People : ทิพย์วดี อภิชัยสิริ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.แอสเซท พลัส
ทิพย์วดี อภิชัยสิริ
ผู้จัดการกองทุนอาวุโส
บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด
จาก“เด็กวิศวะ"
สู่ผู้จัดการกองทุนหุ้น
“ในช่วง
3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนเริ่มสนใจตลาดหุ้นไทยน้อยลง
เพราะคนเริ่มไปมองตลาดต่างประเทศอย่าง จีน อเมริกา และมองว่าหุ้นไทยมีแต่ของเดิมๆ
ซึ่งต้องยอมรับว่าคือ กระแสของการลงทุนในยุคใหม่
สุดท้ายกองทุนหุ้นไทยก็จะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ที่จะชัดขึ้นคือ ผลการดำเนินงานของกองทุนเหล่านั้นนักลงทุนจะเริ่มเห็นส่วนนั้นชัดขึ้นเองจากจำนวนกองทุนที่น้อยลง
และเนื่องจากหุ้นไทยเริ่มขายตัวเองได้ยาก
ดังนั้นสิ่งที่เราจะเชียร์นักลงทุนได้ก็ต้องมาจากผลการดำเนินงานที่ดี
ประโยคข้างต้นเป็นการเปิดบทสนทนาของ “ทิพย์วดี อภิชัยสิริ” ผู้จัดการกองทุนหุ้นแถวหน้าของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
แอสเซท พลัส จำกัด ที่ได้กล่าวกับ การเงินธนาคาร ถึงมุมมองการบริหารกองทุนเปิด
แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ (ASP-SME) 1 ใน 5 กองทุนหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปี
2563 ที่ผ่านมา โดยทำผลตอบแทนได้ 20.6% นอกจากนี้เป็นกองทุนที่ได้ Morningstar Rating 5
ดาวในกลุ่มSmall - Mid
Cap(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2563)
จากนักวิเคราะห์
สู่ผู้จัดการกองทุน 5 ดาว
ทิพย์วดี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่มีความสนใจในเรื่องหุ้นมาตั้งแต่วัยเด็กเธอเล่าชีวิตในวัยเยาว์ว่าช่วงปิดเทอมมักจะหาโอกาสติดตามคุณพ่อไปเทรดหุ้นที่ห้องค้าของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนสยาม
จำกัด (มหาชน) เพราะคุณพ่อเป็นนักลงทุนซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต
หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกเหมือนยุคปัจจุบัน
ด้วยความที่สนใจเรื่องหุ้นอย่างจริงจัง
ทำให้ทิพย์วดี ค้นหาโอกาสให้ตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อหาความรู้
โดยในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดแข่งขัน Young Researcher Competition หรือ
YRC จึงลองไปลงสมัครแข่งขันทำบทวิเคราะห์
จนเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย และได้รับทุนไปเรียนหลักสูตร CISA หรือ
Certified Investment and
SecuritiesAnalyst Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านการวิเคราะห์และบริหารการลงทุนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกจนกระทั่งเรียนจบก็รู้ว่าชอบสายงานการเงินจริงๆ
จึงเริ่มสมัครงานสายการเงิน การลงทุน โดยเริ่มจากการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
“คนรอบตัวในที่ทำงานตอนนั้นเกือบทั้งหมดจบปริญญาโทซึ่งมีแต่คนเก่ง ทำให้มีแรงจูงใจในการทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเราสามารถอยู่ในจุดเดียวกับทุกคนได้
จึงทำให้ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น ทุ่มเทกว่า ขยันกว่า"
หลังทำงานในสายงานนักวิเคราะห์เป็นระยะเวลา 3
ปีครึ่ง ทิพย์วดี ได้ไปร่วมงานกับบลจ.ทิสโก้ อีกประมาณ 4 ปี
โดยช่วงที่อยู่บลจ.ทิสโก้ ได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน
ซึ่งในตอนนั้นต้องดูทั้งกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนหุ้นรวมถึงกองทุนต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นกองทุนน้ำมัน และกองทุนทองคำ
จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สามารถดูได้ทุกสินทรัพย์
ต่อมา ทิพย์วดี ได้เปลี่ยนงานอีกครั้ง
โดยครั้งนี้มีโอกาสได้ทำที่บลจ.ไอเอ็นจี
(ประเทศไทย)ซึ่งในขณะนั้นมีคนที่รู้จักกันกำลังจะลาออก จึงได้ทาบทามให้เธอมาทำแทน
จนกระทั่งบลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ควบรวมกับบลจ.ไอเอ็นจีฯ และเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ถูกชักชวนให้มาร่วมงานที่บลจ.แอสเซท พลัส
เปิดกลยุทธ์เลือก “ปลาเล็ก”
ทิพย์วดี
มีมุมมองต่อหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ว่าเป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตได้อีกในอนาคต“รูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิม
คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ในสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ ปลาใหญ่ในไทยโตต่อไปได้ยากกว่า
ต้องไปมหาสมุทรใหม่ถึงจะเติบโตได้มากกว่าเดิม แต่ปลาเล็กที่ยังกินในมหาสมุทรเดิมได้ไม่เต็มที่
ก็มีโอกาสไปต่อได้มากกว่าปลาใหญ่ นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นถึงโอกาส”
“หลักในการหาปลาเล็ก
หรือหลักในเลือกหุ้นของเรา
จะเข้าไปคุยกับผู้บริหารและติดตามข้อมูลโดยต้องเริ่มทยอยทำความรู้จักกับหุ้นแต่ละตัวไปก่อนว่าสิ่งที่คิดกับสิ่งที่ผู้บริหารต้องการจะทำสอดคล้องกันและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้นหรือไม่
ถ้าทุกอย่างสอดคล้อง กำไรมาแน่นอน”
ทั้งนี้ บลจ.แอสเซท พลัส
มีทีมงานที่พร้อมสำหรับการคัดเลือกหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า
700 บริษัท เพื่อพิจารณาว่ามีตัวไหนเริ่มเข้าตา น่าสนใจ
มีรายได้ไหลเข้ามาหลายไตรมาสติดต่อกัน
จากนั้นก็จะให้ทีมงานลองตามประเมินเบื้องต้นถึงแหล่งที่มาของรายได้
และเป็นธุรกิจที่น่าสนใจหรือไม่
สำหรับการศึกษาหุ้นที่จะลงทุน
ทีมงานจะเริ่มตั้งแต่การเข้าไปดูหน้าเว็ปไซด์บริษัท ดูงบการเงินรายงานประจำปี
จนถึงขั้นตอนติดต่อขอนัดสัมภาษณ์ผู้บริหาร
เพราะการที่จะได้ภาพชัดเจนมากที่สุดคือต้องคุยกับผู้บริหาร
จากนั้นจะคัดเลือกหุ้นจาก700 บริษัท เหลือประมาณ 100 บริษัท และลงทุนจริงประมาณ 30
บริษัท
ศึกษาหุ้นดี แพงก็ยอมซื้อ
ยึดหลัก “ช้าแต่ชัวร์”
ทิพย์วดี ยังได้ยกตัวอย่างอีกว่า ในปี 2563
ที่ผ่านมา กองทุน ASP-SME มีจำนวนหุ้นที่ลงทุนค่อนข้างมากกระจายในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
โดย 10 อันดับแรกที่ลงทุนจะมีมูลค่าประมาณ 50% ของพอร์ต
ส่วนที่เหลือจากนั้นจะเป็นหุ้นใหม่ที่เพิ่งศึกษาแต่ต้องติดตามไปก่อน
“ซึ่งหากมั่นใจแล้วว่าหุ้นกลุ่มนี้ดีจริงแม้จะราคาจะแพงขึ้น
เราก็ยอม แม้จะช้าแต่ขอชัวร์ไว้ก่อน”
ส่วนเหตุผลที่ต้องเลือกหุ้นจำนวนมากๆก่อนมาร่อนตะแกรงเหลือประมาณ
30 ตัว ทิพย์วดีกล่าวว่า
เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น
บัญชีที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอ หรือแอคทีฟ
จะมีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยมากขึ้นส่งผลให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก
เริ่มกลายเป็นที่สนใจและเมื่อความสนใจมีมากขึ้นราคาหุ้นบางตัวก็จะผันผวนหรือเหวี่ยงแรง
ทิพย์วดี ยังสะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นไทยว่า ในช่วง
3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนเริ่มสนใจตลาดหุ้นไทยน้อยลง
โดยเริ่มไปมองตลาดต่างประเทศอย่าง จีน สหรัฐฯ และมองว่าหุ้นไทยมีแต่ของเดิมๆ
ซึ่งต้องยอมรับว่าคือกระแสของการลงทุนในยุคใหม่
สุดท้ายกองทุนหุ้นไทยก็จะน้อยลงเรื่อยๆ
แต่ที่จะชัดขึ้นคือผลการดำเนินงานของกองทุนเหล่านั้นที่จะเป็นจุดขายหรือจุดดึงดูดนักลงทุน
นอกจากนี้
ยังมีอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการกองทุน นั่นก็คือ
ความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าผลตอบแทนต้องชนะตลาดกี่เปอร์เซ็นต์
สิ่งสำคัญคือลูกค้าต้องพอใจในผลการดำเนินงาน ดังนั้นความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ทิพย์วดีบอกว่าสิ่งที่เธอยึดหลักมาตลอดคือ “ไม่มีความจำเป็นต้องรับความเสี่ยงสูงเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงจนเป็นที่หนึ่งเสมอไป
แต่ถ้าสามารถรักษาผลการดำเนินงานบนความเสี่ยงที่รับได้ไปเรื่อยๆ ก็จะล้มยาก
และวันหนึ่งก็จะเป็นที่หนึ่งได้เอง”
หรืออีกแง่หนึ่งคืออย่าคิดว่าบริหารกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง
เพื่อจะได้ผลตอบแทนระยะสั้นที่สูงและรอที่จะมีบริษัทอื่นมาดึงตัวไปเพิ่มฐานรายได้ให้ตัวเอง
แต่ให้มองถึงผลดีหรือประโยชน์ที่ลูกค้าควรได้รับในระยะยาวดีกว่า
ดังนั้นสิ่งสำคัญจริงๆในการบริหารกองทุนคือทำให้ดีที่สุดในทุกช่วงเวลา แต่ไม่ต้องเป็นที่หนึ่งในทุกช่วงเวลา
เพราะหากคำนึงถึงลูกค้าจะไม่ต้องรับความเสี่ยงมากจนเกินไป
สร้าง Mind Set ที่ดี
สู่การทำงานอย่างมีความสุข
ในส่วนการทำงานทุกวันนี้
ทิพย์วดียอมรับว่ายากกว่าช่วงตั้งกองทุน ASP-SME ในช่วงแรกๆ แต่ก็มีส่วนที่ดีคือ เมื่อ 3
ปีที่แล้วทีมงานไม่ได้พร้อมขนาดนี้
ทุกวันนี้มีทีมงานที่เปรียบเสมือนแขนขาช่วยเดินไปในทิศทางที่ต้องการได้มากขึ้น
“การจะได้มาซึ่งทีมงานคุณภาพนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้คือเวลา
เพราะระยะเวลาทำให้รู้จักกับทีมงานมากขึ้น ต้องค่อยๆเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ
ซึ่งหลังจากที่คุ้นเคยกันกับทีมงานก็จะทำให้รู้แล้วว่าคนไหนถนัดหุ้นประเภทไหน
เราเองก็ต้องเรียนรู้จากเขา
ในทางกลับกันอะไรที่เขาอยากเรียนรู้จากเราก็ต้องสอนเขาอย่างจริงใจกลับไป”
นอกจากนี้ทิพย์วดียังหมายถึงการบริหารจัดการกองทุนด้วย
โดยเธออธิบายว่า ไม่ได้มีช่วงเวลาที่ดีเสมอไป ซึ่งช่วงที่ต้องรับภาระกดดัน
เธอจะใช้การทำสมาธิการออกกำลังกาย
ซึ่งช่วยในเรื่องเคลียร์สมองได้ดีในเวลาที่ต้องรับภาระหรือได้รับแรงกดดันอย่างหนัก
ทำให้วันรุ่งขึ้นสามารถมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
เพราะเส้นทางอาชีพของผู้จัดการกองทุนคือการบริหารเงินของคนอื่นจึงต้องแบกรับความกดดันมาก
ดังนั้นต้องจัดการกับความเครียดตรงนั้นให้ได้
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สามารถแบกรับกับความกดดันได้นั้นคือต้องทำงานอย่างมีความสุข
โดยจะคิดเสมอว่าให้ใช้ชีวิตเหมือนไปโรงเรียน
ซึ่งจริงๆแล้วในการไปโรงเรียนนั้นเด็กๆไม่ได้ไปเรียนอย่างเดียว แต่ได้ไปเล่น ไปคุย
ไปเจอเพื่อน ซึ่งแต่ละวันก็จะเจอเรื่องคุยเรื่องเล่นที่ไม่ซ้ำๆกัน
ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการไปทำงาน อยากไปทำงาน อยากเจอเพื่อน ทุกอย่างใหม่เสมอ
งานที่ทำออกมาก็ทำได้ดี
แต่ถ้ามานั่งคิดว่าเราคือพนักงานประจำที่ต้องทำทุกอย่างเหมือนกันในทุกๆวัน สุดท้ายก็จะเบื่อกับงานและหมดใจให้งานนั้นไป จุดนี้อยู่ที่วิธีการคิดของคนว่าคิดอย่างไรเพราะในบางอาชีพที่หลายคนมองว่าเป็นกิจวัตรที่ทำซ้ำๆ กันทุกวัน แต่หากเป็นพนักงานที่มีความสุขกับงานนั้นจะมองว่าในแต่ละวันจะเจอลูกค้าที่แตกต่างกัน ในแต่ละวันของเขาก็จะไม่เหมือนเดิม