ONLINE MAGAZINE

สหรัฐฯ VS จีน เส้นทางสานสัมพันธ์วิบาก 2023

บทความโดย: Admin

การปะพบระหว่างประธานาธิบดี Joe Biden แห่งสหรัฐฯ กับ ประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน ในช่วงการประชุมชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ได้สร้างความหวังให้แก่เวทีการเมืองและเศรษฐกิจโลกว่าสองชาติมหาอำนาจจะสามารถคลี่คลายความขุ่นข้องหมองใจในช่วงที่ผ่านมาลงได้บ้าง

 และน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับศักราชใหม่ 2023 เนื่องจากการพูดคุยใช้เวลานานราว 3 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะครอบคลุมประเด็นร้อนต่างๆ อาทิ กรณีไต้หวัน และ การควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เป็นต้น โดยเนื้อหาสาระการเจรจาระหว่างสองผู้นำโลกไม่ได้เปิดเผยละเอียด แต่คาดกันว่าจะช่วยลดการเผชิญหน้ากันขั้นรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังในเชิงบวก อาจดับสลายลง เพราะปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งกลางเทอม ผลที่ปรากฏก็คือ พรรคริพับลิกันได้ครองเสียงในสภาผู้แทนราษฎร และจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในต้นปี 2023 ท่าทีของพรรคริพับลิกัน ประกาศชัดเจนในกรณีจีน ที่ว่าจะต้องสอดส่องพฤติกรรมของจีนทั้งในแง่เศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

นอกจากนี้ พรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี ที่จะลงสนามแข่งกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2024 ก็น่าจะใช้กรณีจีน เป็นประเด็นหนึ่งในการเรียกคะแนนนิยมมาสู่ผู้สมัครในนามของพรรคอย่างแน่นอน ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือ ทั้งพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครตของรัฐบาล ก็น่าจะเร่งทำผลงานที่แสดงให้คนอเมริกันเห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นชาติมหาอำนาจเบอร์หนึ่ง เหนือกว่าจีน ไม่ว่าจะเป็นในแง่เศรษฐกิจหรือความมั่นคงระหว่างประเทศ

ทางด้านจีน คาดว่า ในปี 2023 จีนน่าจะแสดงท่าทีตอบโต้สหรัฐฯได้ชัดเจนกว่าช่วงที่ผ่านๆ มา จะสังเกตได้ว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ นาง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน ทั้งๆ ที่ทางการจีนไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งในที่สุด รัฐบาลจีน ก็ตอบโต้สหรัฐฯเพียงยุติความร่วมมือระหว่างกันบางเรื่องบางโครงการเท่านั้น แต่หันไปขู่ไต้หวันแทน ด้วยมาตรการซ้อมรบบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับไต้หวัน ส่วนเรื่องที่สหรัฐฯออกมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทคไปยังจีน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ทางการจีนก็ยังไม่ได้ตอบโต้ด้วยมาตรการใดๆ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาล Xi ดูเหมือนเยือกเย็นกับเหตุการณ์เหล่านั้น เป็นเพราะจีนกำลังจะจัดการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ช่วงกลางเดือนตุลาคม และจะมีการแต่งตั้งให้นาย Xi ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสมัยที่ 3 ซึ่งจะมีผลทำให้นาย Xi นั่งเก้าอี้ผู้นำจีนอีกสมัยหนึ่งตามไปด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า นาย Xi ไม่ต้องการทำอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อการประชุมสำคัญครั้งนี้

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากที่นาย Xi ได้รับความไว้วางใจจากพรรคให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศต่อไป ผู้นำ Xi ได้เปิดฉากรายงานกับที่ประชุมหลายประเด็น และที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การย้ำให้ที่ประชุมรับทราบว่า จีนกำลังโดนข่มเหงรังแกทุกวิถีทางจากบางประเทศ เพื่อยับยั้งไม่ให้จีนได้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ นาย Xi จึงเน้นต่อที่ประชุมถึงความจำเป็นที่คนจีนต้องรวบรวมจิตวิญญาณทั้งหมด เพื่อต่อสู้กับแรงต่อต้านเหล่านั้น ด้วยการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันจะนำจีนก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัย มั่นคง และเท่าเทียมกันในที่สุด

ถ้อยแถลงดังกล่าว สะท้อนว่า ในปี 2023 ทางการจีนคงไม่ยอมให้สหรัฐฯใช้ตัวบทกฎหมายกีดกันจีนในรูปแบบต่างๆ เพียงฝ่ายเดียว แต่รัฐบาลจีนน่าจะมีมาตรการตอบโต้ที่สะเทือนสหรัฐฯเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้นำ Xi คงมีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสหรัฐฯมากกว่าที่ผ่านมา ด้วยสถานะประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง การที่นาย Xi ได้เข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติสำคัญติดต่อกัน 2 เวที ได้แก่ G20 และ APEC ได้ตอกย้ำให้ประเทศต่างๆ เห็นความมุ่งมั่นของจีน ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาคมโลกให้น่าอยู่ ไม่ใช่ภัยคุกคามความมั่นคงโลก เหมือนที่บางประเทศหวาดกลัว

 

สหรัฐฯสกัดจีน...ก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยีชั้นสูง

ความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีน ปีนเกรียวกันอย่างชัดเจน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี Donald Trump แห่งพรรครีพับลิกัน ก้าวสู่ทำเนียบขาวปี 2017 ได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อให้จีนลดความเหลื่อมล้ำทางการค้ากับสหรัฐฯอย่างจริงจัง เพราะสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลและต่อเนื่อง แต่ผลการเจรจาเชื่องช้า ไม่ทันใจประธานาธิบดี Trump จึงส่งผลให้สหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นระยะๆ เพื่อกดดันจีนอย่างหนัก ซึ่งทางด้านจีนก็ใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีกับสินค้าสหรัฐฯเช่นกัน จนกลายเป็นสงครามการค้า

สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในสมัยอดีตประธานาธิบดี Trump จึงไม่สดใสแต่อย่างใด ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกอย่างมาก จนกระทั่งสหรัฐฯได้เปลี่ยนผู้นำใหม่ ได้แก่ ประธานาธิบดี Joe Biden แห่งพรรคเดโมแครต ในปี 2021 นักวิเคราะห์ช่วงนั้น คาดว่าความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีน น่าจะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากกว่ายุค Trump

แต่ปรากฏว่า ประธานาธิบดี Biden มีแนวนโยบายเน้นด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะไม่ได้ให้น้ำหนักกับจีนเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯมากนัก แต่กลับมองว่า จีนกำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯและนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เห็นบทบาทสหรัฐฯที่พยายามเข้าไปในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น เพื่อต้องการยับยั้งการแผ่อิทธิพลของจีนในย่านอินโด-แปซิฟิก


ในขณะเดียวกัน ผู้นำ Biden ยังมองอีกว่า มาตรการหนึ่งที่จะใช้บั่นทอนพลังของจีนก็คือ การควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐฯให้แก่จีน เพราะจีนอาจนำไปใช้ในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพแห่งชาติจีน และนำไปใช้เพื่อการสอดส่องความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยในจีนด้วย

ดังนั้น เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯจึงออกคำสั่งควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงให้แก่บริษัทจีนและคนจีนอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีหลายรายการมากสุดเท่าที่เคยมีมา โดยเน้นไปยังเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่จะใช้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI), ซอฟต์แวร์ที่จะนำไปพัฒนาชิป (Chip) ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรไฮเทคที่จะใช้ในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมด อีกทั้งสหรัฐฯยังห้ามผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไฮเทคของประเทศอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังจีนอีกด้วย บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ได้แก่ หมดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯอีกต่อไป

คำสั่งดังกล่าว ย่อมสร้างความไม่พอใจแก่ทางการจีน และก่อให้เกิดความหวั่นวิตกให้แก่บริษัทจีนและบริษัทต่างชาติในจีน ที่ต้องพึ่งพาสินค้าไฮเทคจากสหรัฐฯเป็นชิ้นส่วนประกอบหรือใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าไฮเทคในจีน แต่ถึงกระนั้น ทางการจีนก็ยังไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯตามสื่อของจีน

 โดยเฉพาะนักวิชาการจีนบางคน อาทิ Da Wei ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ The Centre for International Security and Strategy แห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำจีน Tsinghua University ชี้ว่า การกระทำของสหรัฐฯที่ควบคุมสินค้าไฮเทคต่อจีน เป็นแผนการที่สหรัฐฯต้องการทำลายเศรษฐกิจจีน หรืออย่างน้อยก็บางภาคธุรกิจจีน ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของสหรัฐฯแต่อย่างใด แต่น่าจะเป็นความปรารถนาที่สหรัฐฯอยากจะสร้างความเข้มแข็งของตนด้านเทคโนโลยี โดยปราศจากคู่แข่งอย่างจีน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธข้อวิจารณ์เหล่านั้น และเสริมว่า ทางการสหรัฐฯเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญด้านความมั่นคง และจีนมีพฤติกรรมที่พยายามจะจัดระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลกไปสู่แนวทางใหม่ของจีน สหรัฐฯจึงจำเป็นต้องสกัดและควบคุมแผนการพวกนั้น ไม่ใช่เพื่อทำลายล้างเศรษฐกิจจีน

 

ผลกระทบ : สหรัฐฯทำร้ายตัวเอง?

มาตรการควบคุมสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯที่ไม่ให้ส่งออกไปยังตลาดจีน ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกเสียหายแก่ธุรกิจไฮเทคของจีนเท่านั้น แต่ผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มไฮเทคของสหรัฐฯก็เผชิญวิกฤติพอๆ กัน เนื่องจากจีนเป็นตลาดนำเข้ารายสำคัญของสินค้าไฮเทคจากสหรัฐฯ ในรอบปี 2021 จีนได้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐฯ เป็นวงเงินราว 400,000 ล้านดอลลาร์ เช่น บริษัทชั้นนำสหรัฐฯ Intel มีรายได้จากการส่งออกไปจีนเป็นจำนวนเงิน 21,000 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ทั้งหมดของบริษัทมูลค่า 79,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัท Nvidia ของสหรัฐฯที่ผลิตชิปขั้นสูง เพื่อใช้งานเกี่ยวกับพัฒนาศูนย์ข้อมูล ก็ระบุว่า บริษัทเสียหายจากมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทคของรัฐบาลสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ของปี 2022 เป็นต้น

 ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทสหรัฐฯที่ส่งออกเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ผลิตชิปขั้นสูง ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 3 แห่ง ได้แก่ Applied Materials, KLA และ Lam Research ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปยังตลาดจีนอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มสดใส แต่มาตรการของรัฐบาล Biden คาดว่าจะทำให้บริษัททั้งสามต้องสูญเสียรายได้จากตลาดจีนไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราวเกือบ 10% ของยอดขายที่คาดการณ์ไว้ในปี 2022 อีกทั้ง ราคาหุ้นของบริษัทชั้นนำทั้ง 3 ก็ลดลงทั่วหน้า ประมาณ 13-20%

 เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทค โดยเฉพาะชิปขั้นสูงของสหรัฐฯไปยังตลาดจีน ยังมีส่วนซ้ำเติมให้บริษัทผลิตชิปของสหรัฐฯเอง ซึ่งกำลังย่ำแย่จากความต้องการผลิตภัณฑ์ชิปในตลาดสหรัฐฯซบเซา จนทำให้สินค้าขายไม่ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งราคาชิปก็โน้มต่ำลงด้วย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ปรับเปลี่ยนสถานการณ์รวดเร็ว จากที่เฟื่องฟูในช่วงแรกของปี 2022 กลับตาลปัตรเป็นอ่อนแอลงเป็นลำดับเมื่อย่างเข้าสู่กลางปีเป็นต้นมา เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชิปเริ่มล้นตลาด สินค้าไฮเทคที่ใช้ชิปเป็นชิ้นส่วนประกอบต่างมียอดขายชะลอตัวลงชัดเจน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เพราะผู้บริโภคซื้อสินค้าไฮเทคกลุ่มนี้อย่างมากในช่วงล็อกดาวน์โควิดไปแล้ว ทำให้ระยะนี้ ความต้องการลดลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ บริษัทหรือโรงงานที่ต้องใช้ชิปเป็นชิ้นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ตน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ฯลฯ ก็มีการเก็บสต๊อกของชิปเป็นจำนวนมากก่อนหน้านี้ เพราะกลัวปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน จึงประเมินกันว่าในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2022 ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ชิปเป็นชิ้นส่วนประกอบ มีจำนวนสต็อกของชิปสูงกว่าความต้องการใช้แท้จริงถึง 40% จึงทำให้บริษัทต้องทยอยนำสต๊อกเหล่านั้นออกมาใช้ก่อน ส่งผลให้ความต้องการซื้อในปัจจุบันลดลง


ปัญหาของเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นจากด้านอุปสงค์หรือความต้องการของตลาดที่ซบเซาลงเท่านั้น แต่ยังมาจากด้านปริมาณของชิปที่กำลังล้นตลาด และมีแนวโน้มว่าจะท่วมตลาดในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯได้ผ่านกฎหมาย CHIP Act ที่จะให้เงินสนับสนุนโครงการผลิตชิปทุกประเภทในประเทศสหรัฐฯ เงินทุนทั้งหมดมีมูลค่าราว 52,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ บริษัทไฮเทคชั้นแนวหน้าสหรัฐฯหลายแห่ง รวมถึงบริษัทชั้นนำต่างประเทศ ต่างสนใจขยายการผลิตสินค้าไฮเทคในสหรัฐฯ เพราะจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน

วัตถุประสงค์ของรัฐบาลสหรัฐฯก็คือ ต้องการให้อุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ มาปักหลักการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ป้องกันไม่ให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานด้านชิป เกิดขึ้นอีกเหมือนช่วงโควิด

อย่างไรก็ตาม มาตรการบิดเบือนตลาด ด้วยการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทค โดยเฉพาะชิปไปยังตลาดสำคัญอย่างจีน อีกทั้งยังอุดหนุนการผลิตในประเทศอย่างมากของสหรัฐฯ จะทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์ชิปและสินค้าไฮเทคบางรายการมีแนวโน้มล้นตลาด และราคาตกต่ำ ไม่เป็นผลดีแก่บริษัทไฮเทคสหรัฐฯและเศรษฐกิจโดยรวม

 

จีนรับประโยชน์จากมาตรการสหรัฐฯ?

หากพิจารณาผิวเผิน จีนจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯไปยังตลาดจีนอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด เพราะสถานการณ์บีบคั้นเหล่านั้น จะยิ่งเร่งรัดให้ทางการจีน รีบนำประเทศพึ่งพาตัวเองอย่างยิ่งยวด เฉกเช่นที่ประธานาธิบดี Xi ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลจีนจะสนับสนุนทางการเงินเต็มที่ให้แก่บริษัทชั้นนำด้านไฮเทคของตน เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพทางด้าน R&D มากที่สุด จะได้ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแขนงต่างๆ อย่างรวดเร็ว ดังนั้น มาตรการของสหรัฐฯครั้งนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยให้จีนมีพลังขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มพิกัด

ตัวอย่างที่แสดงว่า มาตรการควบคุมสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯไม่ได้ทำร้ายแก่จีนเท่านั้น แต่กลับช่วยให้จีนมีทางออกที่ก้าวหน้าต่อไป เช่น บริษัทไฮเทคชั้นนำ Huawei ที่โดนสหรัฐฯเล่นงานมาก่อนด้วยมาตรการดังกล่าว ด้วยข้อกล่าวหาว่า เป็นภัยความมั่นคง จนบริษัทฯต้องเผชิญวิบากกรรมมากมายจากมาตรการนั้น เช่น ยอดขายของบริษัทลดลงเกือบ 30% ในปี 2021 จากที่เคยทำยอดได้สูงถึง 140,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า อีกทั้งรายได้จากธุรกิจจำพวกเครื่องมือและอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ในช่วง 9 เดือนแรก 2022 ก็ชะลอตัว คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ทั้งหมดในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นราว 6.5%

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ แม้ว่าจะต้องลดบทบาทการเป็นผู้นำทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมแนวหน้าของโลกลง แต่บริษัทได้พัฒนาความร่วมมือใหม่ๆ กับหลายประเทศ ทางด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงภาคการเกษตรด้วย ทำให้ Huawei เข้าสู่ธุรกิจไฮเทคที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อใช้งานเต็มคุณภาพอย่างคุ้มค่าที่สุด

ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงมองว่า ในภาพรวมมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯ ไม่น่าจะสามารถหยุดยั้งจีนจากการเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสหรัฐฯในสนามเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้สำเร็จ และตราบใดที่สหรัฐฯและจีน ยังคงหวาดระแวงซึ่งกันและกัน โอกาสที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน ก็จะยิ่งมีมากขึ้นในปี 2023