ONLINE MAGAZINE

“เยอรมนี” เบนเข็ม รุก “อาเซียน” ลดพึ่งพา "จีน”

บทความโดย: Admin

กระทรวงต่างประเทศของเยอรมนีได้เสนอมาตรการคุมเข้มกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับบรรดาบริษัทที่เผชิญความเสี่ยงกับประเทศจีน โดยอาจจะให้เปิดเผยข้อมูลและทำทดสอบภาวะวิกฤติสำหรับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ที่มีต่อประเทศจีน

การเยือนประเทศจีนของ นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นผู้นำ G-7 ชาติแรกที่เดินทางไปยังประเทศจีน นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 และเกิดข้อโต้เถียงอย่างรุนแรงเกี่ยวกับสถานะของเยอรมนีว่าจะเป็นพันธมิตรที่น่าไว้วางใจของฝั่งตะวันตกในการแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับประเทศจีนหรือไม่ หรือจะย้อนกลับไปเป็นเหมือนสมัยอดีตผู้นำหญิง นางอังเกลา แมร์เคิล ที่ยกให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนมาเป็น “อันดับแรก”

บรรดาชาติตะวันตกต่างมองว่า เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกของเยอรมนีนั้น พึ่งพาตลาดจีนมากเกินไปจนยากที่จะเผชิญหน้ากับจีนในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ระเบียบปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม การจารกรรมทางอุตสาหกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ และแม้แต่ในรัฐสภาของเยอรมนีเองก็มองว่า การพึ่งพานี้ทำให้เยอรมนีนั้นแทบจะไร้ประโยชน์ที่จะร่วมมือคว่ำบาตรจีน ในกรณีที่จีนอาจรุกรานไต้หวันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า จีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี โดยในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้กลายเป็น “พันธมิตรการค้าที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี”

ในปี 2564 จีนเป็นพันธมิตรด้านการค้าอันดับ 1 ของเยอรมนี คิดเป็น 9.5% ของการส่งออกและนำเข้าสินค้าทั้งหมด และจีนเป็นพันธมิตรด้านการค้าของเยอรมนีที่ใหญ่ที่สุดใน 6 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการค้าแตะระดับกว่า 245,000 ล้านยูโร หรือราว 246,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564

จากรายงานของ The Observatory of Economic Complexity (OEC) ในเดือนกันยายน 2565 สินค้าส่งออกของจีนไปยังเยอรมนีสูงสุด ได้แก่ แบตเตอรี่ไฟฟ้า (816 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), คอมพิวเตอร์ (777 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (294 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ), โทรศัพท์ (290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และหม้อแปลงไฟฟ้า (225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ สินค้าที่จีนนำเข้าจากเยอรมนีสูงสุด ได้แก่ รถยนต์ (1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมต่างๆ (707 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์และ/หรือยานอวกาศ (436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ), ยาที่ถูกบรรจุหีบห่อ (384 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแผงวงจรรวม (217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เยอรมนีพึ่งพาจีน ซึ่งในแง่การค้าหรือการลงทุนต่างประเทศ ไม่มีตลาดการค้าไหนนอกยุโรปที่เยอรมนีพึ่งพาอย่างหนัก และถ้าหากโฟกัสเพียงแค่ใครเป็นพันธมิตรอันดับที่ 1 อาจทำลายภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ด้านการค้าของเยอรมนี

ไม่ใช่ “การพึ่งพา” แต่เป็น “ความหลากหลาย” ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ด้านการค้าของเยอรมนีกับโลก จะเห็นได้จากพันธมิตรทางการค้าที่รองจากจีน ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส โปแลนด์ และประเทศยุโรปอื่นๆ แต่ละประเทศแสดงให้เห็นการค้าอยู่ระหว่าง 5-8% ของการค้าทั้งหมดของเยอรมนี ซึ่งต่างจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ที่พึ่งพาทางการค้ากับจีนอยู่ที่ราว 20-30% ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าเยอรมนียังมีพื้นที่อีกมากพอที่จะใช้ “กลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์”

หากจะมีตลาดการค้าหนึ่งเดียวที่เยอรมนีจะพึ่งพาได้ นั่นก็คือ “ตลาดร่วมสหภาพยุโรป” ซึ่งอุตสาหกรรมวิศวกรรมยานยนต์และเครื่องกลชั้นนำของเยอรมนีได้ถูกรวมเข้าไป เช่น เยอรมนีค้าขายราว 40% กับกลุ่ม 4 ประเทศของยุโรปกลาง ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี เช็ก และ สโลวะเกีย มากกว่าค้าขายกับจีน

ความสัมพันธ์ด้านการลงทุนของเยอรมนีกับจีน หลังจากนับทศวรรษของการเติบโตที่ค่อยๆ ลดน้อยลง การลงทุนของเยอรมนีในจีนกลับเพิ่มมากขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2565 แต่เงินลงทุน 10,000 ล้านยูโร ของบริษัทเยอรมนีในตลาดจีนยังคงคิดเป็นเพียงแค่ 10% ของกิจกรรมการลงทุนต่างประเทศของเยอรมนีทั้งหมด และถือว่าน้อยกว่าถึงกว่า 5 เท่า ที่บริษัทของเยอรมนีลงทุนใน 19 ประเทศของยูโรโซน โดยมูลค่าของการลงทุนต่างประเทศของเยอรมนีส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ นำโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Volkswagen Mercedes-Benz และ BMW ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีขยายการลงทุนในจีนอย่างมาก คิดเป็น 29% ของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดในปี 2562

ยกตัวอย่าง เช่น Volkswagen ในแง่ของรายได้และกำไร Volkswagen ถูกมองว่าเป็น “จีน” มากกว่า “เยอรมนี” โดย Volkswagen เป็นผู้ผลิตต่างชาติรายแรกที่เข้าไปในประเทศจีนเมื่อ 4 ปีก่อน พึ่งพาประเทศจีนเป็นอย่างน้อย คือ ครึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิประจำปี อีกทั้งรถยนต์ของ Volkswagen หรือรถยนต์ที่ผลิตจากบริษัทในเครือ เช่น Audi, Porsche และ Skoda ถูกขายในจีนทุก 9.5 วินาที ในปี 2564 และตลาดหลายปีที่ผ่านมา Volkswagen ถูกมองว่ามีความหมายเหมือนกับ “ชุมชนธุรกิจเยอรมนี” ในประเทศจีน

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีปกติ จะมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของการลงทุนของเยอรมนีและมากกว่า 1 ใน 3 ของการลงทุนของยุโรปในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้เยอรมนีกำลังใช้เงินลงทุนหลายพันล้านเพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้นในธุรกิจค้าร่วมที่ยาวนาน และสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี เนื่องจากมุ่งหวังจะแข่งขันกับผู้เล่นดาวรุ่งภายในประเทศ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีน

ในขณะเดียวกัน ที่เยอรมนีพยายามที่จะลบภาพการพึ่งพาการค้ากับจีน เยอรมนีได้ยกระดับความพยายามที่จะสร้างตลาดทางเลือกใน “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยมีจุดมุ่งหมายที่วางตำแหน่งของเยอรมนีเองให้กว้างขึ้น กระจายความเสี่ยงต่างๆ สร้างจุดแข็งของตนเอง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทนทานให้มากขึ้นด้วย

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฐานลูกค้าที่มีศักยภาพมหาศาล แต่ถือว่าเป็นตลาดที่ยากสำหรับบริษัทผู้ผลิตจากเยอรมนีที่จะเข้ามาเจาะตลาด โดยอุปสรรคต่างๆ ด้านการนำเข้าทำให้สินค้ามีราคาค่อนข้างแพง และต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตบริษัทจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรและยานยนต์ ซึ่งเบื้องต้น ตลาดที่เยอรมนีสนใจที่จะลงทุน ได้แก่ สิงคโปร์และเวียดนาม

เยอรมนีโฟกัสไปที่ “เวียดนาม” นั้นสมเหตุสมผล เนื่องจากเวียดนามเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขณะนี้มีบริษัทของเยอรมนีดำเนินการอยู่ในเวียดนามราว 500 บริษัท รวมถึง 80 บริษัทที่ตั้งโรงงานผลิตด้วย ขณะเดียวกัน เยอรมนีเป็นพันธมิตรด้านการค้าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของเวียดนามในหมู่ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยเป็นรอง “เนเธอร์แลนด์”

นอกจากนี้ เยอรมนียังต้องการขยายตลาดการขาย เสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบต่างๆ และสถานที่ตั้งฐานการผลิต ขณะที่ หัวหน้าหอการค้าเยอรมนีในเวียดนาม ระบุว่า บริษัทของเยอรมนีที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทมากกว่า 90% มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งเวียดนามและไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้

ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ได้เสนอมาตรการคุมเข้มกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับบรรดาบริษัทที่เผชิญความเสี่ยงกับประเทศจีน โดยอาจจะให้เปิดเผยข้อมูลและทำทดสอบภาวะวิกฤติสำหรับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ที่มีต่อประเทศจีน เนื่องจากเยอรมนีกำลังมองหาวิธีลดการพึ่งพาจากประเทศจีน ที่ถูกมองว่าเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าต่างประเทศมองว่า ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักที่เยอรมนีจะตัดขาดจากจีนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ของเยอรมนีเองต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยง และปกป้องตนเองจากความเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างเยอรมนีและจีนจะลดลงอย่างมาก นอกจากนั้น อาจทำเกิดความสูญเสียต่อธุรกิจที่ไม่อาจชดเชยได้ในประเทศอื่นบนโลกนี้..แม้กระทั่ง “อินเดีย”

 

โดย ศิริอาภา คำจันทร์ ASEAN Specialist AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ