People : ธวัชชัย อิงบุญมีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท เวลธิเทคฟิน จำกัด
ธวัชชัย อิงบุญมีสกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง
บริษัท เวลธิเทคฟิน จำกัด
ยกระดับบริการสินเชื่อ
แก้ไขปัญหาสุขภาพการเงิน
“WEALTHI ต้องการช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินให้กับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ พร้อมกับการให้ความรู้ทางการเงินไปในตัวเราเชื่อว่าด้วยแนวคิดนี้ จะทำให้คนที่มีปัญหาทางด้านการเงินอยู่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาได้อย่างแท้จริง”
หากกล่าวถึง “การเข้าถึงบริการด้านการเงิน” หลายคนอาจคุ้นเคยกับการใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์
ไม่ว่าจะเป็นบริการ ฝาก ถอน โอน ขอสินเชื่อ
ซึ่งในปัจจุบันผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น
สาขาธนาคาร โมบายล์แอปพลิเคชั่น และ Banking Agent ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ใช้อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้
เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านคุณสมบัติต่างๆ เช่นไม่มีบัญชี ไม่มีเงินฝาก
ไม่มีสเตตเมนต์ซึ่งทำให้ธนาคารไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้สินเชื่อได้
การเงินธนาคารได้สัมภาษณ์
ธวัชชัย อิงบุญมีสกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท เวลธิเทคฟิน
จำกัดผู้ให้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์ผ่านแอปพลิเคชั่น “WEALTHI” ที่ได้รับใบอนุญาตแก้ปัญหาสินเชื่อรายย่อย
หรือ Pico Financeจากกระทรวงการคลังโดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือผู้คนในวงกว้าง
โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนให้สามารถเข้ามาอยู่ในระบบได้
แก้ปัญหาความรู้ด้านการเงิน
คือหัวใจหลักของ WEALTHI
ธวัชชัยเล่าถึงที่มาของแนวคิดในการสร้างแอปพลิเคชั่น
WEALTHI ว่า
หลังจากเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองบอสตันประเทศอเมริกา ตั้งแต่ปี2011-2016
โดยทำงานด้านคอร์ปอเรตไฟแนนซ์ระหว่างนั้นก็เริ่มศึกษาการเขียนโค้ดเกี่ยวกับฟินเทค
พร้อมประยุกต์ไอเดียจากที่ทำงานมาใช้กับเรื่องการเงินส่วนบุคคล
“ช่วงที่ไปอเมริกาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในบอสตัน
5 ปี จึงกลับมาประเทศไทยเพื่อทำ WEALTHI
ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คนในปี 2015
โดยมีแนวคิดว่าต้องการลดต้นทุนทางการเงินให้กับคนไทยและช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง
หากคนไทยยังมีต้นทุนทางการเงินสูงก็แข่งขันกับต่างประเทศได้ลำบาก”
ธวัชชัยบอกว่า เป้าหมายเริ่มต้นของ WEALTHI คือการช่วยเหลือพนักงานโรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินได้
โดยมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการที่บ้านอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน
ซึ่งกลุ่มพนักงานโรงงานส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ และขาดความรู้ทางการเงิน
เขาจึงเริ่มศึกษาด้วยการสอบถามข้อมูล แล้วค่อยๆต่อยอดข้อมูลเหล่านั้นไปถึง เฟซบุ๊ก
อีเมล์ หรือข้อมูลใดก็ตามที่สามารถระบุตัวตนได้
“เราพบว่าPain Point สำคัญไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินไม่ได้
แต่ยังมีเรื่องความรู้ทางการเงิน
เพราะคนกลุ่มนี้ใช้บริการหนี้นอกระบบเป็นประจำจนไม่รู้สึกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่นั้นแพงเกินไป
เช่น พนักงานโรงงานไปขอกู้หนี้นอกระบบเป็นจำนวน 5,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 20%
ต่อเดือน ซึ่งในมุมของพนักงานถ้าไม่รีบใช้คืน ดอกเบี้ยก็แค่เดือนละ 1,000
บาทซึ่งดูเหมือนจะไม่มากอะไร แต่ในความเป็นจริงคืออัตราดอกเบี้ย 20%
ต่อเดือนนั้นคือ 240% ต่อปี ถือว่าสูงมาก
หากเทียบกับผลตอบแทนที่สามารถหาได้จากการลงทุนทั่วไป”
ธวัชชัยกล่าวว่า ด้วย Pain Point ของผู้ใช้ทั้ง
2 ข้อ จึงเป็นที่มาของแอปพลิเคชั่น “WEALTHI” ซึ่งเป็นแอปฯสินเชื่อที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการเงิน
ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบปกติได้
โดยภายในแอปฯยังมีการให้ความรู้ทางด้านการเงินควบคู่ไปด้วย
ผู้ใช้สามารถเข้าไปศึกษาและรับ Point
เพื่อนำมาใช้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อในแอปฯได้อีกด้วย
“WEALTHI ต้องการช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินให้กับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ
พร้อมกับการให้ความรู้ทางการเงินไปในตัว เราเชื่อว่าด้วยแนวคิดนี้
จะทำให้คนที่มีปัญหาทางด้านการเงินอยู่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาได้อย่างแท้จริง”
ใช้ AI บริหารความเสี่ยง
สร้างความเชื่อมั่นด้วยบริการที่แตกต่าง
ธวัชชัยกล่าวว่า ธุรกิจสินเชื่อ Pico Finance เป็นธุรกิจที่ต้องรับความเสี่ยงค่อนข้างสูง
ดังนั้น WEALTHI จึงมีการตั้งทีมบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะ
มีทีมเรียกเก็บหนี้ภายในและภายนอก ลดโอกาสการเกิดหนี้เสียให้น้อยที่สุด
WEALTHI มีการสัมภาษณ์ลูกค้าผ่านระบบวิดีโอคอล
และใช้ AI ในการวิเคราะห์ว่ามีกิริยาท่าทาง
ที่ตรงลักษณะที่จะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ โดยอิงจากข้อมูลเชิงสถิติ
โดยระบบนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2018 แต่ในขณะนั้น กลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดยังไม่มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นทางเทคโนโลยีทำให้การสื่อสารผ่านวิดีโอคอลไม่สะดวกมากนัก
แต่ในปัจจุบันเครือข่าย4G
ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วถึง
การสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอจึงถูกนำมาใช้จริง
“การตรวจเอกสารทั่วไปก็ยังมีอยู่เช่น
รายรับรายจ่ายสอดคล้องกับสเตตเมนต์ในธนาคาร แต่จะมีการนำข้อมูลแบบ Alternative Data เข้ามาช่วยระบุเกณฑ์ความเสี่ยงด้วย
ตัวอย่างเช่น จำนวนคนรอบตัวของลูกค้า
โดยจะดูจากรายชื่อเบอร์มือถือในเครื่องของลูกค้าว่ามีเยอะหรือไม่
การสื่อสารกับคนอื่นในสังคมมีลักษณะแบบใด จนถึงบันทึกการโทรเข้าโทรออกของลูกค้า
หากมีประวัติไม่ค่อยรับสายเบอร์แปลก ก็อาจประเมินได้ว่ามีความเสี่ยงสูง
แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ชี้ชัดเจน
เพราะข้อมูลทั้งหมดจะต้องถูกประมวลผลรวมกันและออกมาเป็นคะแนนความเสี่ยง”
ธวัชชัยกล่าวว่า
ข้อมูลทั้งหมดจะถูกวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ที่ WEALTHI พัฒนาขึ้นมาให้รองรับกับพฤติกรรมคนไทยโดยเฉพาะ
เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การใช้โปรแกรมหรือ AI จากต่างประเทศจึงไม่ค่อยเหมาะสมเท่ากับการพัฒนาขึ้นมาเอง
“ในช่วงแรกเราทดลองจ้างบริษัทต่างประเทศเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลให้
แต่พบว่าไม่ค่อยเหมาะสม เช่นในเรื่องระยะเวลาที่ลูกค้ารับเงิน
ในต่างประเทศพนักงานโรงงานอาจจะรับเงินเป็นรายสัปดาห์ แต่ของประเทศไทยรับเงินทุก
15 วัน ดังนั้นถ้าลูกค้ามาขอสินเชื่อในวันที่ 16 แปลว่าเริ่มมีปัญหาด้านการเงิน
แต่หากใช้โมเดลของต่างประเทศก็จะได้ผลเป็นอีกแบบหนึ่ง”
ธวัชชัยอธิบายว่า เมื่อลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น
WEALTHI จะต้องทำการยืนยันตัวตนในเบื้องต้นก่อน
ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีจากนั้นจะต้องส่งเอกสารเพื่อทำ eKYC ซึ่งกระบวนการหลังจากขั้นตอนส่งเอกสารจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของเอกสารที่ลูกค้าส่งมา
หากส่งเอกสารครบจะสามารถทราบผลใน24 ชม. และได้รับเงินภายใน 48 ชม.
สำหรับลูกค้าที่ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้จะใช้การคำนวณCredit Scoring จากผู้แนะนำ
โดยในขั้นตอนที่ลูกค้าสมัครขอยื่นสินเชื่อจะมีช่องให้กรอกข้อมูลว่ารู้จัก WEALTHI จากช่องทางใด
หากผู้แนะนำมีเครดิตที่ดี ก็มีแนวโน้มว่าลูกค้าที่กำลังขอสินเชื่ออยู่จะมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน
ในอนาคตWEALTHI มีแผนที่จะพัฒนาการรับลูกค้าให้เปิดกว้างมากขึ้นโดยจะไม่เก็บเอกสารสำหรับคนที่ไม่มีเอกสารจริงๆ
แต่จะใช้ระบบผู้แนะนำ ซึ่งระบบนี้มีความคล้ายกับผู้ค้ำประกัน โดยผู้แนะนำที่WEALTHI มองไว้คือผู้นำทางสังคม
เช่นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือเป็นลูกค้าที่มีเครดิตที่ดี
โดยผู้แนะนำจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น การยืดระยะเวลาการชำระหนี้
หรือลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นค่าแนะนำ
“อาชีพที่ไม่สามารถหาเอกสารยืนยันรายได้
เช่น คนถีบสามล้อ หรือวินมอเตอร์ไซค์ อาชีพเหล่านี้มักมีรายได้จากการรับเงินสด
หากผู้นำชุมชนแนะนำWEALTHI
ให้กับอาชีพเหล่านี้
คอยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรับบริการทางเงินให้คนกลุ่มนี้ได้
อนาคตก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บเอกสารอีกต่อไป”
สำหรับเกณฑ์การให้สินเชื่อนั้น WEALTHI ทำงานภายใต้ใบอนุญาต Pico Finance จากกระทรวงการคลัง
สามารถให้วงเงินกู้สูงสูดไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 15-36% ต่อปี
โดยจะให้วงเงินตามความเสี่ยง
หากลูกค้าไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันก็จะเริ่มจากวงเงินขนาดเล็กแล้วปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมลูกค้า
แต่ถ้าเป็นสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อซื้อยานพาหนะ ก็จะมีเกณฑ์พิจารณาอีกแบบหนึ่งซึ่งสามารถให้วงเงินได้สูงกว่าสินเชื่อแบบปกติ
ธวัชชัยกล่าวต่อว่าภายในแอปพลิเคชั่น WEALTHI ยังมีคลังความรู้ด้านการเงินให้ลูกค้าเข้าไปหาความรู้เพิ่มได้
ซึ่งการเข้าไปหาความรู้จะมีผลกับการวิเคราะห์ Credit Scoring ของลูกค้าด้วย โดยระบบจะคำนวณจากหลัก ABC คือ 1. Application ข้อมูลพื้นฐานของลูกค้า 2. Behavior พฤติกรรมด้านการเงินของลูกค้า
เช่น การออมเงิน เวลาที่ใช้หาความรู้ภายในแอปฯ 3. Collection ระยะเวลาที่ลูกค้าชำระเงินกู้
ต้องมีการทวงถามมากน้อยแค่ไหน มีการจ่ายก่อนกำหนดหรือไม่
ในช่วงแรกกลุ่มลูกค้าหลักของ WEALTHI คือพนักงานโรงงาน
ก่อนขยายไปสู่กลุ่มพนักงงานออฟฟิศ ปัจจุบัน WEALTHI มีลูกค้าประมาณ 10,000 ราย
ให้บริการสินเชื่อหมุนเวียนรวมกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันมีลูกหนี้คงค้างอยู่ 20 ล้านบาท และมี NPL 10% ในอนาคตWEALTHI มีแผนต่อยอดการให้บริการไปสู่การทำ Micro Insurance เน้นจ่ายเบี้ยประกันไม่ถึงปีละ
100 บาทแต่ให้ความคุ้มครองได้ในมากกว่า 100,000 บาท
“WEALTHI เข้าใจความต้องการที่แท้จริงและพร้อมช่วยลูกค้าทุกคน
เรามีสินเชื่อที่คู่แข่งไม่มี เช่น สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
หรือสินเชื่อยาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก
แต่เรามองว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้สินเชื่ออาจเสียชีวิตได้หากไม่มีค่ารักษา
ด้วยแนวคิดและความแตกต่างนี้ ทำให้ WEALTHI เชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต”
ซุ่มลับคมในฝัก
เตรียมชัก DeFi สู้อนาคต
ธวัชชัยกล่าวว่า อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ WEALTHI กำลังศึกษาอยู่คือการนำเทคโนโลยี
Decentralized Finance หรือ DeFi เข้ามาใช้ในธุรกิจ
เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมและคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการเงินในอนาคต
ปัจจุบัน DeFi นั้นถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
คนที่รู้จักและใช้งาน DeFi ยังมีไม่มากแต่ในทางเทคนิคแล้ว DeFi สามารถช่วยลดต้นทุนทางการเงินและมีความเหมาะสมกับธุรกรรมการเงินหลายรูปแบบทำให้ขณะนี้
WEALTHI เริ่มเข้ามาศึกษาโมเดลธุรกิจที่มีความเกี่ยวพันกับการใช้
DeFi แล้ว
โมเดลที่กำลังศึกษาอยู่คือการปล่อยกู้โดยใช้คริปโทเคอร์เรนซี่มาวางเป็นหลักประกัน ซึ่ง WEALTHI จะนำคริปโทฯนั้นไปสร้างผลกำไรต่อ รวมถึงได้รับดอกเบี้ยจากการกู้ด้วย กระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นผ่าน Smart Contract ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ในขั้นทดลองเขียนโค้ดและศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ในอนาคต โดย WEALTHIมองว่า DeFiเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจ Pico Finance
ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ฉบับที่ 470 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi