ONLINE MAGAZINE

Decoupling แยกขั้วการเมืองได้ แต่ขั้วเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลา

บทความโดย: Admin

กระแส Decoupling ที่เร่งตัวขึ้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะถัดไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจและธุรกิจอย่างรอบด้าน

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา กระแส Decoupling หรือการแบ่งขั้วอำนาจของประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นปีที่อุณหภูมิการเมืองโลกเข้าใกล้ “จุดเดือด” มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

โดย 2 เหตุการณ์สำคัญที่เป็น Trigger ตอกย้ำกระแส Decoupling ได้อย่างชัดเจนคือ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2565 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนและยังยึดถือนโยบายจีนเดียว (One China) อย่างเหนียวแน่น เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

มีข้อสังเกตว่า แม้เหตุการณ์ข้างต้นจะเร่งให้กลุ่มก้อนทางการเมืองระหว่างประเทศแยกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนมากขึ้น ด้านหนึ่งนำโดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรป ขณะที่อีกด้านหนึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ปรากฏการณ์ Decoupling ทางเศรษฐกิจของ 2 ขั้วอำนาจข้างต้นอาจยังเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก จากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

มิติการค้า : น้ำยังต้องพึ่งเรือ…เสือยังต้องพึ่งป่า

การแบ่งขั้วทางการค้าเรียกได้ว่าเป็นมิติแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวประกันในประเด็น Decoupling ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2560 ได้ชูนโยบาย America First และมุ่งเป้าโจมตีจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 25-30% ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อหวังลดการขาดดุลการค้า เรื่อยมาจนถึงสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปัจจุบัน ที่แม้จะมาจากคนละพรรคการเมือง แต่นโยบายแข็งกร้าวที่มีต่อจีนก็ไม่ได้เปลี่ยนไป และดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ล่าสุดก็ได้มีการห้ามบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทำการค้าขายชิปขั้นสูงกับจีน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง อีกทั้งยังออกกฎหมาย CHIPS and Science Act ที่มีข้อกำหนดให้บริษัทที่จะได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตชิปในสหรัฐฯ ห้ามขยายการลงทุนในจีน เพื่อหวังตัดแขนตัดขาจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขการค้าในช่วงที่ผ่านมา ดูจะค่อนข้างสวนทางกับความพยายามในการ

แยกขั้วอำนาจข้างต้น เพราะแม้สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างต่อเนื่อง แต่สหรัฐฯ ก็ยังนำเข้าสินค้าจากจีนสูงเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของมูลค่านำเข้ารวม ที่สำคัญคือ สหรัฐฯ ยังขาดดุลการค้ากับจีนต่อเนื่องเฉลี่ย 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปี 2561-2564 และกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 ขณะเดียวกันแม้สหรัฐฯ จะเพิ่มข้อจำกัดในการส่งออกสินค้า Hi-Tech ไปจีน แต่พบว่ามูลค่าส่งออกชิปของสหรัฐฯ ไปจีนกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 48% ต่อปีในช่วง 2560-2564

นอกจากนี้ การที่ผลสำรวจล่าสุดในเดือนตุลาคม 2565 ของ Bloomberg ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession จากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ปัจจัยดังกล่าวอาจกดดันกำลังซื้อและการบริโภคของชาวอเมริกัน ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ (คิดเป็นกว่า 70% ต่อ GDP) สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีส่วนทำให้สินค้าจีนที่มีราคาไม่สูงมากนักยังเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ของผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เป้าหมายความขัดแย้งโดยตรง อาทิ ของเล่น เครื่องกีฬา ของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง การที่จีนจะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ก็ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เห็นได้จากล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 บริษัท semiconductor จีนปิดกิจการไปกว่า 3,400 บริษัท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนได้ว่าความพยายามของจีนที่จะพึ่งพาตนเองในการผลิตชิปกำลังเผชิญปัญหาอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีขั้นสูงด้านอื่นๆ ก็ยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะอากาศยาน และการแพทย์ขั้นสูง เห็นได้จากปัจจุบันที่จีนยังไม่สามารถผลิตเครื่องบินพาณิชย์และวัคซีน mRNA ของตนเองออกมาใช้ได้อย่างแพร่หลาย ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนได้ว่าการแบ่งขั้วการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังต้องใช้เวลาอีกระยะ

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้กลยุทธ์ Globalization และมีจีนเป็น Factory House สำคัญในการผลิตทั้งสินค้า Hi-Tech และสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ Supply Chain ของสหรัฐฯ กับจีนยึดโยงกันมากเกินกว่าที่จะพังทลายได้ในเวลาอันสั้นเพราะเหตุผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน Allianz Research ประเมินว่าหากสหรัฐฯ และจีนตัดความสัมพันธ์กันได้จริง ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะเผชิญความเสียหายด้านการผลิต โดยในเบื้องต้นมีการประเมินไว้สูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

มิติการเงิน : เอาไม้ซีกไปงัดกับไม้ซุง…หยวน & รูเบิลยังทาบรัศมีเงินดอลลาร์สหรัฐได้ยาก

ความพยายามลดบทบาทเงินดอลลาร์สหรัฐในเวทีโลกมีให้เห็นเป็นระยะ ล่าสุดเหตุการณ์ที่ปลุกกระแสดังกล่าวขึ้นอีกครั้งคือ การที่สหรัฐฯยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ากว่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนร่วมกับชาติพันธมิตรยุโรปตัดธนาคารหลายแห่งของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เพื่อลงโทษรัสเซียหลังบุกยูเครน ปัจจัยดังกล่าวได้สร้างความกังวลในการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงอย่างจีนและรัสเซีย และอาจทำให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง

หลายปีที่ผ่านมา จีนและรัสเซียพยายามลดการพึ่งพาเงินดอลลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าขายระหว่างกัน ล่าสุดเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา จีนและรัสเซียก็ได้มีข้อตกลงในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในรูปเงินหยวนและรูเบิล โดยตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด 9 เดือนแรกปี 2565 ขยายตัวถึง 33% ทำให้ Citi Securities คาดว่าในปี 2566 รัสเซียจะใช้เงินหยวนค้าขายกับจีนมากกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ รัสเซียเองก็ได้มีการเพิ่มเงินหยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียถือเป็นประเทศที่มีเงินหยวนเป็นทุนสำรองมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันรัสเซียและจีนก็ยังได้พัฒนาระบบการโอนเงินของตนเองทั้งระบบ SPFS และ CIPs ตามลำดับ เพื่อป้องกันการถูกตัดขาดจากระบบการเงินโลก อีกทั้งยังพยายามให้ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ทั่วโลกหันมาใช้เงินหยวนและรูเบิลมากขึ้นอีกด้วย อย่างล่าสุดอินเดียก็ตกลงซื้อขายน้ำมันกับรัสเซียโดยใช้เงินรูปีและรูเบิลแล้ว 

อย่างไรก็ตาม หากดูผลลัพธ์ของความพยายามดังกล่าว อาจเรียกได้ว่ามีความคืบหน้า แต่กระนั้นยังต้องใช้เวลา เพราะหากพิจารณาสัดส่วนสกุลเงินที่ใช้ทำธุรกรรมทั่วโลก พบว่าเงินหยวนและรูเบิลยังมีสัดส่วนเพียง 2.4% และ 0.2% ตามลำดับ โดยแม้เงินหยวนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 0.3% ในปี 2554 อันดับ 17 ของโลก มาอยู่ที่อันดับ 5 ของโลกในปัจจุบัน แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีสัดส่วนถึงกว่า 42% นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ความเชื่อมั่นในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็พบว่าแม้เงินหยวนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจาก 1.1% มาอยู่ที่ 2.9% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีสัดส่วนถึงราว 60% ก็ถือว่ายังต่างกันมาก

ทั้งนี้ แม้การที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีโอกาสแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมทั่วโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบาย Zero Covid ที่ยังถูกใช้ต่อเนื่อง ประกอบกับการที่จีนยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ และมีการกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนในแต่ละวัน รวมถึงมีการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเข้มงวด ปัจจัยดังกล่าวยังถือเป็นข้อจำกัดสำคัญในการที่จะผลักดันเงินหยวนให้ก้าวขึ้นมาเทียบรัศมีเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะ International Currency ได้ในเร็ววันนี้

 

มิติการลงทุน : ตัดบัวยังเหลือใย…จีนยังมีดีเกินกว่าจะถูกตัดขาดจากฐานการผลิตโลก

การแบ่งขั้วด้านการลงทุนได้เร่งตัวขึ้นอีกครั้งหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรหลายรายถอนการลงทุนออกจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผลสำรวจของ Yale Chief Executive Leadership Institute พบว่าปัจจุบันมีบริษัทกว่า 1,000 แห่งได้ถอน ลดหรือหยุดดำเนินธุรกิจในรัสเซีย อาทิ Shell, Citibank, Goldman Sachs, H&M เป็นต้น

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับจีน หลังสงครามการค้าที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2561 ซึ่งทำให้เราได้ยินข่าวว่ามีผู้ผลิตสินค้าหลายรายย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสูง อาทิ โซลาร์เซลล์ ยางล้อ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยก็ได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้าไปในจีนกลับพบว่ายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 7.6% ต่อปี ในช่วง 2561-2564 และล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่าถึง 1.38 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% (y-o-y) ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่าเม็ดเงิน FDI ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ นักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐฯ เองที่ลงทุนอยู่ในจีนก็ไม่ได้มีแผนจะย้ายออกจากจีนทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะเลือกใช้โมเดล China Plus One คือ ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่น แต่ยังคงฐานการผลิตหลักไว้ที่จีน อาทิ Tesla ที่ยังยึดจีนเป็นฐานการผลิตหลัก และยังมีแผนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่ Apple ที่มีข่าวจะย้ายการผลิตบางส่วนไปอินเดียก็ยังยึดจีนเป็นตลาดและฐานการผลิตหลักอยู่

 เนื่องจากจุดแข็งของจีนที่มีตลาดขนาดใหญ่ด้วยประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน อุดมไปด้วยทรัพยากรแห่งอนาคตโดยเฉพาะ Rare Earth ทำให้การจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนทั้งหมด อาจเสียทั้งตลาดและแหล่งวัตถุดิบสำคัญไปพร้อมกัน เห็นได้จาก ผลการศึกษาของ Bloomberg ที่ชี้ว่าหาก Apple จะย้ายฐานการผลิตเพียง 10% ออกจากจีนอาจต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี

กระแส Decoupling ที่เร่งตัวขึ้นแม้จะยังไม่สมบูรณ์ในมิติของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ประกอบการไทยต้องวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะถัดไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยคำนึงถึงทั้งปัจจัยการเมือง เศรษฐกิจและธุรกิจอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำหรือไปสะดุดขาใคร โดยผู้ประกอบการอาจสร้างโอกาสจากกระแส Decoupling ข้างต้น อาทิ ส่งออกไปทดแทนสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง ตลอดจนเร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และพัฒนาระบบการเงินที่สามารถรองรับธุรกรรมได้จากทุกฝ่าย

 ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจรผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันการส่งออก ประกันการลงทุน และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อที่เราจะได้ไม่กลายเป็นหญ้าแพรกที่แหลกลาญในภาวะที่ช้างสารชนกัน ผมเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ