INTERVIEW • PEOPLE

People : ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด

ณัทสุดา พุกกะณะสุต

ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด

 

 

เปิดทาง SME เข้าถึงแหล่งทุน

ตั้งเป้า 5 ปีช่วยระดมทุน 15,000 ล้าน

 

เป้าหมายของเราคือ อยากให้คนทั่วไปที่มีเงินเพียงแค่ 500 บาท ก็สามารถลงทุนใน Crowdfunding ได้ แต่ตอนนี้ยังไปถึงจุดนั้นไม่ได้เพราะต้นทุนระบบยังสูง ดังนั้น จึงกำหนดขั้นต่ำให้ผู้ลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนหลังจากหักภาษีและค่าโอน นอกจากนี้ อินเวสทรียังมีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ทุกใบที่ออก เพราะเราจะไม่ขายอะไรที่เราไม่มั่นใจ

            

การระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME หลายรายต้องเผชิญกับภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง แม้ว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการพักชำระหนี้ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วยเหลือ SME แต่ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงธนาคารก็ไม่สามารถช่วยเหลือ SME ได้ทั้งหมด นั่นจึงทำให้ SME ต้องมองหาเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้สามารถต่อลมหายใจให้ธุรกิจยังคงอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน 


การเงินธนาคาร สัมภาษณ์พิเศษ ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดมทุนคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ถึงจุดเริ่มต้นในสายธุรกิจการเงิน กับการกระโจนสู่ถนนฟินเทคสตาร์ตอัพสุดหิน ด้วยการก่อตั้ง อินเวสทรี ประเทศไทย จากแรงผลักดันที่มาจากคำว่า อยากลองสักตั้งหนึ่ง” เพื่อสนองความต้องการลึกๆ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือคน โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ



            

เริ่มต้นจากรั้วแบงก์ชาติ

สู่การตั้ง อินเวสทรี ประเทศไทย


ณัทสุดา เริ่มให้สัมภาษณ์ด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นในสายการเงินของตัวเองว่า หลังจากที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ก็เริ่มต้นเส้นทางการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบหน้าที่ด้านการเจรจาการค้าเสรี โดยดูแลประเทศ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอเมริกา ซึ่งขณะนั้น ธปท.ยังไม่เคยมีทีมงานด้านนี้ ทำให้ได้กลายเป็นผู้บุกเบิกสายงานนี้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม 


เธอทำงานที่ ธปท.นานกว่า 10 ปี มีประสบการณ์ทำงานในฝ่ายนโยบายการเงิน ตลาดการเงิน บริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จนถึงเวลาที่อยากท้าทายตัวเอง และบังเอิญกับที่สถาบันการเงินชั้นนำของโลกอย่าง โกลด์แมน แซคส์ กำลังมองหาผู้บริหารที่จะมาดูแลตลาดในประเทศไทย นั่นจึงทำให้คิดว่าถ้าไม่ก้าวต่อไปตอนนี้จะไปเมื่อไหร่


ตอนนั้นยอมรับว่ารู้สึกกลัว เพราะการทำงานที่ โกลด์แมน แซคส์ กับ แบงก์ชาติ นั้นมีความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ หากไม่ออกตอนนี้ จะออกตอนไหน และโอกาสก็มาถึงแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจท้าทายตัวเองและลาออกจากแบงก์ชาติ ไปร่วมงานกับ โกลด์แมน แซคส์


ณัทสุดาเล่าว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของการทำงานที่ โกลด์แมน แซคส์ ถือเป็นช่วงที่เครียดและท้าทายมาก เพราะโปรดักต์การเงินที่ดูแลมีหลากหลาย เรียกได้ว่า มีทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ต้องพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองสูงมากและต้องทำภายในระยะเวลาอันสั้น แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านความท้าทายในช่วงแรกไปได้ และทำงานที่ โกลด์แมน แซคส์ ถึง 8 ปี ในตำแหน่ง Executive Director ดูแลลูกค้าสถาบันรายใหญ่ เช่น ธนาคารพาณิชย์ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และที่นี่เองที่ทำให้เธอมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ


โกลด์แมน แซคส์ ได้ปลูกฝังความเป็น Entrepreneur อย่างมาก เพราะการทำงานที่นี่ไม่มีโจทย์อะไรมากมายนอกจากให้เรา Make Money สิ่งที่ต้องทำก็คือ หาผลิตภัณฑ์และบริการมาขาย บริหารให้มีกำไร ซึ่งนี่คือพื้นฐานสำคัญในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ นั่นทำให้นอกจากได้ความรู้ด้านการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว ยังได้ความกล้าในการลงทุนติดมาด้วย


หลังจากนั้น เธอได้พบกับเพื่อนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อินเวสทรี ในประเทศอินโดนีเซีย และได้หารือกันหลายครั้ง จนถูกชักชวนให้ตั้ง อินเวสทรี ประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นก็ค่อนข้างสนใจ เพราะชีวิตการทำงานที่มีทั้ง 2 ฝั่งซึ่งต่างกันสุดขั้ว แต่โดยส่วนตัวแล้วเธอชอบทำงานที่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้อื่น และมองว่า แพลตฟอร์ม Crowdfunding นั้น เป็นจุดตรงกลาง ที่ท้าทายตัวเองด้วยการเป็นฟินเทค แต่ก็สามารถได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 


โดยการตั้ง อินเวสทรี ตอบโจทย์ชีวิตการทำงานของเธอ 3 ด้านคือ 1. การได้ช่วยผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน 2. การได้ช่วยหาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนรายย่อย 3. โอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ หลังจากนั้น การระบาดของไวรัส Covid-19 ก็ทำให้เธอตัดสินใจกระโจนเข้าสู่ถนนสายฟินเทคสตาร์ตอัพ ก่อตั้ง บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย ร่วมกับเพื่อนสนิท วรกร สิริจินดา ในปี 2018 โดยเริ่มจากประโยคง่ายๆ ว่า ตอนนี้เราอายุ 40 กว่าแล้ว ยังอยากลองสักตั้งไหม” เป็นการเริ่มต้นธุรกิจจากคน 2 คน โดยมีทีมจากอินโดนีเซียเป็นคนสนับสนุนเรื่องระบบ



 

ช่องว่างทางการเงินไม่เคยหายไป

แพลตฟอร์ม Crowdfunding จึงโตได้


ณัทสุดาบอกว่า ช่องว่างของบริการทางการเงินนั้นไม่เคยหายไปตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงที่เธอทำงานที่ ธปท. ก็ยังมีธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จำนวนมาก และจนถึงปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่ หากดูสัดส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการ SME ต่อ GDP ตลาดไทยนั้น ตัวเลขยังมีไม่ถึง 2% สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเป็น 10-20 ปี ปัญหาเดิมก็ยังคงมีอยู่


บริการทางการเงินที่มุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้า SME นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มานานมาก และยังคงมีช่องว่างที่ไม่สามารถปิดได้มาตลอด ด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างสถาบันการเงิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ก็ยังมีช่องว่างนี้อยู่ ทำให้มีกองทุนเกิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการลงทุนแบบ Venture Cap เพราะในทุกระดับขั้นการเติบโตของธุรกิจนั้นมีช่องว่างอยู่ตลอด จนกว่าจะสามารถไปถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร โดยเฉพาะช่องว่างของธุรกิจ SME นั้น ถือเป็นช่องว่างที่เกิดโดยโครงสร้างของระบบการเงิน นั่นจึงทำให้ตลาด SME เป็นตลาดที่ใหญ่มาก


เราเริ่มตั้งอินเวสทรีในปี 2018 เพราะขณะนั้นมีการออกเกณฑ์ขอรับใบอนุญาตจาก ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการพิจารณานาน 2-3 ปี ทำให้งานแรกของ อินเวสทรี ประเทศไทย คือการขอใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าค่อนข้างยาก เพราะมีกำแพงที่ค่อนข้างสูง แต่สุดท้ายก็สามารถทำได้สำเร็จ


ณัทสุดาเล่าย้อนว่า ในช่วงก่อนได้ใบอนุญาตนั้น ได้รวบรวมเงินทุนของตัวเอง เพื่อมาใช้ในการทดสอบระบบ และปล่อยสินเชื่อไปราว 40 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 14% โดยมีธุรกิจ 2 ราย ที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ จากสถานการณ์ Covid-19 แต่พอร์ตโดยรวมนั้นยังกำไร จากนั้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ได้ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. และเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน โดยตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันอินเวสทรีสามารถช่วยระดมทุนไปแล้ว 37.4 ล้านบาท มีวงเงินหุ้นกู้ที่ได้รับชำระคืนแล้ว 18.7 ล้านบาท และมีวงเงินหุ้นกู้ที่อยู่ระหว่างการลงทุน 18.7 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นกู้ที่ระดมทุนได้สำเร็จ 40 โครงการ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5% 



การออกหุ้นกู้บนอินเวสทรีจะคล้ายกับการทำ Factoring ที่เป็นการโอนสิทธิใบ Invoice ซึ่งการทำ Factoring นั้นถือเป็น Pain Point ของ SME หลายๆ ราย อินเวสทรีแก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้ SME เปิดบัญชีร่วมกับอินเวสทรีและมอบอำนาจให้สามารถรับเช็คแทนหรือเปลี่ยนบัญชีโอนเป็นบัญชีร่วม ทำให้สามารถสามารถล็อกเงินก่อนที่จะไปถึง SME เพื่อนำไปจ่ายนักลงทุนก่อน


 

ประเมินความเสี่ยงเข้มข้น

เน้นสร้าง Trust มัดใจนักลงทุน


ณัทสุดากล่าวว่า อินเวสทรี เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ Crowdfunding ที่เปิดให้ธุรกิจสามารถเข้ามาระดมทุนด้วยการใช้ Invoice เพื่อออกหุ้นกู้และเสนอขายกับนักลงทุนในแพลตฟอร์มได้ โดยอินเวสทรีมีหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้ ด้วยทีมงาน Underwriting ระดับหัวกะทิเหมือนธนาคาร เพื่อเน้นการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ให้กับนักลงทุนในแพลตฟอร์ม


 โดยคุณสมบัติของธุรกิจที่จะออกหุ้นกู้นั้นคือ 1. ต้องเป็นนิติบุคคล 2. ทำธุรกิจมาอย่างน้อย 1 ปี 3. อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 4. เป็น Suppliance ของบริษัทใหญ่ ให้วงเงินกู้ 50,000-5,000,000 บาทต่อ 1 Invoice เพื่อเข้าถึงกลุ่ม SME ขนาดเล็กและขนาดกลาง 

ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงนั้น จะดำเนินการเข้มข้นเหมือนกับธนาคาร มีการดูประวัติการทำธุรกิจกับ Supplier ตรวจสอบประวัติ Invoice ย้อนหลัง ประวัติเครดิตบูโร งบการเงิน รายการทำธุรกรรมในบัญชีธนาคาร แบบ ภ.พ. 30 และเจาะลึกไปถึงบิลซื้อและบิลขาย เพราะต้องการทราบกำไรที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกับพันธมิตรอย่าง 2C2ซึ่งเป็นระบบ Payment Gateway ที่มีข้อมูลยอดขายทุกวัน หากลูกค้ายินยอมก็จะสามารถนำข้อมูลนี้มาร่วมวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ โดยอินเวสทรีมีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ การันตีด้วยประสบการณ์ในตลาด SME มากกว่า 30 ปี


ณัทสุดาอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายในการออกหุ้นกู้จะมี 2 ด้านคือ 1. ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม 3-5% ที่เรียกเก็บในตอนแรก 2. ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับนักลงทุน คิดอัตรา 6-26% ต่อปี โดยปัจจุบันอัตราการปฏิเสธผู้ขอออกหุ้นกู้ในแพลตฟอร์มอินเวสทรีอยู่ที่ 50% เพราะแม้ว่า SME จะผ่านเกณฑ์และการตรวจสอบที่เข้มข้นแล้ว ก็ยังถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะ SME คือคนทั่วไป มีการจ่ายบิลช้า งบการเงินไม่ได้มีการตรวจสอบจากบริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก


ดังนั้น เวลาที่นักลงทุนเข้ามาลงทุน จะต้องมีการกระจายลงในหุ้นกู้หลายๆ ใบ โดยอินเวสทรีพยายามทำให้ขั้นต่ำของการลงทุนนั้นต่ำจริงๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ได้


เป้าหมายของเราคือ อยากให้คนทั่วไปที่มีเงินเพียงแค่ 500 บาท ก็สามารถลงทุนใน Crowdfunding ได้ แต่ตอนนี้ยังไปถึงจุดนั้นไม่ได้เพราะต้นทุนระบบยังสูง ดังนั้น จึงกำหนดขั้นต่ำให้ผู้ลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนหลังจากหักภาษีและค่าโอน นอกจากนี้ อินเวสทรียังมีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ทุกใบที่ออก หากหุ้นกู้ตัวไหนไกล้หมดเวลาแล้วยังขายไม่หมด เราจะเข้าไปซื้อเอง เพราะเราจะไม่ขายอะไรที่เราไม่มั่นใจ โดยอินเวสทรีเขียนไว้ใน Fact Sheet เพื่อให้นักลงทุนทราบอย่างชัดเจน


สำหรับเกณฑ์ของผู้ลงทุนนั้น ประกอบด้วย 1. อายุ 21 ปีขึ้นไป 2. สามารถรับความเสี่ยงได้ 3. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการลงทุนใน Crowdfunding หากผ่านเกณฑ์นี้ทั้งหมดก็สามารถเข้ามาลงทุนในแพลตฟอร์มอินเวสทรีได้

 

โดยขั้นตอนการระดมทุนจะเริ่มจาก มีผู้สนใจขอออกหุ้นกู้ ยื่นเอกสารเข้ามา และผ่านเกณฑ์ตรวจสอบความเสี่ยงแล้ว ทีมอินเวสทรีจะยื่นข้อเสนอที่ระบุค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย หากยอมรับข้อตกลง อินเวสทรีจะนำข้อมูลธุรกิจใส่ใน Factsheet และโพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ จากนั้นจะมีอีเมลแจ้งไปยังนักลงทุนว่า จะมีหุ้นกู้ตัวใหม่เสนอขาย และเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาดูข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุน ซึ่งนักลงทุนจะสามารถเลือกได้เองว่าจะลงทุนในธุรกิจไหน


การออกหุ้นกู้บนอินเวสทรีจะคล้ายกับการทำ Factoring ที่เป็นการโอนสิทธิใบ Invoice ซึ่งการทำ Factoring นั้นถือเป็น Pain Point ของ SME หลายๆ ราย เนื่องจากบริษัทใหญ่หลายแห่งกำหนดไม่ให้ SME นำใบ Invoice ไปทำ Factoring โดยอินเวสทรีแก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้ SME เปิดบัญชีร่วมกับอินเวสทรีและมอบอำนาจให้สามารถรับเช็คแทนหรือเปลี่ยนบัญชีโอนเป็นบัญชีร่วม ทำให้สามารถสามารถล็อกเงินก่อนที่จะไปถึง SME เพื่อนำไปจ่ายนักลงทุนก่อน ส่วนที่เหลือถึงจะคืนให้ SME”


            

ตลาดนี้คือชายหาดไม่ใช่ Sandbox

ตั้งเป้า 5 ปีช่วยระดมทุน 15,000 ล้าน


ณัทสุดากล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการที่ได้ใบอนุญาตให้บริการ Crowdfunding ทั้งหมด 5 ราย โดยรายล่าสุดที่ได้รับใบอนุญาต คือบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ซึ่งการเข้ามาในตลาด Crowdfunding ของบริษัทหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า แอเรียนี้เป็นชายหาด ไม่ใช่ Sandbox แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ เมื่อรายใหญ่เข้ามาแล้ว จะทำอย่างไรให้สามารถมีเครื่องมือที่สามารถแข่งขันได้

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ให้บริการ Crowdfunding รวมตัวกัน และจดหมายไปยัง ก.ล.ต. เพื่อขออนุญาตให้แพลตฟอร์ม Crowdfunding สามารถทำหน้าที่เป็น Custodian ของหุ้นกู้ที่ออกโดยแพลตฟอร์มของตัวเอง และขอเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ในกรณีที่ SME มีสินทรัพย์ที่ต้องการค้ำประกัน เช่น กรรมการต้องการค้ำประกัน ซึ่งทำให้ต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ 


การที่มีบริษัทหลักทรัพย์ จำกัด มหาชน เข้ามาเล่นในตลาดนี้ ทำให้อำนาจการแข่งขันไม่เท่ากัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้ให้บริการ Crowdfunding ร้องขอไปยัง ก.ล.ต คือการมีเครื่องมือต่างๆ ที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่ง ก.ล.ต ก็กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเราไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นวิกฤติแต่มองเป็นโอกาส ในเมื่อรายใหญ่เข้ามา แค่มีเครื่องมือให้รายเล็กแข่งขันได้ก็พอ เพราะการที่ฟินเทคจะช่วยสังคมได้ ต้นทุนจะต้องต่ำ เพื่อนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ถูกลงให้กับผู้บริโภค


ณัทสุดากล่าวว่า สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจนั้น อินเวสทรีตั้งเป้าว่าจะสามารถช่วยธุรกิจ SME ระดมทุนได้ 15,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี และในเชิงธุรกิจก็ต้องการให้มีกระแสเงินสดเป็นบวกภายใน 3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเป้าที่ค่อนข้าง Aggressive ส่วนจะไปถึงการ IPO หรือไม่นั้นยังไม่ได้คิดขณะนี้ แต่เชื่อว่าหากสามารถทำระบบและสร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ดี โฟกัสไปที่ประสบการณ์ของนักลงทุนและธุรกิจ SME โอกาสเหล่านั้นก็จะมาถึงในไม่ช้า


แน่นอนว่าเราทำสตาร์ตอัพก็ต้องอยาก exit แต่ถ้าเราตั้งเป้าที่การ exit ก็จะทำให้เราทำปัจจุบันได้ดีไม่พอ ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาบอกได้ว่า หากเราพยายามและทำสิ่งนั้นได้ดีพอ โอกาสที่ดีจะเข้ามาหาเราเอง


นอกจากนี้ อินเวสทรีจะมุ่งเน้นด้านการสร้างพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีความร่วมมือกับ Flow Account, 2C2และพันธวณิช ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มห้างสรรพสินค้า ที่มีมาตรการออกมาช่วย Supplier โดยการสร้างพันธมิตรถือเป็นแผนงานสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของอินเวสทรีเพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ลูกค้าที่มาจากพันธมิตรเป็นลูกค้าที่ดี และอินเวสทรีก็สามารถเป็น 1 ในเครื่องมือสนับสนุนให้ระบบซัพพลายเชนขององค์กรธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

            

 

ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกันยายน 2564 ฉบับที่ 473 

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi