีประโยชน์อย่างไรและอยากได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมเพื่อมาใช้ในการทำงาน และการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานมากขึ้น

           กลางน้ำ การจัดการข้อมูลเพื่อนำไปใช้มีความสำคัญมาก ข้อมูลจะต้องอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้ ทันเหตุการณ์ (ไม่ล้าสมัย) และมีความปลอดภัย กรมสรรพากรให้ความสำคัญกับกระบวนการรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลด้วย

            ปลายน้ำ การกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้มีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการนำข้อมูลมาใช้และนำไปสู่การพัฒนาการนำข้อมูลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

        2. การส่งเสริมการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร นโยบายสำคัญของกรมสรรพากรคือการทำให้ผู้เสียภาษีที่ให้ความร่วมมือในการใช้บริการดิจิทัลต่างๆ ได้รับความสะดวกในการยื่นแบบและได้รับความรวดเร็วในการคืนภาษี ดังนั้น จะพิจารณามาตรการต่างๆ ทั้งของกรมสรรพากรเองและร่วมกับกระทรวงการคลังที่จะจูงใจให้ผู้เสียภาษีใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

        3. การร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน มี Startup หลายรายที่มีความเข้าใจในความต้องการของผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และได้พัฒนาระบบบัญชี/Application บัญชี ซึ่งกรมสรรพากรพร้อมจะร่วมมือกับ Startup หรือผู้พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้ระบบมีมาตรฐาน ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการมีเครื่องมือที่ใช้งานง่าย สะดวก รวกเร็ว ลดภาระในการจัดการเกี่ยวกับภาษี

แนวทางในการพัฒนาบุคลากร กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ การปฏิบัติงานส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เช่น ข้อกฎหมาย ระเบียบ งบประมาณ และยังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความผันผวนสูง (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และคลุมเครือหรือคาดเดาได้ยาก (Ambiguous) ทำให้สภาพสังคม เศรษฐกิจ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

ดังนั้น กรมจึงมีการพัฒนาบุคลากรให้มี Mindset ความสามารถ ทักษะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้มั่นใจว่ากรมสรรพากรจะมีบุคลากรคุณภาพที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ โดยในระยะ 1-3 ปีนี้ได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

        1. พัฒนา Growth Mindset เพื่อสร้างให้บุคลากรมีความเชื่อมั่น สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และเปิดใจไม่ยึดติดสิ่งเดิมๆ ยอมรับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น

        2. ใช้แนวคิด Learn, Relearn, Unlearn คือ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ยึดติดกับประสบการณ์การทำงานในอดีต เรียนรู้สิ่งเดิมด้วยมุมมองใหม่ ซึ่งจะทำให้บุคลากรสามารถพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้

วันนี้ DNA ของคนสรรพากรคือเป็นคนละเอียด ขยัน และมีความสื่อสัตย์สูง แต่จากนี้ไปเทคโนโลยีใหม่จะมาช่วยเราได้ เป็น DNA ใหม่ของคนสรรพากร บุคคลากรของสรรพากรจะต้องทักษะเรื่องเทคโนโยลีและดิจิทัล สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราเปลี่ยน Mindset เรื่องนี้ได้ เทคโนโลยีก็จะเข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานของเราเดิมศักยภาพของคนก็ทำได้ 100% แล้ว ถ้ารวมกับเทคโนโลยีเข้าไปอีกเราจะทำงานได้ถึง 200%”

สำหรับเรื่องโครงสร้างขององค์จะต้องมีการปรับเพื่อรับกับภารกิจใหม่ๆ ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นอนาคต เช่น งานด้านภาษีระหว่างประเทศ ด้าน Data Analytics ดังนั้นจึงจำเป็นต้องการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ

ทุกองค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลง กรมสรรพากรก็ต้องเปลี่ยน อาจต้องมีบางกองเพิ่มขึ้นหรือยุบบางกองที่เคยสำคัญ เราต้องอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าคนสรรพากรเปลี่ยนได้แต่ภาพต้องชัดว่าต้องมีกี่หน่วยงาน แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่อะไร และก้าวไปเพื่อเป้าหมายอะไร”

 

4 แนวทางจัดเก็บภาษี

มั่นใจปี 65 ทำได้ตามเป้า

ลวรณกล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 1,464,029 ล้านบาท สำหรับผลการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรสะสม 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564-กรกฎาคม 2565) สามารถจัดเก็บรายได้ทั้งหมด 1,670,271 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 15.1% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14.1% โดยกรมสรรพากรมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายด้วยแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่

       1.ขยายฐานภาษีผู้ประกอบการรายใหม่และผู้อยู่นอกระบบภาษี โดยมุ่งเน้นการขยายฐานภาษีเชิงกว้าง สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบภาษีเพื่อนำเข้าสู่ระบบ และหากลุ่มฐานภาษีใหม่ เช่น Platform ออนไลน์ชนิดใหม่ หรือ ธุรกิจที่เกิดจาก Application ใหม่ๆ เป็นต้น

       “หลายคนพูดว่า การลดอัตราภาษีจะช่วยจูงใจให้คนเข้าระบบมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้ลองกับการลดอัตราภาษีนิติบุคคลแล้วคิดว่ายังไม่ตอบโจทย์ โดยคิดว่าการขยายฐานภาษีจะช่วยให้คนเข้าระบบมากขึ้น วันนี้ฐานภาษีของเราบางเรื่องอาจจะแคบไป ซึ่งหากเราขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นได้ก็มีความเป็นไปได้ที่อัตราภาษีอาจจะลดลงด้วย”

       ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เสียภาษีนิติบุคคลประมาณ 6 แสนราย ขณะที่บุคคลธรรมดายื่นแบบประมาณ 11 ล้านราย ได้รับการยกเว้นภาษีประมาณ 7 ล้านราย เสียภาษีจริงประมาณ 4 ล้านราย โดยตัวเลขภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีของไทยอยุ่ที่ 14-15% ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป อัตราภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 23-24%

        “ภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณ 14% ซึ่งคิดว่าต่ำไป ตอนนี้เราทำงบประมาณแบบขาดดุลมาทุกปี ความต้องการด้านรายจ่ายของเราอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดช่องว่างของการขาดดุลงบประมาณทุกปี ซึ่งหากตัวเลขอัตราภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีของไทยขึ้นไปอยู่ที่ 18% ได้จะทำให้รายได้กับรายจ่ายสมดุลกันมากขึ้น”

       2. ติดตามภาษีในกลุ่มกิจการศักยภาพ โดยติดตามภาษีในธุรกิจกลุ่มที่ได้รับผลดีหรือไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

       3. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการจัดเก็บและเพิ่มเม็ดเงินภาษีเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น โดยการนำระบบ Data Analytics มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามจัดเก็บภาษี

       4. ยกระดับคุณภาพการให้บริการ โดยให้บริการในรูปแบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้

บริการและสร้างความสมัครใจในการเสียภาษี โดยส่งเสริมการใช้บริการ e-Services ต่างๆ

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดอื่นๆ เช่น โรคฝีดาษลิง และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนความตึงเครียดทางความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกาจากกรณีไต้หวัน อาจมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในระยะต่อไป

ปี 2565 คาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายอย่างแน่นอนเพราะทุกอย่างยังไปได้ดีไม่มีสัญญาณหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ยังมีความไม่แน่นอน เช่น สงครามรัสเซียยูเครนที่อาจจะกระทบต่อซัพพลาย เช่น สถานการณ์โรคระบาดเช่น COVID-19 และฝีดาษลิง รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกและภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย เพราะการเก็บภาษีปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเก็บภาษีมากที่สุดคือจีดีพี”

 

ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview  ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกันยายน 2565 ฉบับที่ 485 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi   

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt