ญี่ปุ่นฉวยวิกฤติเป็นโอกาส
“วิกฤติต่างประเทศที่ญี่ปุ่นเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด และคิดว่าน่าจะช่วยให้ญี่ปุ่นได้กลายเป็น “ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว” เสียทีก็คือ การที่จีนเริ่มเกรี้ยวกราดกับฮ่องกง ที่ประท้วงมาราธอนหลายเดือนเมื่อปีก่อน ทำให้เมืองบู๊ลิ้มออกกฎหมายความมั่นคงใช้ในฮ่องกงอย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางปี 2020”
แดนอาทิตย์อุทัย น่าจะเป็นหนึ่งของชาติมหาอำนาจที่มีเรื่องปวดหัวน้อยสุดในช่วงนี้ เมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ อย่างลุงแซมก็โกลาหลวุ่นวายทั้งการเมืองในประเทศและวิกฤติโควิด หรือ อย่างเมืองดอกท้อ ก็ต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆ ให้มากที่สุด ท่ามกลางกระแสหวาดระแวงจากชาติตะวันตก
หันมามองเมืองปลาดิบ ที่เพิ่งเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กลับดูสบายๆ ราบรื่น แม้ว่ายังต้องเผชิญโรคระบาดโควิดอยู่ก็ตาม แต่ชาวซามูไรเริ่มคุ้นเคยว่าเป็น New Normal ไปแล้ว และพยายามใช้วิกฤติต่างๆ ที่อุบัติขึ้นทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ให้กลายเป็นแรงผลักดันแดนปลาดิบไปสู่วิถีทางใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าและดีกว่าเดิม
วิกฤติต่างประเทศที่ญี่ปุ่นเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด และคิดว่าน่าจะช่วยให้ญี่ปุ่นได้กลายเป็น “ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว” เสียทีก็คือ การที่จีนเริ่มเกรี้ยวกราดกับฮ่องกง ที่ประท้วงมาราธอนหลายเดือนเมื่อปีก่อน ทำให้เมืองบู๊ลิ้มออกกฎหมายความมั่นคงใช้ในฮ่องกงอย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางปี 2020 เป็นต้นมา
กฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหายใจไม่ค่อยทั่วท้องเหมือนก่อน เพราะเกรงว่าจีนจะเข้ามาก้าวก่ายเรื่องภายในฮ่องกงมากขึ้น ก่อนระยะเวลาที่เคยตกลงกันไว้ และอาจทำให้การดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ ในฮ่องกงไม่อิสระอีกต่อไป
รัฐบาล นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Yoshihide Suga จึงเดินเครื่องผลักดันประเทศให้เป็นทางเลือกใหม่ของสถาบันการเงินต่างประเทศได้เข้ามาทำธุรกิจในตลาดญี่ปุ่นแทนฮ่องกงดีกว่า ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาล Shinzo Abe ก็ได้ขับเคลื่อนให้ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางการเงินระดับสากลเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงที่อังกฤษประกาศแยกบ้านออกจากอียูใหม่ๆ และคาดกันว่า ศูนย์กลางการเงินลอนดอน หรือ The City น่าจะเหี่ยวเฉาลงเรื่อยๆ และสถาบันการเงินต่างๆ คงจะแห่กันออกไปหาทำเลหากินใหม่ๆ เต็มปากเต็มคำอย่างในย่านเอเชีย-แปซิฟิก
แต่ดูเหมือนรัฐบาล Abe ออกตัวไม่แรงเท่าที่ควร จึงทำให้ญี่ปุ่นไม่ค่อยอยู่ในสายตาของสถาบันการเงินต่างชาติสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์หรือเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ตาม วันนี้ ในยุคของนายกฯ Suga ที่กำลังมองว่าวิกฤตฮ่องกงอาจเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นได้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศเต็มตัว และคราวนี้ ญี่ปุ่นได้เปิดทางให้เมืองชั้นนำของประเทศ ได้โชว์ศักยภาพแข่งกันว่าใครแน่ที่สุด
กรุงโตเกียว น่าจะมีความพร้อมเป็นพิเศษ เพราะได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวง แถมสถาบันการเงินต่างประเทศก็เข้ามาเปิดออฟฟิศกันอย่างคุ้นเคยอยู่บ้างแล้ว จนทำให้ทุกวันนี้ กรุงโตเกียว มีตลาดหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนราว 3,700 ราย เป็นรองจาก ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และ ตลาดหุ้น Nasdaq และเมื่อหันมาพิจารณาข้อมูลจากงานวิจัยของ Z/Yen Group และ China Development Institute ที่มีฐานอยู่ในอังกฤษ จะพบว่า ดัชนีวัดฐานะศูนย์กลางการเงินโลก (The Global Financial Centers Index) ระบุว่า กรุงโตเกียวอยู่ในอันดับที่ 4 รองจาก นิวยอร์ก ลอนดอน และ เซี่ยงไฮ้ น่าเสียดายที่ตลาดโตเกียว เพิ่งโดนแซงหน้าหล่นจากอันดับ 3 เพราะสู้น้องใหม่ไฟแรงจากแดนมังกรไม่ไหว และมีแนวโน้มว่าเมืองชั้นนำอื่นๆ ของจีน กำลังแต่งตัวปะแป้งเตรียมเสนอตัวเป็นตลาดเงินแห่งภูมิภาคเอเชียอีกหลายเมือง
ผู้ว่าการกรุงโตเกียว นาง Yuriko Koike ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในเมื่อรัฐบาลกลางส่งสัญญาณชัดเจนว่าญี่ปุ่นควรกระฉับกระเฉง เพื่อผงาดเป็นศูนย์กลางการเงินโลกอย่างสมบูรณ์ นาง Koike ก็ไม่รอช้า เปิดศูนย์ประสานงานที่ฮ่องกงทันที เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินต่างประเทศในฮ่องกงหันมาทำธุรกิจเงินๆทองๆในตลาดโตเกียวดีกว่า พร้อมกับจัดทำคู่มือการลงทุนและแนวทางการพัฒนากรุงโตเกียวเป็นตลาดการเงินโลกเผยแพร่อีกด้วย
ส่วนปัญหาที่นักลงทุนต่างชาติ มักบ่นว่าปวดประสาทกับญี่ปุ่นเหลือเกิน ก็คือ ระบบภาษี ภาษาอังกฤษ และ ระบบวีซ่า ในประเด็นพวกนี้ รัฐบาล Suga เปิดไฟเขียวให้รีบๆ ปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน หน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ จะต้องใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล้ว รวมถึง การฝักทักษะแรงงานด้านภาษาอังกฤษต้องทำจริงๆ จั งๆ วัดผลทดสอบสม่ำเสมอ เพื่อรองรับธุรกิจต่างประเทศ ส่วนเรื่องกฎหมายด้านภาษีและวีซ่า ได้เกริ่นกับรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว
สังเกตให้ดี ไม่ใช่แค่กรุงโตเกียวเท่านั้นที่อยากชูบทบาทเป็นศูนย์กลางการเงินโลก แต่ยังมีเมืองชั้นนำอื่นๆ อีก อย่าง Fukuoka ที่ประกาศว่าพร้อมจะแข่งกับโตเกียว เพราะทุกวันนี้ เมือง Fukuoka ก็เป็นขวัญใจของพวกธุรกิจไอทีทั้งจากในประเทศและต่างประเทศอย่างคับคั่ง และเมือง Fukuoka ก็เตรียมจะชักชวนสถาบันการเงินต่างชาติ เข้ามาทำธุรกิจในเมืองมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจไฮเทคใหม่ๆ ในเมืองนี้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจด้านกฎหมายและบัญชี ก็ได้เช้ามาปักหลักเปิดให้บริการให้แก่ธุรกิจต่างชาติในเมือง Fukuoka แล้วเช่นกัน
อีกเมืองหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ นคร Osaka ซึ่งได้ชื่อว่ามีตลาดหุ้นที่ค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มอนุพันธ์ (Derivatives) ใหญ่สุดในประเทศ เรียกว่าเป็นตลาดที่ชำนาญพวกการค้าขายล่วงหน้าหรือพวกที่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน ถือว่าเป็นตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา ก็ยังสู้อิทธิพลของตลาดโตเกียวไม่ไหว อย่างไรก็ตาม งานนี้ ผู้ว่าการนคร Osaka นาย Hirofumi Yoshimura ประกาศพร้อมผลักดันให้ Osaka เป็นศูนย์กลางการเงินโลก เพราะตลาดโตเกียว อาจต้องใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น ความผิดพลาดของระบบค้าขาย ทำให้ตลาดต้องปิดทำการหนึ่งวัน เมื่อเร็วๆนี้ และที่สำคัญก็คือ บริษัทการเงินหลายแห่งใน Osaka พากันให้การสนับสนุนนคร Osaka ให้กลายเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศเต็มตัว พ้นจากใต้เงาตลาดโตเกียวเสียที
วิกฤติฮ่องกง กำลังเปิดโอกาสให้แก่เมืองสำคัญๆ ของแดนปลาดิบ ได้สวมบทบาทตลาดเงินโลก ซึ่งจะสำเร็จแค่ไหน ต้องดูฝีมือรัฐบาล Suga และผู้ว่าการจังหวัดแต่ละแห่งของญี่ปุ่น ราคาคุยหรือเปล่า
วิกฤติอีกอย่างหนึ่งที่กลายเป็นส้มหล่นให้แก่รัฐบาล Suga ก็คือ โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานเกือบหนึ่งปีแล้ว จนทำให้ชาวซามูไรต้องปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการทำงาน โดยบริษัทต่างๆ ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงโตเกียว ได้อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านและใช้การติดต่อสื่อสารผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการประสานงาน การประชุม การดำเนินงานต่างๆ จะผ่านระบบไซเบอร์หรือดิจิทัลทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานจำนวนมากหันกลับไปยังเขตชนบท ซึ่งเป็นบ้านเกิดมากขึ้น หรือบางคนอาจต้องการออกจากเมืองใหญ่ เพื่อไปหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่หรือชุมชนชนบทที่สวยงาม และเงียบสงบ แต่ยังสามารถทำงานติดต่อกับออฟฟิศได้อย่างสะดวกเหมือนเดิม
จากสถิติทางการพบว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา คนที่ย้ายออกจากกรุงโตเกียวมีจำนวนราว 30,644 คน หรือเพิ่มขึ้น 12.5% ขณะที่คนที่ย้ายเข้ามายังเมืองหลวงลดลงราว 11.7% เป็นจำนวน 27,006 คน ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่คนย้ายออกจากโตเกียวมีจำนวนมากกว่าคนที่ย้ายเข้าเมืองหลวง และมีแนวโน้มว่าผู้คนในเมืองใหญ่อื่นๆจะแสดงพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการไปใช้ชีวิตในพื้นที่ชนบทมากขึ้น เพราะไม่มีอุปสรรคเรื่องการติดต่อสื่อสารเพื่อการทำงาน เนื่องจากวิวัฒนาการเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลแล้ว และผู้คนที่ย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 20-40 ปี ที่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี
การเคลื่อนย้ายของพลเมืองในวัยหนุ่มสาวไปยังเขตชนบทมากขึ้น จะช่วยชุบชีวิตชีวาให้แก่สังคมชนบทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งนายกฯ Suga เป็นคนต่างจังหวัดในเขตตอนเหนือของประเทศ ได้แถลงเป็นนโยบายว่าจะฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วญี่ปุ่น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและความสวยงามของพื้นที่ให้คงอยู่ตลอดไป ไม่ใช่เหลือแต่คนแก่และสิ่งปลูกสร้างที่ผุพังเท่านั้น
ตอนนี้ โควิด-19 ได้ช่วยผลักดันให้นโยบายฟื้นฟูชนบทเริ่มคึกคัก ด้วยกระแสคนกลับบ้านเกิด คนรักสุขภาพ ที่หนีโรคร้ายในเมืองใหญ่ ไปอยู่อย่างสงบเรียบง่ายในชนบทแฮปปี้กว่า!!