Exclusive Interview : ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
อธิบดีกรมสรรพสามิต
เปิดกลยุทธ์ EASE Excise
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยมาตรการภาษี
“หัวใจของกรมสรรพสามิตคือเป็นกรมที่มีความสำคัญมากในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แตกต่างจากหน่วยงานอื่นที่มีมุมด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งทำให้กรมสรรพสามิตมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครและสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างให้กับประเทศได้”
หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.)
มีมติเห็นชอบโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง โดยให้ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21
พฤษภาคม 2565
ดร.เอกนิติ
ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า กรมสรรพสามิตเป็นกรมที่จัดเก็บรายได้ปีละ 500,000-600,000
ล้านบาท ทำหน้าที่กำกับดูแลสินค้าประมาณ 20 ชนิด โดยมีสินค้าหลัก 6
ชนิด ที่เป็นรายได้หลักประมาณ 95% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ได้แก่ น้ำมัน
รถยนต์ เบียร์ สุรา ยาสูบ และเครื่องดื่ม
ขณะที่เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญมากในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อม
โดยหลักการกำกับดูแลสินค้าภายใต้ พ.ร.บ.
ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 คือ 1.เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมให้เติบโตได้
และ 2.ใช้ภาษีสรรพสามิตกำกับดูแลสินค้าที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ
สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเด่นของกรมสรรพสามิต
“หัวใจของกรมสรรพสามิตคือเป็นกรมที่มีความสำคัญมากในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สังคม และสิ่งแวดล้อม แตกต่างจากหน่วยงานอื่นที่มีมุมด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว
ซึ่งทำให้กรมสรรพสามิตมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครและสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างให้กับประเทศได้”
เผย 4 เทรนด์กระทบเศรษฐกิจ
ความท้าทายของสรรพสามิต
ดร.เอกนิติกล่าวว่า
ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ได้เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต
ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่กรมสรรพสามิตกำกับดูแล รวมถึงจัด Town
Hall เพื่อรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรในกรม
โดยบอกเล่าให้ฟังถึงการมองเห็นเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป
ตลอดจนมุมมองผู้ประกอบการต่อกรมสรรสามิต พร้อมให้ข้อมูลผู้บริหารระดับสูงถึงความคิดเห็นของบุคลากร
เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการทำแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนกรมสรรสามิตจากนี้ไป
ทั้งนี้
หลังจากได้รับฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการและบุคลากรแล้ว ได้ข้อสรุปว่าในปัจจุบันมี 4
เทรนด์ที่ท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต
ได้แก่
1. การฟื้นตัวจากโควิด-19
แบบไม่เท่าเทียม หรือ K Shape Recovery ท่ามกลางสงครามการค้าและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
ความแม่แน่นอนทางการเมืองโลกที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ
โดยมีผลกระทบคือกรมสรรพสามิตต้องลดภาษีน้ำมันซึ่งเป็นภาษีอันดับหนึ่งเพื่อช่วยประชาชน
2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค เช่น
เทรนด์ของรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งจะทำให้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันลดลงและจะทำให้ภาษีสรรพาสามิตรถยนต์ลดลงไปด้วย
3. สังคมผู้สูงอายุ
ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพมีการเติบโตมากขึ้น โดยในปี 2570
ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุประมาณ 20%
หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุของประเทศสูงขึ้นมาก ดังนั้น
กรมสรรพสามิตจึงต้องดูแลเรื่องภาษีความเค็ม ภาษีความหวาน รวมถึงภาษีบุหรี่
และแอลกอฮอล์ เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชน
4. ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันยุโรปอยู่ระหว่างออก Cross Border Adjustment Mechanism (CBAM) โดยประเทศที่ส่งสินค้าได้แก่ ได้แก่ ปูน ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม และ ไฟฟ้า หากสินค้าเหล่านี้ปล่อยคาร์บอนจะถูกเก็บภาษีที่ยุโรปมากขึ้น
นอกจากนี้
ผู้ประกอบการยังได้ให้ความเห็นว่ากรมสรรพสามิตเป็นองค์กรที่เต็มใจช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้
แต่อาจมีมาตรฐานในการให้บริการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น
ผู้ประกอบการจึงต้องการให้กรมสรรพสามิตในทุกพื้นที่มีมาตรฐานเดียวกัน
ขณะที่คนภายในกรมฯ เองก็ต้องการโอกาสในการเรียนรู้
ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ
เดินหน้ากลยุทธ์ EASE Excise
คาดปี 65
เก็บภาษีได้ 5 แสนล้านบาท
ดร.เอกนิติกล่าวว่า
จากความท้าทายและความต้องการของผู้ประกอบการดังกล่าว จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ปี 2566
ที่จะใช้กลยุทธ์ “EASE Excise” ซึ่งหมายถึงการเป็นกรมสรรพสามิตที่ยืดหยุ่น
มีความคล่องตัว มุ่งสู่การเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษี สิ่งแวดล้อม สังคม
และมีธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน
“กรมสรรพสามิตพร้อมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ ปี 2566 ด้วยกลยุทธ์ EASE Excise มุ่งสู่การเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษี สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน พร้อมรักษาผลประโยชน์ชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพการคลัง และวางรากฐานให้สังคม”
โดยกลยุทธ์ EASE Excise จะมุ่งดำเนินงานภายใต้
4 เสาหลัก (Pillar) ได้แก่
เสาที่ 1 ESG/BCG Focus คือการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับสินค้าและบริการในกลุ่ม
ESG/BCG เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน
(Carbon Neutrality) ในปี 2050
และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี
2065
โดยกรมสรรพสามิตมีแนวทาง
ในการสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio
Plastic) เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio Jet) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิตสินค้า
อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการรีไซเคิลเพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น
นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
กรมสรรพสามิตยังให้ความสำคัญ ในแนวทางการใช้มาตรการภาษีในการลดผลกระทบเชิงสังคม
โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ เพื่อเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน
ความมั่นคงของประเทศด้วย
ดร.เอกนิติกล่าวถึงเรื่องรถไฟฟ้า (EV) ว่า
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงนามข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์แล้ว แบ่งเป็นรถยนต์ 6
ราย รถจักรยานยนต์ 2 ราย และยื่นความประสงค์อีก 2
รายเป็นรถยนต์ 1 ราย และรถจักรยานยนต์ 1
ราย
โดยสิ่งที่กรมสรรพสามิตจะดำเนินการต่อไปคือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยร่วมมือกับต่างชาติเพื่อผลิตรถ
EV ในประเทศและเป็น S-Curve ใหม่ของประเทศไทยให้ได้
ขณะที่มาตรการสนับสนุนแบตเตอร์รี่สำหรับรถ EV จะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางลดอัตราภาษีแบตเตอร์รี่ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น เก็บพลังงานได้สูง ชาร์จได้เร็ว และสามารถรีไซเคิลได้
เสาที่ 2 Agile way of working คือการทำงานที่เน้นความคล่องตัว
รวดเร็ว ปรับให้ทันโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้คนสรรพสามิตเป็น Smart People โดยพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหลากหลายและจำเป็นต่อการปฏิบัติงานยุคใหม่
อาทิ Digital Skill, Data Skill เป็นต้น
รวมถึงระบบการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ การใช้ระบบการทำงานแบบ Agile
และการนำกระบวนการ Design Thinking มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว
คล่องตัว และสร้างสรรค์ เพื่อเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“เราจะพัฒนาคนสรรพสามิตให้มีทักษะหลากหลาย มี Future Skill รวมถึงต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งเรื่องภาษี การจัดเก็บรายได้ และปราบปราม ตลอดจนต้องทำให้คนปรับตัวเร็วภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว”
เสาที่ 3 Standardization คือการปรับเปลี่ยนกระบวนงานในทุกมิติเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัล
(Digital Transformation) และนำประสบการณ์ของผู้เสียภาษีมาสร้างมาตรฐานการให้บริการ
(Service Standard) รวมทั้งการนำระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่คำนึงถึงสังคม
สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้ในกรมสรรพสามิตเพื่อให้กระบวนการต่างๆ
ง่ายขึ้น
“เรามีเป้าหมายว่า ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็กต้องได้รับความเป็นธรรมบนมาตรฐานและกติกาเดียวกัน โดยสินค้าที่กรมสรรพสามิตกำกับนั้น หากสินค้าชนิดใดที่ไม่สนับสนุน ESG จะต้องเก็บภาษีมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเก็บภาษีลดลง ขณะที่ความเป็นมาตรฐานไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับผู้เสียภาษีเท่านั้น แต่การทำงานของกรมสรรพสามิตก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน โดยนำ Digital Transformation มาใช้ให้ครบในทุกกระบวนการ”
เสาที่ 4 End-to-End Customer-Centric
Service คือการบริการผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้นจนจบในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ
(Omni Channel) สร้างต้นแบบหน่วยงานบริการแบบไร้กระดาษ (Paperless)
มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการสู่ความยั่งยืน
โดยเน้น Customer Journy
“กรมสรรพสามิตมีภารกิจหลัก 4
เรื่อง ได้แก่ การจัดเก็บรายได้ นโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ การบริการ
และการปราบปราม ซึ่งทั้ง 4 ภารกิจจะสอดแทรกเข้าไปอยู่ในกลยุทธ์ EASE
Excise โดยกลยุทธ์นี้จะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน
สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้สังคมน่าอยู่
พร้อมทั้งช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มีมาตรฐานสากลและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติ”
สำหรับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต
ดร.เอกนิติกล่าวว่า ในปี 2565
กรมสรรพสามิตมีเป้าการจัดเก็บรายได้ที่ 597,000
ล้านบาท โดยเป็นการตั้งเป้าล่วงหน้าตั้งแต่ 2 ปี
ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม
ปัจจุบันกรมสรรพสามิตได้ลดอัตราภาษีน้ำมันเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากปัญหาเรื่องพลังงาน
จึงทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้กรมสรรพสามิตส่วนใหญ่เกินเป้ายกเว้นภาษีน้ำมัน
“ปีนี้คาดว่าจะเก็บรายได้ที่ 500,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 597,000 ล้านบาท เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตได้รับผลกระทบจากการลดภาษีน้ำมัน โดยการลดภาษีดีเซล 1 บาท จะทำให้สูญเสียรายได้ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น ตัวหลักที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดคือน้ำมันแต่ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องช่วยประชาชน”
ติดตามอ่านคอลัมน์ CoverStroy ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนตุลาคม 2565 ฉบับที่ 486 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt