People : อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อลิศรา มหาสันทนะ
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เกาะติดโลกผันผวน
รักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน
“ตลาดการเงินเป็นช่องทางที่ ธปท. ใช้ในการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนดเพื่อธนาคารพาณิชย์จะเป็นช่องทางไปเพื่อส่งต่อไปถึงดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยกู้ยืม สายงานตลาดการเงินจึงต้องดูแลให้มีการส่งผ่านการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและตลาดการเงินมีเสถียรภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ของ ธปท. คือการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน”
ในปีที่ผ่านมา
ธปท.ได้มีการปรับตำแหน่งภายในหลายตำแหน่ง หนึ่งในนั้นมีการมอบหมายให้ อลิศรา
มหาสันทนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำผู้ว่าการ ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ว่าการ
สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
ที่ผ่านมา
อลิศรา เล่าย้อนกลับไปในปี 2532
ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากจบการศึกษาด้าน MBA จาก
Pittsburg State
University และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เริ่มในงานด้านบริหารเงินสำรอง (Portfolio Management) หลังจากนั้นย้ายไปด้านตลาดการเงินในประเทศมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ตลาดการเงินในประเทศ
ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540
พอดีจึงได้มีส่วนร่วมในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท
อลิศราได้ใช้เวลากว่า 30
ปีในการสั่งสมประสบการณ์ที่หลากหลายใน ธปท. นอกจากสายตลาดเงินแล้ว ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายงานนโยบายเศรษฐกิจที่รับผิดชอบด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศและดุลการชำระเงิน
การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย
ก่อนจะกลับมาสายตลาดเงินอีกครั้งกับหน้าที่กำกับดูแลการปริวรรตเงินตรา
ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องการกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับการแลกเปลี่ยนและการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่มีผลต่อนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเข้าไปเก็บประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ในสายนโยบายการชำระเงิน
อลิศรา
ยังมีประสบการณ์ทำงานในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยงานที่เกี่ยวกับต่างประเทศมีความสำคัญสำหรับธนาคารกลาง
เพราะการวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายการเงิน
ที่จะมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะเดียวกัน
ด้านความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
ก็เป็นงานอีกด้านที่ธนาคารกลางให้ความสำคัญ
โดยมุมมองการวิเคราะห์และการให้คำแนะนำจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ ธปท.
มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นหน่วยงานด้านการเงินหลักที่จะเข้าไปร่วมมือกับองค์กรต่างๆ
และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ซึ่งความร่วมมือทางการเงินหลายๆ อย่างเป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจโดยรวม เช่น
การสนับสนุนให้เปิดเงินทุนให้เสรีมากขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
หรือการสนับสนุนเปิดเสรีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ที่แต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างไป
ทำให้ต้องมีการหาแนวนโยบายที่เหมาะสมด้วย
ในช่วง
2 ปีที่ผ่านมา อลิศราได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Executive Director ของกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) โดยทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกลุ่มออกเสียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก ซึ่งอลิศราได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยและตัวแทนของกลุ่มในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานของ
IMF
ดูแลทุนสำรองประเทศ
สร้างนิเวศใหม่ตลาด FX
อลิศราเล่าถึงหน้าที่ในสายงานตลาดการเงินที่อยู่ภายใต้การดูแลในตอนนี้จะมีหน้าที่
3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ การดูแลการดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนดผ่านเครื่องมือที่สำคัญคือ
อัตราดอกเบี้ย รวมถึงการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน
เพื่อส่งผ่านไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง
และสนับสนุนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตและเงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินตั้งเป้าหมายไว้
หน้าที่ที่สองคือ
การดูแลนโยบายการแลกเปลี่ยนเงิน
ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่
ธปท.ต้องดูแลเสถียรภาพทางด้านตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
“ตลาดการเงินเป็นช่องทางที่ ธปท.
ใช้ในการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนดเพื่อธนาคารพาณิชย์จะเป็นช่องทางไปเพื่อส่งต่อไปถึงดอกเบี้ยเงินฝาก
ดอกเบี้ยกู้ยืม
สายงานตลาดการเงินจึงต้องดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและเครื่องมือต่างๆ
ตามที่นโยบายการเงินส่งมา โดยจะเชื่อมโยงกับสายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของธปท.คือการดูแลให้มีการส่งผ่านการวางแผนนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและตลาดการเงินต้องมีเสถียรภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน
และหน้าที่ที่สามคือ
การบริหารเงินสำรองทางการของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีอยู่ในระดับ 250,000
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในการบริหารเงินสำรองจะมุ่งเน้นให้มีความปลอดภัย มีสภาพคล่อง
มีผลตอบแทน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้วย โดยในระยะต่อไปมีความท้าทาย
เนื่องจากภาพของภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงมาก
โดยก่อนจะเกิดโควิด-19 หลายประเทศดำเนินนโยบายผ่อนปรนและกำลังจะปรับเข้าสู่สภาวะปกติ
แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปอีก
เมื่อเริ่มฟื้นตัวจึงปรับสู่ระดับปกติ ทำให้เริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ
ปรับขึ้น และอัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น
ซึ่งเรื่องของภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากเศรษฐกิจฟื้น
และจากปัญหา Supply
Shocks ซึ่งจะทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในโลกต้องขยับขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการลงทุน และสินทรัพย์ในทุนสำรองทางการ ธปท.
ต้องติดตามว่าปัจจัยต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ที่มีการลงทุนไปอย่างไรบ้าง
ต้องประเมินอยู่เสมอเพื่อพิจารณาว่าควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไร
“การลงทุนเพื่อบริหารทุนสำรองทางการของ ธปท.
จะเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นสำคัญและไม่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง
ภายใต้กรอบหลักคือ การรักษามูลค่าทุนสำรองทางการของประเทศ ปัจจุบันเรื่อง Climate Change และความยั่งยืนหรือ
ESG เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจขอลนักลงทุนและจะเข้ามาเป็นหนึ่งในบริบทการบริหารเงินสำรองของประเทศด้วย”
ในด้านการดำเนินงานนโยบายการเงินนั้น
สายงานตลาดการเงินมีการติดตามการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงิน
นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ
รวมทั้งภูมิทัศน์ของระบบการเงินที่อาจจะเปลี่ยนไปจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
ทั้งนี้ พัฒนาการเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น
ไม่ได้มีแค่ธนาคารพาณิชย์ และยังมีสินทรัพย์ใหม่ๆ ธปท.
จึงต้องศึกษาผลกระทบและทบทวนเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป
อลิศรากล่าวอีกว่า
ในมุมด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน
สายงานตลาดการเงินต้องมองภาพข้างหน้าในการทำหน้าที่วิเคราะห์ตลาดการเงินโลก
ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเคลื่อนย้ายของเงินทุน
ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามากระทบตลาดการเงินในประเทศ
เพื่อเตรียมแนวทางในการดูแลรับมือความท้าทายในอนาคตเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน
“ในปีนี้เศรษฐกิจโลกมีการปรับเปลี่ยนไป
นโยบายการเงินของประเทศชาติ จะเปลี่ยนไปตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19
ที่มีความชัดเจนมากขึ้น และเงินเฟ้อจะกลับขึ้นมาชัดเจน
แต่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวไม่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ
บางประเทศฟื้นตัวแล้ว บางประเทศฟื้นตัวช้ากว่า รวมทั้งประเทศไทย
ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ต้องเตรียมรับมือ”
ขณะเดียวกัน นโยบายการดูแลเงินทุนของ ธปท.
ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป
จากที่เข้มข้นมากก็ผ่อนคลายให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น
สร้างระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ หรือที่เรียกว่า FX Ecosystem รวมทั้งยกระดับระบบข้อมูลเพื่อติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
(FX surveillance and
Management)
โดยมีเรื่องหลักๆ คือ
การส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FX
investment ecosystem) การปรับหลักเกณฑ์ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
(FX regulatory
framework) ให้สมดุลขึ้นและสอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
การปรับภูมิทัศน์การแข่งขันของผู้ให้บริการธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (FX service provider landscape) และการยกระดับการติดตามข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
(FX surveillance and
management)
“ในอนาคตตลาดเงินมีความผันผวนมากขึ้น
การรับมือที่ดีที่สุดคือการที่ภาคเอกชนมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีความพร้อมในการรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ ธปท.จึงได้สร้าง Ecosystem ให้เอื้อต่อการบริหารจัดการของภาคเอกชน”
สำหรับการผ่อนคลายในเรื่องลงทุนต่างประเทศ
ธปท.ทำไปได้มาก ปัจจุบันนักลงทุนสามารถออกไปลงทุนได้สะดวกมากขึ้น
แต่อาจจะมีข้อจำกัดประเภทสินทรัพย์อยู่บ้าง ในระยะต่อไป
เมื่อมีความพร้อมก็จะมีการผ่อนคลายขึ้นอีก
รวมทั้งจะลดภาระด้านเอกสารหลักฐานที่จะนำมาแสดงเพื่อให้สะดวกมากขึ้นเอื้อต่อการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพัฒนาตัวเองให้รองรับความผันผวนเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินได้มากขึ้น
มีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่ต้นทุนถูกลง
เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผ่านการเพิ่มผู้เล่นทางด้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่จะเปิดเสรีมากกว่าเดิม
โดยดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย
“ธปท. ก็มีการปรับการทำงานให้สอดรับกับบริบทใหม่ ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้นมีความยืดหยุ่น ประสานงานกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อให้เป็นทิศทางของนโยบายสอดคล้องกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน”
ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร
ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 478