INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

“Lead myself by head but lead others by heart” หัวใจของผู้นำ จาก “อธิคม เติบศิริ”

สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย” คือภารกิจสำคัญที่องค์กรอย่าง ปตท. ยึดมั่นมาโดยตลอด เป็นเป้าหมายที่ฝังอยู่ใน DNA ที่ไม่ว่าจะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง หรือวิกฤตถาโถมกี่ครั้ง ภารกิจนี้ไม่เคยถูกลดทอนความสำคัญลง และเมื่อเป้าหมายได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร SPIRIT ที่มุ่งสนับสนุน “คนเก่ง คนดี ให้กล้าสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า” ทำให้ ปตท. เสมือนได้รับเชื้อเพลิงชั้นดี ขับเคลื่อนตัวเองจนก้าวขึ้นเป็นองค์กรด้านพลังงานระดับแนวหน้าของภูมิภาค

ตลอดเส้นทางการเติบโตของ ปตท. “อธิคม เติบศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นับเป็นแม่ทัพสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมากมาย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก ระยะที่ 2 ที่เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการสร้างโรงงานปิโตรเคมี โครงการอะโรเมติกส์ (AROMATICS) ที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง โปรเจกต์นี้ถือเป็นเวทีแจ้งเกิดสำคัญ เพราะเขาคือบุคลากรกลุ่มแรกๆ ที่ร่วมทำโปรเจกต์ระดับประเทศเช่นนี้

 

ปลุกปั้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย

ผ่านบททดสอบวิกฤตต้มยำกุ้ง

อธิคม” เล่าด้วยความภูมิใจว่า “ตอนแรกที่ไปถึงพื้นที่โครงการ ยังไม่มีอะไรเลย มีแต่ไร่สับปะรด และก็แน่นอนว่าโครงการใหญ่ขนาดนี้ย่อมมีอุปสรรค เรื่องสำคัญก็คือการหาเงินทุน เงินกู้ต่างๆ เพราะหากย้อนไปในช่วง 20 - 25 ปีที่แล้ว ปตท. ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีเงินทุนมากขนาดนี้ ดังนั้นการหาพันธมิตร หรือเงินกู้ ถือเป็นเรื่องไม่ง่าย ผมก็เลยได้มีส่วนร่วมในการหาพันธมิตร เงินทุน ผู้รับเหมา จนสามารถดำเนินงานจนเดินเครื่องผลิตได้แล้วเสร็จ เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ได้รับจากผู้บังคับบัญชา และสร้างความภาคภูมิใจจนถึงทุกวันนี้ จนพูดได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นรากฐานที่ทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค”

แต่เพียงไม่นานหลังจากปั้นโรงงานอะโรเมติกส์ จนสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งแทบจะทันที เงินทุนที่เคยกู้มาในอัตรา 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ กลายเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ยอดเงินกู้พุ่งทะยานเท่าตัว ตอนนั้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทยที่มีการกู้เงินจากต่างประเทศโดนคลื่นต้มยำกุ้งซัดจนหมอบ แน่นอนว่ารวมถึงกลุ่ม ปตท. ด้วย

ตอนนั้น ปตท. ต้องมีการเจรจาขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในช่วงต้น แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของ ปตท. จะขายเป็นดอลลาร์ ซึ่งหากมองมุมรายได้ก็ถือว่าเพิ่มขึ้น แต่เป็นรายได้ที่ทยอยเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีหนี้สินเพิ่มเท่าตัว แต่ทรัพย์สินยังมีเท่าเดิม ทำให้ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหนี้ ว่าตลาดยังมีความเหนียวแน่น มีอุปสงค์ในประเทศแน่นอน”

อธิคม” บอกเล่าความรู้สึกในเวลานั้นว่า “หากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถูกเปลี่ยนเจ้าของจาก ปตท. ไปเป็นของต่างชาติ จะทำให้โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากลดลง เพราะโรงงานปิโตรเคมี 1 แห่ง เป็นต้นทางที่ทำให้เกิดโรงงานเม็ดพลาสติก โรงงานผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคอีกหลายพันโรงงาน ดังนั้นความสำคัญของปิโตรเคมีขั้นต้น จะปล่อยให้ตกอยู่ในมือของต่างชาติไม่ได้ ถือเป็นเป้าหมายใหญ่ในการที่จะเป็นรากฐานให้ทุกวันนี้ ธุรกิจเม็ดพลาสติกขึ้นรูปต่างๆ หรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง เติบโตมีรากฐานมั่นคงมาถึงปัจจุบัน”

 

ซื่อสัตย์ มีวินัย รักษาคำพูด

กุญแจสำคัญชนะวิกฤต

อธิคม” บอกว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้ ปตท. สามารถผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้คือ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย รักษาคำพูด และการสร้างความเชื่อมั่น โดยเขาเน้นว่า จะต้องซื่อสัตย์กับตนเองและผู้อื่น  รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ซัพพลายเออร์ ที่สำคัญคือต้องสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ มีแผนปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ชัดเจน จากนั้นก็ต้องเดินตามแผน ไม่วอกแวก แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นมากระทบระหว่างทาง ก็ต้องมีวินัยเพื่อเดินตามแผนงานที่วางเอาไว้

นอกจากนี้จะต้องมีความเสมอต้นเสมอปลาย ที่หมายถึงหากวันนี้พูดอย่างไร อีกปีก็พูดเช่นเดิม ต้องรักษาคำพูด และวันนี้เคยทำอย่างไร วันหน้าไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็ยังทำเช่นเดิม จะต้องเสมอต้นเสมอปลายกับลูกค้ารายเล็ก รายใหญ่ ทั้งหมด

ผมยังจำได้ว่าวันแรกที่คุยกับเจ้าหนี้ได้ เจ้าหนี้นั่งเต็มห้องประชุมเลย คำแรกที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพูด คือ เราจะไม่ขอลดหนี้ (Hair Cut) แต่เราจะร่วมกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถชำระหนี้ให้ได้หมด อาจไม่ใช่วันนี้ หรือ 5 ปีจากนี้ แต่เราสัญญาว่าเราจะใช้หนี้คืนทั้งหมดให้ได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และสะท้อนถึงความมีวินัยของกลุ่ม ปตท.”

อธิคม” เล่าต่อว่า ความซื่อสัตย์ มีวินัย การรักษาคำพูด และการปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งหมดนำไปสู่เรื่องสำคัญ คือ ความเชื่อมั่น (Trust) สิ่งนี้คือหัวใจที่ทำให้ ปตท. สามารถดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤตต่างๆ มาได้จวบจนปัจจุบัน

เราได้รับความไว้วางใจจากสังคม คู่ค้า คณะกรรมการบริษัท หรือแม้แต่ภาครัฐ การพูดอะไรแล้วทำเหมือนที่พูด ทำให้เกิดความไว้วางใจ ลดอุปสรรคในการทำงาน เพราะเราพิสูจน์แล้วว่า เราทำอย่างที่พูดทุกครั้ง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ เราก็ยังเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นในเรื่องนี้”

 อีกเรื่องที่ “อธิคม” ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะธุรกิจไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวคนเดียว โดยเขายกตัวอย่างถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มวลน้ำทะลักเขากรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่โรงงานและศูนย์อุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. ที่อยู่มาบตาพุด น้ำไม่ท่วมเพราะอยู่ในที่สูง แต่ก็ไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจได้ เพราะคู่ค้าต่างเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด นั่นจึงทำให้เขาต้องหยุดคิด และเอ่ยปากกับทีมงานว่า

สักวันที่เราตื่นมาในบ้านเรา มีทุกอย่างพร้อม มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบหมด แต่เราไม่สามารถจะเปิดประตูออกไปนอกบ้านได้ เพราะมีอาชญากรรมเกิดขึ้นตลอด เนื่องจากสังคมแย่ เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร”

อธิคม” มักสอนทีมงานเสมอว่า “ถ้าเรารอด แต่เพื่อน ลูกค้าไม่รอด เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าจะรอด เราต้องรอดไปด้วยกัน” จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น “อธิคม” พยายามหาทางช่วย เยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าลูกค้าฟื้นเร็ว ปตท. จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เร็ว เขาพยายามถ่ายทอดแนวความคิดนี้ให้กับรุ่นน้อง เน้นย้ำว่า “เราจะไม่เอาเปรียบใคร แต่เราจะช่วยเหลือกันและกัน”

 

ใช้แนวคิดทำดีต้องได้ดี

เน้น สามัคคี มีน้ำใจ ให้เกียรติ

 สิ่งที่ “อธิคม” ยึดถือและนำมาปรับใช้เป็นวิธีคิดคือ “จงเชื่อมั่นในผลของการกระทำ” เพราะหากเชื่อมั่นว่าผลของการกระทำในวันนี้จะส่งผลในอนาคต จะทำให้เราทำแต่สิ่งที่ดีและถูกต้อง เขาย้ำว่า ขนาดปัจจุบันคนในสังคมพูดความจริง 100% ยังแทบเอาตัวไม่รอด ดังนั้นคนที่พูดเท็จไม่ต้องพูดถึง วันหนึ่งผลของการพูดความเท็จจะแสดงออกมาให้เห็นแน่นอน

นอกจากนี้เขายังเน้นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรของ ปตท. ด้วยว่า 3 เรื่องสำคัญที่ควรรักษาเอาไว้คือ สามัคคี มีน้ำใจ ให้เกียรติ เพราะ 3 สิ่งนี้จะทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ด้วยดี

ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง บางอย่างต้องอาศัยลูกน้องคอยช่วย เพราะวันหนึ่งเมื่อขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชา มีหลายเรื่องเข้ามา ถ้ารับคนเดียวงานก็ล้น ดังนั้นต้องไว้ใจลูกน้องให้แบ่งเบาภาระ กระจายงานออกไป โดยในฐานะผู้บังคับบัญชา ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่มีความถูกต้อง เมื่อทำงานโดยใช้ทั้ง 3 ข้อนี้ งานจะออกมาดี ไอเดียต่างๆ จะมีประสิทธิภาพด้วยตัวเอง”

 

เจอปัญหา ต้องหาทางออก

ไม่ใช่ทุกทางออก มีแต่ปัญหา

อธิคม” ยอมรับว่า ตลอดชีวิตการทำงานในรั้ว ปตท. ได้เผชิญกับปัญหา และอุปสรรคมากมาย สิ่งที่เขาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นคือ “สติ” และหลัก อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยอันดับแรกต้องมองให้เห็นปัญหาก่อนว่าคืออะไร (Pain Point) จากนั้นมองย้อนกลับมาว่าสาเหตุของปัญหาที่เจอคืออะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยให้หาทางเลือกในการแก้ปัญหาหลายๆ ทาง อย่าใช้ตัวเลือกเดียวในการแก้ปัญหา และอย่าบ่นโดยไม่คิดหาทางแก้ สุดท้ายคือทำให้ทางเลือกนั้นเป็นจริงขึ้นมา

ผมมักจะถ่ายทอดให้ลูกทีมฟังตลอดว่า ทุกปัญหามีทางออก ไม่ใช่ทุกทางออกมีแต่ปัญหา ภายหลังก็มีการใช้หลักการแก้ปัญหานี้กระจายกันต่อ ๆ ไปในองค์กร ซึ่งอริยสัจ 4 เป็นสัจธรรมที่ทุกคนต้องพบเจอ ปัญหาที่แต่ละคนเจอก็ไม่เหมือนกัน หนทางแก้ไขแต่ละปัญหาก็ต่างกัน อยู่ที่จะเลือกวิธีการใดในการแก้ปัญหา”

 

คิดจะเป็นผู้นำ ใจต้องนำด้วย

โอกาส ความรู้ ให้อภัย ไปเป็นทีม

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง ปตท. นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จากพนักงาน สู่การเป็นผู้นำ “อธิคม” บอกว่า “หลักง่ายๆ ประจำตัวคือ  Lead myself by head but lead others by heart” หมายถึง ถ้าจะไปคนเดียวใช้หัวก็พอ แต่ถ้าจะนำคนอื่นต้องใช้ใจเป็นตัวนำ ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่องคือ

       1. ให้โอกาส : เพราะทุกคนจำเป็นต้องมีโอกาสแสดงความสามารถ ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่เปิดโอกาสเลย ผลที่ตามมาก็คือไม่มีใครอยากมาร่วมงานด้วย

       2. ให้ความรู้ : เวลาจะสอนลูกน้องอย่าตำหนิเพียงอย่างเดียว ต้องให้ความรู้ด้วย อย่างสั่งแค่ที่ไหนเมื่อไหร่ แต่ต้องสอนให้รู้จักว่าทำทำไมและทำอย่างไรด้วย ซึ่งการสอนในลักษณะนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อมั่นและไว้วางใจ

       3. ให้อภัย : ถ้าทำผิดโดยไม่ได้เจตนาหรือมีข้อแอบแฝงต้องรู้จักให้อภัย และกลับมาให้โอกาสใหม่ ซึ่งถ้าผู้ใต้บัญชาทำผิดโดยบริสุทธิ์ใจให้นึกว่าเป็นความผิดของเรามากกว่าที่สอนไม่ดีพอ

 


พร้อมส่งไม้ต่อรุ่นน้องต้นเดือนตุลาคมนี้

หวังใช้ความรู้ขับเคลื่อนประเทศ

กว่าหลาย 10 ปี ในรั้ว ปตท. ที่ “อธิคม” ก้าวเข้ามานับตั้งแต่เรียนจบ พร้อมรับไม้ต่อจากรุ่นพี่ สั่งสมองค์ความรู้ เผชิญวิกฤต แก้ไขปัญหา จนถึงวันนี้ “อธิคม” พร้อมแล้วกับการส่งไม้ต่อ และถ่ายทอดทั้งประสบการณ์ แนวคิด หลักการทำงาน และบทเรียนมากมาย เพื่อให้ “รุ่นน้อง” สามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

ทุกวันนี้ผมเป็นคนที่มีความสุขในการทำงานถึงแม้ว่าในอีกไม่นานก็ต้องเกษียณแล้ว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เชื่อเสมอว่าได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ เอาไว้มากมาย ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อองค์กร เพราะตลอดเวลาที่ทำงานคิดเสมอว่าต้องทำสิ่งดีให้แก่องค์กรอยู่เสมอ ผมเคยพูดกับครอบครัวว่า หลังจากเรียนจบชีวิตผมอยู่ที่นี่ แต่งงานที่นี่ มีลูกที่นี่ ครอบครัวผมเกิดมาจากที่นี่ ปตท. เป็นองค์กรที่ให้อะไรผมเยอะ ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ทำงานมากกว่าบ้าน ด้วยความคิดแบบนี้ทำให้เมื่อองค์กรต้องการอะไรเราก็พร้อมจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับคืนแก่องค์กรเสมอ”

เขายอมรับว่า การทำงานที่ ปตท. มีส่วนทำให้ชีวิตส่วนตัวมีความสุข แต่ในใจลึกๆ ก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าหลังจากวางมือแล้วจะรู้สึกอย่างไร แม้เขาจะซ้อมเกษียณไปแล้วในช่วงที่ COVID-19 ระบาดก็ตาม

อธิคม” บอกกับ การเงินธนาคารว่า “ยังไม่รู้ว่าเมื่อเกษียณแล้วจะทำอะไรต่อ อาจจะทำตัวสบายๆ ไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยเริ่มมามองหาสิ่งที่สนใจอยากทำ แต่คงไม่กลับไปทำงานด้านการบริหารเพราะเป็นงานที่ต้องยุ่งกับรายละเอียดเยอะ แต่เชื่อว่าด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรือนโยบาย ผนวกกับความรู้ด้านพลังงาน จะยังคงเป็นประโยชน์แก่ ปตท. รวมถึงประเทศไทยได้

ย้อนกลับไปตอนทำ ปตท. แรกๆ เงินเดือนไม่ได้สูงมาก แต่พอทำมาเรื่อยๆ จนตระหนักว่าเราคือส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบพลังงานของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้เกษียณ ประเทศไทยเผชิญยุควิกฤตพลังงาน น้ำมันแพง เศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นทั้งโลก หากองค์ความรู้ที่มีสามารถสร้างประโยชน์กับประเทศไทยได้ก็พร้อมช่วยอย่างเต็มที่”

อธิคม” ยังฝากถึงคนไทยทุกคนว่า “อยากให้ทุกคนประหยัดพลังงานไว้ก่อน อนาคตไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเพิ่มพูนเงินในกระเป๋า เพื่อที่ประเทศชาติในวันข้างหน้าจะเดินต่อไปได้”

                

ประสบการณ์การทำงานของ “อธิคม เติบศิริ”

2554 - 2556

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

2556 – 30 กันยายน 2557 

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)

 1 ตุลาคม 2557-31 สิงหาคม 2562

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

 1 กันยายน 2562-ปัจจุบัน

ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท.