สืบทอดธุรกิจครอบครัว เตรียมความพร้อมเพื่อส่งมอบกิจการครอบครัว (ตอนแรก)
เพราะความถนัด และความชอบในการทำธุรกิจนั้นไม่ได้ส่งผ่านทาง DNA และไม่ใช่ทายาททุกคนจะเกิดมาเป็นผู้บริหารธุรกิจทางเลือกของลูกหลาน จึงควรมีมากกว่าแค่ “จะทำ” หรือ “จะไม่ทำ” ธุรกิจครอบครัว อย่าจำกัดกรอบความคิดอยู่แค่ว่า “สืบทอดธุรกิจครอบครัว” คือต้องเข้ามาทำเต็มตัวเพียงเท่านั้น
ทายาทส่วนใหญ่ไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว
ส่วนเหตุผลที่ทายาทเข้ามาทำธุรกิจครอบครัว หลักๆ คือ อยากเข้ามาช่วยคุณพ่อ-แม่ ไม่ใช่เพราะแฟนซีการทำงานในธุรกิจครอบครัว นี่เป็นเหตุผลสำคัญอย่างไม่เป็นทางการตามการเก็บสถิติส่วนตัวของผม ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร The Economist เมื่อปี 2015 พบว่า กว่า 80% ของทายาทธุรกิจครอบครัว ไม่เต็มใจที่จะสืบทอดกิจการของตระกูล!
ทำไมทายาทธุรกิจครอบครัวถึงไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว?
งานวิจัยข้างต้นได้บ่งชี้ 4 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ทายาทไม่ต้องการสืบทอดกิจการครอบครัว ได้แก่
• ความสำเร็จของพ่อแม่กลายเป็นอุปสรรคของทายาท
• ทายาทมักจะไม่ได้รับเครดิตจากความสำเร็จ
• พ่อ-แม่ยังไม่ปล่อยวาง (จริงๆ) และ
• ทายาทอาจไม่เหมาะกับการเป็นผู้บริหารธุรกิจครอบครัว
มองไปยังญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของเอเชียก็จะพบกับปัญหาที่คล้ายๆ กัน “ทุกๆ ปีนับจากนี้ไปอีก 2 ทศวรรษ ธุรกิจในญี่ปุ่นมากกว่า 40,000 บริษัทต่อปีจะประสบความยากลำบากในการหาผู้สืบทอดธุรกิจ” คุณนารูฮิโกะ ซากามากิ จากบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ได้ประมาณการเอาไว้ในรายงานเรื่องการควบรวมกิจการของธุรกิจ SME ในญี่ปุ่น เมื่อปี 2017 ซึ่งถ้าเอามาคำนวณก็จะได้ประมาณกว่า 800,000 บริษัท ที่อาจจะต้องปิดตัวลงจากเหตุผลที่ว่า “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ” ในช่วงอีก 20 ปีข้างหน้า
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถที่จะสร้างหรือหา “ทายาท” มารับช่วงกิจการได้ไม่ว่า “ทายาท” เหล่านั้นจะเป็นลูกหลานของครอบครัว หรือพนักงานของบริษัทที่มีศักยภาพ แต่อีกด้านก็เป็นสาเหตุที่มาจากตัวทายาทเอง เช่น ไม่มีความสนใจในธุรกิจของตระกูลจึงเลือกที่จะออกไปทำงานอื่นๆ หรือมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจครอบครัวว่าจะเติบโตหรืออยู่รอดต่อไปในอนาคตได้อย่างไร หรือทายาทบางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวทำให้ต้องย้ายที่อยู่ออกไป ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคของการทำงานในธุรกิจครอบครัว เป็นต้น
แล้วในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัวจะทำอย่างไรกันดี?
สืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็น “หน้าที่” หรือ “สิทธิ” ของทายาท?
อย่าลืมว่า ทายาทรุ่นใหม่มีโอกาสและทางเลือกในชีวิตมากกว่าคนรุ่นก่อนมาก ด้วยพื้นฐานการศึกษาที่ดีกว่า ประกอบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้การกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกมากมายของพวกเขาแต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทายาทมี “สิทธิ” ที่จะเลือกจริงหรือ? หรือเป็น “หน้าที่” ที่ผูกติดตัวพวกเขามาตั้งแต่เกิด?
นี่เป็นคำถามสำคัญที่คนทั้งสองเจเนอเรชั่นควรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน “หน้าที่” พูดง่ายๆ ว่าคือสิ่งที่ต้องทำ ทายาทเลือกไม่ได้ ในขณะที่ “สิทธิ” คือ สิ่งที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ทายาทเลือกได้ตามความพอใจ เช่น หากมองว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นหน้าที่แล้วละก็ ทายาทก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะเข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัว
แต่หากมองว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นสิทธิแล้วละก็ ทายาทก็อาจจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ผมอยากให้พวกเราลองฟังมุมมองของทายาทธุรกิจครอบครัว 3 คนที่มีมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนี้
การสืบทอดเป็น “หน้าที่”
คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลภิรมย์ภักดี (เบียร์สิงห์) เคยกล่าวไว้ว่า “ในการทำธุรกิจครอบครัวของผม ผมคิดว่าบริษัทนี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา ผมคงจะปล่อยให้ล้มในช่วงที่ผมยังอยู่ไม่ได้ ครอบครัวเรามีสัญญาใจที่จะต้องทำธุรกิจให้รอด ซึ่งทุกคนยินยอมเสียสละทุกอย่าง เพราะอยากเห็นความอยู่รอดของบริษัท”
หรือคำกล่าวที่ว่า “A family business is not a business you inherit from your parents, it is a business you borrow from your children.” ได้สะท้อนมุมมองของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวว่าเป็น “หน้าที่” ของลูกหลานที่จะต้องดูแลสืบทอดกิจการของตระกูลต่อไป การละทิ้ง ไม่เข้ามาช่วยถือว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่
การสืบทอดเป็น “สิทธิ”
คุณบัณฑูร ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ อาจมีมุมมองที่ต่างออกไป “สำหรับผม ความกดดันที่อยากจะทำให้ดีก็ยังมีอยู่ และผมก็ไม่อยากให้มันพังไปในตอนที่ผมอยู่...แต่ผมจะไม่ทำอย่างนั้นกับลูกของผม จะไม่กดดันเขาว่าต้องไปเรียนเอ็มบีเอ ผมอยากให้เขาเรียนอะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตมีมุมมองที่มีความหมาย มีมุมมองที่กว้าง สามารถไปประกอบสัมมาอาชีพได้” คำกล่าวข้างต้นสะท้อนมุมมองของคุณบัณฑูรที่ว่า การสืบทอดธุรกิจครอบครัวถือเป็น “สิทธิ” ของลูกหลานว่าจะเข้ามาทำธุรกิจของตระกูลหรือไม่ ทายาทสามารถเลือกได้ตามความสมัครใจ
การสืบทอดขึ้นกับ “ความจำเป็น”
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเจ้าของอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เคยให้ทรรศนะไว้ว่า “ถ้าธุรกิจครอบครัวนั้นดีอยู่แล้ว จะไม่ให้ทายาทเข้ามาทำ เพราะถึงทายาทมีฝีมือ ฝีมือก็จะไม่ปรากฏ และถ้าทายาทไม่มีฝีมือ จากที่ธุรกิจดีก็อาจจะกลายเป็นแย่ลงไป และอาจมีผลต่อความมุ่งมั่นของผู้บริหารของบริษัท ดังนั้น คุณธนินทร์จึงชอบที่จะให้ลูกหลานออกไปพิสูจน์ตัวเองโดยให้ไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ”
แนวคิดนี้สะท้อนมุมมองที่ว่า ถ้าธุรกิจดีอยู่แล้วทายาทไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ถ้าธุรกิจครอบครัวมีปัญหาจะถือเป็น “หน้าที่” ของทายาทที่จะต้องเข้ามาช่วย ดังนั้น การสืบทอดฯ จะเป็นหน้าที่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์” และ “ความจำเป็น” ของธุรกิจครอบครัวในขณะนั้นๆ
ทั้ง 3 แนวคิดที่กล่าวมา คงไม่มีใครตอบได้ว่าความคิดของใครถูกกว่าใคร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะสืบทอดหรือไม่สืบทอดธุรกิจของครอบครัวก็ตาม เราไม่ควรที่จะเอามาผูกกับ “ความกตัญญู” ของลูกหลาน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน พวกเขาอาจจะไม่อยากสืบทอดธุรกิจ แต่อาจอยากจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ตลอดไปก็เป็นได้ การผูกประเด็นเรื่องการสืบทอดธุรกิจครอบครัวกับความกตัญญูจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการบันทอนความรู้สึกของกันและกันโดยไม่จำเป็น
“สืบทอดธุรกิจครอบครัว” ใน 4 บทบาท
เพราะความถนัด และความชอบในการทำธุรกิจนั้นไม่ได้ส่งผ่านทาง DNA และไม่ใช่ทายาททุกคนจะเกิดมาเป็นผู้บริหารธุรกิจทางเลือกของลูกหลานจึงควรมีมากกว่าแค่ “จะทำ” หรือ “จะไม่ทำ” ธุรกิจครอบครัว อย่าจำกัดกรอบความคิดอยู่แค่ว่า “สืบทอดธุรกิจครอบครัว” คือต้องเข้ามาทำเต็มตัวเพียงเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วเข้ามาทำแค่ครึ่งตัวก็ยังดี หรือแม้กระทั่งเข้ามาช่วยอะไรก็ได้ในเรื่องที่ทายาทถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดกิจการแล้ว
การเพิ่มทางเลือกของการมีส่วนร่วม “สืบทอดธุรกิจครอบครัว” ของลูกหลานนั้นทำได้โดยการแบ่ง “บทบาท” ของทายาทออกมาให้ชัดเจน ซึ่งเราสามารถแบ่งออกเป็น 4 บทบาทที่พวกเขาจะสามารถเข้ามา “ช่วย” ธุรกิจครอบครัวได้ ได้แก่
1.Manage คือ การบริหารธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่แต่เดิม
2.Found คือการออกไปบุกเบิกสร้างธุรกิจใหม่ให้กับครอบครัว
3.Control คือ การกำกับดูแลการบริหารงานของธุรกิจครอบครัวทั้งของเดิมและของใหม่
4. Support คือ การช่วยธุรกิจครอบครัวตามความสามารถ และศักยภาพที่ตนมี โดยแต่ละบทบาทจะมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลตอบแทนการทำงานในบทบาทนั้นๆ แตกต่างกันไปตามแต่จะตกลงกัน และไม่จำกัดว่าทายาทจะต้องถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวอยู่ด้วยหรือไม่
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่าลูกหลานทุกคนจะต้องเข้ามาเป็น “ผู้บริหาร” ของธุรกิจครอบครัว หรือครอบครัวอาจจะจัดสรรเงินก้อนหนึ่ง หรือที่แปลงหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้ทำอะไร ให้ลูกหลานเอาไปต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ให้กับครอบครัวก็ได้ (เพียงแต่ต้องมาคุยกันให้ชัดว่า ใครจะลงทุน ใครจะลงแรง หากกำไรจะแบ่งกันอย่างไร และหากขาดทุนจะตกอยู่กับใคร ฯลฯ)
และก็ไม่ผิดหากสมาชิกบางคนเลือกที่จะเป็นเพียง “กรรมการบริษัท” หรือ “ผู้ถือหุ้น” แต่เพียงอย่างเดียว (แต่กรรมการ และผู้ถือหุ้นก็มีหน้าที่ คือ การกำกับดูแลการบริหารงานของธุรกิจครอบครัวให้อยู่ในทิศทางที่ครอบครัวกำหนด และช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นด้วยการเข้าประชุมบอร์ด หรือการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น)
และแม้ทายาทจะไม่เลือกทั้งการบริหารธุรกิจเดิม (Manage) หรือสร้างธุรกิจใหม่ (Found) ทายาทก็ยังสามารถช่วยสนับสนุน (Support) ธุรกิจครอบครัวในด้านอื่นๆ ได้ แต่ในกรณีที่ทายาทไม่สามารถช่วยสนับสนุนด้านใดๆ ได้เลย เช่น อาจจะอยู่ต่างประเทศ หรือมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถช่วยกิจการครอบครัวได้ ทายาทที่ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัวอยู่ก็ยังต้องมีบทบาทในการ “กำกับ” (Control) ธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างน้อย (ไม่ว่าจะเป็นทางอ้อมผ่านการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น หรือทางตรงด้วยการเป็นกรรมการบริษัทครอบครัว) มิเช่นนั้น หากผู้บริหารสร้างความเสียหายขึ้นมาก็จะกระทบกับตัวเองและคนในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้การ “กำกับ” ดูแลธุรกิจครอบครัวจึงเป็นหน้าที่ๆ เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกครอบครัวถือหุ้น
ดังนั้น การจะให้ทายาทเข้ามาช่วยงานในธุรกิจครอบครัว คุณพ่อ-แม่จึงต้องพยายามเปิดประตูให้กว้างเข้าไว้ ไม่ไปกำหนดกะเกณฑ์ว่าต้องให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ให้โอกาสพวกเขา “หามุมที่ใช่” ให้พวกเขาได้ “ออกแบบงาน” ที่จะช่วยธุรกิจของครอบครัวได้และเหมาะกับเขาที่สุด มากกว่าไปบังคับให้เขาทำในสิ่งที่พ่อ-แม่เห็นว่าดีที่สุด เหมาะที่สุด
เพราะดีที่สุด หรือเหมาะที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เตรียมความพร้อมก่อนส่งมอบ
การเตรียมความพร้อมก็ต้องทำกันทั้งผู้ส่งมอบ (พ่อ-แม่) และผู้รับมอบธุรกิจ (ทายาท) ไปพร้อมๆ กัน โดยมีคำแนะนำเบื้องต้น ดังนี้
เตรียมความพร้อมทายาท
1. สร้างความผูกพันกับธุรกิจครอบครัว - เริ่มกันตั้งแต่ยังเด็กๆก็ให้เข้ามาช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เมื่อโตขึ้นก็ให้เข้ามาทำงานกับบริษัท หรือบางครอบครัวใหญ่ๆ ก็มีโปรแกรมเทรนนิ่งให้กับทายาทกันเป็นเรื่องเป็นราว สอนกันทั้งความรู้ในเชิงธุรกิจ ความเป็นผู้นำ รวมไปถึงค่านิยม และประวัติความเป็นมาของธุรกิจครอบครัว ซึ่งก็ถือเป็นกุศโลบายที่ต้องการให้ทายาทได้ใกล้ชิดผูกพันกับกิจการของครอบครัว
2. กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของทายาทที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว - ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ลูกหลานได้รับรู้ความคาดหวังของธุรกิจ และเหล่าผู้นำครอบครัว ไว้แต่เนิ่นๆ เช่น จะต้องเรียนสูงแค่ไหน มีประสบการณ์ทำงานด้านไหน-กี่ปี พูดได้กี่ภาษา เป็นต้น จะได้เตรียมตัวได้ถูก (หากสนใจจะทำ)
ขั้นตอนต่อไปคือช่วงที่ทายาทเริ่มเข้ามาทำในธุรกิจครอบครัว (ที่ไม่ใช่แค่ฝึกงาน) โดยมีคำแนะนำดังนี้
3. วางทายาทในตำแหน่งที่ช่วยเติมในส่วนที่ขาด และต่อยอดในส่วนที่เป็นจุดแข็งของทายาท - เพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาปรับตัว และมีโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะที่ยังขาด ก่อนที่จะวางตัวพวกเขาในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบและความกดดันที่สูงต่อไป
4. พ่อ-แม่อาจทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล (Mentor) ให้แก่เหล่าทายาทที่เข้ามาทำงาน - การเป็น Mentor ที่ดีนั้นเป็นจุดสมดุลที่อยู่ระหว่างเพื่อนซี้ที่คอยให้กำลังใจ (เชียร์) ครูที่คอยสอนงาน (สอน) และคอมเมนเตเตอร์ที่คอยวิจารณ์ (ด่า)โดยคุณพ่อ-คุณแม่ต้องทำหน้าที่ทั้ง 3 ด้าน ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ยากที่จะทำหน้าที่ทั้ง 3 ให้ได้ดีพร้อมๆ กัน ดังนั้น การหาพี่เลี้ยงซักคนเข้ามาเป็น Mentor ให้กับทายาทก็อาจจะเป็นความคิดที่ดี
5. ให้โอกาสทายาทได้แสดงฝีมือ - เพื่อสร้างความมั่นใจ (Confidence) และความเชื่อมั่น (Credibility)ในสายตาสมาชิกครอบครัวและพนักงานตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ของการทำงานเพื่อปูทางไปสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงต่อไป
6. หมุนเวียนงานเพื่อหาจุดที่ลงตัว - ผลงานจะเป็นตัวบอกว่าทายาทเหมาะสมกับงานในลักษณะใดแล้วความสำเร็จขั้นต้นจะต่อยอดความสำเร็จขั้นต่อไป แต่ถ้าผลงานบ่งบอกว่าทายาทไม่เหมาะสมกับสิ่งที่ทำอยู่ อาจพิจารณาเปลี่ยนงาน เปลี่ยนตำแหน่งใหม่เพื่อหาจุดที่ลงตัวมากกว่า
7. ให้ค่าตอบแทนที่จูงใจ แต่ถ้าให้ไม่ได้..ก็แค่ให้กำลังใจ - การให้เงินเดือนสูงๆ เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการจูงใจ แต่ไม่ใช่วิธีเดียว การให้อิสระพวกเขาในการคิด มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือการรับเอาวิธีการทำงานของทายาทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทำงานขององค์กร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะ “จูงใจ” เหล่าทายาทให้“อยาก” ที่จะเข้ามาสืบทอดกิจการของตระกูล
เตรียมความพร้อมของพ่อ-แม่
ปัญหาสำคัญที่เห็นบ่อยครั้ง คือ พ่อแม่มักจะให้หน้าที่ความรับผิดชอบ (Responsibility) แก่ลูกๆ แต่ไม่ให้อำนาจพวกเขาในการตัดสินใจ (Authority) หรือที่แย่ยิ่งกว่าคือการ Over-ride การตัดสินใจของพวกเขา พฤติกรรมเหล่านี้ของพ่อแม่กำลังบอกกับทายาทว่า “ฉันยังไม่เชื่อใจพวกเธอ” “ฉันยังไม่ยอมรับในความสามารถของพวกเธอ” ซึ่งบั่นทอนกำลังใจของทายาทเป็นอย่างมาก คำแนะนำในการแก้ปัญหานี้ก็คือ
1. เรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ - ค่อยๆ เปลี่ยนจากพูดมาก เป็นฟังมากขึ้น พ่อแม่รับฟังความคิดเห็นของทายาทอย่างตั้งใจ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดอย่างเต็มที่โดยคุณไม่ขัด แต่คุณถามได้ถ้าไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูด โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าใจพวกเขาให้ได้มากที่สุด คุณอาจไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจแสดงความไม่เห็นด้วยได้ หลังจากที่พวกเขาพูดเสร็จแล้ว
2. ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญ- ถามความคิดเห็นของพวกเขา และตัดสินใจร่วมกันกับพวกเขา ซึ่งอาจเสียเวลาบ้าง แต่นี่คือการ “ซื้อใจ” ทายาทได้ดีที่สุด
3. กำหนด “กติกา” ในการทำงานร่วมกัน- กติกาของการทำงานร่วมกัน เช่น ถ้าหากไม่เห็นด้วยในเรื่องใดก็ตามให้มีการพูดคุยกันส่วนตัวก่อนจะไม่มีการขัดแย้งในที่ประชุมให้พนักงานเห็น หรือจะไม่หักหน้ากันในที่ประชุม หรือเรื่อง Over-ride เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง เป็นต้น
4. ทยอยถ่ายงานพร้อมให้อำนาจตัดสินใจ (ที่แท้จริง!) -ให้อำนาจตัดสินใจแก่ทายาทเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง ให้พวกเขาได้ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของเวที ในขณะที่พ่อ-แม่ค่อยๆ ถอยลงไปข้างเวทีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
5. หาเป้าหมายใหม่ในชีวิต– ความผูกผันของคุณพ่อ-คุณแม่ กับธุรกิจครอบครัวที่ทำมาหลายสิบปีนั้น เป็นสายใยที่แข็งแรงมาก ความห่วงธุรกิจ และห่วงลูกๆ ว่าเขาจะทำได้หรือไม่ จะทำให้คุณพ่อ-คุณแม่ไม่อาจละวางจากธุรกิจครอบครัวได้ การค้นหาเป้าหมายใหม่ในชีวิต เช่น การมุ่งทำงานการกุศลเพื่อสังคม การเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่สนใจ เช่น ดนตรี ศิลปะ ศาสนา หรือการให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาดูแลคนที่เรารัก ไปเที่ยวกัน ไปออกกำลังกายร่วมกันอาจเป็น “เป้าหมายใหม่” ที่ช่วยให้คุณพ่อ-คุณแม่ละวางจากธุรกิจครอบครัวได้
ในตอนต่อไปของซีรีย์การสืบทอดธุรกิจครอบครัว เราจะมาคุยกันถึงเรื่องคุณสมบัติของทายาทที่จะมาสืบทอดกิจการ บทบาทของ “คนนอก” ในธุรกิจครอบครัว ความคาดหวังของคนสองเจเนอเรชั่น และการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในระยะยาว
แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ
Resources:
• “Reluctant heirs,” Schumpeter, The Economist, 2015(The survey was conducted by Peking University)
• “Succession crisis stalks Japan’s family business,” Leo Lewis for Financial Times
• “Small firms dying out as successors hard to find,” TetsushiKajimoto for Reuters
• “China family-run companies face succession issue,” Zlata Rodionova for Independent
• “Dynamics of Family Business: The Chinese Way,” Fock Siew Tong