“ผมร่วง” เกิดได้จากหลายสาเหตุ
เส้นผมสุขภาพดี บ่งบอกถึงการดูแลตัวเองที่ดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจและเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นได้ แต่หากมีปัญหาผมร่วงไม่ว่าจากสาเหตุใด คงทำให้สูญเสียความมั่นใจได้เช่นกัน
แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า สาเหตุของการเกิดผมร่วงมีได้หลายสาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
ผมร่วงแบบมีแผลเป็น (Scarring alopecia) สาเหตุเกิดจากมีการทำลายของรากผมอย่างถาวร ทำให้ไม่สามารถสร้างเส้นผมเส้นใหม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสที่มีการอักเสบมากที่หนังศีรษะ และเป็นซ้ำที่เดิม หรือแผลน้ำร้อนลวก ผมถูกดึงเรื้อรัง ผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่หนังศีรษะ มีการแกะเกาหนังศีรษะจนเกิดบาดแผลลึก รวมถึงโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น DLE (Discoid Lupus Erythematosus), Lichen planus, Scleroderma
ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-scarring alopecia)สาเหตุเกิดจากมีการทำลายรากผมอย่างไม่ถาวร หากได้รับการรักษาเส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ในปริมาณปกติ หรือใกล้เคียงเดิม ซึ่งผมร่วงชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าผมร่วงแบบมีแผลเป็น โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) โดยผมที่ร่วงมักมีขอบเขตชัดเจน ปัจจุยันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น การมีประวัติครอบครัว ประวัติภูมิแพ้ เครียด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบที่เซลล์เม็ดสีบริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วง มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด โรคโลหิตจางบางชนิด
โรคผิวหนังบางชนิด เช่น การติดเชื้อ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัสที่บริเวณหนังศีรษะ มีผลทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ แต่เมื่อได้รับการรักษาแล้ว เส้นผมจะค่อย ๆ ขึ้นมาใหม่
ผมร่วงจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ลักษณะที่พบมากในเพศชายคือ ผมบางบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ ถ้าเป็นมากจะเหลือแต่เส้นผมที่บริเวณหน้า ใบหู และท้ายทอย ส่วนลักษณะที่พบในเพศหญิงคือ ผมบางบริเวณกลางศีรษะ แล้วลามออกมา ถ้าเป็นมากจะเหลือแต่เส้นผมที่บริเวณด้านหน้า โดยสาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด แต่มีปัจจัยร่วมกันหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม
โดยฮอร์โมนชาย (Testosterone) จะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ทำให้เส้นผมบริเวณขมับเหนือหน้าผากและกลางกระหม่อมสั้นลงและหลุดร่วงเร็วขึ้น นอกจากนี้ในกลุ่มที่ผมร่วงจากพันธุกรรม จะมีเอนไซม์ 5- alpha-reductase type 2 ที่สามารถเปลี่ยนฮอร์โมนTestosterone เป็นฮอร์โมน DHT (dihydrotestosterone ) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดปัญหาศีระษะล้าน โดยจะออกฤทธิ์ต่อเส้นผมที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้เส้นผมเข้าสู่ระยะพักตัวเร็วขึ้น ผมจึงหลุดร่วงเร็ว และผมที่ขึ้นใหม่จะเล็กลง จนในที่สุดผมจะบางลงเมื่ออายุมากขึ้น มักพบในคนที่มีประวัติญาติสายตรง บิดา มารดา พี่น้อง มีภาวะผมบาง ศีรษะล้าน
ภาวะเส้นผมระยะหลุดร่วง (Telogen effluvium) ซึ่งจะร่วงมากกว่าปกติ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง หลังคลอดบุตร ขาดสารอาหาร การลดน้ำหนักลงไปอย่างรวดเร็ว และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
ภาวะเส้นผมระยะแบ่งตัว (Anagen effluvium) ซึ่งจะร่วงมากกว่าปกติ โดยมีสาเหตุต่างๆ เช่น การได้รับสารพิษ เคมีบำบัด และการขาดสารอาหารมาเป็นระยะเวลานาน เช่น โปรตีน ไบโอติน ธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิค วิตามินบี ซี และอี ซึ่งภาวะผมร่วงจากขาดสารอาหาร มักมีลักษณะผิดปกติของเส้นผมด้วย เช่น เส้นผมกรอบ แห้ง แตกปลายหยาบกระด้าง ถ้าเรารับประทานสารอาหาร หรือวิตามินที่เราขาดเข้าไป ก็สามารถทำให้อาการผมร่วงดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาผมร่วงในแต่ละสาเหตุ มีวิธีการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุ ดังนั้น หากพบว่ามีผมร่วงผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและได้รับการรักษาที่เหมาะสม