INTERVIEW • PEOPLE

People : อัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ดีมันนี่ จำกัด

อัศวิน พละพงศ์พานิช

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง

บริษัท ดีมันนี่ จำกัด

 

 

เดินหน้าสู่ Neo Bank

มุ่งสร้างเน็ตเวิร์ก-เชื่อมพันธมิตรทั่วโลก



 

อุตสาหกรรมฟินเทคยังคงเป็นเค้กชิ้นโต ที่สตาร์ตอัพและนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่มียักษ์ฟินเทคเกิดขึ้นมากมายและกลายเป็น Role Model ให้สตาร์ตอัพหลายรายเดินตาม แม้ในประเทศไทยกระแสฟินเทคจะไม่ได้บูมเหมือนในประเทศจีน หรือสิงคโปร์ แต่เหล่าฟินเทคในประเทศไทยก็ยังยืนด้วยตัวเองและสามารถทำกำไรได้ ขณะที่ในภาพใหญ่ ฟินเทคยังคงเป็นธุรกิจที่บูมที่สุด โดยเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินลงทุนจาก Venture Capital สูงที่สุด และถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวเอเชีย

 

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ อัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ดีมันนี่ จำกัด ถึงเส้นทางธุรกิจในการปลุกปั้นฟินเทคสตาร์ตอัพสัญชาติไทยอย่างดีมันนี่ การต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ และการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Neo Bank พร้อมเป้าหมายการ IPO ใน 3 ปีข้างหน้า

 

 

เริ่มต้นจากธุรกิจเทเลคอม

ต่อยอดสู่ฟินเทคแบรนด์ดีมันนี่

 

อัศวิน เริ่มให้สัมภาษณ์กับ การเงินธนาคาร ว่า หลังจากที่เรียนจบด้าน Engineering จาก Worcester Polytechnic Institute และ Bentley University ในเมืองบอสตัน ก็กลับมาประเทศไทยพร้อมกับความสนใจในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยในช่วงปี 2006 เทคโนโลยีสื่อสารในประเทศไทยยังเป็นเทคโนโลยี 2.5 G การให้บริการโมบายล์อินเทอร์เน็ตใช้เทคโนโลยี GPRS ซึ่งเขามองเห็นโอกาสในธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Voice Over Internet Protocol : VoIP) เพราะเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีบริการลักษณะนี้ ประกอบกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น กสทช.) ประกาศให้ใบอนุญาตสำหรับผู้ที่สนใจ จึงเข้าไปขอใบอนุญาตเป็นรายแรกและเริ่มสร้างธุรกิจผู้ให้บริการ VoIP

 

จากจุดเริ่มต้นในปี 2006 อัศวินเริ่มสร้างธุรกิจ VoIP และพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การทำระบบ PBX ให้กับองค์กรธุรกิจ การออกบัตรโทรศัพท์เพื่อให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จนถึงการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชั่น เพื่อให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการสื่อสาร 

 

ในช่วงปี 2006 ค่าบริการโทรไปอเมริกาอยู่ที่นาทีละ 30-40 บาทต่อนาที แต่เราให้บริการอยู่ที่นาทีละ 9 บาท ผมลุยกับธุรกิจ VoIP มาต่อเนื่อง 10 ปี จนในปี 2016 ก็มีฐานลูกค้าในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน ครอบคลุมตั้งแต่บริการบัตรโทรศัพท์จนถึงระบบองค์กรธุรกิจ” 

 

อัศวินเล่าต่อว่า การมาของ Skype และ Viper ทำให้เห็นภาพ Disruption ของธุรกิจ VoIP ชัดเจน ผู้ให้บริการรายอื่นก็เริ่มหาทางปรับตัว และส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้ามาทำฟินเทค เพื่อให้บริการด้านการเงินแทนการสื่อสาร ซึ่งเวลานั้นธุรกิจฟินเทคน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะบริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์คนไทยที่ให้บริการด้านนี้ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ต่างประเทศทั้งหมด

 

ผมเข้าไปติดต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตอนปี 2016 เพื่อทำเรื่องขอใบอนุญาต แต่ตอนนั้นเกณฑ์ของการให้ใบอนุญาตตั้งไว้ค่อนข้างสูง เช่น ทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท มีระบบเทียบเท่ามาตรฐานธนาคาร ผมกลับมาสำรวจตัวเอง และหารือกับเพื่อนร่วมวงการ จนตกผลึกได้ว่าจะลุยต่อ เพราะถ้าสามารถเป็นผู้นำด้านนี้ได้ จะมีโอกาสรออยู่อีกมากในอนาคต

 

แรงฮึดสู้ในวันนั้นทำให้อัศวินสามารถผ่านเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จนได้รับใบอนุญาตในปี 2017 จากนั้นก็ใช้เวลาอีกราว 1 ปี 6เดือน ในการเตรียมพร้อมระบบ จัดหาทุน สร้างเน็ตเวิร์ก จนสามารถเปิดตัวบริการ ดีมันนี่” สู่ตลาดครั้งแรกได้ในปี 2018 โดยมีโมบายล์แอปพลิเคชั่น DeeMoney และสาขาหลักย่านสุขุมวิท โดยบริการแรกที่เปิดตัวคือ ค่าธรรมเนียม 150 บาท โอนเงินได้ทั่วโลก” ขณะที่ในตลาดจะคิดค่าธรรมเนียมตามจำนวนเงินที่โอน นี่คือจุดเริ่มต้นของดีมันนี่

 

 

ต่อยอดสู่ฟินเทคแพลตฟอร์ม

การันตีโอนวันนี้ รับเงินพรุ่งนี้

 

อัศวินเล่าว่า ปัจจุบันดีมันนี่ได้ต่อยอดจากการเป็นเพียงผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศไปสู่การเป็นฟินเทคแพลตฟอร์มเซอร์วิส โดยปัจจุบันดีมันนี่มีคู่ค้ากว่า 40 รายทั่วโลก มีธุรกรรมเกิดขึ้นหลายแสนครั้งต่อเดือน ทำให้ดีมันนี่กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีบริการครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจและลูกค้าบุคคล 

 

ดีมันนี่ มุ่งเน้นพัฒนาในด้านความเร็วของการทำธุรกรรม และค่าธรรมเนียมต่ำ พร้อมเชื่อมต่อตรงกับผู้ให้บริการด้านการชำระเงินทั่วโลก เป็นเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็น Core Engine พร้อมให้บริการกับคู่ค้า ลูกค้าองค์กร และลูกค้าบุคคล ที่ต้องการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

 

ปัจจุบัน บริการโอนเงินในระบบดีมันนี่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีปลายทางได้ถึง 37 ประเทศ และสามารถรับโอนได้มากกว่า 100 ประเทศ มียอดธุรกรรมเฉลี่ย 200,000 ธุรกรรมต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมราว 7,000 ล้านบาทต่อเดือน และคาดว่าจะถึง 10,000 ล้านบาทต่อเดือนในสิ้นปีนี้

 

อัศวินกล่าวว่า การระบาดของไวรัส Covid-19 ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจของดีมันนี่อย่างมาก เพราะทำให้ไม่ต้องสร้างเครือข่ายเงินสดหรือธนาคารปลายทาง แต่ใช้การสร้างเครือข่ายด้วยการเชื่อมระบบเข้ากับธนาคารต่างๆ ทั่วโลกแทน 

 

จุดที่ยากที่สุดคือ การสร้างเน็ตเวิร์ก ดีมันนี่ต้องขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเชื่อมต่อกับสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยต้องมี 1 ใบอนุญาตต่อการเชื่อมต่อกับสถาบันการเงิน 1 ราย นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการทางด้านเทคนิค การเชื่อมต่อระบบ ซึ่งกระบวนการเชื่อมต่อกับสถาบันการเงิน 1 ราย ตั้งแต่ต้นจนจบจะใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน เราจึงร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ซึ่งมีเครือข่ายธนาคารครอบคลุม เพื่อลดเวลาและขั้นตอนการเชื่อมต่อกับธนาคารแบบ 1 ต่อ 1” 

 

อัศวินอธิบายว่า ด้านการใช้งานนั้น ผู้ใช้ทั่วไปจะสามารถใช้บริการได้ผ่านแอปพลิเคชั่น DeeMoney ขณะที่ลูกค้าองค์กรจะใช้การเชื่อมต่อกับระบบผ่าน API นอกจากนี้ ดีมันนี่ยังมีการทำงานร่วมกับ Ripple ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Blockchain สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยดีมันนี่เป็นนอนแบงก์รายเดียวในประเทศไทยที่รองรับการทำธุรกรรมการโอนเงินของระบบ Ripple 

 

ปัจจุบัน ดีมันนี่เก็บค่าธรรมเนียม 150 บาทต่อการทำธุรกรรม ขณะที่ธนาคารคิดอยู่ประมาณ 1,000 บาท สาเหตุที่ค่าธรรมเนียมถูก เพราะเรามีรายได้จากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเมื่อมีวอลุ่มสูงก็จะสามารถได้อัตราแลกเปลี่ยนในเรต Wholesale ทำให้สามารถคิดค่าธรรมเนียมการโอนได้ถูกกว่าธนาคารเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานดีมันนี่มากขึ้น และยังส่งผลดีกับภาคธุรกิจโดยตรง ช่วยให้ธุรกิจสามารถมีกำไรมากขึ้น ได้เงินเร็ว ทำให้เงินหมุนเวียนในธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น

 

ดีมันนี่ ยังเปิดตัวบริการใหม่ที่ชื่อว่า DeeMoney for Business รองรับการใช้งานขององค์กรธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยที่ Core Engine ยังคงมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายของดีมันนี่ทั่วโลก เพื่อให้ระบบมีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือดีกว่าธนาคารได้ โดยเน้นที่เทคโนโลยีและความรวดเร็ว คิดค่าธรรมเนียมเพียง 499 บาท

 

บริการ DeeBusiness จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ได้ประโยชน์มาก เพราะจะได้อัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าธนาคาร ระยะเวลาในการทำธุรกรรมจะลดลงจาก 3-5 วันเหลือเพียง 1 วัน ทำให้มีเงินหมุนเวียนเร็วขึ้น โดยดีมันนี่การันตีว่าถ้าโอนวันนี้ จะได้รับเงินในวันรุ่งขึ้น และยังทราบอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับ ระบุค่าธรรมเนียมชัดเจนก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง ช่วยให้ลูกค้าสามารถระบุจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไปยังปลายทางได้ง่ายขึ้น โดยดีมันนี่จะเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ทั้งหมด




 

ตั้งเป้าเป็น Neo Bank

เตรียมแผน IPO ใน 3 ปี

 

อัศวินกล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจของดีมันนี่มีมูลค่าสูงกว่า 3,000 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นฟินเทคด้านการโอนเงินระหว่างประเทศชั้นแนวหน้าของประเทศไทย มีพาร์ตเนอร์ต่างประเทศที่เชื่อมต่อ API กว่า 40 บริษัท โดยดีมันนี่มีแผนระยะสั้นที่จะก้าวสู่การเป็น Neo Bank พร้อมให้บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล และตั้งเป้าที่จะเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2024

 

เป้าหมายของเราคือ การเป็น Neo Bank ที่ให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งเป็นหลัก เน้นในบริการที่เป็นจุดแข็ง เช่น สกุลเงินต่างประเทศ การโอนเงิน-รับเงิน หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน หากในอนาคตธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนออกใบอนุญาตดิจิทัลแบงกิ้ง ดีมันนี่ก็มีความสนใจอย่างมาก เพราะจะทำให้รองรับการเติบโตในอนาคต

 

ด้านการขยายธุรกิจ ดีมันนี่มีแผนจะให้บริการ Digital Wallet เพื่อให้ลูกค้าชาวไทยที่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถใช้ Digital Wallet เพื่อนำเงินเข้ามาพักในกระเป๋า แล้วค่อยโอนเงินออกไปยังปลายทาง โดยจะต่อยอดความร่วมมือกับผู้ให้บริการชำระเงินต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้จ่ายผ่าน Digital Wallet ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สร้างให้เกิดภาพการใช้งานทุกมิติ ทั้งการรับ การโอน และการใช้จ่าย

 

บริการ Digital Wallet ของดีมันนี่จะเปิดตัวในปีนี้ เพราะได้ดำเนินการขอใบอนุญาตไปแล้ว รอเพียงการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ลูกค้าจะมีกระเป๋านี้ไว้เพื่อรับเงินจากต่างประเทศ เมื่อเงินโอนเข้ามาก็สามารถที่จะนำไปใช้จ่ายผ่านกระเป๋าใบนี้ได้เลย โพสิชั่นของดีมันนี่ไม่ได้ต้องการทำ Wallet เพื่อแข่งกับธนาคารในไทย หรือการโอนเงินในประเทศ แต่เน้นเรื่องการโอนระหว่างประเทศ เพราะนี่คือจุดแข็งของเรา


นอกจากนี้ ดีมันนี่ยังมองถึงการใช้ Digital Asset มาช่วยทำให้ธุรกรรมในระบบมีความรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ Stable Coin ในการทำธุรกรรมระหว่างคู่ค้า เพื่อลดค่าธรรมเนียมและเวลาลง โดยระบบของ Ripple เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดีมันนี่พิจารณาและอยู่ในกระบวนการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย

 

อัศวิน ยังเปิดมุมมองต่อบริการทางการเงินที่ไร้ตัวกลาง หรือ DeFi ว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นการยกเอาบริการทางการเงินทั้งระบบเข้าสู่โลกดิจิทัล การฝากเงินกับธนาคารอาจได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 1% แต่ใน DeFi ทั่วโลกมีข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมีความคิดไม่อยากฝากเงินบาท แต่หันไปฝากเป็นคริปโทฯ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากเช่นกัน 

 

 “วันนี้ถือว่า DeFi ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เรามอง DeFi เป็นโอกาส ไม่ใช่ Disruption โดยดีมันนี่กำลังศึกษาธุรกิจนี้เพื่อมองหาโอกาสต่อยอด เช่น การให้กู้เพื่อโอนเงินไปต่างประเทศ และใช้ DeFi มารองรับเพื่อปล่อยเงินกู้ให้ลูกค้ารับเงินก่อน แล้วโอนไปต่างประเทศ เป็นการให้เครดิตการโอนก่อนแล้วค่อยชำระทีหลังพร้อมดอกเบี้ย



ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ฉบับที่ 471 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi