รางวัลเกียรติยศ รางวัลนักการเงิน แห่งปี 2564 ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
“รู้สึกยินดีมากที่ได้รับรางวัลจาก วารสารการเงินธนาคาร ซึ่งรางวัลนี้ ไม่ใช่รางวัลของผมคนเดียว แต่เป็นรางวัลจากการที่ทุกคนในองค์กร ทำให้ ธอส.แข็งแรงจนสามารถดูแลประชาชนและขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ มองว่าเป็นรางวัลที่ดี เพราะในชีวิตของนายแบงก์ การได้รางวัลที่เป็นเหมือนเพชรยอดมงกุฎ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถบริหารองค์กรและดูแลลูกค้าได้อย่างดี”
รางวัลเกียรติยศ
รางวัลนักการเงิน แห่งปี 2564
Financier of
the Year 2021
ธนาคารยอดเยี่ยม ด้านสินเชื่อบ้าน 2565
Best Service Provider Mortgage 2022
ฉัตรชัย ศิริไล
กรรมการผู้จัดการ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ได้เริ่มเข้ามาทำงานที่ ธอส. ได้เห็นผู้บริหารธนาคารต่างๆ หลายท่านได้รับรางวัลนักการเงินแห่งปี เคยคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้รับรางวัลนี้ แต่ก็ตั้งใจทำงาน ดูแลธนาคาร ดูแลลูกค้า รวมถึงเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด จนได้รับรางวัลในวันนี้
โดยรู้สึกยินดีมากที่ได้รับรางวัลจากวารสาร “การเงินธนาคาร”ซึ่งรางวัลนี้เป็นความภูมิใจของผู้บริหารและพนักงานของ ธอส.ที่ช่วยกันดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี โดยหัวใจในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จคือ “Be Simple” หรือความเป็นธรรมชาติ มาจากการเข้าใจสิ่งที่พนักงานและลูกค้าต้องการและเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติผลงานที่ออกมาก็จะสะท้อนตัวตนของ ธอส. ออกมา
“รู้สึกยินดีมากที่ได้รับรางวัลจาก วารสารการเงินธนาคารซึ่งรางวัลนี้ไม่ใช่รางวัลของผมคนเดียว แต่เป็นรางวัลจากการที่ทุกคนในองค์กรทำให้ ธอส. แข็งแรงจนสามารถดูแลประชาชนและขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ มองว่าเป็นรางวัลที่ดี เพราะในชีวิตของนายแบงก์ การได้รางวัลที่เป็นเหมือนเพชรยอดมงกุฎเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถบริหารองค์กรและดูแลลูกค้าได้เป็นอย่างดี”
ประกาศตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี
พร้อมใช้ GHB ALL เต็มรูปแบบ
ฉัตรชัยกล่าวว่า จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2565 เช่นเดียวกับธนาคารกลางหลายประเทศที่ปรับขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ธอส. พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัวและไม่ต้องรับภาระด้านค่าครองชีพ
“ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
แม้จะมีสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายชัดเจนแล้ว แต่ยืนยันว่าไม่ว่า กนง.
จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร ธอส. จะตรึงดอกเบี้ยถึงปลายปีแน่นอน
เราจะดูแลลูกค้าของเราทั้งหมด เพราะลูกค้าของ ธอส. เป็นกลุ่มรายได้น้อยและปลานกลาง
และมีพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยทันทีลูกค้าจะได้รับผลกระทบ
ดังนั้น ลูกค้า ธอส. สบายใจได้ว่าจะไม่มีการปรับเงินงวดจนถึงสิ้นปีนี้”
ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2565 นี้ ธอส.พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยการนำบริการของ ธอส. เข้าไปไว้ใน Mobile Application ของ ธอส. โดยได้แยกแอปพลิเคชั่นออกเป็น 3 แอปฯ ได้แก่
1. GHB ALL ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นหลักที่ลูกค้าสามารถใช้บริการของ ธอส. ได้ตลอดเวลา เพื่อช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนให้ลูกค้า
“ธอส.พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยนำบริการเกือบ 100% ของ ธอส. เข้าไปไว้ใน GHB ALL โดยจากการใช้ระบบดิจิทัลทำให้ช่วยลด Operating Cost ของธนาคารและส่งผ่านมาสู่การที่ ธอส. สามารถออกแพ็กเกจสินเชื่อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้”
โดยปัจจุบัน GHB ALL มีฟังก์ชั่นการให้บริการมากกว่า28 บริการ ล่าสุด ธอส. มีบริการยื่นขอสินเชื่อ Express Loanผ่าน GHB ALL ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของธนาคารในการให้บริการด้านสินเชื่อ เพราะลูกค้าสามารถขอสินเชื่อได้ทุกที่ โดยเดินทางมาที่สาขาธนาคารเพียงแค่ครั้งเดียว ณ วันเซ็นสัญญาเท่านั้น และยังสร้างความเท่าเทียม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ธอส.อยู่ระหว่างนำ GHB ALL GEN ซึ่งเป็น New Version Mobile Application : GHB ALL เฟส 1 ขึ้นระบบในเดือน ก.ย. 2565
“เราจะขึ้นระบบ GHB ALL GEN เฟส 1 ในเดือนกันยายนปีนี้ และขึ้นสมบูรณ์ทั้งหมดภายในมกราคม ปี 2566 ซึ่งเมื่อแอปพลิเคชั่นขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วลูกค้าจะเหมือนมีสาขา ธอส. อยู่ในมือ สามารถใช้บริการครบถ้วนได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งตอนนี้ลูกค้าอยู่บน GHB ALL แล้ว 76% โดยตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะให้ลูกค้าเข้าไปอยู่ในแอปได้ 80-85% ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม”
2. GHB ALL Home เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับ บ้านมือสอง
ธอส. หรือ NPA เหมือนเป็น
Catalog Onlineให้ลูกค้าสามารถเลือกดูทรัพย์
NPA ที่สนใจและสามารถทำการจองผ่านแอปพลิเคชั่นได้
3. GHB ALL BFRIEND แอปพลิเคชั่นสำหรับลูกค้ากลุ่มที่เป็น NPL โดยสามารถขอเข้ามาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตลอดจนตรวจสอบสถานะการชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชั่นได้
“3 แอปพลิเคชั่นนี้ถือว่าตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม สาขาของธนาคารยังคงมีอยู่แต่จะเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ตามภารกิจของ
ธอส. เช่นในพื้นที่ห่างไกล ซึ่ง ธอส.จะคงสาขาไว้กว่า 200 สาขา
ในส่วนของพนักงานจะเข้ามาทำเรื่องบริการดิจิทัลมากขึ้น”
ฉัตรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ธอส.ยังมีการพัฒนาบริการด้านดิจิทัลใหม่ๆ
ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการดิจิทัล (DSC) รองรับลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อและเงินฝากผ่านช่องทาง
Digital Channel, โครงการจัดเก็บ
Eletronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ
(ไม่เก็บโฉนด) โดยลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรม, โครงการลงนามสัญญาอิเล็กทรอนิกส์
(e-Contract) เป็นการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารกับลูกค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
เป็นต้น
ขณะที่ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการเตรียมออกสลากออมทรัพย์ชุดวิมานเมฆพลัส และสลากออมทรัพย์ชุดเกล็ดดาวพลัส วงเงินประมาน 50,000 ล้านบาท เพื่อสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันและปรับเงื่อนไขให้เข้ากับลูกค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ อนาคตในปี 2566-2568 ธอส.จะมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีธรรมาภิบาล เพื่อทำให้ ธอส.เป็นธนาคารบ้านที่ดีที่สุดของคนไทย และเป็นธนาคารที่ยั่งยืน
คาดปล่อยสินเชื่อใหม่สิ้นปี 65
แตะ 300,000 ล้านบาท
ฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับผลประกอบการของ ธอส. สิ้นปี 2564 ปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 246,875 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2565 อยู่ที่ 226,423 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ ธอส. ช่วงพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้ในช่วยครึ่งปีที่ผ่านมา ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้วประมาณ 136,000 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่าสิ้นปี 2565จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างน้อย 280,000 ล้านบาทหรืออาจถึง 300,000 ล้านบาท
“ยืนยันว่า ธอส.
ยังไม่มีปัญหาทั้งในส่วนของการดูแลลูกค้าเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ย
รวมถึงลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาล็อกดอกเบี้ยในการต้องการมีที่อยู่อาศัยก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัว
เพราะตอนนี้ต้นทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยกำลังปรับขึ้น ดังนั้น
ตอนนี้เป็นโอกาสของลูกค้าที่ผ่านบททดสอบเรื่องรายได้ในการเข้ามาสู่ตลาดที่อยู่อาศัย”
ฉัตรชัยยังได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการกู้สินเชื่อบ้านในปัจจุบัน โดยต้องพิจารณาใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องมีความมั่นคงเนื่องจากสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อระยะยาว ซึ่งในการกู้สินเชื่อระยะยาวต้องแข็งแรงพอที่จะผ่อนต่อไปได้ในอนาคต 2.ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารว่าเป็นในลักษณะใด เช่น หากเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวเมื่ออยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้กระทบกับความสามารถในการชำระคืนได้ 3.บ้าน ต้องพิจารณาบ้านที่พอเหมาะกับความสามารถในการผ่อนเพราะหนี้บ้านเป็นหนี้ระยะยาว
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ครึ่งปี 2565มี จำนวน 67,251 ล้านบาท คิดเป็น 4.41% ของยอดสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.00% ของสินเชื่อรวมซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 121,066 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 180.02% สะท้อนความมั่นคงและพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ในอนาคต โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 14.73% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันการเกิด NPL เป็นเรื่องปกติเพียงแต่ว่าเมื่อเป็น NPL แล้วลูกค้ายังอยู่กับเราไหม ซึ่งที่ผ่านมาธอส. ได้มีมาตรการช่วยลูกค้าถึง 21 มาตรการ ทำให้ลูกค้ายังไม่ไปไหน เมื่อเป็น NPL แล้วก็เหมือนคนไข้ที่ต้องมาหาหมอ ต้องช่วยกันประคองให้ผ่านไปให้ได้”