People : ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปิติ ดิษยทัต
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ยึดแก่นเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง
“แก่นของนโยบายการเงินคือ การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน พันธกิจที่ยึดถือยังคงอยู่ แต่มีความท้าท้ายมากขึ้นจากโครงสร้างของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย บทบาทของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร แพลตฟอร์มใหม่ๆ เริ่มมีมากกว่าเดิม บริบทต่างๆ เปลี่ยนผ่านค่อนข้างเร็ว ซึ่งภาคการเงินคือข้อต่อแรกที่จะส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจจริง นโยบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนตามพลวัตใหม่”
ในเดือนกรกฎาคม 2564
คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารใหม่หลายตำแหน่ง
โดยหนึ่งในนั้นได้เลื่อนตำแหน่ง ปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการอาวุโส
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาเป็น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย
“เป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่นี้
การรับหน้าที่นี้เป็นความท้าทายแต่ก็ภูมิใจที่ได้เข้ามาช่วยแก้โจทย์ต่างๆ
จากมุมมองที่ได้ประสบการณ์ในต่างประเทศ
เรื่องนโยบายการเงินเป็นหัวใจของงานวิจัยที่ได้ทำมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วการได้กลับมาทำหน้าที่นี้จึงเป็นโอกาสที่ดี
ซึ่งอาจจะต่างจากการทำงานวิจัยเพราะมีหน้าที่เชิงบริหารมากขึ้น
ต้องมองทิศทางไปข้างหน้าและปรับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสม”
โดยก่อนหน้านี้ ปิติ
เคยมีประสบการณ์ในหลายฝ่ายภายใน ธปท. ทั้งในด้านนโยบายการเงิน เสถียรภาพทางการเงิน
ตลาดการเงิน บริหารความเสี่ยงทางการเงิน และบริหารเงินสำรอง
ซึ่งก่อนที่เขาจะกลับมาปฏิบัติงานที่กับ ธปท. ในปี 2544
ปิติ เคยเป็นเศรษฐกรประจำอยู่ที่ International Monetary Fund (IMF) เป็นเวลา
2 ปี และได้ไปปฏิบัติงานที่ Bank for
International Settlements (BIS) ในฐานะนักวิจัยอาวุโส
ปิติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Princeton
University ซึ่งได้รับทุนต่อยอดจาก
ธปท.หลังจากจบระดับปริญญาตรีจาก Australian National University (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
และเป็นผู้ได้รับรางวัล “ป๋วย อึ๊งภากรณ์
สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น” ประจำปี 2554 ซึ่งเขาเป็นผู้ที่มีงานวิจัยที่โดดเด่นมากมาย
“ชอบเศรษฐศาสตร์อยู่พอประมาณ
ตอนที่เรียนก็คิดว่าได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่
จนเมื่อเริ่มเรียนปริญญาเอกก็อินกับเรื่องเศรษฐศาสตร์มากขึ้น
ประกอบกับเกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
หรือ ต้มยำกุ้งในประเทศไทยในตอนนั้นพอดี
ทำให้เห็นความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค”
ปิติ
เล่าถึงประสบการณ์ในการร่วมงานกับ IMF ว่า หลังจากเรียนจบก็ได้ขอ
ธปท.ไปทำงานที่ IMF ซึ่งเป็นการเริ่มต้นทำงานที่เหมือนโยนลงไปในสระน้ำลึก
ได้รับความรับผิดชอบที่กว้างและลึกต้องอาศัยการเรียนรู้ที่เร็วมาก เพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในหลายๆ
ประเทศ โดยได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ที่โปรตุเกสและไซปรัส
ตอนนั้นในฐานะเด็กจบใหม่ แต่ต้องทำหน้าที่นำการประชุมกับระดับรัฐมนตรีของที่นั่น
“ความยากลำบากของการทำหน้าที่ในฐานะคนจาก IMF
คือ ในการลงพื้นที่แต่ละประเทศต้องสร้างคุณค่าในการให้คำแนะนำแก่แต่ละประเทศ
เพราะแน่นอนว่าแต่ละประเทศย่อมรู้จักสถานการณ์ของตัวเองดีอยู่แล้ว
แต่จะทำอย่างไรที่จะแสดงความเห็นโดยไม่เป็นการทำว่ารู้ดีกว่า
แต่เป็นการแสดงในความเห็นมุมต่างเป็นข้อมูลเสริมให้กับแต่ละประเทศ”
เข้าสู่ปีที่ 2
ในชีวิตทำงาน ปิติได้เข้าไปร่วมงานกับฝ่ายวิจัยใน IMF ที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างประเทศ
โดยโอกาสจากการทำงานใน IMF ทำให้เขาสั่งสมประสบการณ์และวิชาการมาอย่างต่อเนื่องก่อนจะกลับมาทำงานที่
ธปท.และได้ทำงานในหลายๆ ส่วนงาน ทั้งในด้านนโยบายการเงิน เสถียรภาพทางการเงิน
ตลาดการเงิน บริหารความเสี่ยงทางการเงิน และ บริหารเงินสำรอง
ก่อนจะไปปฏิบัติงานที่กับ BIS
“งานใน BIS มีความแตกต่างจาก
IMF ค่อนข้างมากเพราะต้องดูในภาพรวมทั้งประเทศ
ทั้งภาคการคลัง นโยบายการเงิน นโยบายสาธารณะ ปฏิรูปโครงสร้าง ตลาดแรงงาน เพราะ BIS
เน้นเรื่องธนาคารกลางและนโยบายการเงิน
ขอบเขตการทำงานจะโฟกัสไปที่นโยบายการเงิน เสถียรภาพทางการเงิน ระบบการชำระเงินด้วย
ทำให้ได้ลงลึกมากกว่าเหมือนถูกส่งไปอยู่บนเวทีวิชาการท่ามกลางหัวกะทิแนวหน้า
จึงต้องมีทักษะเชิงวิชาการ และรู้ให้ลึกเพื่อสามารถตอบโต้กับพวกเขาได้”
โจทย์นโยบายการเงิน
กับความคาดหวัง
หลังจากทำหน้าที่ใน BIS อยู่พักใหญ่
ปิติก็ได้กลับมารับหน้าที่ในสายนโยบายการเงิน
เขาเล่าถึงงานในสายนโยบายการเงินที่เพิ่งได้รับมอบหมายว่า
เป็นส่วนงานที่ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมทางเศรษฐกิจของธนาคารกลาง
ต้องคอยติดตามภาวะเศรษฐกิจต่างๆ เก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจในส่วนที่ ธปท.รับผิดชอบ
เช่น ด้านดุลชำระเงินระหว่างประเทศ ดุลการคลังในบางส่วน แต่สำหรับงานหลักคือ
เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจใน ธปท.
ที่ต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อกับองค์กรด้านเศรษฐกิจในประเทศเกือบทุกองค์กร
ซึ่งหน้างานกว้างมากต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้
ทั้งนี้
ด้วยโครงสร้างขององค์กรในปัจจุบันอาจจะไม่เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
จึงมีความคิดว่า
ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของสายงานนโยบายการเงินในอนาคตเพื่อให้องค์กรมีวิธีการทำงานที่ปรับตัวได้เร็ว
มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ลดลำดับขั้นให้น้อยลง ซึ่งสิ่งสำคัญคือ
คนในองค์กรต้องสามารถมองในภาพใหญ่ให้ออก
และต้องมองต่างมุมเพื่อให้ได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป
“แก่นของนโยบายการเงิน คือ
การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน พันธกิจที่ยึดถือยังคงอยู่
แต่มีความท้าท้ายมากขึ้นจากโครงสร้างของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย
บทบาทของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร แพลตฟอร์มใหม่ๆ เริ่มมีมากกว่าเดิม
บริบทต่างๆ เปลี่ยนผ่านค่อนข้างเร็ว ซึ่งภาคการเงินคือข้อต่อแรกที่จะส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจจริง
นโยบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนตามพลวัตใหม่”
ในยุคปัจจุบันภูมิทัศน์ของผู้ให้บริการทางการเงินเปลี่ยนไปเร็วมาก
ธปท.เองก็ต้องปรับตัวให้อยู่ในโลกใหม่ได้ เกณฑ์กำกับดูแลของ
ธปท.ก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อเส้นแบ่งของธุรกิจทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินเลือนรางไป
ผู้เล่นหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลาย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
เช่น เหรียญดิจิทัลต่างๆ ที่มีความผันผวน
โดยท้ายสุดในฐานะธนาคารกลางต้องทำให้ผู้รับบริการได้ข้อมูลในการตัดสินใจที่เพียงพอและทำให้ความเสี่ยงอยู่ในกรอบที่ดูแลได้
สามารถดูแลเสถียรภาพเชิงระบบได้
ปิติบอกด้วยว่า
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและการเงิน
ก็มีความคาดหวังจากสาธารณชนต่อธนาคารกลางที่เพิ่มขึ้นด้วย
สาธารณชนมีความคาดหวังต่อธนาคารกลางที่มากกว่าเดิม ทั้งเรื่องความเลื่อมล้ำ
เรื่องภาวะโลกร้อน รวมทั้งหวังให้ธนาคารกลางช่วยยกศักยภาพของเศรษฐกิจให้ดีกว่าเดิม
ทั้งที่เครื่องมือของธนาคารกลางตามปกติแล้วจะไม่สามารถทำได้แต่ก็มีความคาดหวัง
“ธนาคารกลางเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้น
แต่เครื่องมือมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นเครื่องมือหลักของธนาคารกลาง
หลายประเทศอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ เช่นเดียวกับในประเทศไทย
จึงไม่ง่ายสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติม”
เงินเฟ้อ-เงินทุนผันผวน
ท้าทายสมดุลเสถียรภาพ
อย่างไรก็ดี
ปัจจัยในระยะข้างหน้าที่จะมีผลต่อแนวนโยบายการเงินคือ อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น
โดยท่าทีของธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มจะนำนโยบายการเงินกลับมาสู่ปกติ
ขณะเดียวกัน ทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น
แม้ว่าเสถียรภาพทางการเงินและภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความเข้มแข็งเป็นกันชนให้เศรษฐกิจไทยได้ดีมาก
แต่ก็ได้ใช้กันชนที่สร้างมาไปในช่วงวิกฤติค่อนข้างมากแล้ว
“ความท้าทายของนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
คือการรักษาสมดุลของปัจจัยต่างๆ ท่ามกลางบริบทต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งเรื่องค่าเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย
และการหนุนเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังฟื้นตัวให้ฟื้นแบบไม่สะดุด รวมทั้งดูแลเสถียรภาพทางการเงินที่ได้ใช้กันชนที่มีไปเยอะแล้ว
การกำหนดนโยบายการเงินจึงต้องมองไปข้างหน้า ต้องดูแลความปกติในสิ่งที่ไม่ปกติ
ต้องสร้างสมดุลในหลายอย่าง แม้พันธกิจยังคงเดิมแต่บริบทเปลี่ยนไป”
ปิติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้
ต้องมีการปรับการสื่อสารของธนาคารกลางต่อสาธารณชนให้มีความโปร่งใสและเพียงพอ
จนสามารถคาดเดาได้ว่าธนาคารกลางจะมีแนวนโยบายในการปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ
เพื่อให้สาธารณชนสามารถเดาถึงนโยบายการเงินในอนาคตได้
“เพราะหากประชาชนมีความเข้าใจในการใช้นโยบายการเงินแล้ว
เมื่อมองไปข้างหน้าจะทำให้สามารถวางแผนได้ เช่น คนวางแผนซื้อบ้านก็คาดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตได้ว่าจะเป็นอย่างไร
การสื่อสารของธนาคารกลางต้องโปร่งใส ไม่ต้องเดาแบบเดิม
การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยต้องชัดเจนว่าขึ้นเพราะอะไร คงที่เพราะอะไร
แล้วจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้คนเข้าใจนโยบาย มองเห็นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ขจัดความไม่แน่นอนออกไป
ผู้ประกอบการเจอกับความไม่แน่นอนเยอะแล้วและไม่ต้องการความไม่แน่นอนในกำหนดนโยบายมาซ้ำเติม”
อย่างไรก็ดี
ในฐานะที่ธนาคารกลางที่เป็นเหมือนที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
การวางบทบาทของธนาคารกลาง และการกำหนดมาตรการบางอย่างจึงต้องชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความสำคัญ
ซึ่งธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือ ทั้งในมุมสาธารณชนและมุมที่รัฐบาลฟังสิ่งที่เสนอ
ธนาคารกลางจึงต้องรักษาความน่าเชื่อถือนั้นไว้
สำหรับประเทศไทยนโยบายการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่มีความจำเป็นต้องได้รับแรงหนุน
เช่นในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้น
ภาวะทางการเงินต้องไม่เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัว
ตามที่เห็นมาตรการทางการเงินที่มีส่วนผ่อนคลายการกำกับธนาคารในการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ
ทั้งนี้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอุปสรรคไม่ได้อยู่กับเรื่องได้สินเชื่อไม่ได้สินเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว
แต่อยู่ที่ภาพรวมของเศรษฐกิจเช่น ภาคท่องเที่ยว การลงทุน
ภาคการเงินเสริมได้เต็มที่ระดับหนึ่ง
แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย
“การร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและหน่วยงานอื่นๆ ที่ผ่านมา มีความราบรื่น สะท้อนจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ที่ต้องผสานกับหลายองค์กร ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี”
ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2565 ฉบับที่ 477
ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร
ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt