ONLINE MAGAZINE

จะเข้าปีใหม่แล้ว ปีหน้าเราปรับพอร์ตยังไงกันดี?

บทความโดย: Admin

แม้ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเร่งตัวขึ้นขอผู้ติดเชื้อใหม่ ในช่วงเทศกาลสำคัญ และอุณหภูมิที่เย็นลง อย่างไรก็ตามหลายๆ อย่างก็มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ตลาดการเงินตอบรับในเชิงที่ค่อนข้างดี และหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical Sector) เริ่มฟื้นตัวหลังจากตกอยู่ในแรงกดดันมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ทองคำเริ่มมีแรงเทขาย หลังจากเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบในช่วงก่อนหน้า ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วปีหน้าเราจะปรับพอร์ตการลงทุนของเราอย่างไรกันดี 


  รูปที่ 1: Major Stock Market Indices (Normalized at 100)                                        

                             รูปที่ 2: น้ำหนักของอุตสาหกรรมของดัชนีในแต่ละประเทศ

            ปัจจัยแรก เราต้องเริ่มพิจารณาจากสภาพแวดล้อมว่าจะมีอะไรเป ลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ในปีหน้า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ยกเว้นในเรื่องของวัคซีน โดยเรื่องสำคัญเรื่องแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องของนโยบายการเงินและการคลังซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยจากการประมาณการอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Forward Rate) ล่าสุดที่คำนวณจากเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ในประเทศสำคัญสะท้อนให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อาจจะมีโอกาสปรับขึ้นก่อนใคร แต่ก็มีโอกาสขยับในอีก ปีข้างหน้าเป็นอย่างเร็ว นอกจากนี้นโยบายการเงินแบบพิเศษต่างๆ ก็ต่างจะทรงตัวหรืออาจจะทยอยลดลงอย่างช้าๆ หากสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้นจริงแต่คาดว่าคงจะไม่เร็วนัก ดังนั้นเราน่าจะอยู่ในช่วงที่ดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ไปอีกเป็นระยะเวลาหลายปี และนโยบายการคลังจะมีความสำคัญมากขึ้นที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้เราจะรู้ว่าภาระหนี้ในอนาคตของภาครัฐฯ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาก็ตาม ดังนั้น ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องส่วนเกินสูงนั้น เป็นอันทราบกันดีว่าอาจจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นนั้นสามารถทรงตัวซื้อขายในระดับที่สูงต่อเนื่อง

            ปัจจัยที่สอง คือเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปรกติได้มากขึ้นต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในลักษณะ “K-Shape” ที่หลายๆ อุตสาหกรรมอาจจะฟื้นตัวยากหลังจากนี้นั้นน่าจะเป็นมุมมองที่นักวิเคราะห์หลายๆ ท่านคาดว่าจะเกิด ดังนั้นเรื่องของการเลือกอุตสาหกรรมน่าจะเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจมากขึ้นในการลงทุน

            ปัจจัยที่สาม คือนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่โดยรวมมีนโยบายอาจจะไม่หวือหวา ไม่กดดันธนาคารกลาง หรือยึดนโยบาย “American First” แบบคนเก่าเป็นตัวชูโรง แต่หลายๆ ส่วนก็คาดว่าน่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ และหลายๆ อุตสาหกรรมก็ยังน่าจะทำได้ดี แต่ที่เป็นไปได้สูง คือความผันผวนที่เราคาดเดาไม่ได้จากนโยบายต่างๆ น่าจะลดลง

            และปัจจัยสุดท้าย คือเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังจากนี้ โดยการเร่งให้ Megatrend เกิดขึ้นเร็วขึ้นซึ่งจะทั้งสิ่งที่ส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว เช่น เรื่องของการเติบโตและการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่จีนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เรื่องของการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม Healthcare และ Commerce ต่างๆ และสุดท้ายคือเรื่องของการพิจารณาถึง Tail Risk ที่มีบทเรียนกันมาแล้วในปี 2020 และอาจจะใส่ใจในเรื่องของการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) และคำนึงถึงเรื่องของ ESG (Environment, Social และ Governance) มากขึ้น เช่น เน้นลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เติบโตในระยะยาว ใส่ใจเรื่องของความต้องการของลูกค้า มีต้นทุนการดำเนินกิจการที่ต่ำและมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน

            จาก 2-ปัจจัยดังกล่าว เรายังมองว่าเศรษฐกิจน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในกรณีพื้นฐาน (Base Case) ดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาจจะชันขึ้นบ้าง (Bear Steepening) เงินเฟ้อยังไม่น่าจะเร่งตัวขึ้นในปีหน้าเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และสภาพคล่องในระบบที่สูง ดังนั้นสินทรัพย์เสี่ยงยังน่าจะซื้อขายในระดับราคาสูงต่อเนื่อง ยังมีเงินทุนไหลเข้า และอาจจะยังมี Momentum ปรับตัวขึ้นต่อ เรายังคงเน้นการ Overweight ตราสารทุน แต่เน้นการปรับสัดส่วนและอุตสาหกรรม (Industry Exposure) ได้แก่ การลดน้ำหนักการลงทุนที่ปีนี้กระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ลง และกระจายไปยังกลุ่ม Consumer Staple โดยเฉพาะพวกสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และลดสัดส่วนของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในเอเชีย รวมถึงจีนด้วย เนื่องจากหุ้นภูมิภาคมีส่วนผสมของ Information Technology ทั้งกลุ่ม Software และ Semiconductor และกลุ่มที่อาศัยอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ (Domestic Demand) ทำให้พอร์ตหุ้นมีความกระจุกตัวน้อยลง

            สำหรับตราสารหนี้กลุ่มหุ้นกู้เอกชนยังมีความน่าสนใจจาก แม้ Credit Spread และ Credit Default Swap (CDS) ปรับลดลงมาจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า COVID-19 แล้ว แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็อาจจะช่วยให้การลงทุนในส่วนอื่นๆ ของพอร์ตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เรายังคงต้องรักษามูลค่าของเงินให้เหมาะสมกับระดับของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยการลงทุนอาจจะเน้นไปที่การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในพันธบัตรอายุไม่ยาวนัก เนื่องจากพันธบัตรอายุยาวให้ Spread Pickup ที่ไม่มากนักและอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยง นอกจากนี้ยังอาจจะต้องเน้นกระจายความเสี่ยงไปในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยและฟื้นตัวไวจากมาตรการที่เข้มงวดของ COVID-19 ต่างๆ

            กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวในลักษณะที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการลงทุนยังคงต้องเลือกลงในกลุ่มที่ฟื้นตัวไว เช่น Data Centre, Logistic และ Infrastructure เป็นหลัก และน้ำหนักการลงทุนใกล้เคียงกับสัดส่วนการลงทุนในระยะยาว (Neutral) โดยแม้ในช่วงปีที่ผ่านมาอาจจะให้ Yield ที่น้อยลง แต่ก็ยังเป็นการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงให้พอร์ตฟอลิโอได้ดีในระดับหนึ่ง

            ทองคำผันผวนมากขึ้นในช่วงหลังและลดความร้อนแรงลง แต่ยังคงมีบทบาทในฐานะของสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดที่เราชอบเรียกกันว่า Tail Risk และเรื่องของแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ  ดังนั้นอาจจะยังคงน้ำหนักไว้ไม่เกิน 5% ของพอร์ตฟอลิโอ

            ทั้งนี้เรายังคงไม่สามารถวางใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้มากนัก และยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ COVID-19 นโยบายการเงินการคลังของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้และการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า ความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ 

โค้งสุดท้ายส่งท้ายปี ปรับพอร์ตซื้อหุ้น ทอง กองทุน พร้อมโปรโมชั่นเด็ดและลดหย่อนภาษีได้ที่งาน Money Expo Year-End ครั้งที่ 4 วันที่ 17-20 ธันวาคม 2563 Hall103-14 ไบเทค บางนา

บทความโดย : Wealth & Preferred Segment,Consumer Banking ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย