ONLINE MAGAZINE

ความมั่นคง “เหนือกว่า” นวัตกรรม

บทความโดย: Admin

บริษัท Ant อาจมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะออกหุ้นและจดทะเบียนในตลาดจีนทั้งสองแห่ง อีกทั้งทางการจีน กำลังพิจารณาออกกฎเกณฑ์ทางการเงินใหม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของกิจการ Fintech หรือ ธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งกิจการ Ant Group ถือว่าเป็นผู้นำทางด้าน Fintech ของจีน จึงควรที่จะชะลอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการออกหุ้นและจดทะเบียนในตลาดไว้ก่อน

 

Jack Ma มหาเศรษฐีแห่งแดนมังกร น่าจะรู้ซึ้งถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า ความมั่นคง เป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ ในช่วงนี้ เพราะเพียงแค่ไม่ถึง 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะได้เวลาการบันทึกประวัติศาสตร์ให้แก่วงการนวัตกรรมและตลาดหุ้นจีน ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ผู้คุมกฎแห่งชาติจีน ได้มีคำสั่งไปยังตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นฮ่องกง ให้ระงับการออกหุ้นของ Ant Group ซึ่งอุตส่าห์เตรียมการเตรียมงานมานานนับปี กะอีแค่ไม่กี่ลมหายใจก็โดนแขวนเสียแล้ว

งานนี้ตะลึงนักลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่สะเทือนไปทั่วแผ่นดินดอกท้อ เนื่องจากการออกขายหุ้นให้แก่สาธารณชนของ Ant Group ไม่ใช่ของเล่นๆ ที่ทำกันแบบจุ๋มจิ๋ม แต่เป็นการนำหุ้นออกขายให้แก่ประชาชนที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก คิดเป็นจำนวนเงินประมาณเกือบ 35,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแซงหน้าเจ้าของสถิติเดิมอย่าง Saudi Aramco กิจการน้ำมันของชาติเศรษฐีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำหุ้นออกขายเป็นมูลค่าราว 29,000 ดอลลาร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว

ว่ากันว่า ตามแผนงานที่มหาเศรษฐี Ma กำหนดไว้ก็คือ จะนำหุ้นของ Ant Group ออกจำหน่ายแก่สาธารณชนในตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ทีมผู้บริหารของ Ant Group รวมถึง นาย Ma ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ Ant Group ได้ถูกเชิญไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Ant Group อีกครั้ง และหลังจากนั้น ความอลเวงก็อุบัติขึ้น เมื่อคณะกรรมการผู้คุมกฎการเงินการธนาคารแห่งชาติจีน มีคำสั่งสายฟ้าแล็บให้ระงับการเปิดตัวการขายหุ้นครั้งยิ่งใหญ่ไว้ก่อน

ด้วยเหตุผลที่ว่า บริษัท Ant อาจมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะออกหุ้นและจดทะเบียนในตลาดจีนทั้งสองแห่ง อีกทั้ง ทางการจีน กำลังพิจารณาออกกฎเกณฑ์ทางการเงินใหม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของกิจการ Fintech หรือ ธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งกิจการ Ant Group ถือว่าเป็นผู้นำทางด้าน Fintech ของจีน จึงควรที่จะชะลอความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการออกหุ้นและจดทะเบียนในตลาดไว้ก่อน เพื่อรอดูกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว

เหตุการณ์เตะตัดขา Jack Ma ของผู้คุมกฎ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วอย่างแน่นอน สำหรับนาย Ma คงต้องซดน้ำใบบัวบกเป็นโหลๆแก้ช้ำในไปพลางๆ เพื่อรอการเจรจากับทางการจีนว่าจะเอาอะไรกันแน่ ความจริง นาย Ma ถือว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงในแดนมังกร และมีความเฉลียวฉลาดเอาตัวรอดจากทางการจีนเป็นอย่างดีมาตลอด พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นเด็กดีของรัฐบาลจีนว่างั้นเถอะ และรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง เมื่อกิจการ Alibaba ซึ่งเป็นธุรกิจค้าออนไลน์ใหญ่สุดในแดนมังกร มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็รู้จักถนอมเนื้อถนอมตัว ด้วยการก้าวออกจากงานบริหารต่างๆ และลดการถือหุ้นลง หันเหไปทำงานด้านการกุศลมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้กิจการ Alibaba เจริญรุ่งเรือง ไร้เรื่องกวนอกกวนใจจากเจ้าหน้าที่ปักกิ่ง

แต่กิจการ Ant Group ซึ่งทำธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่หลากหลาย นาย Ma ยังคงถือหุ้นอยู่ไม่น้อย และมีบทบาทการบริหารจัดการในกิจการเป็นระยะๆ ที่สำคัญและคาดว่าน่าเป็นเหตุให้ทางการจีนเกิดอาการจี๊ดอย่างมากก็คือ การแสดงความคิดเห็นของนาย Ma ที่ชักจะไม่รู้จักเกรงอกเกรงใจผู้คุมกฎเสียแล้ว ก็คือ การไปปรากฏตัวเพื่อโชว์วิสัยทัศน์ทางธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน The Bund Summit ณ นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บางช่วงบางตอนไม่รู้ว่านาย Ma เผลอ เบลอ หรือกำลังมันส์ ได้กล่าวเชิงตำหนิว่า ผู้คุมกฎของจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินมากเกินไป และความอืดอาดล่าช้า ถือว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนานวัตกรรมชองชาติ ธนาคารทุกวันนี้ ทำงานเหมือนโรงรับจำนำ ต้องมีเงินทุนเพียงพอเพื่อปล่อยกู้ ไม่งั้นถือว่าเสี่ยง แถมพวกกฎระเบียบต่างๆ ทางการเงินก็มักจะร่างกันโดยคณะผู้เชี่ยวชาญที่แก่เฒ่าแล้ว ทำให้หมกมุ่นมองแต่เรื่องเสถียรภาพความมั่นคง จนกลายเป็นความล่าช้า ประเทศจีนควรมีคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านนโยบายเทคโนโลยีทางการเงินอย่างแท้จริง

วงการ Fintech ลือกันว่า การโชว์กึ๋นของนาย Ma ครั้งนี้ น่าจะเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้การออกหุ้นและจดทะเบียนชอง Ant Group ในอีก 10 วันต่อมา กลายเป็นการแขวนหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ไปเลย ชาวบู๊ลิ้มเริ่มเข้าใจในคำสอนของรัฐบุรุษ Deng Xiiaoping ที่เปิดประเทศจีนสู่เศรษฐกิจโลกเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ระบุว่า ความร่ำรวยไม่ใช่บาป และ เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ควรใช้อำนาจที่มากับเงินอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่าเข้าไปก้าวก่ายระบบการเงินของประเทศจนเกินไป ตอนนี้ นาย Ma น่าจะพิสูจน์คำกล่าวเหล่านั้นให้เห็นบ้างแล้ว

การชะลอการออกหุ้นของ Ant Group ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลจีนเช่นกัน โดยเฉพาะภาพลักษณ์เสียหายไม่น้อย เนื่องจากการออกหุ้นของ Ant ในตลาดเซี่ยงไฮ้ ได้วางแผนว่าจะนำหุ้นออกจำหน่ายในตลาดที่เรียกว่า STAR ซึ่งทางการจีนอุตส่าห์ป่าวประกาศว่าเป็นตลาดหุ้นคล้ายๆกับ Nasdaq ของสหรัฐฯ เพื่อที่จะได้จูงใจให้บรรดาบริษัทไฮเทคจีนที่ไปจดทะเบียนในต่างแดน ได้กลับมาค้าขายและจดทะเบียนในบ้านเกิดดีกว่า เพื่อความปลอดภัยในท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐฯและชาติพันธมิตรบางกลุ่ม ที่รังเกียจและหวาดระแวงธุรกิจไฮเทคจีน

แต่ที่ไหนได้ เหตุการณ์ของ Ant Group คราวนี้ เล่นเอาธุรกิจไฮเทคอื่นๆ ของบู๊ลิ้มต้องหนาวไปตามๆ กัน เพราะขนาดยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Fintech และมหาเศรษฐี Ma คนที่รวยสุดในจีน ยังโดนสั่งสอนแบบตั้งตัวไม่ติด

ในสายตาของต่างประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่เป็นคู่แข่งกับจีน ดูเหมือนจะแอบดีใจเล็กๆ ที่ทางการจีนรู้จักสอดส่องคุมประพฤติพวก Fintech ของแดนมังกรไว้บ้าง จากงานวิจัยของกูรูการเงินก่อนที่หุ้น Ant Group จะโดนระงับไว้ก่อนนั้น ว่ากันว่า ปริมาณความต้องการซื้อหุ้น Ant มากมายแบบถล่มทลาย เกินจำนวนที่ออกจำหน่ายกว่า 800 เท่า ในตลาดเซี่ยงไฮ้ ส่วนในตลาดฮ่องกง ก็ต้องยุติการเปิดจองก่อนกำหนด เพราะล้นหลามอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพยากรณ์ว่า เมื่อมีการจดทะเบียนในตลาดหุ้นเรียบร้อย คาดว่ามูลค่าหุ้นในตลาดของ Ant Group น่าจะสูงกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือพอฟัดพอเหวี่ยงกับแบงก์ยักษ์สหรัฐฯ JPMorgan Chase และใหญ่กว่าธนาคาร Goldman Sachs ราว 4 เท่า

ไม่ใช่แค่ขนาดของ Ant เท่านั้น ที่ทำให้ซูเปอร์แบงเกอร์อย่าง Jamie Dimon แห่ง JPMorgan ทั้งกังวลและชื่นชม ปรากฏว่าผลงานของ Ant ที่ผ่านมา ก้าวรวดเร็วมากๆ แรกๆก็แค่ให้บริการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นตลาดจีน มีธุรกรรมผ่าน Alipay ประมาณ 16 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี 2019 โดยให้บริการแก่ร้านค้าต่างๆ กว่า 80 ล้านแห่ง

นอกจากนี้ ยังมีบริการด้านสินเชื่อ ด้านการลงทุน และด้านประกันภัยอีกด้วย โดยทั้งหมดอยู่บนแอพริเคชั่นทางสมาร์ทโฟน นาย Jamie Dimon ให้นึกภาพว่าสิ่งดังกล่าวคล้ายๆ กับการเอาธุรกรรมทางการเงินของสหรัฐฯ เช่น  Apple Pay, PayPal, Vemmo, Mastercard, iShares และ JPMorgan Bank ไว้ในแอปเดียวในมือถือ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในระบบการเงินการธนาคารสหรัฐฯขณะนี้ แต่ Ant Group ได้มีให้บริการ Fintech กับคนจีนเกือบครบวงจรเรียบร้อยแล้ว

Ant Group เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2004 โดยอยู่ในสังกัดของบริษัท Alibaba ซึ่งตอนนั้นรู้สึกปวดประสาทมากที่การค้าขายออนไลน์ของ Alibaba เพื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ แต่การชำระเงินระหว่างลูกค้ากับร้านค้าดันติดๆ ขัดๆ ไม่สะดวก ทำให้ Jack Ma หาทางออกด้วยการสร้างแอปชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ทำให้การค้าขายคล่องตัวและรวดเร็ว โดยบริษัทคิดค่าบริการต่ำมากๆ แค่ 0.1% ต่อการชำระเงินหนึ่งครั้ง ซึ่งถูกกว่าการรูดบัตรเดบิทของธนาคาร แต่ด้วยปริมาณการซื้อขายออนไลน์ของ Alibaba เพิ่มพูน จึงทำให้เม็ดเงินจากรายได้กลุ่มนี้เป็นกอบเป็นกำ โดยในปี 2017 รายได้จากบริการชำระเงินออนไลน์มีสัดส่วนประมาณ 55% ของรายได้ทั้งหมดของ Ant และในช่วงครึ่งปีแรก 2020 มีสัดส่วนราว 36% ของรายได้ทั้งหมด

ด้วยข้อมูลของลูกค้าที่ผ่านระบบชำระเงินออนไลน์มีปริมาณมหาศาล ย่อมกลายเป็นขุมทรัพย์อันมีค่าให้แก่ Ant Group อย่างมาก ทำให้บริษัทก้าวสู่ธุรกิจสินเชื่อ โดยให้เครดิตแก่ร้านค้าที่ต้องการหมุนเงิน หรือ ลูกค้าที่ต้องการชำระเงินเป็นรายงวด เป็นต้น โดย Ant จะมีข้อมูลที่สามารถใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วยประมวลผลการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าว่าสมควรปล่อยกู้หรือไม่ และควรปล่อยกู้เท่าไหร่ ซึ่งทำให้ธุรกิจสินเชื่อของ Ant สะดวกรวดเร็วผ่านแอปเพียงไม่กี่นาทีก็รู้ผลว่าจะได้กู้หรือไม่

ต่อมา Ant พยายามชวนธนาคารมาร่วมเป็นพันธมิตร ช่วยกันปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้า โดย Ant จะทำหน้าที่หาลูกค้าสินเชื่อ ประเมินความเสี่ยงให้เรียบร้อย ส่วนธนาคารก็มีหน้าที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกค้ารายนั้นๆ โดย Ant ได้ค่าตอบแทนจากธนาคารในรูป ค่าธรรมเนียมบริการเทคโนโลยี” ซึ่งลูกค้าเหล่านั้นจะเป็นทรัพย์สินของธนาคาร โดย Ant ไม่เกี่ยวข้องอีกแล้ว พูดง่ายๆก็คือ ทำหน้าที่เป็นช่องทางให้ลูกค้ากับธนาคารได้เจอกันนั่นเอง ซึ่ง Ant มีสัดส่วนของรายได้จากธุรกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ในช่วงครึ่งปีแรก 2020 อยู่ที่สัดส่วนราว 39% ของรายได้ทั้งหมดของ Ant สังเกตให้ดีๆว่าเริ่มมากกว่ารายได้จากบริการชำระเงินออนไลน์

การที่ Ant เข้าไปทำธุรกรรมด้านการเงินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยใช้ความได้เปรียบของข้อมูลจากลูกค้าจำนวนมหาศาล ก็ยังไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะทำให้ทางการจีนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ทางการจีนต้องมีการร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับ Fintech อย่างเร่งด่วน ก็เพราะมองการทำธุรกรรมสินเชื่อของ Ant กับธนาคาร ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าที่ควร ในแง่การแชร์ความเสี่ยง เพราะธนาคารจะเป็นฝ่ายปล่อยเงินกู้ทั้งหมด โดย Ant กินค่าหัวคิวเท่านั้น ถ้าเกิดความเสียหายจากลูกหนี้ขึ้นมา แบงก์ก็ต้องรับผิดชอบเต็มๆ ถึงแม้ Ant จะอ้างว่าระบบการประเมินความเสี่ยงของบริษัทเป็นเลิศก็ตาม แต่ทางการจีนไม่อยากเอาเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคารของประเทศ ฝากไว้กับระบบปัญญาประดิษฐ์ของ Ant เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวโน้มว่า กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับ Fintech อาจมีการระบุถึงเรื่องการปล่อยสินเชื่อร่วมกับธนาคาร โดย Ant อาจต้องควักกระเป๋าปล่อยกู้ร่วมด้วยราว 30% ของวงเงินกู้รายนั้นๆ และอาจจำเป็นต้องมีการเพิ่มเงินกองทุนของ Ant ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยเทียบเท่ากับระบบธนาคารทั่วไป ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จริงๆ จังๆ คงจะได้เห็นก่อนสิ้นปี 2020 ทั้งนี้ ผู้คุมกฎมองว่าระเบียบใหม่เป็นการแชร์ความเสี่ยงร่วมกัน แต่ในสายตากูรูการเงินมองว่า ทางการจีนยังคงให้ความสำคัญกับระบบการเงินการธนาคารแบบดั้งเดิม จึงไม่ต้องการให้พวก Fintech เข้ามายุ่มย่ามเอาเปรียบจนเกินไป ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีน ได้ชื่อว่าสนับสนุนระบบการเงินดิจิทัลอย่างเต็มตัวก็ตาม

ส่วนอาณาจักรทางการเงินของ Ant Group ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเช่นกันก็คือ การให้บริการบริหารจัดการสินทรัพย์ผ่านออนไลน์ (InvestmentTech) และ การให้บริการประกันภัยในรูปแบบต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ (InsureTech) ทั้งนี้ ปริมาณข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าที่ Ant Group ครอบครองไว้ สามารถนำมาวิจัยและให้คำปรึกษาแนะนำลูกค้าได้อย่างเหมาะสมว่าควรลงทุนอะไร แบบไหน ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ที่อยู่ในระดับเฉลี่ยราวๆ 1.7% เท่านั้น ปัจจุบัน มีบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์มาวางในแอปของ Ant เพื่อให้ลูกค้าได้ลงทุนราว 170 บริษัท โดยมีผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนมากกว่า 6,000 ประเภท ทั้งหุ้นและพันธบัตรวางจำหน่ายให้ลูกค้า Ant ชอปปิ้งเพื่อการลงทุนอย่างเพลิดเพลิน ทุกวันนี้ สัดส่วนรายได้ของ Ant จากธุรกรรมบริหารจัดการสินทรัพย์และการประกันภัย มีสัดส่วนเท่าๆ กัน เกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดของ Ant Group

ด้วยระยะเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ Ant Group มีพัฒนาการเทคโนโลยีทางการเงินอย่างมาก แม้ว่านาย Ma ได้เคยเกริ่นว่า Ant Group ไม่ใช่ Fintech แต่น่าจะเป็น Techfin มากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ เขาต้องการให้คนมองว่า Ant คือ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องรอง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะนาย Ma พอจะมีลางสังหรณ์มาก่อนก็ได้ว่า การเข้าไปทำธุรกรรมการเงินอย่างเต็มที่ ย่อมไม่พ้นสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินแบบตาไม่กระพริบ

ตอนนี้ Ant Group ได้แต่ออกมาขอโทษบรรดาแฟนคลับที่แห่กันจองหุ้นของ Ant อย่างบ้าเลือด โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ต้องมีการคืนเงินกันอย่างทุลักทุเล ที่น่าเศร้าก็คือ มีการกู้ยืมเงินจากบริษัทนายหน้าค้าหุ้นและธนาคาร เพื่อนำมาจองซื้อหุ้นในครั้งนี้เป็นจำนวนมหาศาล แต่ว่ากันว่า พวกบริษัทนายหน้าค้าหุ้นและธนาคารดูเหมือนจะเห็นใจ จึงมีการยกเว้นเรื่องดอกเบี้ย ส่วนเรื่องวุ่นๆ อื่นๆ ที่น่าจะเกิดตามมาอีก คงจะกลายเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง

ในแง่ของมหาเศรษฐี Ma ซึ่งมีการคาดเดาก่อนหน้านั้นว่า หลังจากหุ้น Ant จดทะเบียนในตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงสำเร็จคราวนี้ เขาน่าจะก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีโลกอันดับที่ 11 เนื่องจากราคาหุ้นของ Ant คงจะส่งผลให้ทรัพย์สินของ Ma เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ในเมื่อความจริงไปไม่ถึงดวงดาว ปรากฏว่าหลังจากที่ผู้คุมกฎระงับการออกหุ้น Ant ราคาหุ้นที่นาย Ma ถือครองไว้ อาทิ Alibaba ได้หล่นลงอย่างหนักในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และยังตามร่วงลงอีกในตลาดหุ้นฮ่องกงในวันถัดๆ มา

งานนี้ อดีตคุณครูอย่าง Ma วัย 56 ปี คงไม่เก็กซิมนาน เพราะอาณาจักรธุรกิจของเขารอการขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าและฐานข้อมูลที่มหึมา ล่าสุด World Economic Forum ก็เพิ่งประกาศว่าโรงงาน Xunxi ถือว่าเป็นโรงงานทอผ้าที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดขณะนี้ ซึ่งนาย Ma ได้แอบซุ่มทดลองปรับปรุงโรงงานแห่งนี้มานานกว่า 3 ปี ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI และ ฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งทอ โดยลูกค้าที่ซื้อเครื่องแต่งกายในตลาดจีน ประมาณ 1 ใน 4 ราย จะสั่งซื้อทางออนไลน์ของ Alibaba ทำให้บริษัทมีข้อมูลเกี่ยวกับรสนิยมการซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานการผลิต Xunxi ทำให้โรงงานสามารถออกแบบ เลือกวัตถุดิบ ฯลฯ ไปจนถึงการวางจำหน่ายในแอป ปรากฏว่าประหยัดเวลาและต้นทุนอย่างมาก แถมยังถูกใจลูกค้ากลุ่ม Gen-Z ของจีนอีกต่างหาก

การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจต่างๆ น่าจะเป็นงานถนัดสุดของมหาเศรษฐี Ma เพราะไม่ว่าเขาจะจับธุรกิจใด มักจะไม่ผิดหวัง หรือแม้แต่ธุรกิจการเงินอย่าง Ant ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2008 เขาเคยเปรยเล่นๆกับพวก SMEs ว่า การกู้ยืมเงินจากแบงก์ค่อนข้างลำบากลำบนเหลือเกิน กฎเกณฑ์เยอะแยะ ในเมื่อแบงก์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พวกเรา Ant จะเปลี่ยนระบบการกู้ยืมเอง และดูเหมือนว่าเขาจะทำสำเร็จ ถูกใจ SMEs แต่ไม่ถูกใจรัฐบาลจีน!!