มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดจีดีพีปี 66 เติบโต 4.3%
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาของ วารสารการเงินธนาคาร “Thailand Next Move 2023 : The Nation Recharge” หัวข้อ “ปัจจัยเด่น Sweet Spot ส่งหุ้นไทย Outperform ตลาดโลก” ว่าช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยมีความท้าทายมาก โดยต้นปี 2565 มองว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในช่วงขาลง แต่ช่วงที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน มูลค่าการซื้อขาย หรือวอลุ่มเทรด กลับมีมากพอสมควร ส่วนครึ่งหลังของปี 2565 เห็นได้ชัดว่า วอลุ่มเทรดลดลง ดัชนีเคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์ โดยนับตั้งแต่นี้ในปีต่อๆ ไป ถือเป็นความท้าทายเพราะตลาดหุ้นไทยจะเผชิญกับภาวะต่างๆ ที่เข้ามากระทบพอสมควร
สำหรับปี 2566 บล.บัวหลวง ค่อนข้างมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโต 4.3% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ช้ากว่าฝั่งยุโรปหรือสหรัฐฯก็ตาม แต่ไทยเป็นประเทศที่รักษาสมดุลใน Geopolitics ได้ดี โดยวางตัวเป็นกลางทำให้ไม่ขัดแย้งกับประเทศอื่น ซึ่งจุดนี้มีผลในทางธุรกิจเนื่องจากประเทศที่สนใจลงทุนมักจะไม่อยากเห็นความขัดแย้งที่จะเข้ามากระทบ ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่ามีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ฝั่งยุโรปหรือสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวในช่วงแรก แต่มีปัญหาที่ตามมาในภายหลังมีทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เรื่องของการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ร้ายแรง ส่งผลให้นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ขณะที่ไทยเริ่มมีการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาและส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ดีขึ้น
สำหรับปัจจัยอัตราดอกเบี้ย ฝั่งสหรัฐฯมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงและรวดเร็วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ฝั่งไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับตัวอยู่เสมอส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.25% ต่อปี และน่าจะปรับตัวขึ้นสูงอยู่ที่ประมาณ 2% ในปี 2566 ปัจจัยนี้ส่งผลให้นักลงทุนหรือนักธุรกิจมีการปรับตัวได้ตามสถานการณ์ ต่างกับต่างประเทศที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลาดมีแรงเหวี่ยงทำให้นักลงทุนปรับตัวได้ยาก
ปีหน้า บล.บัวหลวง คาดว่า ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศจะลดลงหรือหยุดปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะอ่อนค่าที่ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันก็กลับมาแข็งค่าแล้ว คาดการณ์ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
“บล.บัวหลวงเชื่อมั่นว่า หากเงินทุนเริ่มมีทิศทางที่ย้อนกลับมาที่ตลาดหุ้นไทย จะส่งผลให้เงินบาท แข็งค่าขึ้น โดยคาดการณ์เงินบาทที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปลายปี 2566”
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยผ่านจุดพีค (สูงสุด) ไปแล้วในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โดยอยู่ที่ 7.9% ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าตกใจ แต่พอผ่านมาเมื่อเดือนกันยายนเริ่มมีการปรับตัวลดลงมาที่ 6.4% ในเดือนตุลาคมลดลงมาที่ 6% และคาดว่าน่าจะปรับตัวลดลงเรื่อยๆ และอัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าปลายปี 2566 จะลดลงไปอยู่ที่ 2% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะที่ดีขึ้น
ทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2565
คาดทำนิวไฮที่ 1,811 จุด
นายพิเชษฐมีมุมมองว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2565 อยู่ในระดับที่น่าสนใจ แม้อาจจะอยู่ในสภาวะที่หวือหวาพอสมควร บางวันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถไต่ระดับขึ้นไปได้สูงถึง 1,700 กว่าจุด แต่บางทีอาจปรับตัวลงต่ำสุดที่ระดับ 1,500 กว่าจุด
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมมองว่าทิศทางหุ้นไทยจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ หรือนิวไฮที่ 1,811 จุด เนื่องจากหุ้นไทยมีอัตราราคาปิดต่อกำไร (พีอี เรโช) ที่ 16.6 เท่า หากในปี 2566 ในต่างประเทศไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะส่งผลให้การปรับตัวของดัชนีหุ้นไทยดียิ่งขึ้นไปอีก จึงเชื่อว่าในปลายปี 2566 ดัชนีหุ้นไทยอาจทำนิวไฮที่ 1,890 จุด
อีกทั้งประเด็นคือ ค่าเงินบาท หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงต้นปี 2566 จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าที่ 34 -35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเรื่องกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลายแสนล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยับตัวขึ้นไปกว่า 100-200 จุด ดังนั้น หากเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ได้ถดถอยมากนัก เชื่อว่าฟันด์โฟลว์จะไหลเข้ามาได้อีก 1.4-1.7 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจัยในประเทศปี 2566 คงหนีไม่พ้นประเด็นทางด้านการเมือง โดยในเดือนพฤษภาคมอาจจะมีการเลือกตั้งทั่วไป และหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วอาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้มีการคาดหวังนโยบายด้านเศรษฐกิจ หากรัฐบาลมีสถียรภาพที่ดีจะส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยอย่างแน่นอน
“หากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกไปได้ดี หุ้นขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น SET30 และ SET50 จะมีแรงซื้อเข้ามาก่อน สำหรับหุ้นขนาดเล็กน่าจะเป็นกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่ม ESG ที่น่าสนใจลงทุน”
ด้านปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 มี 4 เรื่อง 1.ราคาน้ำมัน ที่จะเห็นได้ว่าในปีนี้ผันผวนสูงถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันมีผลต่อการขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ 2.Geopolitic จากประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีกถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นไทย 3.ปัจจัยจากจีนและฝั่งตะวันออกกลาง ที่ในช่วงที่ผ่านมามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งมองว่ายังคงต้องติดตามว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นหรือไม่ และ 4.ความคาดหวังกรณีจีนจะมีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แต่ดูเหมือนว่านโยบายออกมาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรงเนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวจากจีน ดังนั้น ต้องจับตานโยบายดังกล่าวว่าจะใช้เมื่อไร
สำหรับหุ้นที่ บล.บัวหลวง แนะนำให้ลงทุนภายใต้สมติฐานเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สภาวะปกติ กลุ่มแรก คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารทิสโก้ เป็นต้น โดย บล.บัวหลวงเล็งเห็นว่า กลุ่มธนาคาร 3-4 ธนาคารใหญ่จะได้รับผลในทางที่ดีหากเศรษฐกิจฟื้นตัว
กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มค้าปลีก เช่น หุ้น HOMEPRO, MAKRO และ CPALL โดยหากเศรษฐกิจกลับมาปกติ ประชาชนเริ่มมีการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น มีการให้บริการที่พร้อมมากขึ้น โดยกลุ่มร้านค้าพื้นฐานจะส่งผลให้ภาพรวมของกลุ่มค้าปลีกมีสัดส่วนที่ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่ม ESG จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ตามมา อีกทั้งกลุ่มท่องเที่ยว หากเริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาแล้วจะส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตของกลุ่มการบิน กลุ่มโรงแรม กลุ่มโรงพยาบาล ที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวโดยตรง ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มที่น่าจะปรับตัวได้ดีในปีหน้า เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มกลับเข้ามาในไทย
สำหรับปัจจัยของต้นทุนการผลิต ในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน คือ เหล็ก อะลูมิเนียม และวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับราคาสูงขึ้น หากกลับเข้ามาอยู่ในภาวะปกติต้นทุนปรับลงส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุปโภคบริโภค และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาวัตถุดิบที่ถูกลง รวมทั้งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น WHA และ AMATA ที่จะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย
อีกทั้งเทรนด์การลงทุนทั่วโลกในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นเรื่องของ ESG ในด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นปัจจัยใหญ่ โดยเชื่อมั่นว่าในปีหน้าและปีต่อๆไปจะยังคงเป็นเทรนด์อยู่ รวมทั้งเริ่มเห็นภาษีคาร์บอน แน่นอนว่าจะมีกลุ่มที่ได้รับผลบวก อาทิ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สามารถปรับตัวได้ดี หรือกลุ่มซื้อขายโซลาร์เซลล์ และกลุ่มที่ได้รับผลทางลบ คือกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่จะได้รับผลกระทบในต้นทุนของการดูแลการย่อยสลายอินทรียวัตถุ (Decomposition) เป็นต้น
นายพิเชษฐกล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพรวมของตลาดทุนไทยในปี 2566 จะเป็นตลาดน่าสนใจมาก จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อีกทั้งการรับปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ และหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น น่าจะได้เห็นภาพที่ดีของการลงทุนในไทย และคาดว่านักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนในหุ้นแต่ละกลุ่มที่เหมาะสมกับตัวเอง และได้รับผลตอบแทนที่ดีในปีหน้า