ONLINE MAGAZINE

นับถอยหลังสู่โลกคาร์บอนต่ำ ระเบียบโลกใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือ

บทความโดย: ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

ผู้ส่งออกไทย การปรับตัวให้เข้ากับวิถีคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้ได้ (Must Do) ไม่ใช่แค่เรื่องที่ทำได้ก็ดี (Should Do) อีกต่อไป ซึ่งการปรับตัวควรทำอย่างจริงจัง เพราะการละเลยไม่ปฏิบัติตามวิถีคาร์บอนต่ำอาจมีประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน

ในช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมา แม้ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติCOVID-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่ปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนยังถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงบ่อยครั้ง บ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมโลกตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาดังกล่าว ดังเห็นได้จากการที่หลายประเทศต่างออกมาประกาศหรือตอกย้ำเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือบางประเทศถึงกับประกาศตัวจะเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน (Net-zero Greenhouse Gas Emissions) อย่างชัดเจน และมีแผนจะนำมาตรการเกี่ยวกับการลดคาร์บอนมาใช้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

EU…ผู้นำการขับเคลื่อนเพื่อลดคาร์บอน

ที่ผ่านมา EU นับเป็นผู้นำในการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ และสำหรับการลดคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกก็เช่นกัน นับตั้งแต่ที่ EU ลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 2540 EU ก็ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 8% ภายในปี 2555 (เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในปี 2533) ซึ่งปรากฏว่า EU ทำได้เกินเป้า นั่นคือ EU ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 18%

และจากแนวโน้มการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำได้ดีกว่าเป้า EU จึงได้ตั้งเป้าหมายใหม่ตั้งแต่ปี 2553 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ถึง 20% ภายในปี 2563 ซึ่ง EU ก็บรรลุเป้าดังกล่าวได้ตั้งแต่ปี 2561

ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2562 EU ก็ได้ประกาศนโยบาย “European Green Deal” ซึ่งเป็นกรอบนโยบายใหม่ของ EU เพื่อเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้ EU ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี 2593 ซึ่งแผนจัดการครั้งนี้มีการวางกลุ่มเป้าหมายชัดเจนเพื่อกำหนดกลยุทธ์ส่งเสริมและแทรกแซงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากพิจารณาที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน EU พบว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน) เป็นตัวการสำคัญที่สุด เนื่องจากราว 80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ EU ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเมื่อพิจารณาแยกตามภาคเศรษฐกิจ จะพบว่าภาคเศรษฐกิจต่างๆ ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นหลัก ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าที่มีการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายที่สุด โดยกว่าครึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวภาพ และพลังงานนิวเคลียร์ (File:Exim 466.png)

ในทางกลับกันภาคขนส่งเป็นภาคที่ใช้น้ำมันเป็นหลักถึง 93% เมื่อประกอบกับการที่ภาคการขนส่งเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวของ EU ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2533-2560 ภาคการขนส่งจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU

ล่าสุดEU ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะอย่างยั่งยืนฉบับใหม่ (EU Strategy on Sustainable and Smart Mobility) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 10 ปี (ภายในปี 2573) 15 ปี (ภายในปี 2578) และ 30 ปี (ภายในปี 2593) ดังนี้


นอกจากนี้ EU ยังมีนโยบายทยอยลดการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในภาคการขนส่งภายในปี 2573 เนื่องจากเห็นว่าการผลิตไบโอดีเซลดังกล่าวก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 3 เท่า และยังก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเขตร้อน โดยเฉพาะในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันปาล์มที่สำคัญของ EU อันเป็นที่มาของการที่ EU ประกาศลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากด้านการขนส่งแล้ว EU ยังเตรียมใช้มาตรการจำนวนมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งของ EU เอง และของประเทศอื่นที่จะส่งสินค้ามายัง EU อาทิ

                - ขยายการใช้มาตรการ EU Emission Trading Scheme (EU ETS) สำหรับปี 2564-2573 เพื่อทบทวนการเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง อาทิ การผลิตไฟฟ้าและโรงงานต่างๆ การเดินเรือสมุทร การบิน การก่อสร้าง และการขนส่ง โดยคาดว่าจะมีการปรับอัตราการเก็บภาษีขึ้นจากตันละ 25 ยูโร เป็นตันละ 35 ยูโร ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ผลิตใน EU หรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน EU มีต้นทุนแพงขึ้น

                - ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อให้สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีต้นทุนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตใน EU ซึ่งปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่า EU จะใช้มาตรการในรูปแบบใด ระหว่างการเก็บภาษีคาร์บอน การนำระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาปรับใช้ หรือจะเลือกใช้รูปแบบอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้ คาดว่า EU จะออกระเบียบดังกล่าวในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 และให้มีผลบังคับใช้ในปี 2566

                ทั้งนี้ แม้ EU จะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 7% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แต่ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU ก็ได้ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก กล่าวคือ นโยบายของ EU ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวเพิ่มขึ้นทั่วโลก หนุนให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอน รวมทั้งกระตุ้นให้แต่ละประเทศหันมาตั้งเป้าและกำหนดนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง รวมถึงนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอน ก็มีส่วนเร่งให้เกิดการจัดทำรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) เพิ่มขึ้นทั่วโลก

 

นับถอยหลัง...ทั่วโลกมุ่งสู่วิถีคาร์บอนต่ำ

นอกจาก EU ที่เป็นหัวหอกในการผลักดันเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และมีแนวนโยบายเพื่อให้บรรลุผล หรือมีการตั้งเป้าอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

                - สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีนโยบายให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและสนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาด และตั้งเป้าจะผลักดันให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี 2593 เช่นเดียวกับ EU โดยให้คำมั่นว่าจะให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยเร็ว รวมทั้งเสนอให้จำกัดการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบนที่ดินของรัฐ

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมตั้งเป้ายกเลิกการใช้พลังงานจากฟอสซิลผลิตไฟฟ้าและหันมาใช้พลังงานสะอาดให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2578

                - สหราชอาณาจักร ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 68% ภายในปี 2573โดยเลื่อนกำหนดการห้ามจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถตู้ขนส่งแบบใช้น้ำมันในประเทศให้เร็วขึ้น 5 ปี จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2578 เป็นปี 2573 และมีการลงทุนกว่า 2,800 ล้านปอนด์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ การขยายจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ที่ทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น รวมถึงการสนับสนุนโดยตรงแก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังประกาศจะยุติการอุดหนุนโครงการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะในรอบสี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลสหราชอาณาจักรสนับสนุนการส่งออกน้ำมันและก๊าซเป็นมูลค่าถึง 21,000 ล้านปอนด์ (ราว 8 แสนล้านบาท) ผ่านการส่งเสริมการค้าและสินเชื่อเพื่อการส่งออก

                - ญี่ปุ่น ตั้งเป้าเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี 2593 โดยล่าสุดญี่ปุ่นประกาศว่าภายในปี 2573 รถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในญี่ปุ่นทั้งหมดต้องเป็นรถไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น นอกจากนี้ มีรายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะเสนอมาตรการจูงใจด้านภาษี และตั้งกองทุนวิจัยเพื่อสนับสนุน การลงทุนสีเขียว” ในแผนภาษีฉบับปรับปรุงของปีภาษีในเดือนเมษายน 2564 เพื่อผลักดันการบรรลุเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน

 

ความพร้อมของไทยในการก้าวเข้าสู่วิถีคาร์บอนต่ำ

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ตั้งแต่ปี 2537 โดยในปี 2558 ไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 20% ภายในปี 2573 (ในกรณีปกติ) หรือ 25% หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกระแสดังกล่าวบ้างแล้วด้วยการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในปี 2550 เพื่อกลั่นกรองและรับรองโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ซึ่งปัจจุบันได้รับรองโครงการ CDM ไปกว่า 182 โครงการ นอกจากนี้ อบก. ยังมีแผนจะพัฒนาตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจของไทย (Domestic Voluntary Carbon Market) เพื่อสร้างกลไกสนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนในประเทศต่างๆ

การที่ประเทศมหาอำนาจต่างหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างพร้อมเพรียงในปัจจุบัน แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าประเด็นดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นกระแสหลักของโลก ซึ่งผู้ประกอบการที่มองเห็นสัญญาณดังกล่าวและปรับตัวได้ก่อนย่อมจะได้โอกาสในการเก็บเกี่ยวประโยชน์ในช่วงที่ตลาดกำลังเติบโต เช่น กลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับผู้ส่งออกไทย การปรับตัวให้เข้ากับวิถีคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้ได้ (Must Do) ไม่ใช่แค่เรื่องที่ทำได้ก็ดี (Should Do) อีกต่อไป ซึ่งการปรับตัวควรทำอย่างจริงจัง เพราะการละเลยไม่ปฏิบัติตามวิถีคาร์บอนต่ำอาจมีประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน

ดังเช่นกรณีที่มีแบรนด์เสื้อผ้าจาก EU ที่มีฐานการผลิตในประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่งได้ออกมาแสดงความกังวลว่า หากประเทศดังกล่าวยังพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก อาจสูญเสียการลงทุนจากต่างประเทศในระยะยาว เนื่องจากสินค้าที่ผลิตโดยใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมีแนวโน้มจะไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดส่งออก