WEALTH • INSURANCE

วิกฤติประกันโควิด เจอ จ่าย จบ สึนามิสะเทือนวงการประกันภัย

ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ เขย่าฐานะทางการเงินบริษัทประกันภัย ณ สิ้นปี 64 จ่ายเคลมแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท คปภ.สั่งปิด 2 บริษัทประกันภัย เพราะไม่มีเงินจ่ายเคลมลูกค้า ส่งไม้ต่อให้กองทุนผู้ประสบภัยเคลียร์ปัญหา พร้อมหาทางออกหวั่นกระทบธุรกิจทั้งระบบ

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทประกันภัยจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้ทำประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ ที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทั้งหมด 41.63 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,930 ล้านบาท คิดเป็นยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทน 39,900 ล้านบาท พร้อมกับมีการสั่งปิดบริษัทประกันภัย 2 แห่งคือ บริษัท เอเชีย ประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากไม่สามารถจ่ายเคลมโควิดให้กับลูกค้าได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะยังมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2565 อีก 7 ล้านกรมธรรม์ และบริษัทประกันภัยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องรอลุ้นว่าเงินสำรองที่เตรียมไว้จะเพียงพอกับการจ่ายเคลมให้กับผู้ทำประกันภัยโควิดหรือไม่ หรือจะหาทางออกอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

ระลอกแรกธุรกิจยังรับไหว

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โรคโควิด-19 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรกในปี 2563 ในขณะนั้น มีบริษัทประกันภัยเพียงไม่กี่รายที่ออกแบบประกันโควิดเพื่อให้ความคุ้มครองกับประชาชน โดยมีทั้งในรูปแบบของการประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ และครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเสียชีวิตด้วย ซึ่งการระบาดในระลอกแรกนี้มีผู้สนใจทำประกันภัยโควิด-19 ประมาณ 9 ล้านกรมธรรม์ และมียอดติดเชื้อทั้งปีประมาณ 6,884 คน

จากนั้นในปี 2564 ได้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ มีบริษัทประกันภัยหลายแห่งเข้ามาร่วมรับประกัยภัยโควิดกันอย่างคึกคัก โดยในช่วงไตรมาสแรก มีประชาชนสนใจทำประกันภัยโควิดประมาณ 1.8 ล้านกรมธรรม์ ขณะที่ไตรมาส 2 มีผู้สนใจทำประกันภัยโควิดประมาณ 13 ล้านกรมธรรม์ รวมแล้วมีจำนวนผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดถึง 14.8 ล้านกรมธรรม์

ต่อมาเมื่อมีแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ทุกบริษัทประกันภัยเริ่มเห็นถึงสัญญาณอันตรายของการขายประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ จนต้องประกาศ หยุดขาย ประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ ในเดือนมิถุนายน 2564

เห็นได้จากในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดต่อวันกว่า 10,000 คน ส่งผลให้มียอดเคลมประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ สูงขึ้นตามไปด้วย โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทั้งหมด 41.63 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,930 ล้านบาท คิดเป็นยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทน 39,900 ล้านบาท โดยมียอดสินไหมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2564 เกือบ 3,000 ล้านบาท โดยมีรูปแบบของความคุ้มครองใน 3 รูปแบบคือ

        รูปแบบที่ 1 ประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ หากตรวจพบเชื้อรับเงินก้อน ตั้งแต่ 10,000-200,000 บาท ทันที

        รูปแบบที่ 2 ประกันโควิด-19 ค่ารักษาพยาบาล คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโควิด-19 เช่น ค่าห้อง ค่ารักษาต่างๆ

        รูปแบบที่ 3 ประกันโควิด-19 ชดเชยรายได้หากหยุดงาน กรณีเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยจะได้รับเงินชดเชยรายวันสูงสุดไม่เกิน 14 วัน

โดยบริษัทประกันภัยที่มีการจ่ายเคลมประกันโควิดสูงสุด 6 อันดับแรก หรือคิดเป็นสัดส่วนของการจ่ายเคลมประกันโควิดทั้งหมดที่ 80% คือ 1.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยอดเคลม 7,500 ล้านบาท 2.บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 6,800 ล้านบาท 3.บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5,700 ล้านบาท 4.บริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4,500 ล้านบาท 5.บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4,000 ล้านบาท 6.บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3,500 ล้านบาท

 

โควิดพ่นพิษปิดบริษัทประกัน

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อวันละกว่า 10,000 คนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ทำให้บริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิดเกิดขาดสภาพคล่อง โดยเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นภาพอย่างชัดเจนในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยโควิด เพื่อขอแจ้งยกเลิกกรมธรรม์โควิด ที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกของผู้ทำประกันภัยเป็นอย่างมาก แต่สำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทประกันยกเลิกประกันภัยโควิด จึงทำให้ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต้องกลับลำยกเลิกหนังสือแจ้งยกเลิกกรมธรรม์โควิดและต้องให้ความคุ้มครองผู้ทำประกันภัยโควิดต่อไป ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ทำประกันภัยเข้าเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ผลจากการจ่ายค่าสินไหมโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กว่า 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 บริษัทต้องเผชิญกับการขาดทุนเป็นครั้งแรกที่ 3,662 ล้านบาท ลดลง 2,386% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่เคยมีกำไรมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม พิษของประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ยังไม่หยุดอยู่แค่ สินมั่นคงประกันภัย เพราะในที่สุด บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นอีก 2 บริษัทที่ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และไม่สามารถจ่ายสินไหมทดแทนให้กับผู้ทำประกันโควิดได้

ดังนั้น ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 สำนักงาน คปภ. จึงได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรก หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทมีฐานะทางการเงินไม่มั่นคง โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน รวมถึงสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สำหรับการเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ ที่มีผู้เอาประกันเข้าเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่บริษัทได้คาดการณ์ไว้

จากนั้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 สำนักงาน คปภ. ได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตของ บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นรายที่สอง เพราะพบว่าบริษัทไม่มีเงินจ่ายค่าเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ รวมกว่า 2,435 ล้านบาท และยังมีอีกหลายบริษัทที่ต้องเพิ่มสภาพคล่องให้เพียงพอกับการจ่ายเคลมโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ให้กับลูกค้าได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 เริ่มมีสัญญาณบวกว่าโควิดอาจจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนผู้ซื้อประกันโควิดรวมที่ 14.8 ล้านกรมธรรม์ โดยมีประกันโควิดที่ยังมีผลบังคับตามเงื่อนไขกรมธรรม์อีก 7-8 ล้านกรมธรรม์ แต่มาในช่วงต้นปี 2565 ได้พบการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับขึ้นมาเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 10,000 รายต่อวันอีกครั้ง และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยระลอกใหม่ด้วย

ทั้งนี้ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ประมาณการค่าสินไหมทดแทน กรณีเกิดการระบาดโควิดโอมิครอน อาจสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการค่าสินไหมจากประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ อีกทั้งยังมีกรมธรรม์โควิดที่รอเคลมอีก 7-8 ล้านฉบับ ซึ่งกรมธรรม์ยังคุ้มครองไปถึงเดือนมิถุยายน 2565 จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า โอมิครอน จะเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทประกันภัยขาดสภาพคล่องและถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ในปี 2565

 

โควิดเจอ จ่าย ไม่จบ

การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าสินไหมทดแทนโควิดที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึงประมาณ 110,000-180,000 ล้านบาท เพราะยังมีกรมธรรม์โควิด-19 ที่มีผลบังคับใช้ถึงเดือนมิถุนายน 2565 อีก 7 ล้านกรมธรรม์ โดยจากรายงานของสำนักงาน คปภ. พบว่า ตั้งแต่ปี 2563-2564 มีกรมธรรม์ประกันโควิด-19 สะสมถึง 44 ล้านกรมธรรม์ ในจำนวนนี้เป็นกรมธรรม์ประเภท เจอ จ่าย จบ ถึง 10 ล้านกรมธรรม์ และยังมีผลบังคับใช้อยู่ 7 ล้านกรมธรรม์

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ทำหนังสือเตือนบริษัทสมาชิกที่มีประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ให้ประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบจากกรมธรรม์ที่ยังมีผลคุ้มครองจนถึงมิถุนายน 2565 จากยอดเคลมสินไหมทั้งระบบนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีสูงถึง 32,000 ล้านบาท ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน มียอดเคลม 37,000 ล้านบาท รวมแล้ว ณ สิ้นปี 2564 มียอดเคลมประมาณ 40,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย มองว่าการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 จะช่วยลดผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทประกันภัยได้ จึงได้มีการยื่นอุทธรณ์ขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ ได้แก่

       1. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

       2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

โดย สมาคมประกันวินาศภัยไทย อธิบายว่า การมีสิทธิ์บอกเลิก และการใช้สิทธิ์บอกเลิก ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และบริษัทประกันภัยไม่สามารถใช้สิทธิ์บอกเลิกกรมธรรม์ได้ตามอำเภอใจ ดังนั้น การขอให้ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 จึงไม่ได้หมายความว่าบริษัทประกันภัยทุกบริษัทต้องการที่จะบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยและลอยแพประชาชนที่ทำประกันภัยโควิด-19 กว่า 10 ล้านคน และบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ภายหลังการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 แต่อย่างใด

 

อาคเนย์-ไทยประกันภัยฟ้อง คปภ.

วิกฤติของประกันโควิดเจอ จ่าย จบ ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันภัย จนต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วถึง 2 บริษัท และผลกระทบก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่ง บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยโฮลดิ้ง ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ได้รับผลกระทบจากประกันโควิดเจอจ่าย จบอย่างหนัก จนทำให้ต้องยื่นฟ้องเลขาธิการ สำนักงาน คปภ. ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งคุ้มครอง เรื่องกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

        1. ให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง

        2. ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

อาคเนย์ประกันภัยผ่าทางตันยื่นขอปิดบริษัท

และในวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของอาคเนย์ประกันภัย โดย ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท และยังสามารถดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 170 พร้อมสรุปผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดังนี้

เปรียบเทียบประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเพิกถอนใบอนุญาตกับปิดกิจการของอาคเนย์ประกันภัย fiile:อาคเนย์ประกันภัย.xls

 

คปภ.” ไม่อนุญาต “อาคเนย์ประกันภัย” ปิดกิจการ

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 26 มกราคม 2565 สำนักงาน คปภ. ได้อาศัยอำนาจ ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยคณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาตให้บริษัทเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาต่อไป

 “ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าตอนนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ. โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย”

 

บอร์ด คปภ.” รับคำขอเลิกกิจการ

ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม 2565 นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น

คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้ เนื่องจากบริษัทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสียให้ครบถ้วนก่อนตามที่คณะกรรมการ คปภ. กำหนด ตามมาตรา 57 ให้เสร็จสิ้นก่อน คณะกรรมการ คปภ. จึงจะอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้

อย่างไรก็ตาม บอร์ด คปภ.ได้รับคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของทั้ง 2 บริษัท พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ ให้บริษัททั้งสองปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้

         1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทที่ยังมีผลผูกพันอยู่ไปยังบริษัทประกันภัยผู้รับโอน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

               1.1 ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการแจ้งรายชื่อบริษัทที่จะรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยให้สำนักงาน คปภ. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

                1.2 สิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่รับโอนไปต้องเท่ากับหรือไม่ด้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองตามผลผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม

         2. ช่องทางและวิธีการบอกกล่าวฯ ให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย จะต้องเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การบอกกล่าวเจ้าหนี้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

         3. การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่บริษัทประกันภัยวางไว้กับนายทะเบียน ตามมาตรา 24 จะกระทำได้ต่อเมื่อ

             3.1 บริษัทได้โอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่ และมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้รับประกันภัยเสร็จสิ้นแล้ว

             3.2 บริษัทประกันภัยสามารถแสดงหลักฐานให้เห็นว่าไม่มีหนี้สินหรือภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยแล้ว

       4. ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการดำเนินการดังต่อไปนี้

            4.1 แสดงแผนงานรายละเอียดของการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามมาตรา 28 ให้สำนักงาน คปภ. ทราบ

            4.2 ต้องจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามข้อ 4.1 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดใน ข้อ 5 และในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ บริษัทต้องโอนทรัพย์สินและภาระผูกพันไปยังผู้รับโอน โดยแสดงหลักฐานว่าผู้รับโอนยินยอมรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวด้วย

             4.3 รายงานผลการดำเนินการตามข้อ 4.2 ให้แก่สำนักงาน คปภ. ทราบ

        5. ระยะเวลาของการดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน คปภ. ร่วมกับบริษัทกำหนด ทั้งนี้ ให้บริษัทแจ้งให้สำนักงาน คปภ. ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาจากคณะกรรมการ คปภ.

เมื่อบริษัทได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาข้างต้นครบถ้วนแล้ว ให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการมายังสำนักงาน คปภ. เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาอนุญาตเลิกกิจการต่อไป”

ขั้นตอนต่อไปสำนักงาน คปภ. จะได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแก่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นจะจัดประชุมร่วมกับบริษัทเพื่อทำความเข้าใจ เพื่อให้คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาปฏิบัติ ดำเนินการตามกฎหมายในการประชุมครั้งถัดไป

โดยในระหว่างที่บริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจาก คณะกรรมการ คปภ. บริษัทยังต้องประกอบธุรกิจตามปกติ ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทได้เช่นเดิม”

 

Related keywords:

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง