Special Interview : ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประธานคณะผู้บริหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
CPF เดินกลยุทธ์ Fully Integrated
สู่เป้าหมาย “ครัวของโลกที่ยั่งยืน”
“การจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น จำเป็นจะต้องสร้างความสำเร็จให้กับทั้งระบบ Supply Chain ด้วย ต้องมีการสร้างมาตรฐานและคุณค่าที่เป็นเนื้อเดียวกัน การใช้กลยุทธ์ Fully Integrated ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ CPF ทั้งในและต่างประเทศอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด พร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายหลัก คือการเป็น ครัวของโลกที่ยั่งยืน”
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการระบาดของ Covid-19 ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี แน่นอนว่า การขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตท่ามกลางแรงกดดันเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรธุรกิจทั่วโลกจึงพยายามสร้าง “นวัตกรรม” ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคุณภาพสินค้า-บริการ การใช้เครื่องมือดิจิทัลเข้ามายกระดับกระบวนการ รวมถึงการลงทุนกับของใหม่ที่อาจเป็น“Game Changer” ได้ในอนาคต
การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ ประสิทธิ์
บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
หรือ CPF ถึง การขับเคลื่อน CPF ด้วยกลยุทธ์
Fully Integrated ที่ผสานรวมทุกกระบวนการผลิตเป็นผืนเดียว
ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้ง AI และ Cloud Computing สร้างมาตรฐานกลางในทุกขั้นตอน
พร้อมลงลึกในทุกรายละเอียด เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญคือ การเป็น
“ครัวของโลกที่ยั่งยืน”
CPF ขึ้นแท่นธุรกิจอาหารครบวงจร
ขยายตลาดสู่ 17
ประเทศทั่วโลก
ประสิทธิ์ เริ่มต้นการสัมภาษณ์พิเศษด้วยการฉายภาพกว้างของธุรกิจว่า
CPF ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร
เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูป ไปจนถึงส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด
โดยสามารถแบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 3 ด้านคือ
1. ธุรกิจอาหารสัตว์ (FEED) : CPF พัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง
ควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
รวมถึงให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน สนับสนุนภาคการผลิตของเกษตรกรท้องถิ่น
ตลอดจนมีระบบตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและรักษามาตรฐานอาหารสัตว์ที่จะนำมาใช้ต่อในธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป
2. ธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป (FARM) :
CPF ใช้วิธีการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการเลี้ยง พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์
(Animal Welfare) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
ทั้งในด้านการเพาะพันธุ์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าและเพื่อการแปรรูปขั้นพื้นฐาน
3. ธุรกิจผลิตอาหาร (FOOD) : เป็นธุรกิจการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป
กึ่งปรุงสุกและปรุงสุก รวมถึงการผลิตอาหารสำเร็จรูป
พร้อมรับประทาน
ไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่ายอาหาร โดย CPF เลือกใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิต
ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าแก่อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมรับประทาน
เพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค และมีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ CPF ยังมีการลงทุนเต็มรูปแบบในอีก
17 ประเทศทั่วโลก สร้างโรงงาน ฟาร์ม
ฐานการผลิตลักษณะเดียวกับประเทศไทย และยังส่งออกสินค้าไปยังกว่า 40
ประเทศทั่วโลก ผ่านตัวแทนกระจายสินค้า โดยตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของ CPF คือ
อังกฤษ รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และ เยอรมนี ตามลำดับ
“ในทุกประเทศที่ CPF เข้าไปลงทุน
เราไปพร้อมความตั้งใจที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศนั้นเติบโตขึ้น
ช่วยสร้าง Value Chain ในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นที่จะร่วมมือกับคนในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้งโรงงาน การสร้างฟาร์ม
ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรบางอย่างร่วมกับคนท้องถิ่นในประเทศนั้น โดยสิ่งที่ CPF
สามารถตอบแทน คือ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สภาพสังคมโดยรอบให้ดียิ่งขึ้น”
ประสิทธิ์เน้นว่า CPF ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละประเทศ
โดยนำองค์ความรู้จากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตลอดหลายสิบปี
พร้อมเทคโนโลยีที่ดีที่สุดไปประยุกต์ใช้ในประเทศที่เข้าไปลงทุน เพื่อให้ประชากรในพื้นที่
มีอาหารการกินที่ดีขึ้น ด้วยอาหารที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรในพื้นที่โดยรอบให้ดีและเหมาะสมที่สุด
รวมถึงการดูแลสภาพพื้นที่ใกล้เคียง
มีการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มทรัพยากรธรรมชาติ
และสามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ CPF ยังส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจใน
Supply Chain ทั้งในด้านการผลิตและจัดหาสินค้าวัตถุดิบและบริการ
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19
CPF นับเป็นบริษัทแรกของไทยที่ดำเนินโครงการ Faster Payment สำหรับช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของคู่ค้า
SME กว่า 6,000
ราย โดยการปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอม Credit Term ในการชำระสินค้า
ให้อยู่ภายใน 30 วัน
เพื่อสร้างสภาพคล่องในการหมุนเวียนเงินสำหรับการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมความแกร่งคู่ค้าให้สามารถรักษากิจการก้าวข้ามวิกฤติ
ไปได้
“เรามี Supplier ที่เป็น
SME กว่า 6,000
ราย ในช่วงที่ Covid-19 ระบาดนั้น
ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถกู้เงินได้เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี
เราจึงขยับเวลาการชำระเงินให้เร็วขึ้น จากเดิม 45- 60
วัน เป็น 30 วัน รวมถึงหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง
บริษัทได้ตระหนักถึงปัจจัยการเติบโตอย่างมั่นคงของคู่ค้าในระยะยาว
โดยต่อยอดจากโครงการ Faster Payment ให้คู่ค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ
มาช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน จับมือกับธนาคารกรุงเทพ ปรับเปลี่ยน ช่วยให้คู่ค้า
CPF กว่า 10,000
ราย สามารถขอสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษได้สะดวกขึ้น
โดยบริษัทเป็นผู้รับรองข้อมูลการซื้อขายให้กับธนาคาร”
ด้านรายได้ในครึ่งแรกของปีนี้ CPF เติบโตอยู่ในระดับที่ดีมาก
มีอัตราการเติบโตสูงถึง 18% ส่งผลให้เป้าหมายรายได้ที่ CPF
วางไว้ 800,000 ล้านบาท มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
โดยในปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ CPF 3 ใน 4
มาจากต่างประเทศ
ใช้กลยุทธ์ Fully Integrated
ปักธง “ครัวของโลกที่ยั่งยืน”
ประสิทธิ์กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ CPF คือการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพให้แก่ผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก โดยคำว่า “คุณค่า” นั้น จะต้องดีทั้งด้านสารอาหารที่ครบถ้วน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภค ซึ่งจากวิสัยทัศน์นี้ ทำให้ CPF มุ่งมั่นในการนำองค์ความรู้ กระบวนการ และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเพิ่มคุณค่าลงในอาหารทุกคำที่ลูกค้ารับประทาน พร้อมขับเคลื่อน CPF ไปสู่เป้าหมายสำคัญคือ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน”
จากวิสัยทัศน์และเป้าหมายนี้ ทำให้ CPF ใช้กลยุทธ์สำคัญคือ“Fully Integrated” ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทำให้สามารถบริหารจัดการ Supply Chain ตั้งแต่ต้น-ปลายน้ำได้อย่างมั่นคง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Cloud ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือการทำให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
“การจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น
จำเป็นต้องสร้างความสำเร็จให้กับทั้งระบบ Supply Chain ด้วย
ต้องมีการสร้างมาตรฐานและคุณค่าที่เป็นเนื้อเดียวกัน การปรับใช้กลยุทธ์ Fully
Integrated จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของ CPF ทั้งในและต่างประเทศอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
พร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายหลัก คือ ครัวของโลกที่ยั่งยืน ”
ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า
นอกจากการสร้างมาตรฐานในทุกขั้นตอนแล้ว CPF ยังมุ่งเน้นด้านการศึกษาและทดลองสิ่งใหม่อยู่เสมอ
โดยมี ทีมวิศวกรรม และทีม R&D เป็นหัวใจ R&D ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาด้านอาหาร
คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าในภาพรวมจะไม่สำเร็จทุกโปรเจ็กต์ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ
การเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดก่อนใคร
เชื่อว่าใครล้มเหลวก่อนจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จได้เร็วกว่า
“เราคือ Innovative Food Company มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น
มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น ผ่านแนวคิด Put Our Heart Into Food ซึ่งหมายถึงการใส่ความมุ่งมั่นและความพยายามทั้งหมดเข้าไปในอาหาร
เพื่อให้เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
ขยายขีดความสามารถในการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า พนักงาน รวมถึง Supplier”
ปรับใช้ AI จัดการฟาร์มอัตโนมัติทั้งระบบ
เน้นคุณภาพ ลงลึกทุกรายละเอียด
ประสิทธิ์เผยว่า
ธุรกิจอาหารของซีพีเอฟเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต
การสร้างคุณค่าและความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
โดยเฉพาะในช่วงที่โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของ Covid-19
การจัดการด้านความสะอาดและระบบ Biosecurity ถือเป็นสิ่งที่
CPF มุ่งเน้นอย่างมาก
เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์
ก่อนที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูง ปลอดภัยในการแปรรูปอาหารในขั้นต่อไป
นอกจากนี้ ภายในฟาร์มยังต้องมีความปลอดภัยสูง
สัตว์เลี้ยงในฟาร์มจะต้องอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่แออัด
เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ Animal Welfare สากล
ไปจนถึงการออกแบบโรงเรือน ระบบน้ำ-ไฟ ระบบป้องกันอันตรายจากสิ่งที่เป็นพาหะทุกรูปแบบ
ไม่ให้เข้ามาภายในเขตฟาร์มได้
ปัจจุบัน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของ CPF ใช้ระบบ
Fully Automation ที่เป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารสัตว์ การถ่ายเทอากาศภายในฟาร์มให้ปลอดโปร่ง
เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของสัตว์แต่ละประเภท มีการควบคุมอุณหภูมิภายในฟาร์ม
โดยมอนิเตอร์สภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกฟาร์ม เพื่อหาอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละช่วงเวลา
มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับและขจัดก๊าซมีเทนที่เกิดจากมูลสัตว์ ให้สัตว์มีที่ดีที่สุด
ด้านการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ ภายในโรงเรือน จะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด
“ระบบโรงเรือนในฟาร์มของ CPF จะใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด
และทดแทนด้วยการใช้เทคโนโลยี ในอดีตเราต้องใช้คนขนอาหารเข้าไปให้สัตว์
มีสัตวแพทย์เข้าไปตรวจสอบโรค ปัจจุบัน CPF ไม่ต้องใช้คนให้อาหารสัตว์
ไม่ต้องใช้สัตวแพทย์เข้าไปตรวจสุขภาพสัตว์ในฟาร์ม แต่ใช้ AI ในการมอนิเตอร์
แม้กระทั่งเสียงร้องของสัตว์ที่แปลกไป ก็สามารถทำให้รู้ว่าสัตว์ป่วยเป็นโรคอะไร
แล้วจึงปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยไม่ต้องเข้าตรวจ”
บางกรณีที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน
จะมีมาตรการที่เข้มงวด คนที่จะเข้าไปในพื้นที่ของฟาร์มต้องชำระร่างกายตามมาตรฐานที่กำหนด
กระทั่งรถยนต์ที่ขับเข้าไปในเขตฟาร์มก็ต้องผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์มด้วยเช่นกัน
ประสิทธิ์อธิบายว่า จากการใช้ระบบ Fully
Automation พร้อมกับการปรับใช้เทคโนโลยี AI ในการมอนิเตอร์
และประมวลผลข้อมูลผ่าน Cloud ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใดก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ
หรือมีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด นอกจากนี้ การใช้ AI ยังสามารถบ่งบอก
Key Success Factor ได้ เนื่องจากในฟาร์มหรือโรงงานแต่ละแห่ง
มีปัจจัยแวดล้อมแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของสภาพอากาศ ขนาดพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์
รวมถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ Key Success Factor ของแต่ละฟาร์มมีความแตกต่างกัน
ดังนั้น AI จึงมีส่วนช่วยให้ฟาร์มและโรงงานแต่ละแห่งประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากการทำธุรกิจเลี้ยงสัตว์แล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นจุดแข็งของ CPF คือเรื่องการพัฒนาด้านพันธุวิศวกรรม (Genetic
Engineering) ที่บริษัทให้ความสำคัญศึกษาวิจัยมานานหลายสิบปี
ครอบคลุมทั้งการปรับปรุงพันธุกรรม จนถึงรูปแบบการจัดวางระบบฟาร์ม การพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของสัตว์
ด้านการให้อาหารสัตว์ในฟาร์มก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
อาหารที่ CPF ใช้เลี้ยงสัตว์จะเป็นพัฒนาสูตร ผสมวิตามิน 17 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ (bio-based
vitamin) และใส่ Probiotic ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อเร่งการเติบโตของสัตว์
แม้สูตรอาหารแบบนี้จะมีต้นทุนสูงขึ้นในช่วงแรก
แต่จะสามารถประหยัดต้นทุนในระยะยาวได้ และยังมั่นใจได้ว่าสัตว์ในฟาร์มสุขภาพแข็งแรงขึ้น
ไม่ป่วยง่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ปัจจุบัน
ซีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเกรด Probiotic
ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า
กระบวนการผลิตหรือแปรรูปอาหารคือ ส่วนที่มีความซับซ้อนที่สุด
เนื่องจากชนิดของอาหารที่ CPF ผลิตนั้นมีหลายร้อยชนิด
ตั้งแต่การเริ่มนำเนื้อสัตว์มาแปรรูป ไปจนถึงการปรุงรส และการทำบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง CPF
จะใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยในโรงงานผลิตอาหาร มีการประมวลผลข้อมูลโดยใช้
AI เช่นเดียวกับระบบฟาร์ม
เพื่อให้สินค้าทุกชนิดมีมาตรฐานการผลิตที่คงที่
“เราใช้ความรู้ขั้นสูงที่เกิดจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างยาวนาน
มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ มีอยู่เดิมเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการ
และด้านการขยายคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เมื่อองค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมกัน
ทั้งการรักษามาตรฐานฟาร์มและกระบวนการผลิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ผลผลิตดีขึ้น ความเสี่ยงในการสูญเสียต้นทุนระหว่างกระบวนการตั้งแต่ต้น-ปลายน้ำน้อยลง
หรือในขั้นตอนการแปรรูปและผลิตอาหารไม่เกิดข้อผิดพลาดหรือหยุดชะงัก
ช่วยให้บริษัทได้ผลตอบแทนมากขึ้น
ชี้ 3 เทรนด์ Future Food
จับตา Plant/Cell Based
ประสิทธิ์กล่าวว่า เทรนด์อาหารอนาคต หรือ “Future
Food” เป็นสิ่งที่ CPF ให้ความสำคัญ
ปัจจุบันมีการศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมความพร้อมต่อสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โดย CPF แบ่งนวัตกรรมด้าน Future Food ออกเป็น
3 กระแสหลักคือ
1. อาหารในปัจจุบัน :
อาหารในปัจจุบันนั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็น Future Food ได้เช่นกัน
เพียงแต่กระแสของโลกที่หันมาเน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารต้องเน้นด้านการเพิ่มสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อการบริโภค
เพิ่มเข้าไปในอาหารให้ได้มากที่สุดตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่บริโภคสินค้าของ CPF
นั้น หันมาเลือกอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น
ก่อนที่ลูกค้าจะได้รับสารอาหารที่ดี
ทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตอาหารก็ต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพด้วย
โดยตั้งแต่การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ มีการใส่วิตามินจากธรรมชาติผสมลงไปในอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพสัตว์ให้มีสุขภาพแข็งแรง
นอกจากนี้
ยังเพิ่มอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง (Superfood) ให้สัตว์กิน
เช่น Benja Chicken เป็นไก่จากการเลี้ยงด้วยข้าวกล้องแทนข้าวโพด
ช่วยให้เนื้อไก่มีความนุ่ม ฉ่ำ กลิ่นหอมกว่าไก่ทั่วไป ที่สำคัญ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
และล่าสุด ยังเพิ่มแฟลกซ์ซีดเข้าไปในอาหาร ช่วยให้เนื้อไก่มีโอเมก้า 3
สูง
นอกจากนี้ มีผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ชีวาพอร์ค (Cheeva
Pork) เป็นเนื้อหมูที่มีโอเมก้า 3
สูง เลี้ยงอาหาร Superfood อย่าง แฟลกซ์ซีด และสาหร่ายทะเลลึก
ทำให้คนที่ชอบทานเนื้อหมูและเนื้อไก่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เช่นเดียวกับทานปลาทะเล
ช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการบริโภคได้มากยิ่งขึ้น
“CPF ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนาสินค้า
เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย ปลอดสาร ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน
ตั้งแต่กระบวนการปรับปรุงพันธุกรรม การเลี้ยง การใช้อาหารสัตว์คุณภาพสูง การแปรรูป
เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูชีวา และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เบญจา ที่ CPF ได้นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย
เพื่อให้ผู้บริโภคได้ คุณค่าทางโภชณาการได้สูงสุด”
2. Plant Based Foods : นอกจาก CPF เน้นการเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เป็นหลัก
บริษัทก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกอย่าง Plant Based
Meat หรือเนื้อสัตว์จากพืช เพราะในด้านการทำธุรกิจ
ผลิตภัณฑ์ที่เป็นโปรตีนทางเลือก ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงในอนาคต
แม้กระแสโลกปัจจุบันจะเน้นความยั่งยืนมากขึ้น แต่ทิศทางของ Future Food นั้น
ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอาหารในรูปแบบ Alternative Meat หรือไม่
ปัจจุบัน CPF ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช
ภายใต้แบรนด์ Meat Zero มีการวางจำหน่ายแล้วใน 4
ประเทศได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก
นอกจากนี้ CPF ยังส่ง
2 ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Meat Zero อย่าง
Nugget กับ Patty เข้าประกวดในงาน
International Food institute ที่ประเทศเบลเยียม
ผ่านการตัดสินโดยเชฟมิชลินสตาร์ 139 คน ผลคือ Nugget ได้คะแนนสูงสุด
3 ดาว ตามมาด้วย Patty ได้คะแนน
1 ดาว ซึ่งจากนี้ CPF จะขยายความสำเร็จต่อเนื่อง
โดยตั้งเป้าส่งออกผลิตภัณฑ์ Meat Zero ไปตลาดกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาต่อไป
3. Cell Based Food : เป็นการนำเซลล์จากสิ่งมีชีวิตมาเพาะในห้องปฏิบัติการเพื่อขยายผลเป็นอาหารต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน CPF อยู่ระหว่างการทดลองร่วมกับสตาร์ตอัพจากอเมริกาและอิสราเอล
นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสลงทุนเพิ่มเติมใน Cell Based ด้วย โดย CPF คาดว่า
อาหาร Cell Based จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมได้ภายใน 5-7 ปี
แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีวางจำหน่ายในบางประเทศแล้ว แต่ราคายังแพงกว่าเนื้อสัตว์ธรรมดาถึง
10 เท่า
เลิกใช้ถ่านหินในการผลิต
รับเทรนด์อาหารยั่งยืน
ประสิทธิ์
ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มระบบอาหารที่ยั่งยืนว่า สามารถมองได้ 2
มิติคือ 1. อาหารที่ผลิตให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค
2. ทำให้กระบวนการผลิตอาหารมีความยั่งยืนมากที่สุด
ซึ่งทั้ง 2 มิตินี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิต
ทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำ-ไฟฟ้า จนถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องควบคุมให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ในปีนี้ โรงงานทั้งหมดของ CPF ยกเลิกการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์หรืออาหารสำหรับรับประทาน โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก เช่น ไบโอแมส ไบโอแก๊ส นอกจากนี้ยังเดินหน้านำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในฟาร์มและโรงงานในรูปแบบต่างๆ ทั้ง Solar Rooftop Solarfarm และ Solar Floating เพื่อช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตของฟาร์มและโรงงานของ CPF นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด”
ติดตามคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนตุลาคม 2565 ฉบับที่ 486 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt