ONLINE MAGAZINE

ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์กับแผนฯ 14 ของจีนนัยต่อโอกาสการลงทุนในไทย

บทความโดย: Admin

โดย ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ

รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย




ความมั่นคงที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุด ในแผนพัฒนาฉบับนี้คือ ความมั่นคงด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะสามารถประยุกต์ใช้กับด้านการทหารแล้ว ยังเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่หรือเศรษฐกิจดิจิตอล

                  

การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น มีปัจจัยที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มจากประเด็น สงครามทางการค้า (Trade War) โดยอ้างถึงการที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าจีนในระดับสูงต่อเนื่อง โดยมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนได้เริ่มในปี 2018 และต่อมาได้ยกระดับความขัดแย้งเป็น สงครามการแข่งขันด้านเทคโนโลยี (Tech War) จากการที่จีนสร้างความกังวลให้สหรัฐฯ เนื่องจากจีนมีความรุดหน้าในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตเป็นอย่างมาก อาทิ เทคโนโลยีการสื่อสาร 5เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีพลังงานสะอาด 


ในปัจจุบัน ความขัดแย้งได้ยกระดับไปอีกขั้น จากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี โดยได้ขยายขอบเขตออกไปเป็น ความขัดแย้งของกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศพันธมิตร 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่กำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เมื่อจีนถูกกดดันจากหลากหลายทิศทาง หนทางรอดของจีนคือการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ 


จีนจึงต้องวางแผนสร้างความมั่นคงในมิติต่างๆ ไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ทั้งความมั่นคงทางทหาร ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-Year-Plan 2021-2025) ดังนั้น แผนฯ 14 ของจีนจึงเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำพาจีนให้รอดพ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น


 

แผนฯ 14 ของจีนมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงในทุกมิติ 


แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ของจีน เมื่อเทียบกับแผนก่อนหน้าที่จะมุ่งเน้นการเติบโตทางตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในแผนฯ 14 นี้ เป็นครั้งแรกที่จีนไม่ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จีนให้ความสำคัญมากขึ้นในด้านความมั่นคงด้านการทหาร โดยมีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มงบสนับสนุนการทหารเพิ่มขึ้นถึง 6.8% ในปี 2021 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวของงบการทหารที่สูงที่สุดในโลก รวมถึงความพยายามของจีนในการลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างชาติ โดยการเพิ่มงบสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย (R&D) ไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี ตลอดระยะ 5 ปีข้างหน้า 


นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลกเพื่อลดทอนบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐ


ทั้งนี้ ในรายละเอียดอื่นๆ ของแผนฯ 14 ยังมีประเด็นเรื่อง ความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อตอบสนองประชากรในประเทศกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม Biotechnology ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของจีน นอกจากนั้น จีนยังเน้น ความมั่นคงด้านพลังงาน ที่เชื่อมโยงความพยายามเปลี่ยนผ่านจาก อุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิมอย่าง น้ำมัน ถ่านหิน ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้า และสร้างมลพิษทางอากาศ มาเป็นอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวของจีน ในการเข้าสู่สังคมปลอดคาร์บอนในปี 2060 (Carbon Neutrality 2060) 

ความมั่นคงที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุด ในแผนพัฒนาฉบับนี้คือ ความมั่นคงด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะสามารถจะประยุกต์ใช้กับด้านการทหารแล้ว ยังเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่หรือเศรษฐกิจดิจิตอล ที่ขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งในด้านการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตผ่านแพลตฟอร์ม Internet of Things การเชื่อมต่ออุปสงค์ผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce รวมถึงความเป็นไปได้ของระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่บนเทคโนโลยี Block Chain ที่จะรองรับการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ Fiat Currency มาเป็น Digital Currency


แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ของจีน นอกจากจะมุ่งเน้นความสามารถในการพึ่งพาตนเอง โดยการสร้างความมั่นคงในทุกมิติ ในขณะเดียวกัน จีนยังผลักดันยุทธศาสตร์วงจรคู่ (Dual Circulation) ซึ่งจีนจะเน้นการใช้เศรษฐกิจในประเทศ (Internal Circulation) ที่แข็งแกร่งกับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (External Circulation) ในขณะเดียวกันทางการจีนก็สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศออกมาลงทุนภายนอกประเทศ (Outward Direct Investment) มากขึ้น เพื่อสร้างอิทธิพลผ่านด้านการค้าการลงทุน และเพื่อเสริมสร้างอำนาจการต่อรองของจีนในอนาคต 


 

โอกาสการลงทุนในไทย ที่เชื่อมโยงกับแผนฯ 14 ของจีน 


สำหรับนัยต่อประเทศไทยนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0” ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ Innovative Drive Economy ซึ่งมุ่งเน้นการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมดั้งเดิม (First S-Curve) ที่ไทยมีศักยภาพ และความเชี่ยวชาญในการผลิต และการเติม 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่ไทยยังมีผู้ประกอบการน้อย แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการเติบโตสูง และมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้มข้น ซึ่งจากการประเมินความเชื่อมโยงกับแผนฯ 14 ของจีน มี 3 อุตสาหกรรม ที่มีความพร้อมในการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานจีน และมีความเป็นไปได้ในการดึงดูดนักลงทุนจีนมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ได้แก่


          1. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับความพยายามในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของจีน และสามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (Genetic Research and Biotechnology) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของจีนได้ โดยไทยอาศัยความได้เปรียบในการเป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ การมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่ อาทิ อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) อาหารเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Food) อาหารที่เหมาะสมกับบุคคล (Genomics) รวมถึงเทรนใหม่อย่าง อาหารจากกัญชง (Hemp Food) 

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารนี้ สอดคล้องกับ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 เมษายน 2563 ว่าด้วยมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารปี 2562-2570 ที่ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร 1 ใน 10 ของโลกควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานเกษตร 4.0 


          2. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามในการเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด และการเป็นสังคมปลอดคาร์บอนของจีน โดยไทยอาศัยความได้เปรียบจากการมีห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ที่ครอบคลุม ซึ่งสามารถต่อยอดนำมาใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าไฮบริด และรถไฟฟ้า 100% ได้ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ปลอดคาร์บอนที่เป็นรูปธรรม สะท้อนจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่ตั้งเป้าการใช้ ZEV (Zero Emission Vehicle) 100% ในปี 2578 


         3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ของจีน และความต้องการเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเสมือนสมองของเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงการเป็นผู้นำด้าน AI และ 5เพื่อเชื่อมเครือข่าย Internet of Things โดยไทยอาศัยความได้เปรียบในด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญ และเป็นแหล่งผลิตและผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญในปัจจุบัน เช่น การเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศอันดับสองของโลกรองจากจีน ไมโครเวฟอันดับ 3 รองจากจีนและมาเลเซีย รวมถึงการเป็นผู้ประกอบชิปและเซ็นเซอร์อันดับต้นๆ ในภูมิภาค ซึ่งสามารถต่อยอดฐานการผลิตเดิม เพื่อตอบโจทย์การที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่กำลังเปลี่ยนผ่านเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ


โดยสรุป แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ของจีน จะเป็นโอกาสในการยกระดับการดำเนินธุรกิจกับจีน โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมหลัก อันได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับความพยายามของจีนในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด และการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ 


อย่างไรก็ดี การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น มีปัจจัยที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพแรงงาน ความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นสำคัญ 

รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเดิมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่เพียงพอสำหรับการแข่งขันในเวทีโลกที่นับวันจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการติดตามประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเริ่มเห็นการยกระดับการตอบโต้ระหว่างกันมากขึ้น ทั้งจากจีนที่ผ่านร่างกฎหมายโต้กลับการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก (The Counter-Sanctions Law) ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการร่วมหาพันธมิตรในการกดดันจีนดังที่เห็นจากการประชุมพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลอย่างองค์การ NATO และการประชุมระหว่างชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง G7 ที่ส่งสัญญาณกดดันจีนครอบคลุมหลากหลายด้าน รวมถึงการออกนโยบายการช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ชื่อ Build Back Better World: B3เพื่อหาพันธมิตรจากประเทศกำลังพัฒนา ที่เริ่มหันเข็มทิศไปทางจีนจากนโยบาย Belt and Road Initiatives 


ซึ่งประเทศไทยเองต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของทั้งสองขั้วมหาอำนาจ เพราะทั้งสองมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับไทยสูงทั้งในด้านการค้าการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ด้านการทูตอันเป็นมิตรเป็นเวลายาวนาน โดยไทยซึ่งตั้งอยู่ในอาเซียนซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญท่ามกลางความขัดแย้งนี้ คงต้องใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มบทบาทการเจรจาและดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด