People : ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ
รองกรรมการผู้จัดการ
ธนาคารกสิกรไทย
ปักธง AEC+3
ผลิก Disruption สู่ New S Curve
“ธุรกิจต่างประเทศเป็นเหมือน New S Curve ของธนาคาร แต่ทีมของธนาคารในประเทศไทยนับว่าเป็นส่วนงานที่สำคัญมากที่สุด เพราะต้องเผชิญความยากลำบากมากมายแต่ยังสามารถสร้างความแข็งแรงได้มากๆ ซึ่งธุรกิจในประเทศเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้เพื่อให้ธุรกิจต่างประเทศไปแสวงหาโอกาสจากภายนอก”
ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าเรื่องธุรกิจต่างประเทศมานาน
20 ปี ตามวิสัยทัศน์ของ
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ
ที่มองเห็นบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปการเชื่อมโยงของภูมิภาคมีมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นความโชคดีที่ธนาคารกสิกรไทยได้เริ่มเดินหน้าในเรื่องธุรกิจต่างประเทศมาเป็นเวลานาน
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าไปบุกเบิกแสวงหาโอกาสเพื่อจะปูเส้นทางธุรกิจต่างประเทศให้กับธนาคารกสิกรไทยภัทรพงศ์สำเร็จการศึกษาปริญญาโท
(Finance Direction) University of
Toledo ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย เมื่อปี 2537
ที่สำนักบริหารในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเครดิต
จากนั้นขยับมาดูฝ่ายนโยบายและบริหารความเสี่ยงเครดิต
ก่อนจะข้ามมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายบริหารธุรกิจจีนและสำนักงานต่างประเทศ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและได้รับการแต่งตั้งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ดูแลรับผิดชอบเรื่องธุรกิจต่างประเทศ
กางแผนที่เส้นทาง AEC+
ปักหมุดยึดจีนเป็นเสาหลัก
ภัทรพงศ์เล่าถึงยุทธศาสตร์ในการเข้าไปขยายเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยว่า
สิ่งแรกการขยายธุรกิจของธนาคารจะไม่ถือครองสินทรัพย์มากเกินไป หรือเรียกว่าเป็นการออกไปแบบ Asset Light
สำหรับยุทธศาสตร์ธุรกิจต่างประเทศของธนาคารจะเดินตามแผน 3 ขั้นโดย
แผนขั้นแรก
คือการหาใบอนุญาตในท้องถิ่น (Banking License)และจะขยายธุรกิจต่อโดยใช้ดิจิทัลทั้งโมบายล์แบงกิ้งสำหรับลูกค้าบุคคลและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการขนาดใหญ่
เพื่อสร้างรายได้บนใบอนุญาตนั้นและนำรายได้มาขยายธุรกิจต่อไป
โดยปัจจุบัน
ธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในอาเซียนมีการเติบโตที่ดี มีบริษัทใหญ่ๆเติบโตขึ้นอีกมาได้อีกมากเป็นโอกาสที่ดีของธนาคาร
สอดคล้องกับทิศทางที่ประเทศในอาเซียนเติบโตได้เร็วมาก เช่นในเวียดนามที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
คาดว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าจะสามารถพัฒนาได้เท่าทันประเทศไทยแล้ว
แผนขั้นที่ 2 คือการขยายฐานลูกค้า โดยจะมุ่งเน้นธุรกิจรายย่อย ทั้งลูกค้าบุคคลและธุรกิจรายย่อย
ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายในการพัฒนา แอปพลิเคชั่น K Plus ที่สามารถใช้ในหลายๆประเทศและใช้ระหว่างประเทศได้
โดยเป้าหมายคือการพัฒนาให้แอปฯ K Plus เป็นโมบายล์แบงกิ้งระดับภูมิภาคมีผู้ใช้งาน
50 ล้านยูสเซอร์โดยในไตรมาสสองของปีนี้ผู้ใช้งาน K
Plus ในไทยจะสามารถใช้แอปฯ K Plus ในจีนได้แล้ว รวมทั้งจะพัฒนาอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งสำหรับลูกค้าธุรกิจที่ใช้ระหว่างประเทศได้ด้วย
แผนขั้นที่
3 คือเมื่อสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพียงพอในแต่ละประเทศแล้วจะเริ่มทำในเรื่องปล่อยกู้ออนไลน์โดยจะยึดมั่นในปรัชญาของ
Better Me
ที่เป็นโมเดลบริการแบบ Personal Investment Finance
ที่ริเริ่มในธุรกิจของธนาคารที่ประเทศจีน
อย่างไรก็ดีแม้ว่าการใช้ดิจิทัลในหลายประเทศจะก้าวหน้าจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธนาคารลดลง
สามารถปล่อยกู้ผ่านออนไลน์โดยไม่ต้องเจอหน้ากันได้ แต่ธนาคารจะยังใช้วิธีผสมผสาน
คือต้องเจอกันบ้าง มีกลไกแก้หนี้แบบธุรกิจที่เคยทำแต่นำความสามารถทางเทคโนโลยีมาช่วย
ซึ่งวิธีนี้ได้รับการยอมรับจากธนาคารกลางในประเทศจีนเป็นอย่างดี
“โอกาสในการขยายไปในต่างประเทศในปัจจุบันมีต้นทุนที่ต่ำลงจากอดีต
ในอดีตไม่มีทางที่จะใช้เงิน 100
ล้านบาทในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศได้ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ซึ่งเมื่อเข้าไปเริ่มต้น 1 สาขาได้ก็สามารถใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีขยายให้ครอบคลุมประเทศนั้นๆได้เช่นกัน”
ภัทรพงศ์กล่าวอีกว่ากลุ่มประเทศที่ธนาคารกสิกรไทยให้ความสนใจคือกลุ่มประเทศ
AEC+3
หรือประเทศอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารตัดสินใจปิดสาขาต่างประเทศในยุโรปและอเมริกาเพื่อมุ่งเน้นภูมิภาคนี้โดยจีนเป็นความสำคัญในอันดับแรก
ตามมาด้วยกลุ่มประเทศ CLMVI หมายถึง กัมพูชา ลาว เมียนมา
เวียดนามและอินโดนีเซีย
โดยจีนเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของธนาคาร
ตามมาด้วยเวียดนามเป็นอันดับสองที่มีแผนจะยกฐานะสำนักงานผู้แทนนครโฮจิมินห์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม
2564
ส่วนที่ตามมาคืออินโดนีเซียแต่ยังทำอะไรไม่ได้มากเพราะธนาคารยังมีสัดส่วนในการถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน
พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในสัดส่วนไม่มาก โดยมีแผนจะเพิ่มการถือหุ้นในสัดส่วนเป็น40%ให้ได้ในปีนี้ขณะที่ลาวกับกัมพูชาสามารถเดินหน้าธุรกิจได้เอง
สำหรับในเมียนมาด้วยสถานการณ์ภายในประเทศในปัจจุบันทำให้ชะลอไปก่อน
“รูปแบบในการขยายธุรกิจต่างประเทศของธนาคารที่มุ่งเน้นเรื่องการเป็นธนาคารท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ
เหตุผลเพราะการเป็นธนาคารในท้องถิ่นสามารถทำธุรกิจได้ครอบคลุมทั้งประเทศ
สามารถเพิ่มจำนวนสาขาและช่องทางต่างๆในประเทศเป้าหมายโดยไม่จำกัด
ซึ่งในแต่ละประเทศมีกฎหมายที่ต่างกันบางประเทศธนาคารต่างชาติไม่สามารถตั้งตู้เอทีเอ็มเพิ่มได้ด้วยซ้ำ
ดังนั้นการเป็นรูปแบบธนาคารท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ขยายธุรกิจได้มากกว่า”
New S Curve
เติบโต 10 เท่า
ภัทรพงศ์เล่าว่า
การเดินหน้าธุรกิจต่างประเทศของธนาคารนับว่าเป็นการ Disrupt
ธุรกิจของตัวเองอย่างหนึ่งเพราะต้องแบ่งทรัพยากรออกมาจากธุรกิจเดิมและบุคลากรที่มีความสามารถต้องถูกดึงออกมาจากธุรกิจเดิมเพื่อทำหน้าที่ในเรื่องต่างประเทศโดยเฉพาะซึ่งธุรกิจต่างประเทศนับว่าเป็น
New S Curve ที่สำคัญของธนาคารกสิกรไทย
“ธุรกิจต่างประเทศเป็นเหมือนNew S Curve ของธนาคารแต่ทีมของธนาคารในประเทศไทยนับว่าเป็นส่วนงานที่สำคัญมากที่สุด
เพราะต้องเผชิญความยากลำบากมากมายแต่ยังสามารถสร้างความแข็งแรงได้มากๆ ซึ่งธุรกิจในประเทศเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้เพื่อให้ธุรกิจต่างประเทศไปแสวงหาโอกาสจากภายนอก”
ภัทรพงศ์บอกอีกว่า
กลยุทธ์ในการเข้าไปกลุ่มประเทศ AEC+3
ของธนาคารจะยึดรูปแบบเป็นบริษัทสตาร์อัพเทคโนโลยีที่มี
Banking License
ซึ่งมีความแตกต่างจากฟินเทคที่อาจจะมีเทคโนโลยีแต่ไม่มี Banking License ส่วนธนาคารขนาดใหญ่อาจจะอุ้ยอ้ายมากไปและขาดความสามารถทางเทคโนโลยี
แม้ธนาคารกสิกรไทยในเมืองไทยจะใหญ่มากแต่การเข้าไปในต่างประเทศถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่ต้องเริ่มสร้างฐานลูกค้าใหม่โดยข้อดีของการเข้าไปในทำธุรกิจต่างประเทศรูปแบบสตาร์ตอัพที่มีใบอนุญาตธุรกิจธนาคารจะช่วยลดอุปสรรคของการเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ที่ต้องอาศัยการเข้าไปโดยใช้ช่องทางดิจิทัลและมีใบอนุญาต
และหลังจากนั้นจะหาพันธมิตรท้องถิ่นที่มีฐานลูกค้าเข้ามาต่อยอดต่อไป
ภัทรพงศ์กล่าวว่า สำหรับประเทศจีนที่เป็นประเทศเป้าหมายหลักของธนาคาร
ด้วยที่จีนมีประชากร 1,400 ล้านคนจึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพพร้อมโอกาสอยู่มากที่สุดทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และออนไลน์ดิจิทัลเลนดิ้งสำหรับลูกค้ารายย่อย
อย่างไรก็ดีรูปแบบการทำธุรกิจในประเทศจีนของธนาคารกสิกรไทยจะต้องต่างจากรายอื่นๆด้วย
จะไม่เน้นเรื่องปล่อยกู้อย่างเดียว เพราะการแข่งกันเรื่องปล่อยกู้หากมีมากเกินไปจนทำให้ตลาดกลายเป็น
Red Ocean ที่สุดก็เป็นภาระของธนาคารกลางในประเทศนั้นๆได้อย่างที่เห็นในหลายๆประเทศ
ขณะเดียวกันธนาคารกสิกรไทยเชื่อว่าธุรกิจแข่งขันได้ต้องมีความแตกต่าง
จึงเป็นที่มาของปรัชญาในการทำธุรกิจในต่างประเทศของธนาคารที่ยึดในกฎของธรรมชาติและการเป็นธนาคารที่มีคุณธรรมมองความสำเร็จลูกค้าที่มีชีวิตไม่ใช่แค่ตัวธุรกิจ
“นิยามธุรกิจในประเทศจีนของธนาคารจะเป็นPersonal Investment Finance ที่ไม่ใช่แค่การให้กู้เพราะการให้กู้เป็นภาระไม่ได้สร้างชีวิตที่ดีสำหรับลูกค้าธนาคารจึงตั้งโมเดลธุรกิจในจีนว่า
Better Me ที่เป็นบริการ Personal Investment Finance
ไม่ได้ให้กู้โดยไร้วัตถุประสงค์แต่ลูกค้าต้องนำเงินไปเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ด้วย”
โดยปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย
ประเทศจีน ได้เข้าไปเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีการศึกษาในจีนที่มีผู้ใช้กว่า 20 ล้านคนเพื่อใช้ข้อมูลที่ได้จากพันธมิตรมาศึกษาพฤติกรรมลูกค้า
นำไปสู่การวางโรดแมพร่วมกันกับลูกค้าก่อนที่จะให้กู้ ซึ่งหากลูกค้าสามารถใช้วงเงินที่ได้รับตามแผนที่วางร่วมกันจนนำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้จริง
ธนาคารก็จะลดดอกเบี้ยให้
ซึ่งรูปแบบนี้อาจจะคล้ายกับการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือที่เรียกว่าSocial
Responsibility แต่ Better Me จะก้าวหน้าไปกว่านั้น
“ปัจจุบัน Better Me มีฐานลูกค้าในประเทศจีน
700,000 รายแล้ว มีวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยไปประมาณ 4,000
ล้านบาท ถือว่าไม่เยอะมากเพราะเฉลี่ยต่อรายจะกู้ 500-1,000 หยวน หรือ 2,500-5,000
บาทเท่านั้น”
ภัทรพงศ์กล่าวอีกว่า ธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มพันธมิตรท้องถิ่นในจีนนอกจากเรื่องการศึกษา
โดยการหาพันธมิตรจะหาที่เชื่อในปรัชญาของ Better Me ร่วมกันทั้งนี้รูปแบบ Personal
Investment Finance
ที่วางไว้จะไม่ได้มีแค่กลุ่มลูกค้าบุคคลแต่จะรวมถึงการให้กู้กับเจ้าของธุรกิจเล็กๆที่ทำในนามบุคคลด้วย
ซึ่งประเทศจีนเป็นโลกของ Digital Planform ที่พร้อมเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว
ธนาคารจึงมีเครือข่ายเชื่อมต่อไปถึงห่วงโซ่ทางธุรกิจด้านต่างๆ ทั้งเรื่อง HRขนส่ง การตลาด เพื่อช่วยพัฒนาลูกค้าต่อไปด้วย
ส่วนธุรกิจ Cross-Border SupplyChain
สำหรับลูกค้าธุรกิจแม้จะมีเป้าหมายที่ประเทศจีนเป็นหลักแต่จะไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นโดยจะเชื่อมโยงการค้าขายระหว่างประเทศจีนและกลุ่มประเทศในอาเซียนด้วย
ซึ่งอนาคตอันใกล้ธนาคารจะมีพันธมิตรในด้านDigital Planform สำหรับการค้าระหว่างประเทศที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ
เมื่อธุรกิจต่างประเทศเป็น New S Curve ของธนาคารการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยจึงต้องการสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้กับธนาคารด้วย
ในปี 2562 รายได้สุทธิของธุรกิจต่างประเทศอยู่ที่ 0.5%
เมื่อเทียบกับรายได้สุทธิรวมของธนาคารซึ่งถือว่ายังน้อยมาก
แต่ก็จะเดินตามเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 5% ในปี 2566
“ในปี 2566 รายได้จากธุรกิจต่างประเทศสุทธิจะมีสัดส่วน
5% ของรายได้สุทธิรวมธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทยหมายความว่าจะต้องโต
10 เท่าภายใน 3 ปี ซึ่งในปี 2563สัดส่วนรายได้สุทธิจากต่างประเทศสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 1% แล้วและคาดว่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 2 %แม้ Covid-19 จะมีผลกระทบบ้างแต่จะไม่มีการปรับลดเป้าหมาย”
เครือข่ายธุรกิจต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย
- สาธารณรัฐประชาชนจีน ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัดทำธุรกิจรูปแบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในสาธารณรัฐประชาชนจีน มี สาขาในเซินเจิ้น เฉิงตู เซี่ยงไฮ้ และสาขาย่อยในหลงกั่งและสำนักงานผู้แทนกรุงปักกิ่งนอกจากนี้ยังมีสาขาในฮ่องกง
- สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รูปแบบ สำนักงานผู้แทนกรุงฮานอย
และ
นครโฮจิมินห์(จะยกฐานะสำนักงานผู้แทนนครโฮจิมินห์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม
2564)
- สาธารณรัฐอินโดนีเซีย รูปแบบสำนักงานผู้แทนกรุงจาการ์ตาและจะถือหุ้น 40% ในธนาคารแมสเปี้ยน
ในอินโดนีเซีย
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
รูปแบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนใน สปป.ลาว
- ราชอาณาจักรกัมพูชา รูปแบบสาขากรุงพนมเปญ
- สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รูปแบบสำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้ง และ ถือหุ้น ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์
ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์หรือ A Bank สัดส่วน 35%
- ประเทศญี่ปุ่น รูปแบบสำนักงานผู้แทนกรุงโตเกียว
- สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)รูปแบบร่วมมือธนาคารพันธมิตร 3 แห่ง
ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ฉบับที่ 469 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi