การทำงานในยุคนี้เป็นยุคที่เรียกว่า การกอบกู้และก้าวต่อ (The Great Reset) โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นช่วงโอกาสทองของสำนักงานกฎหมาย ธุรกิจเกือบทุกแห่งในประเทศไทย ที่มีงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานกฎหมายด้านภาษีอากร ตลาดเงินตลาดทุน หรือการลงทุนจากต่างประเทศ
ประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานของผมในฉบับนี้ ยังคงอยู่ในช่วงที่ 4 พ.ศ.2544-2553 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ดังนี้
เหลียวหลังการทำงาน
ปี พ.ศ.2544 ถึง ปี พ.ศ.2553
การทำงานในยุคนี้เป็นยุคที่เรียกว่าการกอบกู้และก้าวต่อ (The Great Reset) โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงโอกาสทองของสำนักงานกฎหมาย ธุรกิจเกือบทุกแห่งในประเทศไทย ที่มีงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะงานกฎหมายด้านภาษีอากร ตลาดเงินตลาดทุน หรือ การลงทุนจากต่างประเทศ ผมเองก็ได้รับโอกาสนี้ในการทำงานและการเขียนหนังสือ จากการทำงานที่หลากหลายขึ้นก็ยิ่งทำให้ผมมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ผมจึงขอเหลียวหลังบันทึกเหตุการณ์ของประเภทกฎหมายธุรกิจที่ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้อง และการเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการทำงาน ดังนี้
1.งานกฎหมายที่ได้เกี่ยวข้อง
ในช่วงปี พ.ศ.2544 มีงานด้านกฎหมายที่ผมต้องรับผิดชอบมากขึ้น เช่น การควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผมได้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยกลุ่ม GE การควบรวมของธนาคารทหารไทย กับธนาคารไทยทนุและ IFCT และธนาคารธนชาต โดยกลุ่มธนาคาร Nova Scotia เป็นการควบรวมกิจการ 3 แห่งด้วยกันคือ ธนาคารทหารไทย, IFCT และ ธนาคารไทยทนุ ที่ต้องอาศัยความรู้ทางกฎหมายและประสานงานกับทางราชการเป็นอย่างมาก อาจถือว่า สำนักงานเบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ ต้องได้มีส่วนในการควบรวมกิจการสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งในประเทศไทย
งานด้านภาษีก็ยังคงมีอยู่เป็นประจำ เพราะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่หลายเรื่อง
การขายหนี้เสียหรือ NPL ให้แก่ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย TAMC ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่หลังวิกฤติปี 2540
การทำงานด้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยการนำบริษัทรัฐวิสาหกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผมได้เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย อสมท โดยอาศัยประสบการณ์ในการนำ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงทำให้คุ้นเคยกับการทำงานของภาครัฐวิสาหกิจและภาคราชการ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี
ในช่วงที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการที่กำหนดให้มีมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (URR) ไว้ถึงร้อยละ 30 ทำให้สำนักงานกฎหมายมีลูกความต่างๆ ต้องขอคำปรึกษาในเรื่องนี้อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
2.การเข้าเรียนหลักสูตรยอดนิยม จำเป็นแค่ไหน
แต่เดิมนั้นในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีหลักสูตรต่างๆ ที่สถาบันภาครัฐ, องค์กรอิสระจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าร่วมศึกษา นอกเหนือจากหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) อันเป็นหลักสูตรที่ทุกคนอยากเข้าไปศึกษาเพื่อสร้างเครือข่ายแล้ว และหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ที่ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า คนแรก ได้จัดให้มีหลักสูตรวุฒิบัตรวิชาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของนักบริหารระดับสูง หรือ ที่เรียกว่า ปปร.
โดยพยายามใช้แนวทางจากการจัดทำหลักสูตรเช่นเดียวกับ วปอ. โดยผู้เข้าเรียนจะประกอบไปด้วยสมาชิกรัฐสภา ข้าราชการประจำระดับสูง ตำรวจ ทหาร และภาคธุรกิจเอกชนเช่นกัน โดยทั้งนี้หลักสูตรได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งในเวลาต่อมาในช่วงนี้ภาครัฐและองค์กรอิสระต่างก็ได้มีการจัดการอบรมหลักสูตรต่างๆ เพิ่มเติมอีกมาก โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปศึกษาด้วย เช่น
สำนักงานศาลยุติธรรม จัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง หรือ (บ.ย.ส.)
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยสถาบันวิทยาการตลาดทุน หรือ วตท. จัดให้มีหลักสูตรเกี่ยวกับตลาดทุน
สถาบันวิทยาการค้า สภาหอการค้าไทย จัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ Tepcot
และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันต่างก็มีหลักสูตรต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนแทบจะจำไม่ได้ว่ามีหลักสูตรอะไรบ้าง แต่หลักสูตรที่ได้ยอดนิยมในช่วงดังกล่าวและเป็นที่หมายปองของบรรดานักธุรกิจเอกชน ข้าราชการ นักการเมืองคือ หลักสูตร วปอ., ปปร., บ.ย.ส. และ วตท. จนมีคนเรียกว่าหลักสูตรเหล่านี้เป็นหลักสูตรที่ต้องได้เรียนเพราะเป็นหลักสูตร “Grand Slam”
ประเด็นของการเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าเป็นการสร้างเครือข่ายที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการทุจริตในเชิงนโยบาย และเปิดโอกาสให้คนเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่จะแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากข้าราชการและนักการเมือง
ผมเองเมื่อได้มีโอกาสเข้าเรียนในหลักสูตรต่างๆ ที่เรียกว่า Grand Slam ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นตามข้อวิจารณ์ และเชื่อว่าการมีหลักสูตรดังกล่าวมีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย แน่นอนในทุกหลักสูตรย่อมมีกลุ่มผู้มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากหลักสูตรก็คงมีอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วหลักสูตรต่างๆ องค์ความรู้ ความสัมพันธ์ที่ได้ของผู้เข้าเรียนต่างๆ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเป็นโทษ
ในปี พ.ศ.2544 ผมได้เริ่มเข้าเรียนหลักสูตรแรก คือ หลักสูตร ปปร. รุ่นที่ 5 ของสถาบันพระปกเกล้า การเข้าเรียนหลักสูตรนี้ทำให้ผมเข้าใจระบบการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้น และรู้จักเพื่อนที่เป็นนักการเมือง ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นข้าราชการระดับสูง และมีเพื่อนภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง อาจถือได้ว่าเป็นเพื่อนกลุ่มใหม่หลังจบจากมหาวิทยาลัย
ในการศึกษาหลักสูตรนี้ผมได้เขียนเอกสารวิจัยได้รับรางวัลดีในหัวข้อเรื่อง “หลักธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ : ศึกษากรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” โดยใช้ประสบการณ์การทำงาน กับภาครัฐวิสาหกิจ และ IOD เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำเอกสารวิจัย
หลังจากนั้น ปี พ.ศ.2547 ผมก็ได้เข้าเรียนหลักสูตรของผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ในรุ่นที่ 9 หรือ บยส.9 ก็ได้เขียนเอกสารวิจัยเรื่อง “หลักการเจรจาและร่างสัญญาทางธุรกิจ : กรณีศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาเรื่องการตีความสัญญา” โดยผมก็ได้นำมาเป็นเอกสารในการสอนนิสิต ในวิชาการเจรจาต่อรองและร่างสัญญา ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ.2548 ผมได้มีโอกาสเข้าเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชนรุ่นที่ 18 หรือ วปอ. 48 หลังจากที่เพียรพยายามสมัครอยู่นาน โดยเป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาการเรียนนานที่สุด หลักสูตร วปอ. 2548 นี้ เป็นปีแรกที่ทาง วปอ. กำหนดให้เอกชนบางส่วนจ่ายเงินค่าสมัคร 500,000 บาท ซึ่งผมก็ยินดีชำระค่าสมัคร แต่ภายหลังมีการยกเว้นให้เอกชนบางกลุ่มเมื่อจบการศึกษา ผมและเพื่อนนักศึกษาบางท่านได้ฟ้อง วปอ. ว่าเลือกปฏิบัติ แต่ผมแพ้คดี
ส่วนผลพลอยได้คือ หลังจากนั้นมา วปอ. ก็ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากภาคเอกชนอีกเลย หลักสูตรนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรที่ทำให้ผมมีความเข้าใจระบบการศึกษา และแนวคิดของบรรดาทหารและข้าราชการระดับสูง เกี่ยวกับยุทธศาสตร์มากขึ้น และก็ยังได้มีเพื่อนกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น ได้ประโยชน์และได้นำไปใช้ในการทำงาน การสอนหนังสือต่อมาจนปัจจุบัน
ในหลักสูตรดังกล่าวผมได้เขียนเอกสารวิจัย “ข้อพิจารณาทางกฎหมายและภาษีในการซื้อควบรวมกิจการเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทย : ศึกษากรณีธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย” และเป็นช่วงเดียวกับที่มีการขายหุ้นของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น ให้กับกลุ่ม Temasek จึงได้นำข้อมูลต่างๆ และกรณีศึกษามาเขียนไว้ในเอกสารวิจัย และผมได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือการซื้อควบรวมกิจการในการตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2549
ในปี พ.ศ.2550 หลังจากที่ได้บรรยายในหลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุนมาถึง 3 รุ่น เรื่องการควบรวมกิจการ ผมก็ได้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน เป็น วตท. รุ่นที่ 4 ที่ประกอบไปด้วยผู้บริหารของภาครัฐ ภาคเอกชน ในตลาดทุนระดับสูง หลักสูตรนี้ทำให้ผมได้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย จากการศึกษาในรุ่นนี้ได้มีความรู้เพิ่มใหม่ โดย วตท. รุ่นนี้ได้จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนที่ทางรัฐบาลนำไปใช้ หลักสูตรนี้ได้เป็นประโยชน์ในการทำงานในช่วงต่อมาของชีวิตการทำงานต่อไปเป็นอย่างมาก
และสุดท้ายในปี พ.ศ.2551 ที่ผมเข้าศึกษาคือการเข้าศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ ของสภาหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย TepCot ที่ทำให้ผม เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานกฎหมายภาษีของสภาหอการค้าไทย โดยได้เป็นประธานคณะกรรมการภาษี รวมถึงได้ทำงานในฐานะเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทยอีกด้วย อีกทั้งได้เป็นผู้บรรยายหลักสูตรในหัวข้อรู้เฟื่องเรื่องกฎหมายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
3.การเขียนหนังสือ
หลังจากที่ผมได้เขียนหนังสือบัญญัติ 10 ประการในการวางแผนภาษีอากร ปี พ.ศ.2536 และ กลยุทธ์ในการวางแผนภาษีอากรใน ปี พ.ศ.2538 ที่ถือว่าเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง ติดยอดขายอันดับหนึ่งหลายสัปดาห์
ในช่วงปี พ.ศ.2544 ถึง 2553 นั้น ผมได้ใช้เวลาในการเขียนหนังสือขึ้นอีกจำนวน 4 เล่ม นอกเหนือจากการเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เดอะเนชั่น และ การเงินธนาคาร โดยเฉพาะด้านกฎหมายธุรกิจครอบครัวและภาษีอากร และ M&A โดยหนังสือ 4 เล่ม ได้แก่
ปี พ.ศ.2540 คู่มือกฎหมายบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย โดยอาศัยทีมทำงานจาก เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ ช่วยรวบรวม
ปี พ.ศ.2546 ผมได้เขียนหนังสือ 10 กลยุทธ์การวางแผนภาษี บุคคลธรรมดา ธุรกิจครอบครัว อันเป็นปีแรกที่ผมให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องของกฎหมายกับธุรกิจครอบครัว และเป็นที่มาของการทำงานด้านธุรกิจครอบครัว จนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2549 ผมได้เขียนหนังสือ 2 เล่ม เป็นภาษาอังกฤษ คือ
1.Corporate Governance in Thailand : A Way Forward อันเป็นการรวบรวมบทความ เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ ที่ตีพิมพ์อยู่ในเดอะเนชั่น
2.Mergers and Acquisitions การควบรวมกิจการ : โอกาสของธุรกิจไทยในปี พ.ศ.2549 ที่ได้มีการวิเคราะห์กรณีศึกษาของชินคอร์ป และต่อมาได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2553 และได้มีการปรับปรุง แยกเป็นหนังสือ 2 เล่ม ในปี 2557
โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ผมได้ใช้เวลาในการอุทิศตนให้กับภาควิชาการไม่ว่าจะเป็นการเรียนหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าการสอนหนังสือ การเขียนหนังสือ การเขียนบทความ ได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา และได้รับความสนับสนุนจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงานในสำนักงานมาโดยตลอด
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการทำงานของผมอีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อปี พ.ศ.2546 เมื่อผมเริ่มให้ความสนใจและศึกษาเรื่องธุรกิจครอบครัวอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าโดยการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวโดยมีมิติกฎหมายและภาษีประกอบกันเป็นที่ต้องการของลูกความ ทำให้ผมยังต้องศึกษาค้นคว้าเสมอ มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างลึกซึ้งขึ้น มีความรู้ทางวิชาการในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น และการอุทิศเวลาดังกล่าวก็ได้ส่งผลมาถึงการทำงานในปัจจุบัน
เหลียวหลังจากประสบการณ์ : แลหน้า
ผมมีข้อคิด 2 ประการกับการเรียนหลักสูตร การเขียนหนังสือ และสอนหนังสือ ดังนี้
1.ผมเชื่อว่า การเรียนหลักสูตรยอดนิยมที่กล่าวมา ถือว่ามีประโยชน์มากกว่ามีผลเสีย เพียงแต่ผู้ที่มีโอกาสเข้าศึกษาในหลักสูตรเหล่านั้น ต้องใช้ความระมัดระวังในการสร้างเครือข่าย โดยจะต้องไม่ทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง ทั้งทางกฎหมายและจริยธรรม แต่ควรจะใช้เวลาในการศึกษาและเข้าอบรมหลักสูตรเพื่อหาความรู้อย่างจริงจัง โดยใช้พื้นฐานความรู้จากการค้นคว้าในหลักสูตรดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการทำงานให้แก่ลูกความ องค์กร และหาแนวทางนำเรื่องต่างๆ ไปใช้พัฒนาประเทศและสังคมส่วนรวม
ความจริงเราควรมีการพิจารณาหลักสูตรต่างๆ ที่มีองค์ความรู้จากสถาบันและผู้เข้าศึกษาที่มีศักยภาพที่จะสามารถนำความรู้หรือแปลงงานศึกษาไปทำต่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ เพื่อพัฒนาประเทศและสังคมให้ก้าวหน้าต่อไปได้จริง โดยสามารถทำงานได้สำเร็จ สมประโยชน์ทุกฝ่าย
การมีคลังสมอง วปอ.ก็ดี, การจัดให้มีการนำเสนอแผนงานของแต่ละหลักสูตรมารวมนำเสนอ ในอดีตก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงต้องดูว่าปัญหาที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงอยู่ที่ไหน ผมเชื่อว่าเราต้องก้าวผ่านมายาคติที่ว่าหลักสูตรเหล่านี้อาจใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวสำหรับคนบางคนเท่านั้น
มักมีคำถามเสมอว่า ในการทำงานให้สำเร็จได้ในสังคมไทย Technical know how กับ Technical know who อะไรจะสำคัญกว่ากัน ผมไม่แปลกใจเลยที่คนจะตอบว่า Technical know who จะสำคัญกว่า Technical know how แต่ผมคิดว่าจะมีแค่ Technical know who ก็ดี ก็คงไม่เพียงพอ แต่ต้องมี Technical know how อีกด้วย
ดังนั้น ถ้าจะมองไปข้างหน้าว่า เราควรจะสามารถระดมความรู้จากการศึกษาหลักสูตรต่างๆ และอาศัยจากบุคลากรที่มีศักยภาพอยู่ในตำแหน่งทางภาครัฐและเอกชน ให้สามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้ชัดเจน ดังนั้น ผมก็ยังเชื่อว่าหลักสูตร ๆ เหล่านี้ ถ้ามีการมาหลอมรวมกันคิดแล้วเราก็จะสามารถทำงานต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแท้จริง โดยหลักสูตรต่างๆ ต้องสอนเรื่องใหม่ๆ ที่ทันเหตุการณ์ให้กับผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
2.การเขียนหนังสือและการบรรยาย ผมคิดว่า การเขียนหนังสือกับการสอนหนังสือของนักกฎหมายและนักธุรกิจเพื่อแชร์ประสบการณ์ และใช้เวลาในการศึกษาเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ และถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ที่จะมีผลกับทั้งองค์กรและส่วนตัว จะช่วยในแง่เพิ่มองค์ความรู้ การสื่อสาร ให้กับตนเอง และให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปก็เป็นการตอบแทนสังคมที่ดีอย่างหนึ่ง
ปัจจุบัน เราจะเห็นนักธุรกิจ นักกฎหมายต่างๆ มีการเผยแพร่บทความมากมาย ซึ่งผมถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการวิชาชีพและธุรกิจ ผมจึงอยากเห็นให้มีคนทำแบบนี้มากๆ ครับ